รายได้โตไม่ทันรายจ่าย ปัจจัยกดดันปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า หนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 2 ปี 2022 อยู่ที่ 14.76 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.5%YOY มีทิศทางชะลอลงต่อเนื่องหลายไตรมาส โดยขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก่อนเกิดวิกฤตโควิด จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 88.2% นอกจากนี้ยังเป็นผลจาก Nominal GDP ที่ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังผ่อนคลายนโยบายควบคุมโรคและเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงผลด้านราคาที่ปรับสูงขึ้นมากในปีนี้ หากพิจารณาการขยายตัวของสินเชื่อครัวเรือน พบว่าชะลอลงเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลแม้จะชะลอลงบ้าง แต่ถือว่ายังขยายตัวสูง ส่วนหนึ่งสะท้อนแนวโน้มการกู้ยืมเพื่อใช้จ่ายทดแทนการขาดสภาพคล่อง ในภาวะรายได้ฟื้นตัวไม่ทันรายจ่าย จะเป็นปัจจัยกดดันปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยในระยะถัดไป โดยผลสำรวจจาก EIC Consumer survey 2022 พบว่า (1) ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ค่าครองชีพคนไทยสูงขึ้นต่อเนื่องสวนทางกับรายได้ (ผู้บริโภคเกือบ 2 ใน 3 ยังมีรายได้ไม่เท่ากับก่อนเกิดวิกฤตโควิด โดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้น้อยที่รายได้ฟื้นช้ากว่ากลุ่มคนรายได้สูง)และ (2) ในช่วง 6 เดือนข้างหน้าผู้บริโภค 43.8% คาดว่ารายได้จะโตไม่ทันรายจ่าย มีความเสี่ยงที่จะก่อหนี้เพิ่มขึ้นในอนาคต

ที่มา: https://www.naewna.com/business/689126

“ฮานอย” ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 1 ล้านคน ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้

กรมการท่องเที่ยวจังหวัด เปิดเผยว่าเมืองฮานอยรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาแล้วกว่า 983,000 คน ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ เกือบจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งปี 1-1.2 ล้านคน ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบัน นักท่องเที่ยวกว่า 15.38 ล้านคนเลือกเมืองหลวงเป็นจุดหมายปลายทาง เพิ่มขึ้น 5 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว รวมถึงนักท่องเที่ยวในประเทศ 14.4 ล้านคน ในขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ประมาณ 43.69 ล้านล้านดอง (1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/hanoi-attracts-almost-1-million-international-tourists-in-10-months/240800.vnp

“เวียดนาม” เล็งผลิตรถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัด

ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่าเวียดนามต้องวางรากฐานที่แข็งแกร่งในการเปลี่ยนผ่านจากระบบเครื่อนยนต์สันดาปมาเป็นระบบไฟฟ้าภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ตามรายงานชี้ให้เห็นว่าภาคการขนส่งของโลกในปัจจุบัน มีการบริโภคน้ำมัน 55% และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 25% ของทั้งหมด โดยตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกขยายตัวอย่างก้าวกระโดด มีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้า 17 ล้านคันในปี 2564 สูงกว่าปีนี้กว่า 2.5 เท่า ทั้งนี้ สถาบันยุทธศาสตร์และพัฒนาการขนส่งของเวียดนาม เปิดเผยว่าเวียดนามมีข้อได้เปรียบในการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงมีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะรถยนต์ รถโดยสารและรถบรรทุกขนาดเล็ก จากสาเหตุข้างต้นทำให้รถยนต์ไฟฟ้าจึงมีราคาถูก และมองว่าในปี 2569-2573 ราคารถยนต์ไฟฟ้าจะเทียบเท่ากับรถยนต์พลังงานฟอสซิล

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-plans-for-low-cost-electric-vehicles-2073537.html

