รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นเยือนสปป.ลาว

รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่น ได้เดินทางเยือนสปป.ลาวเพื่อฉลองครบรอบ 65 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสปป.ลาวและญี่ปุ่น เสริมสร้างมิตรภาพอันยาวนานและความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสองประเทศ ได้มีการหารือกันถึงความเป็นไปได้ของการอนุญาตให้ผู้อยู่อาศัยในประเทศ นักลงทุนและนักธุรกิจสามารถเดินทางระหว่างสองประเทศได้ในขณะที่ยังคงข้อกำหนดของการกักกันเป็นเวลา 14 วันที่บ้านหรือในพื้นที่อื่นที่กำหนดไว้ ผู้เดินทางจะได้รับการตรวจสอบตลอดการเข้าพัก แต่จะช่วยให้การค้าดำเนินต่อไปได้โดยฝ่ายสปป.ลาวมีความกระตือรือร้นที่จะเห็นธุรกิจของญี่ปุ่นย้ายการดำเนินงานไปยังสปป.ลาวมากขึ้น และยังหารือถึงความร่วมมือในด้านภัยพิบัติและการป้องกันโรค ความมั่นคงสาธารณะเสถียรภาพทางการเงินและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ของทางด่วนเวียงจันทน์ – ฮานอยเพื่อเสริมสร้างการเชื่อมต่อ และมีการหารือเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคซึ่งรวมถึงปัญหาทะเลจีนใต้และสถานการณ์ของเกาหลีเหนือตลอดจนความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศ หลังจากการประชุมได้มีการจัดพิธีลงนามเพื่อแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับความช่วยเหลือแบบให้เปล่า 2 โครงการที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ที่โรงเรียนฝึกหัดครู โรงเรียนในเครือ 8 แห่งในสปป.ลาว และการจัดหารถโดยสารสาธารณะใหม่ที่จะให้บริการในเมืองเวียงจันทน์ นอกจากนี้ยังมีพิธีมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จะนำไปสู่การรับมือกับโรคโควิด -19 ในสปป.ลาว

ที่มา : https://laotiantimes.com/2020/08/24/japanese-foreign-minister-motegi-visits-laos/

ครม. แนะภาคการเงินและธุรกิจปรับปรุงนโยบายที่เอื้อต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

การประชุมประจำเดือนสิงหาคมของคณะรัฐมนตรีมีการหารือในหลายประเด็นรวมถึงรับรองกฎหมายเพิ่มเติมต่างๆ ประเด็นที่สำคัญในการประชุมครั้งนี้ครอบคลุมในเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยคณะรัฐมนตรีสั่งการเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงนโยบายเพื่อส่งเสริม SMEs รวมถึงการแก้ไขอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และการปรับปรุงขั้นตอนเข้าถึงกองทุนส่งเสริม SME ได้ง่ายและรวดเร็ว ในส่วนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราและอัตราเงินเฟ้อควรอยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม นอกจากนี้รัฐบาลยังผลักดันการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ การจะทำตามแผนดังกล่าวได้สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือภาครัฐต้องคำนึงถึงประสิทธิด้านการเก็บภาษีเพื่อให้ได้ตรงตามเป้าหมายประจำปี ในที่ประชุมยังได้เห็นชอบในหลักการร่างกฎหมาย 3 ฉบับซึ่งจะถูกส่งเข้าสู่การประชุมสมัชชาแห่งชาติสมัยสามัญที่กำลังจะมีขึ้น และเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างภาคการค้า รัฐบาลพยายามสนับสนุนการผลิตในประเทศเพื่อลดการนำเข้าและส่งเสริมการส่งออกรวมถึงส่งเสริมการแคมเปญการท่องเที่ยวหลังโควิด -19 เพื่อทำให้เศรษฐกิจสปป.ลาวกลับมาเติบโตอีกครั้ง

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Cabinet_163.php

กัมพูชาและเวียดนามร่วมพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการค้าชายแดน

