‘ADB’ หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจมาเลเซียและเวียดนาม

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจเวียดนามและมาเลเซียในปีนี้ หลังจากเศรษฐกิจหดตัวในไตรมาสที่ 3 ขณะเดียวกันปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของเอเชียลงมาสู่ระดับ 7.0% ในปีนี้ และ 5.3% ในปี 2565 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 7.1% และ 5.4% ตามลำดับ

ทั้งนี้ ตามรายงาน “Asian Development Outlook” ระบุว่าในกลุ่มประเทศเอเชีย จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มลดลง และระดับการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ดี ไวรัสตัวใหม่ที่มีชื่อว่า “โอมิครอน” เสี่ยงคุกคามเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง นอกจากนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม คาดว่าจะปรับตัวลดลงอยู่ที่ 2.0% ในปีนี้ จากที่คาดการณ์เดิมที่ระดับ 3.8% ก่อนที่จะขยายตัว 6.5% ในปีหน้า ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจของมาเลเซีย คาดว่าจะขยายตัว 3.8% ในปีนี้ และ 5.9% ในปีหน้า

ที่มา : https://asia.nikkei.com/Economy/ADB-slashes-Malaysia-and-Vietnam-annual-growth-forecasts

‘สมาคมผู้ส่งออกอาหารทะเลเวียดนาม’ ร้องกฎหมายนำเข้าอาหารทะเลไม่เพียงพอ

สมาคมผู้ส่งออกและผู้ผลิตอาหารทะเลของเวียดนาม (VASEP) ได้ยื่นคำร้องต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อทำการเสนอให้แก้ไขข้อบังคับที่เกี่ยวกับมาตรการกักกันผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ซึ่งคำร้องดังกล่าวนั้น ชี้ว่าธุรกิจอาหารทะเลของชุมชนประสบปัญหาอย่างมากต่อมาตรการกักกัน ทั้งนี้ สมาคมฯ กล่าวว่าการตรวจสอบของรัฐบาลสำหรับผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่นำเข้ามาในประเทศที่เป็นไปตามกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการกักกันของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท ไม่ใช่หลักการที่ถูกต้องของการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปที่ใช้เป็นอาหารและมีรายการข้อกำหนดที่มากจนเกินไปและไม่จำเป็น นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังเสนอให้ยกเลิกกฎระเบียบกักกันสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปที่นำเข้าเพื่อการบริโภคภายในประเทศที่ประเมินแล้วว่าไม่มีความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคผ่านทางน้ำในเวียดนาม

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1106015/vasep-claims-imported-seafood-regulations-inadequate.html

 

บ.เกาหลีใต้ เล็งลงทุนระยะยาวในเวียดนาม

นายเวือง ดิ่งห์ เหวะ (Vuong Dinh Hue) ประธานรัฐสภาเวียดนาม และผู้นำธุรกิจ Samsung Electronics, SK, and Lotte Shopping & Lotte Mart กล่าวว่าทางบริษัทมีความสนใจที่จะร่วมมือกับเวียดนามในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมไฮเทค ตลอดจนช่วยเหลือผู้ประกอบการชาวเวียดนามถึงการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานโลก ในขณะเดียวกัน มุมมองต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ เวียดนามยังคงเป็นจุดหมายที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงนักลงทุนชาวเกาหลีใต้อีกด้วย ทั้งนี้ นายเวือง ได้แสดงความยินดีถึงการเปิดตัวโครงการศูนย์วิจัยนวัตกรรมของบริษัทซัมซุงในเวียดนาม และหวังว่ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์จะนำไปวิจัยและผลิตเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อทำให้สายการผลิตเทคโนโลยีชั้นสูงสมบูรณ์ในเวียดนาม นอกจากนี้ นายเวือง แสดงความขอบคุณกับบริษัทกลุ่ม SK ที่ทำการสนับสนุนกว่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับศูนย์นวัตกรรมแห่งชาติ และจะส่งเสริมกลุ่มบริษัทในการพัฒนาแหล่งพลังงานสะอาด ผลิตเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์โทรคมนาคมอื่นๆ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/rok-firms-desire-to-invest-in-vietnam-in-long-run-911294.vov

 