ครึ่งปีหลัง งบฯ 65-66 ค้าชายแดนเมียนมา-จีน พุ่ง 1.226 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย การค้าชายแดนเมียนมา – จีน ของปีงบประมาณ 2565-2566 ระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึง 30 กันยายน 2565 มีมูลค่าสูงถึง 1.226 พันล้านดอลลาร์ จากจุดผ่านแดน 5 แห่ง โดยในครึ่งปีแรกการค้าของทั้ง 2 ประเทศผ่านด่านมูเซและลแวแจมีมูลค่า 1.101 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด่านชินฉ่วยโอ 77.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และด่านกัมปติ 42.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้การค้าชายได้เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19 ทำให้ด่านชินฉ่วยโอ ด่านจินซันเฉาะ และด่านกัมปติ ได้กลับมาเปิดทำการอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้ใช้เงินหยวนและเงินจัตในการซื้อขายระหว่างชายแดน

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/sino-myanmar-border-trade-amounted-to-1-226-bln-in-h1/

นายกฯ วอนภาคธุรกิจ สปป.ลาว-บรูไร ร่วมมือพัฒนาการค้าระหว่างกัน

ประธานาธิบดีทองลุน สีสุลิด สนับสนุนให้ภาคธุรกิจใน สปป.ลาว และบรูไน กระชับความร่วมมือและลงทุนในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงของทั้งสองประเทศในการพัฒนาภาคธุรกิจระหว่างกัน โดยประธานาธิบดีได้กล่าวในระหว่างไปเยือนบรูไน พร้อมกับคณะเจ้าหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 24-26 ตุลาคม ตามคำเชิญของสมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ ซึ่งการเรียกร้องดังกล่าวเน้นไปที่การอำนวยความสะดวกและสร้างเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยสำหรับนักธุรกิจใน สปป.ลาวและบรูไน เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสทางด้านการลงทุนและเสริมสร้างความร่วมมือในมิติต่างๆ ระหว่างกัน โดย สปป.ลาว มีศักยภาพในการลงทุนสูงในการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก อุตสาหกรรมแปรรูป การท่องเที่ยว และพลังงานสะอาด ในขณะที่บรูไนอุดมไปด้วยทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten209_President_y22.php

การค้าทวิภาคี กัมพูชา-เกาหลีใต้ เพิ่มขึ้นเกือบ 14% ในช่วง 9 เดือน

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและเกาหลีใต้เพิ่มเป็นกว่า 818 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นกว่า 13.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามรายงานของสมาคมการค้าระหว่างประเทศแห่งเกาหลี (KITA) โดยในช่วงมกราคม-กันยายน กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังเกาหลีใต้มูลค่า 301 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่า 19.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่กัมพูชานำเข้าสินค้าจากเกาหลีใต้มูลค่า 507 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 10.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชายังคงเป็นสินค้าในกลุ่ม รองเท้า เครื่องแต่งกายชนิดต่างๆ สินค้าเพื่อการเดินทาง เครื่องดื่ม ชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นสำคัญ ในทางกลับกันกัมพูชานำเข้า ยานพาหนะ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ในครัว เครื่องดื่ม ยา พลาสติกและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากเกาหลีใต้เป็นสำคัญ โดยทั้งสองประเทศได้ให้สัตยาบันในข้อตกลงการค้าเสรี (CKFTA) ไปเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501175675/cambodia-south-korea-trade-up-14-percent/

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเยือนกัมพูชากว่า 1.2 ล้านคน

ทางการกัมพูชารายงานถึงปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังกัมพูชาในช่วง 9 เดือนแรกของปี พุ่งแตะ 1.2 ล้านคน ซึ่งข้อมูลถูกนำเสนอในการประชุมของกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา โดยทางการมีความพยายามเป็นอย่างมากในการฟื้นฟูและส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศให้กับมาดำเนินได้เป็นปกติ หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในรายงานระบุว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นกว่า 861% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่นักท่องเที่ยวภายในประเทศ อยู่ที่จำนวน 8.44 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่า 247%

