มูลค่าการส่งออกกัมพูชาเพิ่มขึ้น สวนทางการนำเข้าที่ลดลง

มูลค่าการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาอยู่ที่ 5.9 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 เมื่อเทียบเป็นรายปีในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ โดยมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของกัมพูชาอยู่ที่ 8.1 พันล้านล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 1 ในช่วงเวลาเดียวกัน จากข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ (MFAIC) ซึ่งมูลค่าการนำเข้าที่ลดลงเป็นผลมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในเดือนมีนาคม (0.4%) และการเติบโตติดลบในเดือนเมษายน (13.9%) และพฤษภาคม (26.5%) ขณะที่การนำเข้าสินค้าสำคัญลดลงโดยเฉพาะวัสดุก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ (โดยเฉพาะผ้า) และเครื่องจักรกล โดยการส่งออกของกัมพูชายังคงรักษาระดับการเติบโตที่ดีแม้ว่าประเทศคู่ค้าทั่วโลกจะเผชิญกับการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ซึ่งการเติบโตมาจากการส่งออกที่ขยายตัวสูงในเดือนมกราคม (25.4%) และกุมภาพันธ์ (22.8%) และพฤษภาคม (25.3%) โดยการเจริญเติบโตของการส่งออกมาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ร้อยละ 45 จักรยานร้อยละ 18 ข้าวร้อยละ 29 และผลิตภัณฑ์อื่นๆร้อยละ 30

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50749966/exports-rise-in-value-lower-imports/

อาเซียน-ญี่ปุ่น จับมือฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด พร้อมบรรลุข้อตกลงหุ้นส่วนฉบับใหม่เริ่ม 1 สิงหา

นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายก รัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบหมายให้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ว่าด้วยการตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยที่ประชุมหารือและแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมถึงการเป็นห่วงโซ่การผลิตที่สำคัญของภูมิภาคและของโลก ดังนั้นที่ประชุมจึงร่วมกันรับรองแผนปฏิบัติการด้านความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเป็นรูปธรรม โดยแผนดังกล่าวมุ่งเน้นเป้าหมาย 3 ประการ คือ รักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดระหว่างกัน บรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ ผ่านกิจกรรมต่างๆ กว่า 50 โครงการ เช่น มุ่งให้มีการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ภายในปีนี้ เร่งส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และเคมีภัณฑ์ ยกระดับทักษะฝีมือแรงงานในภาคอุตสาหกรรมให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี พัฒนาการค้าดิจิทัลระดับภูมิภาค ผลักดันการใช้เทคโนโลยีในการเสริมสร้างประสิทธิภาพและศักยภาพของธุรกิจ MSMEs เป็นต้น

ที่มา : https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2286193

หอการค้าชี้ส่งออกปี 63 ติดลบหนักสุดรอบ10ปี

ม.หอการค้าฯ แนะทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาล เร่งสนับสนุนให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งเงินทุนฝ่าวิกฤติโควิด-19  เผยส่งออกปีนี้ติดลบหนักสุดในรอบ 10 ปี นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผล “การวิเคราะห์การส่งออกไทยครึ่งปีหลังปี 2563 : ไร้วัคซีนโควิด-19” ว่า แนวโน้มการส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 ยังคงเผชิญแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยสมมติฐานหากสถานการณ์โลกมีการผลิตวัคซีนโควิดได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ การส่งออกไทยในปี 2563 จะหดตัวลงที่ 5.5% และ ถ้าสามารถผลิตวัคซีนได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 จะหดตัวประมาณ 9.6% แต่ถ้ายังไม่มีวัคซีน จะส่งผลให้การส่งออกไทยทั้งปี อาจติดลบสูงถึง 13.5% หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกที่หายไปประมาณ 7 แสนล้านบาทถึง 1 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นตัวเลขติดลบหนักที่สุดในรอบ 10 ปี โดยสินค้าส่งออกที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ สินค้าในกลุ่มรถยนต์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนการส่งออกไทยในครึ่งปีแรกหดตัวอย่างรุนแรงโดยเฉพาะเดือนมิถุนายน หดตัวถึง 23.1% แต่ก็ยังมีสินค้าบางส่วนที่ยังสามารถขยายตัวได้ อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ,แผงวงจรไฟฟ้า,เคมีภัณฑ์,อากาศยานและชิ้นส่วน,เครื่องสำอาง,ผลิตภัณฑ์ยาง,ผลไม้และข้าว

