นักท่องเที่ยวต่างชาติทะลักเข้าเวียดนาม 2.95 ล้านคน ในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ย.

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังเวียดนามราว 2.95 ล้านคนในช่วง 11 เดือนของปีนี้ เพิ่มขึ้น 21.1 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม จำนวนดังกล่าวยังคงลดลง 81.9% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2562 ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าเวียดนามในเดือนพฤศจิกายน 596,900 คน เพิ่มขึ้น 39.7 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-welcomes-2-95-million-foreign-tourists-over-11-month-period-2086010.html

สนง.สถิติเวียดนาม เผยค่าที่อยู่อาศัยและวัสดุก่อสร้าง พุ่ง

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ย.65 ปรับตัวขึ้น 4.37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยกลุ่มสินค้าและบริการ 2 กลุ่ม ได้แก่ ที่อยู่อาศัยและวัสดุก่อสร้าง เพิ่มขึ้น 0.97% จากเดือนต.ค. ทำให้ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 0.18 จุด ในขณะที่การขนส่งเพิ่มขึ้น 2.23% ทำให้ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 0.22 จุด ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ กลุ่มสินค้าและบริการ 8 กลุ่มที่มีราคาสูงขึ้น การขนส่งและที่อยู่อาศัยยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลมาจากความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นและราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/rising-rent-and-fuel-prices-drive-up-cpi-in-november/

เมียนมาเปิดตัวคลังสินค้าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำแม่โขง-ล้านช้าง

เมื่อวันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน 2565 นาย เจิ้ง จื้อหง เอกอัครราชทูตจีนในเมียนมา เปิดเผยว่าเมียนมาได้เปิดตัวศูนย์คลังสินค้าโครงการในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำแม่โขง-ล้านช้างในรัฐฉาน ภายใต้กองทุนพิเศษความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง(LMC) สร้างขึ้นในเมืองปินดายา เพื่อจัดเก็บสิ่งของบรรเทาทุกข์และสร้างความรู้ตระหนักเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ  ในการนี้ นาย Thet Thet Khine รัฐมนตรีกระทรวงสวัสดิการสังคม การบรรเทาทุกข์และการตั้งถิ่นฐาน ได้กล่าวขอบคุณจีน ที่ให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ โดยความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง(LMC) จะประกอบด้วย 6 ประเทศ คือ จีน กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และไทย

ที่มา: https://english.news.cn/asiapacific/20221130/44be77645715422797fb24a481a2702d/c.html

อุตสาหกรรมท่องเที่ยว สปป.ลาว บนเส้นทางสู่การฟื้นตัว

ธุรกิจหลายแห่งภายใน สปป.ลาว เริ่มฟื้นตัว หลังรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ไปในช่วงกลางปีที่ผ่านมา รวมถึงปริมาณนักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางกลับยัง สปป.ลาว ตามการเปิดเผยของตัวแทนภาคธุรกิจ โดยปัจจุบัน ธุรกิจที่เติบโตได้ดีและเติบโตอย่างรวดเร็ว คือธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมเกี่ยวกับภาคการท่องเที่ยว กล่าวโดย Daovone Phachanthavong รองประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติ สปป.ลาว ซึ่งได้กล่าวเสริมว่า การเปิดทางรถไฟ สปป.ลาว-จีน เมื่อปลายปีที่แล้ว ถือเป็นการช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวให้กลับมาขยายตัวอีกครั้ง เนื่องจากทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางใน สปป.ลาว ได้ง่ายขึ้น โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะไทยและเวียดนาม รวมถึงนักท่องเที่ยวจากเกาหลีใต้

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten233_Tourism.php

ทางการกัมพูชารายงานสถานการณ์ภาคการท่องเที่ยวในช่วงเดือน พ.ย.

กระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชาได้รายงานเกี่ยวกับจำนวนนักท่องเที่ยวทั่วประเทศกว่า 369,404 คน ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ด้าน Thong Khon รมว.การท่องเที่ยวฯ กล่าวว่า จากจำนวนนักท่องเที่ยวข้างต้นแบ่งออกเป็นนักท่องเที่ยวในประเทศ 334,143 คน และเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 35,261 คน โดยแหล่งท่องเที่ยวหลักของกัมพูชา ได้แก่ จังหวัดพระสีหนุ 181,539 คน, เสียมเรียบ 32,515 คน, พนมเปญ 27,301 คน, กัมปอต 23,340 คน, แกบ 20,727 คน, พระตะบอง จำนวน 12,329 คน และกำปงจาม 11,036 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.24 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ที่มีจำนวน 347,701 คน โดยพระสีหนุยังคงให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวมากที่สุด เนื่องจากมีการจัดคอนเสิร์ตและนิทรรศการตลอดสัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 22-27 พฤศจิกายน และการแข่งขันเจ็ตสกี ณ ชายหาด Ochheuteal ตั้งแต่วันที่ 24-27 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501193227/more-than-350000-tourists-recorded-in-fourth-week-of-november/

คณะผู้แทนสภาธุรกิจไทย-กัมพูชา เยือนกัมพูชาหาโอกาสการค้าและการลงทุน

คณะผู้แทนสภาธุรกิจไทย-กัมพูชา (TCBC) นำโดยนายวรทัศน์ ตันติมงคลสุข ประธานกรรมการ TCBC ซึ่งได้รับการแต่งตั้งใหม่ ได้เดินทางไปเยือนกัมพูชาเพื่อหาโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนเพิ่มเติมในกัมพูชา เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยคณะผู้แทนได้เข้าหารือกับ Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา หารือเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกทางการค้าทวิภาคี และการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าในระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาค ซึ่งรัฐมนตรีได้กล่าวเสริมเกี่ยวกับการปฏิรูปการบริการสาธารณะของกระทรวงพาณิชย์ และการนำระบบอัตโนมัติมาใช้สำหรับใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า การจดทะเบียนบริษัท และการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ง่าย โปร่งใส และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อเอื้อต่อกิจกรรมทางด้านการค้าและการลงทุน นอกจากนี้ยังพร้อมที่จะให้การสนับสนุนแก่ TCBC ได้ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาคและความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่กัมพูชาเป็นสมาชิก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501193425/tcbc-delegation-seeks-additional-business-and-investment-opportunity-in-cambodia/

