เวียดนามเผย ม.ค. ยอดส่งออกผักและผลไม้ ลดลง 7.6%

กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (MARD) เผยว่าในเดือนมกราคม เวียดนามส่งออกผักและผลไม้อยู่ที่ 260 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สาเหตุส่วนใหญ่มาจากไม่สามารถคาดการณ์ถึงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ ซึ่งหน่วยงานดังกล่าว ชี้ว่าประเทศจีนยังเป็นผู้นำเข้าผักและผลไม้รายใหญ่ที่สุดในปีที่แล้ว ด้วยสัดส่วน 56.3% ของส่วนแบ่งตลาดรวม ถึงแม้ว่ายอดการส่งออกผักและผลไม้ไปยังตลาดจีน จะลดลง 25.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี อยู่ที่ระดับ 1.84 พันล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาตลาดสหรัฐฯ (168.8 ล้านเหรียญสหรัฐ) ไทย เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ตามลำดับ นอกจากนี้ มูลค่าการนำเข้าผักและผลไม้ในเดือนมกราคมอยู่ที่ 140 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.3% โดยประเทศจีน สหรัฐฯและออสเตรเลียเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดในตลาดเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญแนะนำถึงบริษัทในท้องถิ่นว่าควรจะยกระดับคุณภาพของสินค้า เพื่อหลีกเลี่ยงการละเมิดกฎระเบียบและทำให้แน่ใจว่าถูกต้องตามกฎด้านอาหารและความปลอดภัย

ที่มา : https://vov.vn/en/economy/fruit-and-vegetable-exports-decline-by-76-in-january-836248.vov

เวียดนามเผยโควิด-19 ดันช็อปออนไลน์พุ่งในช่วงเทศกาลเต็ด

การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลายเป็นตัวเร่งสำคัญที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคชาวเวียดนามเกิดการจับจ่ายสินค้าออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นตลอดทั้งปี คุณ Thu Hang นักบัญชีของธนาคารพาณิชย์ “Techcombank” กล่าวช่วงนี้ มีงานยุ่งกว่าปกติจากการทำรายงานเพื่อยื่นชำระทางด้านการเงินภายในสิ้นปี ดังนั้น การซื้อของออนไลน์บนเว็บไซต์จึงเป็นทางออก เพื่อที่จะเตรียมตัวสำหรับเทศกาลเต็ด (Tet) โดยเฉพาะในช่วงการรระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม เทศกาลเต็ดในปีนี้ ทางผู้ประกอบการค้าปลีกส่วนใหญ่ได้จัดโปรโมชั่นมากขึ้นและเตรียมสินค้าที่หลากหลาย ด้วยราคาที่สมเหตุสมผล ทั้งนี้ Tiki ผู้ให้บริการ E-Commerce รายใหญ่ของเวียดนาม ได้เพิ่มปริมาณสินค้าขึ้น 30% โดยเน้นอาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ทางโภชนากา นมและเครื่องเทศ เป็นต้น และคาดว่ายอดขายในช่วงเทศกาลดังกล่าว จะพุ่ง 70% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่ ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมอย่าง Saigon Co.op, Big C และ Mega Market (MM) หันมาใช้เว็บไซต์และแอป เพื่อกระตุ้นการบริโภค นอกจากนี้ COVID-19 ยังสร้างโอกาสแก่ธุรกิจต่างๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนำไปสู่ดิจิทัล รวมไปถึงการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์

  ที่มา : http://hanoitimes.vn/covid-19-boosts-online-shopping-for-tet-316205.html

ผู้ประกอบการยุโรป มองสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในเวียดนามสดใส

การสำรวจดัชนีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของ EuroCham (BCI) ระบุว่าผู้ประกอบการยุโรปส่วนใหญ่มองสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของเวียดนาม อยู่ในแนวโน้มสดใส ซึ่งดัชนี BCI เพิ่มขึ้น 6 จุดในไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 แตะ 63.6% ตลอดทั้งปี ถือว่าเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ BCI เติบโตได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีนี้ เป็นผลมาจากความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่และผลบังคับใช้ของข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ที่มีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม โดยปัจจัยทั้งสองดังกล่าว ช่วยให้ความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นและกระตุ้นการทำธุรกิจ อีกทั้ง ตามการสำรวจของ EuroCham เผยว่าธุรกิจส่วนใหญ่ 57% เชื่อว่าเศรษฐกิจเวียดนามมีเสถียรภาพและดีขึ้นในไตรมาสแรกของปีนี้ นอกจากนั้น ประมาณ 70% ธุรกิจได้รับประโยชน์จาก EVFTA ที่มีผลบังคับใช้เมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ธุรกิจราว 33% ชี้ว่าขั้นตอนการบริหารของทางราชการยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการเพิ่มความได้เปรียบจากข้อตกลงดังกล่าว

