เมียนมาส่งออกน้ำผึ้ง บุกตลาดต่างประเทศกว่า 4,000 ตันต่อปี

คนเลี้ยงผึ้งและธุรกิจเลี้ยงผึ้งรายย่อยของเมียนมา ภายใต้การดูแลของกระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และชลประทาน สามารถผลิตน้ำผึ้งได้ปีละกว่า 6,000 ตัน เป็นบริโภคภายในประเทศ 2,000 ตัน และส่งออก 4,000 ตัน ซึ่งกระทรวงฯ กำลังเตรียมพื้นที่ 1.5 ล้านเอเคอร์เพื่อให้ผึ้งผสมเกสร โดยเขตซะไกง์เป็นผู้ผลิตน้ำผึ้งรายใหญ่ อีกทั้งรัฐมอญก็เริ่มทำการผลิตน้ำผึ้งเช่นกัน ธุรกิจการเลี้ยงผึ้งในเมียนมาเริ่มขึ้นในปี 2522 เริ่มส่งออกตลาดต่างประเทศในปี 2528 ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไทย ซึ่งน้ำผึ้งดอกทานตะวัน น้ำผึ้งปาล์ม และน้ำผึ้งดอกงาเป็นที่ต้องการของตลาด โดยจีนและเวียดนามเป็นผู้ส่งออกน้ำผึ้งรายใหญ่ที่สุดของโลก ขณะที่เมียนมาและไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในบรรดาประเทศในภูมิภาค

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-ships-about-4000-tonnes-of-honey-yearly/#article-title

Ford วางแผนเริ่มสายการผลิตรถยนต์ ในกัมพูชาช่วง เม.ย. 2022

Ford ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติสหรัฐฯ ตัดสินใจลงทุนเปิดสายการผลิตการผลิตรถยนต์ Ford Ranger และ Ford Everest มูลค่าโครงการรวม 21 ล้านดอลลาร์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าจะเริ่มผลิตในช่วงเดือนเมษายน 2022 โดยโครงการตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ Krakor จังหวัดโพธิสัตว์ บนพื้นที่กว่า 4 เฮกตาร์ ในหมู่บ้าน Savon ชุมชน Sna Ansa อำเภอ Krakor จังหวัดโพธิสัตว์ ห่างจากกรุงพนมเปญ 159 กิโลเมตร ลงทุนภายใต้บริษัท RMA AUTOMOTIVE (CAMBODIA) CO., LTD. โดยบริษัทวางแผนที่จะประกอบรถยนต์ทั้งหมด 4,500 คันในปีแรก เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดกัมพูชาเพียงอย่างเดียว ซึ่งคาดว่าโรงงานดังกล่าวจะช่วยสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นมากถึง 500 ตำแหน่ง สำหรับสายการผลิต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501003438/cambodias-21-million-ford-assembly-plant-to-start-production-line-in-april/

NBC คาดปี 2022 เศรษฐกิจกัมพูชาโต 5%

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาไว้ที่ร้อยละ 5 ในปี 2022 จากการที่เศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มกลับมาฟื้นตัว แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์ใหม่อย่างโอไมครอนก็ตาม ซึ่งในปีที่แล้วเศรษฐกิจของกัมพูชากลับมาขยายตัวที่ราวร้อยละ 3 โดยได้แรงหนุนมาจากกิจกรรมต่างๆภายในประเทศ เริ่มกลับมาดำเนินอีกครั้ง ควบคู่ไปกับการที่ประเทศได้รับผลประโยชน์ทั้งจาก FTA และโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกพัฒนา ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินกิจกรรมภายในประเทศ โดยล่าสุดธนาคารกลางกัมพูชาได้ประกาศถึงอัตราเงินเฟ้อไว้ที่ร้อยละ 2.6 สำหรับปี 2022 ลดลงจากร้อยละ 2.9 ในปี 2021 ที่ผ่านมา ส่วนในด้านของอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินท้องถิ่นคาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 4,075 เรียลต่อดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501002617/cambodian-economy-estimated-to-grow-at-5-in-2022-omicron-or-not-nbc/

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้ารับนักท่องเที่ยวปี 65 แตะ 65 ล้านคน

การท่องเที่ยวแห่งชาติเวียดนาม (VNAT) เปิดเผยว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคการท่องเที่ยวในปีที่แล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนเวียดนามอยู่ที่ 3,500 คน และนักท่องเที่ยวในประเทศกว่า 40 ล้านคนในปี 2564 ตลอดจนมูลค่าการใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวรวมทั้งสิ้น 180,000 พันล้านดอง ลดลง 42% เมื่อเทียบกับปี 2563 ทั้งนี้ ในปีนี้ ภาคการท่องเที่ยวตั้งเป้าเปิดรับนักท่องเที่ยวกว่า 65 ล้านคน โดยมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านคน และนักท่องเที่ยวในประเทศ 60 ล้านคน คิดเป็นรายได้ประมาณ 400,000 พันล้านดอง นอกจากนี้ คุณ Phan Huy Binh ประธานกรรมการบริษัท Saigontourist Group กล่าวว่าเวียดนามจำเป็นต้องมีการส่งเสริมให้เป็นจุดหมายปลายทางที่ปลอดภัย เพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งความปลอดภัยถือเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวสามารถยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคง

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnam-looks-to-receive-65-million-visitors-in-2022/

 

