‘ปานปรีย์’ เตรียมเยือนเวียดนาม สัปดาห์นี้

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การต่างประเทศของไทย ได้เตรียมเดินทางมาเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการที่มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 ต.ค.66 ตามคำเชิญของนายบุ่ย แทงห์ เซิน รมว.การต่างประเทศของเวียดนาม โดยการเยือนในครั้งนี้เป็นครั้งแรกของนายปานปรีย์ พหิทธานุกร นับตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรมว.การต่างประเทศของไทยในเดือน ก.ย. ปีนี้

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายรักษาการแลกเปลี่ยนและการติดต่อระหว่างผู้นำระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ ประสานงานอย่างใกล้ชิด และสนับสนุนซึ่งกันและกันในเวทีระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ โดยเฉพาะกลไกอนุภูมิภาคอาเซียนและลุ่มน้ำโขง ซึ่งมีส่วนในการเสริมสร้างสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในอาเซียน

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/thai-deputy-prime-minister-and-foreign-minister-to-visit-viet-nam-this-week-2206126.html

‘แบงก์ชาติเวียดนาม’ เผยหนี้เสียในระบบ พุ่ง 3.56%

จากข้อมูลของธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) เปิดเผยว่าอัตราส่วนหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ เพิ่มขึ้นจาก 2% เมื่อต้นปีนี้ ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 3.56% หรือมากกว่า 440 ล้านล้านด่อง ณ สิ้นเดือนก.ค.66 รวมไปถึงหนี้เสียที่ธนาคารพาณิชย์ขายให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ (VAMC) และยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้เสียในระบบได้ ส่งผลให้อัตราหนี้เสียเพิ่มขึ้น 6.16% ทั้งนี้ นาง เหงียน ถิ ห่ง ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติเวียดนาม เปิดเผยข้อมูลเมื่อวันที่ 21 ก.ย.66 พบว่ายอดสินเชื่อคงค้างในระบบ มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นมากกว่า 12.62 พันล้านล้านด่อง เพิ่มขึ้น 5.91% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยเฉพาะหนี้เสียในภาคอสังหาริมทรัพย์

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1605583/bad-debt-ratio-of-banking-system-surges-to-3-56-per-cent.html

ราคาอาหารใน สปป.ลาว ยังมีระดับสูง ส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือน แม้อัตราเงินเฟ้อล่าสุดปรับลดลง

แม้อัตราเงินเฟ้อของลาวเดือนกันยายน 2566 ปรับลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 25.69% แต่ราคาสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคหลายรายการยังมีราคาที่สูงอยู่ เช่น อาหาร สินค้าด้านสุขภาพ สินค้าด้านการศึกษา และราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งกระทบต่อค่าครองชีพของหลายครัวเรือนที่ปรับสูงขึ้นส่วนทางกับรายได้ของครอบครัว ทำให้ผู้บริโภคหลายครัวเรือนในลาวเผชิญกับความยากลำบากในการดำรงชีพ ทั้งนี้ รัฐบาลลาวได้นำเสนอนโยบายและมาตรการหลายอย่างเพื่อรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนและจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อสูง รวมถึงการเพิ่มการผลิตภายในประเทศ ดึงดูดนักท่องเที่ยว จำกัดการนำเข้าสินค้าที่สามารถผลิตได้ในประเทศ

ที่มา : https://english.news.cn/20231024/8d14428a3ae34f90b9c8d197be24cb0a/c.html

ราคาขายส่งอ้างอิงน้ำมันปาล์มของ ย่างกุ้ง เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม

