‘อสังหาฯ เวียดนาม’ ส่งสัญญาณฟื้นตัว

ภาคอสังหาริมทรัพย์ของเวียดนามคึกคัก จากสัญญาณเชิงบวกหลายประการ อาทิเช่น โครงการรีสอร์ทบางแห่งกลับมาเปิดกิจการอีกครั้ง โครงการอุตสาหกรรมเริ่มดำเนินงานและโครงการที่อยู่อาศัยใหม่เข้าสู่ตลาด

ทั้งนี้ โครงการอสังหาริมทรัพย์เชิงอุตสาหกรรมชั้นนำในเวียดนาม ‘Gelex’ และ ‘Frasers’ ประกาศจับมือพัฒนาสวนอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามมาตรฐาน LEED ที่ทำการประเมินอาคารให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่บริษัท ‘Becamex IDC Corp’ ได้ลงนามในข้อตกลงการลงทุนโครงการนิคมอุตสาหกรรมบินห์ถ่วน ขนาด 5,000 เฮกตาร์ ด้วยเงินลงทุนรวมกว่า 800 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ รัฐบาลสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อสังคม การปรับปรุงกรอบกฎหมายและเสนออัตราดอกเบี้ยพิเศษ ซึ่งในปัจจุบันมีโครงการประเภทนี้จำนวน 129 โครงการ รวมจำนวนยูนิตที่อยู่อาศัยเพื่อสังคมที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 114,934 ยูนิต

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/real-estate-market-picking-up-post288338.vnp

‘ธุรกิจเวียดนาม’ เผชิญกับอุปสรรคสำแดงสินค้านำเข้า เหตุลดภาษี VAT

รองเลขาธิการหอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม (VCCI) กล่าวว่าผู้ประกอบการเผชิญกับอุปสรรคจากการสำแดงสินค้าที่มีการนำเข้า ซึ่งปัจจุบันเวียดนามกำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ไว้ที่ 8% จากเดิมอยู่ที่ 10% หรือปรับลดอัตราภาษี 2% เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวให้กับภาคธุรกิจและเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์และผู้นำธุรกิจ เรียกร้องให้รัฐบาลขยายโครงการสนับสนุนในครั้งนี้ไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปีนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ความท้าทายทั้งด้านเศรษฐกิจและธุรกิจในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี การดำเนินการดังกล่าว ถือว่าเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากปัญหาทางด้านเอกสารที่มีการจำแนกแบบดั้งเดิม ทำให้ผู้ประกอบการบางรายไม่ทราบว่าสินค้าและบริการของธุรกิจตนเองได้รับสิทธิในการลดหย่อนภาษี ถึงแม้ว่าจะปรึกษาหน่วยงานด้านภาษีแล้วก็ตาม

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1657165/businesses-face-difficulties-in-declaring-goods-eligible-for-vat-cut.html

การส่งออกประมงของเมียนมามีมูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐใน 2 เดือน

สถิติของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผยว่า การส่งออกประมงของเมียนมาเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 102.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณปัจจุบันปี 2567-2568 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน โดยตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงการเพิ่มขึ้น 33.545 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับสถิติที่บันทึกไว้ในช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณ 2023-2024 ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 69.425 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เมียนมาส่งสินค้าประมง เช่น ปลา ปู และกุ้ง ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน (จีนและไทย) ผ่านด่านชายแดน Muse, Myawady, Kawthoung, Myeik, Sittway และ Maungtaw นอกจากนี้ยังจัดส่งไปยังประเทศญี่ปุ่น ประเทศในยุโรป จีน ไทย และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคผ่านช่องทางเดินเรือ ซึ่งสหพันธ์ประมงเมียนมาระบุว่า ปลามากกว่า 20 สายพันธุ์ รวมถึงฮิลซา โรฮู ปลาดุก และปลากะพงขาว ถูกส่งไปยังตลาดต่างประเทศ โดยส่งออกไปยังกว่า 40 ประเทศ และผู้นำเข้าประมงชั้นนำของเมียนมาคือไทย รองลงมาคือจีน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-fisheries-exports-bag-us100m-in-2-months/#article-title