‘ผลสำรวจ’ ชี้เวียดนามชำระสินค้าไร้เงินสด 70% ของการทำธุรกรรมค้าปลีก

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ช่วยผลักดันอีคอมเมิร์ซ์เติบโตอย่างรวดเร็ว และเมื่อปีที่แล้ว การชำระเงินไร้เงินสดมีสัดส่วน 70% ของธุรกรรมค้าปลีกในเวียดนามทั้งหมด จากการสำรวจโดยบริษัทเทคโนโลยี ‘Sapo’ ได้สำรวจความคิดเห็นของร้านค้าปลีก จำนวนทั้งสิ้น 15,000 ราย พบว่าการชำระเงินไร้เงินสดหรือผ่านอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากผู้บริโภคถูกจำกัดเพื่อลดการสัมผัสกับเชื้อโรค ทำให้การชำระเงินผ่านบัญชีธนาคารเป็นที่นิยมมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 36.5% ของจำนวนการทำธุรกรรมทั้งหมด รองลงมาเงินสด (30%), รหัส QR (9.6%), บัตรครดิต (8.5%) และช่องทางการชำระเงินอื่น (0.5%) ทั้งนี้ เมื่อสอบถามผู้ค้าปลีกบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ชี้ว่าในปีที่แล้ว มีรายได้เพิ่มขึ้น คิดเป็นสัดส่วน 11.2% ของรายรับทั้งหมด และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 73% หันมาทำธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งจะช่วยลดค่าแรงงานและค่าสถานที่ ตลอดจนเข้าถึงลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/cashless-payments-account-for-70-of-retail-transactions-survey/

 

มูลค่าการค้าเวียดนาม-ลาวพุ่งกว่า 30% ในปี 2564

การค้าแบบทวิภาคีระหว่างเวียดนามและสปป.ลาวมีมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2564 เพิ่มขึ้น 30.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามการระบุของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า Tran Quoc Phuong ขณะเป็นประธานร่วมการประชุมอย่างเป็นทางการภายใต้กรอบการประชุมสมัยที่ 44 ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเวียดนาม-ลาวว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี ปัจจุบัน เวียดนามมีโครงการลงทุนที่ถูกต้องในลาว 209 โครงการ โดยมีทุนจดทะเบียนรวมประมาณ 5.18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีที่แล้ว มีโครงการที่จดทะเบียนใหม่ 5 โครงการ และอีก 4 โครงการรอการปรับทุน โดยมีทุนจดทะเบียนรวม 112.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 27% เมื่อเทียบกับปี 2020 สร้างงานที่มั่นคงให้กับคนงานสปป.ลาวหลายหมื่นคน ในที่ประชุมสปป.ลาว-เวียดนาม ยังได้หารือถึงมาตรการความร่วมมือเกี่ยวกับมาตรการเพื่อจัดการกับปัญหาที่องค์กรต้องเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับเงินทุน ภาษี การนำเข้า-ส่งออก สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยและการเช่าที่ดิน ในขณะเดียวกันก็ตกลงที่จะประสานงานในการสร้างทางแนวทางในอนาคตที่มั่นคงและโปร่งใส ด้านการส่งเสริมการค้าและการลงทุน ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเติบโตของมูลค่าการค้า โดยมุ่งมั่นที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงร้อยละ 10 หรือสูงกว่าเมื่อเทียบกับปี 2564

ที่มา : https://en.nhandan.vn/business/item/11037002-vietnam-laos-trade-value-surges-over-30-percent-in-2021.html

สุดช้ำ ค่าครองชีพพุ่งอีก ผู้เลี้ยงไก่ไข่ แจ้งขึ้นราคาไข่คละ หน้าฟาร์ม ฟอง 3 บ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ ได้ทำหนังสือแจ้งสมาชิก  ปรับขึ้นราคาแนะนำไข่ไก่คละ หน้าฟาร์ม เป็นฟองละ 3.00 บาท  มีผลตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค.65 เป็นต้นไป และหากมีการเปลี่ยนแปลงราคา สมาคมจะแจ้งให้ทราบต่อไป โดยจากสอบถามผู้เลี้ยงสาเหตุที่ปรับขึ้นราคาไข่ไก่ฟองละ 20 สตางค์ จาก 2.80 บาท เป็น 3 บาท เนื่องจากประสบปัญหาต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะราคาอาหารสัตว์ทำให้เกษตรกรแบกรับภาระต้นทุนไว้ไม่ไหว

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/news/650626/

พาณิชย์พร้อมใช้เทคโนโลยีรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form RCEP หนุนส่งออก

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ระบบออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form RCEP ระบบการตรวจสอบคุณสมบัติด้านถิ่นกำเนิดของสินค้า หรือ ROVERs และระบบการขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต (Self-Certification) เพื่อใช้ประโยชน์ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ได้พร้อมเปิดให้บริการแล้ว ซึ่งเป็นการยกระดับการให้บริการให้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น และได้เริ่มเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ระบบออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form RCEP ที่กรมฯ ได้พัฒนาขึ้นเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าไทยและช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการได้อีกทางหนึ่ง ในอีกทางหนึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการไทย เนื่องจากตลาด RCEP มีขนาดใหญ่และมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันมากกว่า 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งจะช่วยผลักดันการส่งออกของไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังได้ประโยชน์ในด้านการนำเข้าสินค้าที่เป็นวัตถุดิบจากประเทศสมาชิกในกลุ่ม RCEP เพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าไทยโดยใช้กฎการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าและส่งออกไปยังประเทศสมาชิกในกลุ่ม RCEP เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนหรือยกเว้นภาษี ณ ประเทศปลายทาง โดยผู้ประกอบการไทยสามารถเลือกใช้วัตถุดิบที่มีความหลากหลายและสามารถนำมาสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าได้จากทุกประเทศที่เป็นสมาชิกในกลุ่ม RCEP ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนในการผลิตและสร้างแต้มต่อให้แก่ในตลาดต่างประเทศ

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/59593/