อัตราอ้างอิงราคาขายส่งน้ำมันปาล์มของตลาดย่างกุ้งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ณ วันที่ 30 ตุลาคม ตามการรายงานของคณะกรรมการกำกับดูแลด้านการนำเข้าและจัดจำหน่ายน้ำมันบริโภค โดยราคาขายส่งถูกกำหนดให้ต่ำลงอยุ่ที่ 4,275 จ๊าดต่อ viss เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ถึง 22 ตุลาคมที่ผ่านมา สำหรับในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม (สิ้นสุด ณ 30 ตุลาคม 2566) ราคาขายส่งถูกกำหนดให้สูงขึ้นเป็น 4,395 จ๊าดต่อ viss ทั้งนี้ ราคาตลาดยังคงสูงกว่าราคาอ้างอิง ด้านคณะกรรมการกำกับดูแลการนำเข้าและจำหน่ายน้ำมันบริโภคในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามราคา FOB ในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียอย่างใกล้ชิด รวมถึงค่าขนส่ง ภาษี และบริการทางธนาคาร เพื่อกำหนดอัตราอ้างอิงตลาดขายส่งน้ำมันบริโภคทุกสัปดาห์ และแก้ไขปัญหาราคาที่สูงเกินจริง กรมกิจการผู้บริโภค กระทรวงพาณิชย์ของเมียนมา ร่วมกับสมาคมผู้ค้าน้ำมันบริโภคแห่งเมียนมาร์และบริษัทนำเข้าน้ำมัน ได้มีการร่วมมือกันในการควบคุมความผันผวนของราคาน้ำมันปาล์มในตลาดค้าปลีก และเสนอราคาที่ยุติธรรมมากขึ้นแก่ผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม สมาคมผู้ค้าน้ำมันบริโภคแห่งเมียนมาร์ได้จัดตั้งคณะทำงานด้านเสถียรภาพราคาน้ำมันบริโภค และเริ่มแจ้งรายชื่อร้านค้าขายส่ง/ขายปลีกของแต่ละบริษัทตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม รวมถึงที่อยู่ของร้านค้าในเมืองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและจำนวนถังที่มีอยู่

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/ygn-palm-oil-wholesale-reference-price-slightly-rises-for-week-ending-30-october/

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหภาพเมียนมา ให้การต้อนรับเอกอัครราชทูตจีน

อู ตาน ส่วย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหภาพเมียนมา ให้การต้อนรับนายเฉิน ไห่ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำเมียนมา ณ กรุงเนปิดอว์ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าของ “ความสัมพันธ์การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้าน” บนพื้นฐานมิตรภาพ ความสัมพันธ์ “ฉันพี่น้อง” (Pauk-phaw) ที่มีอยู่ การเร่งดำเนินโครงการทวิภาคี ระหว่างเมียนมา-จีนที่กำลังดำเนินอยู่ภายใต้กรอบความคิดริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน การธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพ และหลักนิติธรรมตามแนวชายแดนระหว่างเมียนมาและจีน การส่งผู้พลัดถิ่นที่ได้รับการตรวจสอบกลับประเทศจากรัฐยะไข่ และการสนับสนุนเชิงสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องของจีนต่อความพยายามในการพัฒนาของเมียนมา ตลอดจนความร่วมมือในเวทีภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอาเซียนและ สหประชาชาติ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/dpm-mofa-union-minister-receives-chinese-ambassador-2/

รัฐบาล สปป.ลาว อัดฉีดเงิน 7.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หวังยกระดับ SMEs แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สปป.ลาว ได้อัดฉีดเม็ดเงินราว 1.52 แสนล้านกีบ หรือประมาณ 7.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับช่วยเหลือ SMEs ในลาว เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งอัตราเงินเฟ้อ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ราคาสินค้าที่สูงขึ้น และหนี้ต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาล สปป.ลาว ยังได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและการเงินที่ตกต่ำ

ที่มา : https://english.news.cn/20231024/2184a85d8c0a4758b88b6aff83ac8e9e/c.html

สปป.ลาว เตรียมพร้อมดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เติบโตได้ในปี 2567

รัฐบาล สปป.ลาว เร่งให้ความสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ในปี 2567 สปป.ลาว ตั้งเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและชาวลาวเดินทางท่องเที่ยวในลาวอย่างน้อย 4.6 ล้านคน เพื่อสร้างรายได้ประมาณ 712 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้แคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวปี 2567 ที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติช่วง 6 เดือนแรกในปี 2566 ลาว มีจำนวนนักท่องเที่ยวแล้วกว่า 1.7 ล้านคน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวไทย เวียดนาม และจีน

ที่มา : https://english.news.cn/20231022/ab974e5e1aa74b48bbe804b1e4443971/c.html

IMF ชี้การส่งออก-ท่องเที่ยว จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สปป.ลาว โต 4% ในปี 2567