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/eu-firms-show-optimism-on-vietnams-business-climate-in-2021-28010.html

เวียดนามแอร์ไลน์ส ปี 63 ขาดทุน 480 ล้านเหรียญสหรัฐ

การระบาดของไวรัสโคโนนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่รุนแรงในปี 2563 สายการบินเวียดนาม แอร์ไลน์ส (Vietnam Airlines) เผยกำไรก่อนหักภาษีอยู่ที่ราว 11.1 ล้านล้านด่อง (482 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่จะขาดทุนประมาณ 626.3 ล้านเหรียญสหรัฐในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เป็นผลมาจากธุรกิจได้ทำตามขั้นตอนในการปรับค่าเสื่อมราคาและจัดสรรสำหรับการบำรุงรักษาเครื่องบินภายใต้โครงการสนับสนุนของรัฐบาล ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว รายได้ของสายการบินลดลง 65% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่า 356.6 ล้านเหรียญสหรัฐ และกำไรขั้นต้นลดลง 63% มูลค่า 22.37 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น รายได้สะสมในปี 2563 อยู่ที่ 1.76 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมการบินดิ่งลงอย่างหนัก มาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เที่ยวบินในปีที่แล้ว ลดลง 48% เมื่อเทียบรายปี จำนวนผู้โดยสารลดลงเหลือ 14.23 ล้านคน อย่างไรก็ตามในอีก 5 ปีข้างหน้า สายการบินเวียดนาม แอร์ไลน์ส ได้ตั้งเป้าที่จะกลับมาดำเนินกิจการ ในขณะเดียวกันก็เร่งกระบวนการปรับโครงสร้างองค์กรและยกระดับการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะเรื่องการขายอากาศยานและเช่ากลับคืน (SLB)

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-airlines-suffers-losses-of-over-us480-million-in-2020-316168.html

บริษัทจัดจำหน่ายน้ำมันชั้นนำ ‘Petrolimex’ ของเวียดนาม กำไรร่วง 74%

‘Petrolimex’ ผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ระบุว่าในปีที่แล้ว กิจการมีกำไรสุทธิ 1.23 ล้านล้านดอง (53.69 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี ทั้งนี้ เมื่อปี 2562 กำไรของกิจการอยู่ที่ 4.77 ล้านล้านด่อง และกิจการยังมีสถานีจำหน่ายน้ำมันหลายพันแห่งทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ยอดขายน้ำมันเครื่องบินลดลง 74% หลังจากเที่ยวบินระหว่างประเทศถูกระงับตลอดทั้งปี 2563 นอกจากนี้ กิจการดังกล่าวมีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 50% รองลงมา PV Oil ครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 2 ในเวียดนาม

  ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/companies/oil-distributor-petrolimex-profit-falls-74-pct-4231261.html

ราคาข้าวเวียดนามพุ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี

ราคาข้าวหัก 5% ของเวียดนาม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 500-505 เหรียญสหรัฐต่อตันในปี 2564 ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 รองประธานสมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) กล่าวว่าราคาที่สูงขึ้นดังกล่าวบ่งบอกถึงคุณภาพข้าวของเวียดนาม และชี้ให้เห็นถึงความต้องการนำเข้าข้าวที่เพิ่มขึ้นจากตลาดต่างประเทศ อาทิ ฟิลิปปินส์ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2564 มีผู้ซื้อข้าวรายใหญ่ในภูมิภาค ได้แก่ จีน บังกลาเทศและฟิลิปปินส์ นำเข้าข้าวจำนวนมาก ในขณะเดียวกัน ประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลก อาจเห็นว่าในปีนี้ ปริมาณการส่งออกข้าวลดลง เนื่องมาจากบาทแข็งค่า นอกจากนี้แล้ว ข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนามและสหภาพยุโรป (EVFTA) จะทำให้กลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรปจัดสรรโควตาภาษีแก่ข้าวของเวียดนาม ประมาณ 10,000 ตันในปีนี้ ขณะที่ ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างอังกฤษ – เวียดนาม (UKVFTA) จะลดภาษีนำเข้าสำหรับข้าวเวียดนามถึง 0%

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-rice-prices-hit-10-year-high-316147.html

จำนวนธุรกิจที่จดทะเบียนใหม่ในเวียดนาม พุ่ง 21.9% ในเดือน ม.ค.

