“ผู้ออกกฎหมายเวียดนาม” เรียกร้องให้ลดดอกเบี้ย หนุนศก.เติบโต

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่าผู้ออกกฎหมาย หรือสมาชิกสภานิติบัญญัติของเวียดนาม มีการเรียกร้องให้ธนาคารกลางพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อพยุงเศรษฐกิจและช่วยให้บรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในช่วงปลายปี 2565 ชะลอตัวจาก 5.92% ลงมาอยู่ที่ 3.32% ในไตรมาสแรกของปีนี้ ส่งผลให้ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นจำนวน 2 ครั้งในปีนี้ โดยเวียดนามตั้งเป้าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่ 6.5% ในปี 2566 อย่างไรก็ดี เวียดนามยังคงเผชิญกับความท้าทายหรืออุปสรรคอีกหลายประการที่จะกดดันเศรษฐกิจและเป้าหมายของการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้

ที่มา : https://www.reuters.com/markets/asia/vietnam-lawmakers-call-further-rate-cut-prop-up-growth-2023-05-09/

ค้าชายแดนเมียนมา-จีน ทะลุ 267 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าการค้าชายแดนเมียนมากับประเทศจีนในเดือน เม.ย. มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 267.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐของปีงบประมาณ 2023-2024 โดยตัวเลขการค้าชายแดนข้างต้น เพิ่มสูงขึ้นจาก 135.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2022-2023 ทั้งนี้ เมียนมาทำการค้าชายแดนกับจีนผ่านด่านมูเซ (Muse) ตามมาด้วยด่านชายแดน Lweje, Chinshwehaw, Kampaiti และ Kengtung เป็นต้น อย่างไรก็ดี ด่านมูเซเป็นด่านการค้าชายแดนรายใหญ่ที่ทำรายได้จากการค้าชายแดนจีนและเมียนมา อยู่ที่ 185.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ การค้าชายแดนเมียนมาและจีนในปัจจุบันกลับสู่ภาวะปกติแล้ว หลังจากเทศกาลวันปีใหม่ของเมียนมา โดยมีรถบรรทุกประมาณ 200 คันผ่านพรมแดนของประเทศ นอกจากนี้ พรมแดนจีนและเมียนมา คาดว่าจะขยายตัวสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-china-border-trade-values-cross-us267-mln-in-april/#article-title

ประชาชนเข้าใช้บริการรถไฟข้ามแดนระหว่าง สปป.ลาว-จีน เพิ่มขึ้น

เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการท่องเที่ยวของ สปป.ลาว กล่าวว่า มีผู้คนมากกว่า 4,300 คน เดินทางข้ามพรหมแดนโดยใช้รถไฟสาย สปป.ลาว-จีน บนเส้นทางระหว่างเวียงจันทน์และคุนหมิง ในช่วงระหว่างวันที่ 13-23 เม.ย.

โดยในจำนวนดังกล่าวคิดเป็นชาวจีนจำนวน 2,086 คน เดินทางไปยัง สปป.ลาว ซึ่งรถไฟสายดังกล่าวให้บริการเส้นทางข้ามพรหมแดนระยะทางรวมกว่า 1,035 กิโลเมตร ด้วยความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยผู้โดยสารที่เดินทางจาก สปป.ลาว ไปยังจีนต้องได้รับวีซ่าจีนก่อนออกเดินทาง สำหรับผู้ที่เดินทางด้วยหนังสือเดินทางราชการไม่จำเป็นต้องได้รับวีซ่า แต่ต้องได้รับการอนุมัติจากกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงที่ตนสังกัด ซึ่งเส้นทางดังกล่าวคาดว่าจะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางผ่านแดน และคาดว่าจะช่วยส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้าต่อไปในอนาคต ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ สปป.ลาว ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 831,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากไทย เวียดนาม จีน และเกาหลีใต้