การระบาดของโรคอหิวาต์สุกรส่งผลให้การเลี้ยงสุกรของเมียนมาลดลงในปีนี้

เจ้าของฟาร์มสุกรในเมืองยาเมธิน กล่าวว่า เนื่องจากเกิดไข้หวัดหมูระบาดตั้งแต่ในช่วงฤดูแล้งของปีที่แล้ว ส่งผลให้จำนวนผู้เลี้ยงสุกรลดลงในปีนี้ แต่การบริโภคเนื้อหมูยังคงเท่าเดิม ส่งผลให้ราคาเนื้อหมูในตลาดจึงสูง อย่างไรก็ดีในการเลี้ยงหมูอ่อนของเมียนมามีทั้งการเลี้ยงหมูพื้นเมืองและหมูซีพี ซึ่งขณะนี้แม้ว่าเกษตรกรบางรายหยุดทำฟาร์มสุกรไปเนื่องจากผลกระทบของโรคระบาดเมื่อปีก่อน แต่ก็มีความต้องการที่จะทำฟาร์มต่อ นอกจากนี้ ราคาสุกรมีชีวิตอยู่ในเกณฑ์ที่ดีระหว่างปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม รวมทั้งเกษตรกรส่วนใหญ่ในตลาดปัจจุบันยังมีความต้องการให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของเมียนมาพัฒนามากขึ้น

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/last-years-swine-fever-leads-to-decline-in-pig-farming-this-year/#article-title

กัมพูชาส่งออกมูลค่ารวมเกือบ 220 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี

สหพันธ์ข้าวแห่งกัมพูชา (CRF) เปิดเผยในรายงานว่า 5 เดือนแรกของปีนี้ กัมพูชาสามารถส่งออกข้าวได้ปริมาณรวมกว่า 302,592 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับปริมาณ 278,184 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สร้างรายได้เข้าประเทศถึง 219 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จากมูลค่า 191 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่งออกไปยัง 63 ประเทศ ผ่านบริษัทผู้ส่งออก 48 แห่ง ซึ่งจีนถือเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา ที่ปริมาณการนำเข้ารวม 73,322 ตัน คิดเป็นมูลค่า 46 ล้านดอลลาร์ สำหรับการส่งออกข้าวไปยังประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 26 ประเทศ มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 136,528 ตัน คิดเป็นมูลค่า 104 ล้านดอลลาร์ ส่วนการส่งออกไปยังประเทศสมาชิกอาเซียน 7 ประเทศ มีปริมาณ 65,412 ตัน คิดเป็นมูลค่า 46 ล้านดอลลาร์ และยังมีการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ อีกราว 27,330 ตัน คิดเป็นมูลค่า 22.9 ล้านดอลลาร์ ด้านสหพันธ์ข้าวแห่งกัมพูชา ตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวทั้งปี 2023 ไว้ที่ 750,000 ตัน และเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านตัน ภายในปี 2025

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501502343/cambodia-nets-close-to-220-million-from-rice-exports-in-first-five-months/

สนามบินนานาชาติกัมพูชาต้อนรับนักท่องเที่ยวแตะ 2 ล้านคน ในช่วง 5 เดือนแรกของปี

อุตสาหกรรมการบินของกัมพูชายังคงฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยมีผู้โดยสารเดินทางผ่านสนามบินนานาชาติกว่า 2 ล้านคน ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมการบินของกัมพูชากำลังเริ่มฟื้นตัวหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับในปี 2024 กัมพูชามีสายการบินภายในประเทศและต่างประเทศรวม 31 สายการบิน ให้บริการเที่ยวบินจาก 8 ประเทศสมาชิกอาเซียน จีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขณะที่สนามบินนานาชาติของกัมพูชามีอยู่ 3 แห่งที่เปิดดำเนินการ ได้แก่ สนามบินนานาชาติพนมเปญ (PNH) สนามบินนานาชาติเสียมราฐอังกอร์ (SAI) และสนามบินนานาชาติพระสีหนุ (KOS) ซึ่งเมื่อปีที่แล้วกัมพูชาประสบความสำเร็จอย่างมากในการเพิ่มจำนวนผู้โดยสารทางอากาศ โดยมีผู้โดยสารเดินทางเข้าออกกว่า 5.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นอย่างมากถึงร้อยละ 115 เมื่อเทียบกับปี 2022

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501502407/cambodias-intl-airports-handle-2-million-air-passengers-in-the-first-five-months/

OECD เสนอแนะ สปป.ลาว พัฒนาทุนมนุษย์เพื่อเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