IMF คาดการณ์เศรษฐกิจ สปป.ลาว ปี 2567 แนะให้เร่งเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว การลงทุนจากต่างประเทศ และการส่งออก เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจลาวที่กำลังตกต่ำกลับมาขยายตัวได้ 4% ในปี 2567 อย่างไรก็ตาม IMF แนะเพิ่มเติมเรื่องการควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ยังมีระดับสูงมากกว่า 25% ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ เสียงสะท้อนของประชาชนท้องถิ่นของลาว ได้สะท้อนถึงกำลังซื้อที่ลดลงและความยากจนที่มีมากขึ้น จากผลของราคาสินค้าที่สูงในขณะที่ค่าจ้างเท่าเดิม อีกทั้งสินค้าส่วนใหญ่ที่ขายในตลาดท้องถิ่นล้วนแต่เป็นสินค้านำเข้า

ที่มา : https://www.rfa.org/english/news/laos/imf-growth-forecast-10232023180356.html

กัมพูชาเรียกร้องบริษัทสัญชาติจีนเข้าลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จเพิ่มเติมในกัมพูชา

Sun Chathol รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา และรองประธานสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ประกาศสนับสนุนบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าของจีน อย่าง บริษัท บีวายดี (BYD) ให้ติดตั้งสถานีชาร์จ EV เพิ่มเติม กระจายไปยังจุดต่างๆ ทั่วกัมพูชา หลังจากแนวโน้มการใช้รถไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมาก โดยรองนายกฯ ได้จัดทำข้อเสนอในระหว่างการประชุมร่วมกับ Liu Kading รองประธานบริษัท BYD ในประเทศจีนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (19 ต.ค.) สำหรับ ณ เดือนมกราคม 2023 จำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนในกัมพูชามีมากกว่า 700 คัน เพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการรายงานของกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลกัมพูชามุ่งมั่นที่จะลดมลพิษ ด้วยการสนับสนุนการใช้ยานพาหนะพลังไฟฟ้าอย่างน้อยถึงร้อยละ 40 ของยานพาหนะทั้งหมด และให้ครอบคลุมกว่าร้อยละ 70 ของรถจักรยานยนต์ ภายในปี 2050 อีกทั้งรัฐบาลยังได้กำหนดนโยบายเชิงกลยุทธ์ เพื่อเปลี่ยนกัมพูชาให้เป็นศูนย์กลางการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ในระดับภูมิภาคและระดับโลก หวังดึงดูดการลงทุนในภาคส่วนดังกล่าวเข้ามายังกัมพูชามากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501380198/cambodia-asks-chinese-ev-company-to-install-more-charging-stations/

กัมพูชาดันพลังงานหมุนเวียนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานภายในประเทศ

กัมพูชาเร่งศึกษาความเป็นไปได้ในการนำพลังงานทดแทนมาขับเคลื่อนภาคพลังงานกัมพูชา ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยการนำแนวคิดพลังงานสีเขียวมาร่วมปรับใช้ในภาคพลังงานของประเทศ ในขณะเดียวกันทางการได้ให้ความสำคัญกับความต้องการด้านพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากทั้งโครงสร้างประชาชนและภาคธุรกิจที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ด้านผู้เชี่ยวชาญและองค์กรส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน อย่างสำนักงานพลังงานทดแทนระหว่างประเทศ (IREA) ชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันระบบพลังงานสีเขียวมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ซึ่งบางประเภทสามารถทดแทนการผลิตพลังงานในรูปแบบดังเดิมได้อย่างเต็มสมบูรณ์แบบ ขณะที่กระทรวงเหมืองแร่และพลังงานกล่าวเสริมว่าทางการได้มีความพยายามเป็นอย่างมากในการเสริมสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานในประเทศด้วยการเพิ่มปริมาณผลผลิตจากปัจจัยการผลิตหลายๆ รูปแบบ ภายใต้การรักษาสิ่งแวดล้อมและสร้างความยั่งยืนด้านพลังงาน รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) โดยปัจจุบันรัฐบาลได้รับความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนอย่าง Asean Power Grid (APG) ในการกำหนดเป้าหมายระดับอนุภูมิภาคในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ สำหรับกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งติดตั้งอยู่ในกัมพูชา ปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 432 MW ซึ่งคาดว่าจะพัฒนาไปสู่ 1,000 MW ภายในปี 2030 และสูงสุดถึง 3,155 MW ภายในปี 2040

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501380196/kingdom-focusing-on-renewables-to-boost-energy-efficiency/