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten87_More_y23.php

กัมพูชา-เวียดนาม พิจารณาเพิ่มเที่ยวบินตรง เสียมราฐ-ฟู้โกว๊ก

กัมพูชาและเวียดนามพิจารณาความเป็นไปได้ในการเปิดเที่ยวบินตรงเชื่อมระหว่างเสียมราฐและเกาะฟู้โกว๊ก ซึ่งเรื่องราวดังกล่าวถูกหารือระหว่าง Thong Khon รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา และ Nguyen Van Hung รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวเวียดนาม รวมถึงรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายยังตกลงที่จะเชื่อมต่อท่าเรือท่องเที่ยวกำปอตเข้ากับท่าเรือท่องเที่ยวบนเกาะฟู้โกว๊กในเวียดนาม เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของนักท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศผ่านการเชื่อมโยงดังกล่าว โดยได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อร่วมกันส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หลังจากรัฐมนตรีเวียดนามเข้าร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ (ซีเกมส์) ครั้งที่ 32 ที่ประเทศกัมพูชา ภายใต้เงื่อนไขนี้ กัมพูชาและเวียดนามจะมุ่งเน้นการพัฒนาแพ็คเกจการท่องเที่ยวร่วมกัน ซึ่งมีภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ภายใต้กรอบของ “Two Countries, One Destination” ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในระดับทวิภาคี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501286680/siem-reap-phu-quoc-direct-flight-mooted/

Q1 กัมพูชาส่งออกไปยังสหรัฐฯ แตะ 2.5 พันล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ารวมกว่า 2,499 ล้านดอลลาร์ ไปยังสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ลดลงร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยสำนักงานสำมะโนสหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากสหรัฐฯ มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 90 ล้านดอลลาร์ ลดลงเช่นกันที่ร้อยละ 10.9 โดยในเดือนมีนาคมเพียงเดือนเดียว การส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ มีมูลค่ารวมสูงถึง 856 ล้านดอลลาร์ สำหรับการนำเข้าของกัมพูชา มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 22 ล้านดอลลาร์ ซึ่งก่อนหน้านี้กัมพูชาได้รับสิทธิพิเศษ GSP จากสหรัฐฯ โดยสิทธิพิเศษดังกล่าวหมดอายุไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และรัฐบาลสหรัฐฯ กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณามอบสิทธิพิเศษอีกครั้ง ซึ่งการส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป และสินค้าต่างๆ เช่น รองเท้า จักรยาน และเฟอร์นิเจอร์ ภายใต้สิทธิพิเศษทางการค้า สำหรับสินค้านำเข้าสำคัญของกัมพูชาจากสหรัฐฯ ได้แก่ รถยนต์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501286675/cambodias-q1-export-to-us-tops-2-5-billion/

กรมพัฒน์ฯ ดัน ‘คาร์บอนเครดิต’ เป็นหลักประกันทางธุรกิจ

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันนานาประเทศให้ความสำคัญต่อการสร้างความสมดุลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อชดเชยระบบนิเวศน์ที่ถูกทำลายไป ‘คาร์บอนเครดิต’ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกและลดปัญหาโลกร้อน มีมูลค่าที่สามารถนำออกขายให้ภาคธุรกิจหรือหน่วยงานที่มีกระบวนการทำงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่าเป้าหมายที่ควบคุม โดยสามารถซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตได้ในตลาดคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สำหรับประเทศไทย ภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญเรื่องคาร์บอนเครดิตมากขึ้นตามลำดับ สอดคล้องกับกระแสการลดก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกต้องเผชิญกับสถานการณ์ภาวะโลกร้อน และเป็นหนทางที่จะนำพาธุรกิจสู่ความยั่งยืน ล่าสุด กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานภาคเอกชน ผลักดันให้ ‘คาร์บอนเครดิต’ เป็นหลักประกันทางธุรกิจ โดยทุกหน่วยงานต่างเห็นพ้องให้การสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว แต่ควรดำเนินการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมให้มีความชัดเจนประกอบการพิจารณาออกเป็นกฎหมายเพื่อรองรับต่อไป

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/375275/

เลือกตั้งคึกคัก ปชช.แห่ใช้สิทธิ์ หนุนเศรษฐกิจไทยฟื้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการเลือกตั้งล่วงหน้าวานนี้ (7 พ.ค.) ประชาชนตื่นตัวออกมาใช้สิทธิกันจำนวนมาก และเชื่อว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้จะคึกคักมาก สะท้อนจากการทำโพลล์ การจัดดีเบต การปราศรัยใหญ่ของพรรคการเมือง และกิจกรรมรณรงค์หาเสียงต่างๆ ทำให้คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจถึงวันเลือกตั้งราว 4-5 หมื่นล้านบาท ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย และเมื่อได้เห็นโฉมหน้ารัฐบาลใหม่แล้ว ความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยก็จะกลับมา รวมถึงการลงทุน ดังนั้นเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง คาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 4 ซึ่งสูงกว่าครึ่งปีแรก ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยข้อมูล ณ วันที่ 28 เมษายน 2566 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการเลือกตั้ง 3 เดือน (มกราคม-มีนาคม) พบปริมาณเงินสดที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 52,423 ล้านบาท เมื่อแยกประเภทธนบัตร พบว่า ธนบัตรราคา 1,000 บาท เพิ่มขึ้น 42,523 ล้านบาท /ชนิดราคา 500 บาท หมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้น 8,093 ล้านบาท ส่วนชนิดราคา 100 บาท หมุนเวียนในระบบลดลง 249 ล้านบาท