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501176065/good-omen-for-tourism-more-than-1-2-million-international-tourists-visited-cambodia-in-first-nine-months/

‘นายกฯไทย-ลาว’ วางศิลาฤกษ์สร้างสะพานมิตรภาพบึงกาฬ-บอลิคำไซ คาดเปิดปี 67

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน พร้อมด้วยนายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีแห่ง สปป.ลาว เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม คณะผู้บริหาร กระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง (ทล.) และกรมขัวทาง กระทรวงโยธาธิการและขนส่งร่วมงาน ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล ที่มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย ทั้ง 4 มิติ ได้แก่ บก ราง น้ำ และอากาศ ให้เชื่อมโยงการเดินทางสู่ภูมิภาคอาเซียนอย่างไร้รอยต่อ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวในภูมิภาค ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถเข้าถึงการเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ด้วยระบบการคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ สำหรับโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) วงเงินก่อสร้าง 3.65 พันล้านบาท ที่ร่วมลงทุนโดยรัฐบาลไทย 2.50 พันล้านบาท และรัฐบาล สปป.ลาว 1.15 พันล้านบาท แบ่งความรับผิดชอบการก่อสร้างจากกึ่งกลางสะพาน ปัจจุบันมีความคืบหน้าในภาพรวมทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาวอยู่ที่ 57% (ณ เดือนกันยายน 2565)

ที่มา : https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_621791

“เวียดนาม” เกินดุลการค้าทะลุ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามรายงานของกรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่ากลางเดือนตุลาคม เวียดนามมียอดการนำเข้าและส่งออกรวมทั้งสิ้น 580 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 14.5% เมื่อพิจารณาการส่งออกและการนำเข้า ขยายตัว 16.7% และ 12.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่งผลให้เกินดุลการค้าราว 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ บริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในเวียดนาม (FIEs) ยังคงมีบทบาทสำคัญด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยมูลค่าการนำเข้าและส่งออกของบริษัทต่างชาติและผู้ประกอบการในประเทศ ขยายตัว 14.9% และ 13.4% ตามลำดับ นอกจากนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนามที่มีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ได้แก่ เครื่องจักร อุปกรณ์และชิ้นส่วน, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ รองเท้าทุกชนิด

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-racks-up-trade-surplus-exceeding-us7-billion-post979799.vov

“อุตสาหกรรมการบินเวียดนาม” เข้าสู่ช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศเวียดนาม (CAAC) เปิดเผยว่าในเดือนตุลาคม จำนวนผู้โดยสารที่มีการเดินทางทั่วประเทศ มีจำนวน 7.2 ล้านคน หดตัว 23.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งจากจำนวนผู้โดยสารทั้งหมด มีจำนวนราว 5.8 ล้านคนที่เป็นนักท่องเที่ยวในประเทศ และ 1.3 ล้านคนที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ทั้งนี้ สำนักงานฯ ชี้แจ้งว่าหลังจากภาคการท่องเที่ยวเติบโตในระดับสูงในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ตลาดการบินในประเทศกำลังเข้าสู่ช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว ซึ่งปกติจะใช้ระยะเวลาจนถึงสิ้นเดือนธันวาคมของทุกปี ก่อนที่จะเห็นการเติบโตในช่วงวันหยุดปีใหม่ นอกจากนี้ ตลาดการบินในประเทศกำลังฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ในขณะที่ตลาดต่างประเทศยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยประเทศจีนเป็นหนึ่งในตลาดท่องเที่ยวที่สำคัญของเวียดนาม และยังไม่เปิดประตูต้อนรับ เนื่องจากเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หน่วยงานด้านการบินของทั้งสองประเทศหันมาเจรจา หากกรณีที่มีการกลับมาให้บริการเส้นทางบิน

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnamese-aviation-industry-enters-seasonal-lull-2073888.html