นายกรัฐมนตรีประจำประเทศเวียดนามได้ออกแผนการดำเนินการบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาและการเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านการค้าชายแดนระหว่างเวียดนามและกัมพูชา โดยการดำเนินการเริ่มต้นในวันที่ 19 สิงหาคม และจะมีผลจนถึงเดือนตุลาคม 2022 ซึ่งกระทรวงที่เกี่ยวข้องถูกกำหนดให้จัดกิจกรรมรณรงค์ด้านการสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักในเนื้อหาของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการค้าชายแดนเวียดนาม – กัมพูชา เพื่อส่งเสริมการค้ากับกัมพูชา และแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน รวมถึงจัดหลักสูตรการฝึกอบรม ซึ่งในปี 2021 และ 2022 ทั้งสองประเทศจะทำการสำรวจการสร้างตลาดชายแดน ดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้นักธุรกิจเวียดนามและกัมพูชาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการค้าชายแดน เพิ่มกิจกรรมส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่เกี่ยวข้อง และ บริษัท สนับสนุนในการแนะนำและกระจายสินค้าที่ตลาดชายแดน ศูนย์การค้า และงานแสดงสินค้า โดยเวียดนามและกัมพูชามีพรมแดนทางบกยาวเกือบ 1,137 กม. ผ่าน 10 จังหวัดของเวียดนาม และ 9 จังหวัดของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50755887/cambodia-and-vietnam-to-develop-infrastructure-to-facilitate-border-trade/

การท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงวันขึ้นปีใหม่กัมพูชา

การท่องเที่ยวภายในประเทศดึงดูดผู้เดินทางมากกว่า 1.4 ล้านคน ทั้งคนในท้องถิ่นและชาวต่างชาติที่พักอาศัยอยู่ภายในประเทศในช่วงสัปดาห์ก่อนของวันขึ้นปีใหม่ประจำปีของกัมพูชา โดยประธานสมาคมตัวแทนการท่องเที่ยวแห่งกัมพูชา (CATA) กล่าวว่าในช่วงวันหยุดที่ผ่านมามีส่วนช่วยภาคการท่องเที่ยวเป็นอย่างมากหลังจากได้รับผลกระทบจากการระบาดในปัจจุบัน แต่ด้วยความร่วมมือที่ดีระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รัฐบาล และภาคเอกชน ทำให้ในช่วงวันหยุดประชาชนรู้สึกปลอดภัย ในขณะที่ผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวก็ให้ความสนใจเป็นอย่างมากในการปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัยของรัฐบาลส่งผลให้ผู้คนภายในประเทศกล้าที่จะเดินทางไปเที่ยวยังจุดท่องเที่ยวต่างๆทั่วประเทศ แต่ถึงอย่างไรผู้สังเกตการณ์ด้านการท่องเที่ยวคาดการณ์ว่ากัมพูชาจะสูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยวราว 3 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 7 ปีในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50756096/internal-travellers-breathe-fresh-air-into-tourism/

เวียดนามเผยการส่งออกอาหารทะเลพุ่งขึ้น หลังจาก EVFTA มีผลบังคับใช้

สมาคมผู้ส่งออกและผู้ผลิตอาหารทะเลเวียดนาม (VASEP) ระบุว่าการส่งออกอาหารทะเลไปยังยุโรป แสดงให้เห็นถึงสัญญาเชิงบวกมากมายตั้งแต่ข้อตกลง EVFTA มีผลบังคับใช้เมื่อต้นเดือนนี้ ซึ่งจำนวนยอดคำสั่งซื้อต้นเดือนนี้ ในตลาดยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว ทั้งนี้ ประธานคณะกรรมการบริษัท Thuan Phuoc Seafood and Trading Corporation กล่าวว่าบริษัทมีการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากกุ้ง 3,000 ตัน ไปยังยุโรป ด้วยมูลค่าประมาณ 31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 และ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ ขณะที่ คุณ Nguyen Thi Anh ผู้อำนวยการบริษัท Ngoc Xuan Seafood Corporation กล่าวว่าลูกค้าในยุโรปได้หันมาเจรจาด้านคำสั่งซื้อกับทางบริษัทอีกครั้งเมื่อเร็วๆนี้ นอกจากนี้ ทางสมาคมฯ มองว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และยอดส่งออกอาหารทะเลคาดว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก แต่ว่าเห็นสัญญาในทิศทางที่เป็นบวกแก่ธุรกิจที่กลับมาฟื้นตัว หลังจากยอดคำสั่งซื้อล่าช้าและถูกยกเลิกออเดอร์

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnamese-seafood-exports-increase-after-evfta-comes-into-force-23620.html

เวียดนามเกินดุลการค้า 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงกลางเดือน ส.ค.

กรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าการส่งออกยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของเดือนสิ.ค. ส่งผลให้เวียดนามเกินดุลการค้า 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ โดยตั้งแต่วันที่ 1-15 สิ.ค. เวียดนามมียอดส่งออกประมาณ 12.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ ยอดการนำเข้าอยู่ที่ 10.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการส่งออกรวมมากกว่า 160.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน หรือประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะเดียวกัน การนำเข้าอยู่ที่ 150.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปีก่อน หรือประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ยอดเกินดุลการค้าสูงถึง 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงกลางเดือนสิ.ค. นอกจากนี้ สินค้าส่งออกที่สำคัญในช่วงเวลาดังกล่าว ได้แก่ โทรศัพท์และชิ้นส่วน, คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, เครื่องจักรและรองเท้า เป็นต้น สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ, เครื่องจักรและอะไหล่, โทรศัพท์และผ้าทุกชนิด เป็นต้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/trade-surplus-amounts-to-10-billion-usd-by-midaugust/181715.vnp

‘นิสสัน’ปักธงไทยฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน

นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังหารือกับนายราเมช นาราสิมัน ประธานบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ว่า ทางบริษัท นิสสันฯ ได้แจ้งให้ทราบถึงการปิดโรงงานในประเทศอินโดนีเซีย เพื่อรวมฐานการผลิตรถยนต์สำหรับการส่งออกไว้ที่ประเทศไทยเพียงแห่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)แล้ว แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อทิศทางและนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป ทั้งนี้ล่าสุดบริษัทฯ ได้เปิดตัว Nissan Kicks รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า 100%  โดยไม่ต้องชาร์จ ซึ่งนำเทคโนโลยีใหม่ e-Powers มาใช้ในรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทยเป็นแห่งแรกของโลก (นอกเหนือจาก การผลิตในบริษัทแม่ ณ ประเทศญี่ปุ่น) โดยรถยนต์รุ่นนี้มีการผลิตในไทยและส่งออกไปจำหน่ายยังญี่ปุ่นอีกด้วย สำหรับมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยนั้น ในด้านตลาดการจัดซื้อรถยนต์ประจำตำแหน่งของผู้บริหารในหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกับสำนักงบประมาณแล้ว เพื่อกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเข้าไป โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐสามารถจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้งานได้  ส่วนมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าด้านอื่นๆ เช่น สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับประชาชนที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าไปใช้ เป็นต้น จะได้มีการหารือและดำเนินการผลักดันภายใต้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายของการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสำคัญของโลกต่อไป

ที่มา: https://www.posttoday.com/economy/news/631283

AGD Bank ร่วมลงนาม Pact Global Microfinance ปล่อยเงินกู้ให้เกษตรกร

Asia Green Development Bank (AGD Bank) หนึ่งในธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในเมียนมาได้ลงนามในข้อตกลงการจัดหาเงินทุนมูลค่า 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (35 พันล้านจัต) กับ Pact Global Microfinance Fund (PGMF) ซึ่งจะแจกจ่ายให้กับเกษตรกรและธุรกิจการเกษตรในชนบท โดยจะมีการเบิกจ่ายเงินกู้ในสกุลเงินท้องถิ่นเป็นครั้งแรกของเมียนมา เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบทห่างไกลของเมียนมาและช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร ข้อตกลงดังกล่าวได้ลงนามในช่วงเวลาที่ COVID-19 กำลังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเกษตรและภาคการส่งออก ด้วยเหตุนี้การจัดการกับอัตราแลกเปลี่ยนจึงกลายเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก จากข้อตกลงดังกล่าวสามารถโอนเงินในรูปสกุลเงินท้องถิ่นไปยังผู้ประกอบการ 68,000 ครัวเรือน Pact Global Microfinance Fund เป็นสถาบันการเงินรายย่อยที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเมียนมาและให้เงินกู้รายย่อยแก่ชุมชนในพื้นที่ชนบท นาย U Pyi Soe Htin ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจของ AGD Bank กล่าวว่าธนาคารมีเป้าหมายที่จะให้ทุนและสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ชนบทโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเกษตร

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/agd-bank-pact-global-microfinance-bring-foreign-funds-local-farmers.html