สำนักงานสถิติแห่งชาติของเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าบริษัทที่จดทะเบียนใหม่ในเดือนมกราคม อยู่ที่ราว 10,100 แห่ง เพิ่มขึ้น 21.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เงินทุนจดทะเบียนรวม 155.1 ล้านล้านด่อง (6.74 พันล้านเหรียญสหรัฐ) และจำนวนแรงงาน 115,900 คน เพิ่มขึ้น 25.9 และ 37.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ทั้งนี้ โดยภาพรวม มีเงินทุนไหลเข้าเศรษฐกิจพุ่ง 395.1 ล้านล้านด่อง เพิ่มขึ้น 10.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม เงินทุนจดทะเบียนเฉลี่ย 15.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่ จำนวนธุรกิจที่กลับมาดำเนินกิจการ 6,503 แห่ง

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/number-of-newlyestablished-firms-surges-219-percent-in-january/195842.vnp

เวียดนามเผยดัชนีผลผลิตอุตฯ ม.ค. โต 22.2%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (IIP) เดือน ม.ค. ขยายตัวราว 22.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป ขยายตัว 27.2% ขณะที่ภาคการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ขยายตัว 16.3% ในทางตรงกันข้ามนั้น ภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ หดตัว 6.2% ทั้งนี้ ในช่วงเดือนแรกของปี 2564 การผลิตโทรทัศน์พบว่าขยายตัวมากที่สุด 106.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาชิ้นส่วนโทรศัพท์ (71.5%), เหล็กแผ่นรีด (63.4%) และรถยนต์ (38.2%) ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 ม.ค. จำนวนแรงงานของภาคอุตสาหกรรม ขยายตัว 1.1% เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว แต่หดตัว 1.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ การสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ทางสำนักงาน กระทรวงและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้เร่งการปฏิรูปขั้นตอนการบริหารและช่วยธุรกิจในการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/januarys-industrial-production-index-rises-by-222-percent/195808.vnp

เวียดนามส่งสัญญาสภาพธุรกิจปรับตัวดีขึ้น ช่วงต้นปี 64

ตามผลการสำรวจของ Nikkei และ IHS Markit เปิดเผยว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคการผลิต (PMI) ของเวียดนามเดือน ม.ค. อยู่ที่ 51.3 ลดลงจาก 51.7 ในเดือน ธ.ค. ชี้ให้เห็นถึงสภาพการดำเนินธุรกิจปรับตัวดีขึ้นในช่วงต้นปี 2564 “ภาคการผลิตของเวียดนามพยายามดิ้นรนเพื่อรักษาโมเมนตัมในช่วงต้นปีนี้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และภาวะหยุดชะงักด้านซัพพลายเชน” ทั้งนี้ ในเดือน ม.ค. ภาพรวมของอุตสาหกรรมการผลิตอยู่ในระดับไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่ ยอดคำสั่งซื้อใหม่เพิ่มขึ้นในบางธุรกิจ แต่ว่าธุรกิจอื่นยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้การผลิตลดลง อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตอุตฯ ยังคงรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กร โดยบางบริษัทก็จ้างแรงงานเพิ่มขึ้น จากการที่ยอดคำสั่งซื้อใหม่สูงขึ้น

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-signals-soft-improvement-in-business-condition-at-start-of-2021-316119.html

เวียดนามเผยอุตสาหกรรมรองเท้า รุกขยายห่วงโซ่อุปทานโลก

สมาคมเครื่องหนัง รองเท้าและกระเป๋าถือของเวียดนาม (LEFASO) ระบุว่าอุตสาหกรรมรองเท้าของเวียดนามเริ่มเห็นสัญญาเขิงบวก หลังจากยอดการส่งออกรองเท้าและกระเป๋าถือลดลง 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สู่ระดับ 19.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 อุตสาหกรรมดังกล่าวได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีสัญญาแสดงให้เห็นว่าเวียดนามพยายามเข้าห่วงโซ่อุปทานรองเท้าหนังมากขึ้น ในขณะที่กระบวนการออกแบบและการวิจัยได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ทั้งนี้ แหล่งวัตถุดิบส่วนใหญ่อยู่ในประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 60% ของทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรปและเวียดนามนับว่าเป็นโอกาสอันดีของเวียดนามที่จะส่งออกไปยังตลาดอียู ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้หวังว่าในปี 2564 ยอดคำสั่งซื้อและรายได้จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับประโยชน์หลังวิกฤติโควิด-19

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/866852/footwear-sector-further-penetrates-global-supply-chain.html