ราคายางพาราปรับตัวลดลงปลายตุลาคม

ราคายางพาราในตลาดยางของรัฐมอญ ซึ่งเป็นรัฐผลิตยางรายใหญ่ในเมียนมา ปรับตัวลดลงเหลือประมาณ 1,580 จ๊าดต่อปอนด์ โดย เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา ยางแผ่นรมควันขั้น 3 ราคาแตะระดับสูงสุดอยู่ที่ 1,790 จ๊าดต่อปอนด์ และยางตากแห้งราคาอยู่ที่ 1,770 จ๊าดต่อปอนด์ ในขณะที่ราคาปัจจุบันของยางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ 1,580 จ๊าดต่อปอนด์ และยางตากแห้งราคาอยู่ที่ 1,560 จ๊าดต่อปอนด์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วงสองสัปดาห์ ราคาปรับลดลงกว่า 210 จ๊าดต่อปอนด์ ซึ่งมีปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อราคายางพาราจาก อุปสงค์ของยางพาราทั่วโลก อุปทานของยางพาราในตลาดโลก และปริมาณการผลิตยางในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ เมียนมามีเป้าหมายที่จะการส่งออกยางพาราให้ได้ 300,000 ตันในปีงบประมาณปัจจุบัน 2566-2567 อย่างไรก็ตาม การผลิตยางในปีงบประมาณ 2565-2566 ที่ผ่านมามีจำนวนมากกว่า 360,000 ตัน และมีการขนส่งยางมากกว่า 200,000 ตันไปยังคู่ค้าต่างประเทศ ได้แก่ จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม เกาหลีใต้ อินเดีย และ ญี่ปุ่น

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/rubber-prices-on-decline-in-end-oct/#article-title

เมียนมา จีน ตัดสินใจเสริมสร้างความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายและความมั่นคง

พลโท Yar Pyae สมาชิกสภาบริหารแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมียนมา จัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการกับสมาชิกสภาบริหารแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และนาย Wang Xiaohong รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคง ในเมืองเนปิดอว์ เมื่อ 30 ตุลาคม 2566 นอกจากนี้ พวกเขายังได้จัดการประชุมรัฐมนตรีเมียนมา-จีน ครั้งที่ 7 ว่าด้วยการบังคับใช้กฎหมายและความร่วมมือด้านความมั่นคง โดยในการประชุม ได้มีการหารือเกี่ยวกับสันติภาพและความสงบในพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศ การส่งเสริมความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายและความมั่นคง การเข้าร่วมการประชุมความร่วมมือด้านความมั่นคงสาธารณะระดับโลก (เหลียนหยุนกัง) และการประชุมสถาบันตำรวจจีน-อาเซียน การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปีว่าด้วยความร่วมมือล้านช้าง-แม่น้ำโขง (พ.ศ. 2566-2570) การดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์ การฉ้อโกงออนไลน์ อาชญากรรมในโลกไซเบอร์ การฟอกเงิน การพนันข้ามพรมแดน คดียาเสพติด ความร่วมมือในกิจกรรมด้านความปลอดภัยล้านช้าง-แม่น้ำโขง และกิจกรรมบังคับใช้กฎหมาย อย่างไรก็ดี ยังได้หารือความสัมพันธ์ทวิภาคีในการจับกุมผู้ลี้ภัยชาวจีน การสื่อสารระหว่างองค์กร การวิจัยร่วมด้านอาชญากรรมบริเวณชายแดน และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย และการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบเรียลไทม์ระหว่างทั้งสองกระทรวง

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-china-decide-to-strengthen-promotion-of-law-enforcement-security-cooperation/#article-title

เมียนมาส่งออกยางพารากว่า 76,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 94 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 5 เดือน

จากการรายงานของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา ยางพารามากกว่า 76,594 ตันถูกส่งออกไปยังต่างประเทศในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (เมษายน-สิงหาคม) ของปีงบประมาณปัจจุบัน พ.ศ. 2566-2567 โดยมีมูลค่าประมาณ 94.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การผลิตยางพาราของเมียนมาจะอยู่ที่ประมาณ 300,000 ตันต่อปี โดยที่ยางพาราส่วนใหญ่ของเมียนมาถูกผลิตในรัฐมอญ และกะเหรี่ยง รวมถึงภูมิภาคตะนาวศรี พะโค และย่างกุ้ง ทั้งนี้ จากข้อมูลฤดูกาลยางพาราปี 2561-2562 เมียนมามีพื้นที่ปลูกยางพารามากกว่า 1.628 ล้านเอเคอร์ โดยรัฐมอญมีพื้นที่ 497,153 เอเคอร์ รองลงมาคือเขตตะนาวศรี 348,344 เอเคอร์ และรัฐกะเหรี่ยง 270,760 เอเคอร์ จากการส่งออกยางพาราในปีงบประมาณ 2563-2564 เมียนมามีรายได้มากกว่า 449 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ ในปีงบประมาณ 2562-2563 มีรายได้กว่า 264.442 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565-2566 ที่ผ่านมา เมียนมามีการผลิตยางพาราจำนวนมากกว่า 360,000 ตัน โดยกว่า 200,000 ตัน ถูกส่งออกไปยังคู่ค้าต่างประเทศ ยางพาราร้อยละ 70 ที่ผลิตในเมียนมาถูกส่งออกไปยังประเทศจีน นอกจากนี้ ยังส่งออกไปยัง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ อีกด้วย จากข้อมูลของสมาคม ความต้องการยางพาราในตลาดโลก ปริมาณการผลิตยางพาราในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอุปทานในตลาด นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อราคายางพาราของเมียนมา