ที่มา : https://ch3plus.com/news/economy/ruangden/347089

“การไฟฟ้าเวียดนาม” มองข้ามผลกระทบ ของการขึ้นค่าไฟฟ้า

หนังสือพิมพ์เวียดนาม นิวส์ รายงานว่าเวียดนามปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2562 ทำให้เกิดความกังวลถึงผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังมองว่าการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในครั้งนี้น่าจะส่งผลกระทบเล็กน้อยต่อดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในระยะสั้น โดยการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) ทำการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกเฉลี่ย 3% และภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบมากที่สุด ด้วยเหตุนี้ค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ ตามข้อมูลของ Mirae Asset คาดการณ์ว่าการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า คิดเป็นประมาณ 0.105% ของดัชนี CPI ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่การเพิ่มขึ้น 5% จะทำให้ดัชนี CPI สูงขึ้น 0.175% อย่างไรก็ดี ในระยะสั้น การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเพียงเล็กน้อยไม่น่าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ เนื่องจากผู้ผลิตไฟฟ้าจะลงนามสัญญาระยะยาวกับการไฟฟ้า ซึ่งบางสัญญาใช้ระยะเวลานานถึง 25 ปี

ที่มา : https://english.news.cn/asiapacific/20230508/a510476ed2264890955a70542d8b3027/c.html

“เวียดนาม” เผยผลผลิตแร่แรร์เอิร์ธ พุ่ง 10 เท่า

ผลผลิตแร่แรร์เอิร์ธของเวียดนามเพิ่มขึ้น 10 เท่าในปีที่ผ่านมา ตามข้อมูลของสหรัฐฯ ระบุว่าในขณะที่บริษัทระดับโลกพากันแห่ไปที่ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ ที่เป็นแหล่งแร่หายากที่ประเมินว่าใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เพื่อลดการพึ่งพาจีนสำหรับโลหะอุตสาหกรรมสำคัญ ความพยายามที่ผ่านมาในการสร้างอุตสาหกรรมแรร์เอิร์ธของเวียดนามต้องหยุดชะงักลงเนื่องจากราคาที่ตกต่ำลงและอุปสรรคด้านกฎระเบียบ แต่ยอดขายที่เพิ่มขึ้นของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และความพยายามของบริษัทต่างๆ ที่จะกระจายความหลากหลายของซัปพลายเออร์ได้ฟื้นความสนใจในเวียดนาม

ที่มา : https://www.thaipbsworld.com/vietnam-boosts-rare-earths-output-by-tenfold-data/

บริษัทเบียร์ต่างชาติ 3 ราย จ่ายภาษีให้รัฐบาลเมียนมา 155 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

กลุ่มนักเคลื่อนไหวในเมียนมา “Justice for Myanmar” รายงานในเดือนที่แล้วว่าผู้ผลิตเบียร์ต่างประเทศ ได้แก่ ไฮเนเก้น (Heineken), คาร์ลสเบิร์ก (Carlsberg) และไทยเบฟเวอเรจ (Thai Beverage) ที่ดำเนินกิจการในเมียนมา หลังมีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 โดยบริษัทเบียร์ต่างชาติดังกล่าวทำการจ่ายภาษี 155 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การจ่ายภาษีในครั้งนี้ถือเป็นการสนับสนุนผู้ที่ก่ออาชญากรรมสงครามและยังมีส่วนร่วมโดยตรงต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้น ดังนั้นบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ต้องตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมเป็นอาชญากรรมของสภาทหารหรือไม่ หรือจะหยุดจ่ายภาษี

ที่มา : https://www.rfa.org/english/news/myanmar/beer-05082023095704.html