‘เวียดนาม’ คาดคนชนชั้นกลางเพิ่ม 36 ล้านคน ในอีก 10 ปีข้างหน้า

รายงานข้อมูลเชิงลึกฉบับใหม่โดย McKinsey ในหัวข้อการศึกษา “ผู้บริโภคชาวเวียดนามหน้าใหม่” ระบุว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า คนชนชั้นกลางของเวียดนามคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง และจะกระจายออกไปตามพื้นที่ต่างๆ และมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ด้วยแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิต การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้เวียดนามเป็นประเทศที่มีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าในกลุ่มประเทศเอเชีย อีกทั้ง เวียดนามจะก้าวข้ามเศรษฐกิจผ่านการขับเคลื่อนการบริโภคและในอีก 10 ปีข้างหน้านั้น เวียดนามจะมีผู้บริโภคกว่า 36 ล้านคน ทำให้ผู้บริโภคจะใช้จ่ายอย่างน้อย 11 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ซึ่งนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อปี 2543 ประชากรเวียดนามมีไม่ถึง 10% ของกลุ่มผู้บริโภค ต่อมาตัวเลขกลับเพิ่มขึ้น 40% ในปัจจุบัน และภายในปี 2573 ตัวเลขอาจแตะ 75%

ที่มา : https://www.nationthailand.com/international/40009869

 

‘เวียดนาม’ เผยยอดจดทะเบียนธุรกิจเทคโนโลยีดิจิทัลตั้งใหม่ ปี 64 เกือบ 5,600 ราย

ในปี 2564 เวียดนามมีการจดทะเบียนธุรกิจเทคโนโลยีดิจิทัลที่จัดตั้งใหม่ จำนวน 5,600 ราย เนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีความจำเป็นในการทำงาน การขายและการสื่อสารออนไลน์ คุณ Nguyen Thanh Tuyen รองผู้อำนวยการเทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงสารสนเทศและการสื่อสาร (MIC) กล่าวว่าปัจจุบัน บริษัทเทคโนโลยีดิจิทัล มีจำนวนราว 64,000 ราย และมีพนักงานมากกว่า 1 ล้านคน ทั้งนี้ กระทรวงฯ ระบุว่าในปี 2563 มีจำนวนแพลตฟอร์มมากกว่า 34 แพลตฟอร์มที่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงสารสนเทศ ซึ่งเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศเวียดนาม นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลของเวียดนาม ประสบความสำเร็จจากการเติบโตอย่างมาก โดยในปี 2563 เวียดนามได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกหดตัวลงและ แต่เวียดนามยังคงมีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 2.91% และถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีตัวเลขการเติบโตที่เป็นบวก ตลอดจนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลมีอัตราการเติบโตมากกว่า 9% ถือว่าสูงกว่าการเติบโตของ GDP กว่า 3 เท่า

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-has-5600-new-digital-technology-firms-in-2021/217968.vnp

 

‘สตาร์ทอัพเวียดนาม’ ประสบความสำเร็จในการดึงดูดเงินทุนจำนวนมาก

แม้ว่าจะเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรุนแรง แต่ด้วยระบบนิเวศของ Startup เวียดนามที่มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยในเดือน มิ.ย.64 บริษัทการลงทุนชั้นนำที่จัดการหลายสินทรัพย์ทางเลือกหลายประเภทอย่าง “KKR” ได้ออกมาประกาศว่าจะลงทุน 100 ล้านเหรียญสหรัฐใน “EQuest” สตาร์ทอัพด้านการศึกษาของเวียดนาม ในขณะเดียวกัน เดือนก.ย.64 บริษัทสตาร์ทอัพด้านการขนส่งสินค้า “Ninja Van” ก็ประสบความสำเร็จในการดึงดูดเงินลงทุนกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการระดมทุนรอบ Series E ที่นำโดยนักลงทุนอย่าง Geopost/DPDgroup, BCapital Group, Monk’s Hill Ventures และ Zamrud

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-startups-succeed-in-attracting-large-investment-amounts-910165.vov