ห่วง ส่งออกไทยเริ่มติดลบ! ซ้ำเติม เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำเมื่อเทียบอาเซียน

นางสาวจุฑาพร เกตุราทร ว่าที่ผู้สมัคร สส. กทม. เขตบางรัก สาทร และ ปทุมวัน และ โฆษกคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การส่งออกของไทยในเดือนตุลาคมเริ่มติดลบที่ -4.4% เป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 9 เดือน ซึ่งเป็นสัญญาณที่น่าห่วงว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะเริ่มแผ่ว มีแนวโน้มอาจจะไม่สู้ดีนักในปลายปีนี้ และจะต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ทั้งนี้ขอตอกย้ำว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ที่ขยายได้ 4.5% นั้น แม้จะดูเหมือนดี แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนจะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำมากเพราะ ในไตรมาส 3 มาเลเซียขยายได้ 14.2% เวียดนาม 13.7% ฟิลิปปินส์ 7.6% อินโดนีเซีย 5.7% แม้ประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นสิงคโปร์ยังขยายได้ 4.4% และถ้านับ 9 เดือนตั้งแต่ต้นปีไทยขยายได้เพียง 3.1% เท่านั้นซึ่งต่ำกว่าประเทศอาเซียนอื่นเช่นกันตามที่เสนอไว้แล้ว และต้องไม่ลืมว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นคืนที่เดิมจากการติดลบ 6.2% ในปี 2563 เพราะปี 2564 ขยายได้เพียง 1.5% ปีนี้ก็น่าจะได้เพียง 3% กว่า ซึ่งยังห่างจากที่เศรษฐกิจไทยที่ตกลงมาพอสมควร ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศอื่นในอาเซียนได้ขยายตัวเกินกว่าที่ตกลงมาไปมากแล้ว

ที่มา : https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_629987

ปัจจัย 3 ประการที่เป็นตัวกำหนดการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม

ตามบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ Vietnam Briefing เปิดเผยว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สภาพแวดล้อมทางการค้าและค่าจ้าง ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและไปในทิศทางที่เป็นบวก โดยเฉพาะการใช้จ่ายทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ประมาณ 6% ของ GDP สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เวียดนามมีการลงนามข้อตกลงการค้าทวิภาคีกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก และเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกของอาเซียน ทำให้เวียดนามได้รับประโยชน์จากการทำ FTA หลายรายการสินค้า อีกทั้ง การรับรองมาตรฐานสินค้า การผลิตและสิทธิของพนักงานในข้อตกลงเหล่านี้จะทำให้เวียดนามกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออก นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจของเวียดนามยังเปิดกว้างและรัฐบาลได้กำหนดนโยบายที่เป็นมิตรต่อนักลงทุน และปัจจัยสุดท้ายที่ทำให้เวียดนามได้เปรียบมากที่สุด คือค่าจ้างแรงงานที่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/three-factors-keep-vietnams-economy-humming-along-post987158.vov

‘เวียดนาม’ ดึงดูดเม็ดเงินลงทุน FDI ทะลุ 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำนักงานส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศ (FIA) เปิดเผยว่าในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) สูงถึง 25.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 0.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่หดตัว 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ด้วยเงินทุนจดทะเบียนใหม่ 11.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการซื้อหุ้นในธุรกิจเวียดนามด้วยมูลค่า 4.08 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 18% และ 7% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามลำดับ โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ทุนจดทะเบียนปรับตัวลดลง เนื่องจากมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข็มงวดในช่วงต้นปีนี้ และสถานการณ์ทั่วโลกที่มีความไม่แน่นอน

อย่างไรก็ตาม โครงการขนาดใหญ่หลายโครงการได้มีการเพิ่มเงินลงทุนสูงขึ้นในช่วง 10 เดือนแรก อาทิเช่น บริษัท ซัมซุง อิเลคทรอ-เมคานิคส์ มีการเพิ่มเงินทุนจำนวน 2 ครั้ง ครั้งละ 920 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 267 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1399796/viet-nam-lures-over-25-billion-in-foreign-investment-in-11-months.html

7 เดือนครึ่งของงบฯ 65-66 เมียนมาส่งออกแร่ไปแล้วกว่า 199 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย ระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึง 18 พฤศจิกายน 2565 ของปีงบประมาณ 2565-2566  เมียนมามีรายได้จากการส่งออกสินค้าที่ผลิตจากแร่มากกว่า 199 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่พบว่าลดลง 248.419 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 447.667 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณ 2565-2566 ที่ผ่านมา ทั้งนี้จากการสำรวจแร่ของเมียนมาส่วนใหญ่จะอยู่ในรัฐกะยา ตะนาวยี มัณฑะเลย์ และซะไกง์ ซึ่งสินค้าส่งออกที่ผลิตจากแร่ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ทอง หยก มุก เพชร ตะกั่ว ดีบุก ทังสเตน เงิน ทองแดง สังกะสี ถ่านหิน และสินแร่อื่นๆ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-mineral-exports-top-199-million-over-seven-and-a-half-months-this-fy/