ที่มา : https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/443605

เวียดนามเผยกลางเดือน ก.ค. ส่งออกพริกไทยสูงถึง 385 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่ากลางเดือนกรกฎาคม ปริมาณการส่งออกพริกไทยของเวียดนามอยู่ที่ 182,000 ตัน มูลค่าราว 385 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้ว่าจะเผชิญกับการระบาดของไวรัส COVID-19 ไปทั่วโลก แต่การส่งออกพริกไทยของเวียดนามไปยังตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ อียิปต์และสหราชอาณาจักร ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ สมาคมพริกไทยเวียดนาม (VPA) แนะนำให้ผู้ส่งออกควรมุ่งเน้นการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพ ซึ่งมีการผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ได้แก่ จีน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น เป็นต้น และส่งเสริมการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (MARD) เผยว่าผลผลิตพริกไทยของเวียดนามมีสัดส่วนร้อยละ 95 เพื่อเตรียมส่งออกไปยังต่างประเทศ และอีกร้อยละ 5 เพื่อการบริโภคในประเทศ โดยทางกระทรวงฯ เน้นในการวางแผนเตรียมพื้นที่เพาะปลูกพริกไทย และส่งเสริมการผลิตผ่านวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี เพื่อได้มีมาตรฐานการทำฟาร์มและเชื่อมโยงการผลิตเกษตรเชิงอนุรักษ์

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/pepper-export-turnover-hits-385-million-usd-by-midjuly/179349.vnp

เวียดนามอาจส่งออกข้าวแซงไทย

เวียดนามอาจส่งออกข้าวแซงไทยในปีนี้ เนื่องจากราคาที่แข่งขันกันได้และการยกเลิกโควต้าส่งออกข้าว โดยข้อมูลทางสถิติจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่าปริมาณการส่งออกข้าวของไทยอยู่ที่ 2.57 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 54.2 พันล้านบาท (1.71 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงร้อยละ 31.9 ในแง่ปริมาณ และร้อยละ 13.2 ในแง่มูลค่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ในขณะเดียวกัน ข้อมูลจากสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม (VCCI) ระบุว่าช่วงเวลาเดียวกันนั้น ปริมาณการส่งออกข้าวของเวียดนามอยู่ที่ราว 2.9 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1.41 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 ในแง่ปริมาณ และร้อยละ 18.9 ในแง่มูลค่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ทั้งนี้ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยมองว่าในปีนี้ ปริมาณการส่งออกข้าวจะอยู่ที่ 6.5 ล้านตัน ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาและต่ำกว่าที่ตั้งเป้าไว้ที่ 7.5 ล้านตัน เป็นผลมาจากหลายปัจจัย ได้แก่ ความต้องการทั่วโลกที่หดตัวลงจากการระบาดของไวรัส เงินบาทแข็งค่าและผลผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ จากภัยแล้งที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ เป็นต้น นอกจากนี้ ข้อตกลงการค้าเสรี EVFTA คาดว่าจะช่วยให้เวียดนามสามารถกระจายตลาดการส่งออกข้าวให้หลากหลายมากขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-may-surpass-thailand-in-rice-export/179355.vnp

เมียนมาปล่อยสินเชื่อ 100 พันล้านจัต เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากพิษ COVID-19

ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา คณะกรรมการแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ COVID-19 (CERP) ได้ประกาศกองทุนสินเชื่อใหม่ 100 พันล้านจัต เป้าหมายเพื่อช่วยเหลือธุรกิจในภาคเกษตรปศุสัตว์ การส่งออก / นำเข้า การผลิต ห่วงโซ่อุปทาน อาหารและเครื่องดื่ม (F&B) หน่วยงานต่างประเทศ และโรงเรียนอาชีวศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างไรก็ตามความล้มเหลวในการชำระคืนเงินกู้จะส่งผลให้ถูกเรียกเก็บเงินตามกฎหมายและธุรกิจจะส่งผลลบต่อเครดิตบูโรและเพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับเงินกู้จาก MFI ตามประกาศของคณะกรรมการ CERP เงินกู้ยืมจากกองทุนสามารถสมัครได้ที่สหพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมสหภาพเมียมา สำนักงานใหญ่ ภูมิภาค และสำนักงานของรัฐ ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคมถึง 10 สิงหาคม 2563 เงินกู้นี้จะใช้สำหรับการจ่ายค่าแรงและการดำเนินธุรกิจเท่านั้น

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/covid-19-relief-plan-committee-myanmar-announces-new-k100b-loan-programme.html