‘เวียดนาม’ นำเข้าอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เวียดนามกลายมาเป็นผู้นำเข้าข้าวโพดรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคาดว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่อันดับที่ 5 ของตลาดโลก กรมศุลกากรของเวียดนาม (GDC) เปิดเผยว่าในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา มูลค่าการนำเข้าอาหารสัตว์และวัตถุดิบ อยู่ที่ 4.14 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 63 ซึ่งมูลค่าดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ายังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทำให้เปิดโอกาสอันดีแก่ผู้ส่งออกข้าวโพดและผลิตภัณฑ์ที่เหลือจากขบวนการผลิตเอทานอลด้วยข้าวโพด (DDGS) ทั้งนี้ แนวโน้มความต้องการนำเข้าข้าวโพดและผลิตภัณฑ์ DDGS ของเวียดนาม จะดันพุ่ง 3 เท่าในอีก 10 ปีข้างหน้า สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1094879/vietnamese-animal-feed-imports-continue-to-rise.html

‘เวียดนาม’ คาดอุตสาหกรรมสิ่งทอ โต 11.2%

สมาคมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเวียดนาม (VITAS) เปิดเผยว่าภาคธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในประเทศ ตั้งเป้าว่าจะมียอดส่งออกในปีนี้ อยู่ที่ 39 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.2% และ 0.2% เมื่อเทียบกับปี 63 และ 62 ตามลำดับ ถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบในเชิงลบจากการแพร่ระบาดขงโรคโควิด-19 ที่ยังคงยืดเยื้อ แต่ภาคธุรกิจได้เตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับวิกฤติดังกล่าวและคงรักษาระดับการส่งออกให้มีเสถียรภาพ ทั้งนี้ การส่งออกที่คงเติบโตในระดับสูง เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดยุโรปและสหรัฐฯ รวมถึงผลประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีที่เวียดนามร่วมลงนามกับประเทศคู่ค้า

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลเวียดนามได้ปรับตัวให้มีความยืดหยุ่นต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ทำให้ภาคธุรกิจมีความคล่องตัวในการดำเนินงาน

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/garment-sector-set-to-enjoy-growth-rate-of-112-909982.vov

‘นครเกิ่นเทอ’ เคาะงบลงทุน 1.2 ล้านล้านดอง เหตุปรับปรุง 5 แยกใหญ่

จากการประชุมสภาองค์การบริหารจังหวัดเกิ่นเทอ (Can Tho) เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. นาย Nguyen Thuc Hien ยื่นเสนอขอใช้งบประมาณ 1.2 ล้านล้านดอง เพื่อยกระดับโครงการและขยายพื้นที่ของ 5 ทางแยกใหญ่ในตัวเมืองเกิ่นเทอ โดยโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2564-2568 ในเฟสแรก เมืองจะขยายพื้นที่ทางแยกเหล่านี้ ได้แก่ (1) Mau Than-Ba Thang Hai-Tran Hung Dao, (2) Mau Than-Nguyen Van Cu-Vo Van Kiet, (3) Nguyen Van Linh-Nguyen Van Cu, (4) Nguyen Van Linh-Ba Thang Hai และ (5) Nguyen Van Linh-Ba Muoi Thang Tu

ทั้งนี้ หากมีระยะต่อไป เมืองเกิ่นเทอจะพิจารณาสร้างสะพายลอยหรืออุโมงค์ กรณีปริมาณการจราจรเพิ่มมากขึ้น

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/can-tho-to-spend-vnd1-2-trillion-upgrading-five-congested-intersections/

‘เวียดนาม’ คาด GDP ปี 64 โต 2%-2.5%

นาย Tran Tuan Anh หัวหน้าคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม กล่าวว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงคาดการณ์ไม่ได้ ทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจเวียดนาม (GDP) ปีนี้ คาดว่าจะชะลอตัวลงเหลือ 2%-2.5% อย่างไรก็ตาม หลังการปรากฏตัวของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเติบโตชะลอตัวราว 0.2%-0.4% ในปีหน้า ขณะที่เวียดนามก็จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โดยเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาส 3/64 ปรับตัวลดลง 6.17% นับว่าเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุด ตั้งแต่มีการบันทึกสถิติและแถลงตัวเลขเศรษฐกิจรายไตรมาส ทั้งนี้ เวียดนามจำเป็นต้องมีการปรับตัว เพื่อทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวหลังจากสิ้นสุดการแพร่ระบาด ด้วยการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาระยะยาว ทั้งด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมและความทันสมัยต่อสถานการณ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-2021-gdp-estimated-at-2-2-5/