ปัจจุบัน สปป.ลาว กำลังเผชิญกับความท้าทายในการเปลี่ยนจากการเติบโตที่ขับเคลื่อนด้วยสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่รูปแบบอื่นๆ มากขึ้น โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เสนอแนะให้ประเทศลาวจัดการกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ โดยการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาทุนมนุษย์และความยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการลดภาระหนี้เพื่อสร้างพื้นที่ทางการคลัง การปฏิรูประบบภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ ปรับปรุงการเข้าถึงทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อดึงดูดการลงทุนที่ยั่งยืน และการเพิ่มการลงทุนในด้านการศึกษา การดูแลสุขภาพ และบริการทางสังคม รวมถึงเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปรับปรุงการรวบรวมข้อมูลและขีดความสามารถของประเทศเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงการประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาเศรษฐกิจ

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/06/06/human-capital-green-sustainability-two-priorities-for-laos-future-economic-model/

‘เวียดนาม’ เผย ม.ค.-พ.ค. ยอดจัดเก็บงบประมาณของรัฐ โต 7.4%

กรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าการจัดเก็บงบประมาณของรัฐที่มาจากกิจกรรมการนำเข้าและส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 165.7 ล้านล้านด่อง คิดเป็น 44.2% ของยอดเป้าหมายทั้งปี และขยายตัว 7.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทั้งนี้ จากข้อมูลในเดือน พ.ค.67 พบว่าการนำเข้าและส่งออก เพิ่มขึ้น 9.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน มูลค่ากว่า 66.62 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภาคการส่งออกผักและผลไม้มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ในขณะเดียวกันเวียดนามมีการนำเข้าน้ำมันดิบ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและชิ้นส่วน เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ กรมศุลกากร รายงานว่าการละเมิดทางการค้าต่างประเทศในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. มีจำนวน 6,256 คดี และมูลค่าของสินค้าที่เสียหายสูงถึง 8.4 ล้านล้านด่อง

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/state-budget-revenue-from-trade-activities-grows-7-4-in-jan-may/

ยอดส่งออกพัลส์เมียนมาทะลุ 470,000 ตัน มูลค่า 412 ล้านดอลลาร์สหรัฐสหรัฐฯ

สถิติของกระทรวงพาณิชย์เมียนมาเผยว่า เมียนมาสร้างรายได้จากการส่งออก 412 ล้านดอลลาร์สหรัฐสหรัฐจากผลผลิตพัลส์มากกว่า 470,000 ตันในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา เดือนเมษายน-พฤษภาคม ของปีการเงินปัจจุบันปี 2567-2568 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน แบ่งเป็นการส่งออกพัลส์ทางทะเลกว่า 460,800 ตัน คิดเป็นมูลค่า 397.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านผ่านพรมแดนทางบก กว่า 17,000 ตัน มูลค่า 14.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2566-2567 ที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกพัลส์ของเมียนมามีมูลค่ามากกว่า 1.484 พันล้านดอลลาร์สหรัฐสหรัฐ จากมากกว่า 1.76 ล้านตัน (เมษายน-มีนาคม) ซึ่งประกอบด้วยการค้าทางทะเล 1.6 ล้านตัน มูลค่า 1.34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐสหรัฐ และผ่านด่านชายแดน 157,400 ตัน มูลค่า 141.38 ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี เมียนมาส่งออกถั่วดำ ถั่วเขียว และถั่วแระไปยังตลาดต่างประเทศเป็นหลัก ในจำนวนนี้ ถั่วดำและถั่วแระจะถูกส่งไปยังอินเดียเป็นหลัก ในขณะที่ถั่วเขียวจะถูกส่งออกไปยังจีนและยุโรป นอกจากนี้ ตามบันทึกความเข้าใจระหว่างเมียนมาและอินเดียที่ลงนามเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2564 อินเดียจะนำเข้าถั่วดำจำนวน 250,000 ตัน และถั่วลันเตา (tur) จำนวน 100,000 ตันจากเมียนมาเป็นเวลาห้าปีติดต่อกัน ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2565 ถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2569 ซึ่งสนธิสัญญา G-to-G นี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อโควตาประจำปีของพัลส์ที่อินเดียกำหนด และผู้ส่งออกของเมียนมายังมีสิทธิ์ส่งพัลส์ไปยังอินเดียภายใต้โควต้าประจำปีนั้น

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/pulse-exports-cross-470000-tonnes-worth-us412m-in-apr-may/