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-exports-76000-tonnes-of-rubber-worth-us94-mln-in-5-months/#article-title

ราคากระเทียม Kyukok ในเมียนมาพุ่งแรง

ราคาขาย มันฝรั่งจีน และกระเทียม Kyukok ที่จำหน่ายในตลาดบุเรงนอง มีการปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากการขนส่งสินค้าไม่สามารถเดินทางผ่านเส้นทางชายแดนได้ตั้งแต่เช้าวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ส่งผลให้ราคาขายส่งกระเทียม Kyukok และมันฝรั่งจีน เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 1,000 จ๊าดต่อ viss และ 500 จ๊าดต่อ viss ตามลำดับ ซึ่งเป็นปกติของตลาดสินค้า เมื่อสินค้านั้นๆ เข้ามาที่ตลาดได้ยากขึ้นจะส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น โดยในวันที่ 26 ตุลาคม 2566 ราคาขายส่งกระเทียม Kyukok อยู่ที่ 7,700–7,800 จ๊าดต่อ viss แต่ในวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 8,000–8,200 จ๊าดต่อ viss และ 8,500 จ๊าดต่อ viss ในตอนเย็น และ เช้าวันที่ 28 ตุลาคม 2566 ราคาขายส่งกระเทียมเพิ่มขึ้นเป็น 9,000-9,150 จ๊าดต่อ viss ที่คลังขายส่ง ขณะที่กระเทียมของรัฐฉาน ราคาขายส่งยังคงอยู่ที่ 8,400-9,800 จ๊าดต่อ viss ทั้งนี้ แม้ว่าราคาขายส่งมันฝรั่งของจีนอยู่ที่ 1,700–1,750 จ๊าดต่อ viss ในวันที่ 26 ตุลาคม แต่ก็ขึ้นไปเป็น 1,800 วอจ๊าดต่อ viss ในเช้าวันที่ 27 ตุลาคม และ 1,900–2,000 จ๊าดต่อ viss ในตอนเย็น และ 2,300 จ๊าดต่อ viss ในเช้าวันที่ 28 ตุลาคม ด้วยเหตุนี้ ในตลาดค้าปลีกในย่างกุ้ง กระเทียมของรัฐฉาน และ กระเทียม Kyukok จึงมีราคาประมาณ 10,000 จ๊าดต่อ viss และมันฝรั่งจีนมีราคาประมาณ 3,000 จ๊าดต่อ viss  ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ กระเทียมของรัฐฉาน และกระเทียม kyukok จะกลายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่สร้างสถิติราคาสูงสุด เช่นเดียวกับ ถั่วดำ ถั่วแระ ถั่วลูกไก่ น้ำตาล และน้ำตาลโตนด ในปี 2566

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/kyukok-garlic-price-surges-hard/

‘ลาว-จีน-เมียนมา-ไทย’ เสร็จสิ้นภารกิจร่วมลาดตระเวนแม่น้ำโขง ครั้งที่ 134

หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายจากลาว จีน เมียนมา และไทย สนธิกำลังเพื่อทำการลาดตระเวนร่วมในแม่น้ำโขง ครั้งที่ 134 โดยการลาดตระเวนร่วมครั้งนี้มีเรือ 5 ลำ และเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย 114 นาย จาก 4 ประเทศ ครอบคลุมเส้นทางน้ำเป็นระยะทางกว่า 600 กิโลเมตร โดยปฏิบัติการดังกล่าวใช้เวลา 4 วัน 3 คืน ในระหว่างการลาดตระเวน ประเทศต่าง ๆ มุ่งเน้นไปที่การปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดนเพื่อความปลอดภัยและเสถียรภาพริมแม่น้ำ และทำการประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งจัดขึ้นที่แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่แม่น้ำโขง ทั้งสี่ประเทศบรรลุฉันทามติในการร่วมกันต่อสู้กับการฉ้อโกงผ่านระบบโทรคมนาคมและอาชญากรรมข้ามพรมแดนอื่น ๆ รวมถึงกระชับความร่วมมือในอนาคตให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทั้งนี้ แม่น้ำโขง หรือในจีนเรียกกันว่าแม่น้ำล้านช้าง เป็นแม่น้ำที่สำคัญสำหรับการขนส่งข้ามพรมแดน ทั้งสี่ประเทศได้ดำเนินการลาดตระเวนร่วมกันในแม่น้ำโขงตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา

ที่มา : https://english.news.cn/20231027/a22c8b9f0c11468b8a5a696aa43e1758/c.html

เรือคอนเทนเนอร์จำนวน 50 ลำมีกำหนดเทียบท่าในเดือนพฤศจิกายน

การท่าเรือเมียนมาระบุว่า เรือคอนเทนเนอร์ทั้งหมด 50 ลำ มีกำหนดจะมาถึงในเดือนพฤศจิกายนที่ท่าเรือย่างกุ้ง ในปีนี้ท่าเรือย่างกุ้งรองรับเรือคอนเทนเนอร์ไปแล้วทั้งหมด 620 ลำ โดยมีเรือคอนเทนเนอร์ที่เดินทางมาถึงท่าเรือย่างกุ้ง 52 ลำ ในเดือนมกราคม 51 ลำ ในเดือนกุมภาพันธ์ 55 ลำ ในเดือนมีนาคม 50 ลำ ในเดือนเมษายน 56 ลำ ในเดือนพฤษภาคม 57 ลำ ในเดือนมิถุนายน 53 ลำ ในเดือนกรกฎาคม 54 ลำ ในเดือนสิงหาคม 53 ลำ ในเดือนกันยายน และ 49 ลำ ในเดือนตุลาคม ซึ่งการค้าทางทะเลถือเป็นร้อยละ 75 ของการค้าต่างประเทศของเมียนมา ทั้งนี้ ตามคำแถลงของการท่าเรือเมียนมาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2565 หลังจากพบช่องทางเดินเรือใหม่ (Kings Bank Channel) ที่เข้าถึงแม่น้ำย่างกุ้งตอนใน และมีการเร่งดำเนินงานขยายร่องน้ำ ทำให้ท่าเรือสามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ได้แล้ว โดยมีเรือคอนเทนเนอร์ (LOA 185.99 เมตร, Beam 35.25 เมตร, 29,232 GRT และ 2,698 TEU) SITC Shipping Line จากฮ่องกงเข้าเทียบท่าที่ท่าเทียบเรือ Asia World Port เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ซี่งนับเป็นเรือที่ใหญ่ที่สุดที่ท่าเรือ (Asia World Port Terminal : AWPT) รองรับ โดยก่อนหน้านี้ เรือขนาดใหญ่ประสบปัญหาไม่สามารถแล่นในแม่น้ำย่างกุ้งได้ ทำให้ร่องน้ำถูกขยายออกไปไกลถึง 10 เมตร เพื่อให้เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่สามารถเข้าสู่ท่าเรือทีละวาได้

อย่างไรก็ดี ชายฝั่งของเมียนมามีความยาว 2,228 กิโลเมตร (1,260 ไมล์ทะเล) รวมถึงแนวชายฝั่งยะไข่ (713 กิโลเมตร) พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (437 กิโลเมตร) และแนวชายฝั่งตะนาวศรี (1,078 กิโลเมตร) ซึ่งทอดยาวจากชายแดนบังกลาเทศตอนเหนือไปจนถึงพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีท่าเรือตามแนวชายฝั่งทั้งหมด 10 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือย่างกุ้ง ท่าเรือน้ำลึกทีละวา ท่าเรือน้ำลึกเจ้าผิวก์ ท่าเรือซิตตเว ท่าเรือตานต่วย ท่าเรือปะเตง ท่าเรือมะละแหม่ง ท่าเรือน้ำลึกทวาย ท่าเรือเมก และท่าเรือก้อตาว (เกาะสอง) อย่างไรก็ตาม ท่าเรือย่างกุ้ง รวมทั้งท่าเทียบเรือน้ำลึกทีละวาเป็นท่าเรือระหว่างประเทศเพียงแห่งเดียว และท่าเรือที่เหลือใน 8 เมือง ถูกกำหนดให้เป็นท่าเรือภายในประเทศเท่านั้น

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/fifty-container-vessels-scheduled-to-call-in-november/#article-title

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา ผ่อนปรนกฎระเบียบ ใบอนุญาตนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำหรับนักเดินเรือ

ตามประกาศที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566 กระทรวงพาณิชย์ของเมียนมา ประกาศลดการเก็บรายได้เงินโอนระหว่างประเทศขาเข้าของผู้เดินเรือเป็น 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี จากเดิมกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี เพื่ออนุญาตให้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากคำแถลงที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ที่ผ่านมา หากพลเมืองเมียนมารวมถึงนักเดินเรือที่มีการโอนเงินค่าจ้างต่างประเทศไปยังธนาคารท้องถิ่นในประเทศ พวกเขาจะได้รับสิทธิในการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าหนึ่งคัน ซึ่งมีมูลค่าเท่ากับร้อยละ 5 ของเงินโอนเข้าประเทศที่มีมูลค่ามากกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ยกเว้นผู้ที่ได้รับเงินเดือนประจำจากต่างประเทศ ซึ่งบางรายได้รับอนุญาตให้นำเข้ายานพาหนะไฟฟ้าหรือรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เทียบเท่ากับร้อยละ 5 หากส่งเงินเข้าประเทศมูลค่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและส่งเสริมกิจกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ใบอนุญาตนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าหรือรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจึงได้รับการอนุญาตเป็นกรณีพิเศษให้สำหรับผู้ที่มีการโอนเงินเดือนต่างประเทศเข้ามาในประเทศ หรือพลเมืองเมียนมาที่ได้รับค่าจ้างประจำจากต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ในกรณีที่การโอนเงินเข้าประเทศของแต่ละบุคคลไม่ถึงเกณฑ์รายได้ที่กำหนด ก็สามารถใช้สิทธิขออนุญาตนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าร่วมกันได้ โดยการดำเนินการขอใบอนุญาตนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวมีผลตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/moc-eases-import-rule-of-ev-permit-for-seafarers/

UMFCCI และรัฐบาลฉงชิ่ง จับตาดูระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่

ดร. วิน ซี ทู รองประธาน สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพเมียนมา (UMFCCI) และนาย Zhao Yin ผู้อำนวยการสำนักงานการต่างประเทศ นครฉงชิ่ง ประเทศจีน หารือประเด็นด้านการลงทุนและความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างเมียนมาร์ และจีน (ฉงชิ่ง) และความเป็นไปได้ในการดำเนินกิจกรรมการค้าบนระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ ในวันที่ 24 ตุลาคม ณ ห้องโถงของ UMFCCI โดยระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่เป็นเส้นทางการค้าและโลจิสติกส์ที่สำคัญที่เชื่อมโยงจีน (ฉงชิ่ง) และอาเซียน โดยส่งเสริมการขนส่ง การค้า และการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคเหล่านั้น ที่ประชุมเน้นย้ำความร่วมมือกับเมียนมาในการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการขนส่งตามแนวระเบียงการค้าดังกล่าว อย่างไรก็ดี ทั้งสองฝ่ายได้มีการพูดคุยถึงรายละเอียดเกี่ยวกับความร่วมมือสำหรับกิจกรรมการพัฒนาบนระเบียงการค้า การผลิต การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/umfcci-chongqing-govt-eye-trade-boost-on-new-land-sea-trade-corridor/

การส่งเสริมการค้า และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ รัสเซีย-เมียนมา

สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพเมียนมา (UMFCCI) ระบุว่า ได้รับการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและเศรษฐกิจจะระหว่างเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก แห่งสหพันธรัฐรัสเซีย และเมียนมา ในภาคส่วนสินค้าประเภท ข้าวและถั่วพัลส์ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เฟอร์นิเจอร์ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยประธานคณะกรรมการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัฐบาลเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย นาย Grigoriev Evgeny Dmitrievich และสมาชิกได้พบกับนักธุรกิจชาวเมียนมารจากภาคส่วนต่างๆที่สำนักงาน UMFCCI โดย Grigoriev Evgeny Dmitrievich กล่าวว่า ปัจจุบัน ข้าว ถั่ว ข้าวโพด งา เฟอร์นิเจอร์ และการประมงเป็นธุรกิจที่ทำกำไรให้กับเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก มีสิทธิพิเศษสำหรับทั้งสองประเทศ รวมทั้ง ผู้ส่งออกจากภาคส่วนเหล่านี้ได้หารือถึงความยากลำบากที่พบในการส่งออกสินค้าไปยังรัสเซีย ทั้งในเรื่องของระบบการชำระเงินสำหรับการส่งออกโดยตรงไปยังรัสเซีย และเงื่อนไขสำหรับโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าของรัสเซียที่จะเข้ามาลงทุนในเมียนมาร์ อย่างไรก็ตาม คณะผู้แทนรัสเซียยังได้เชิญนักธุรกิจชาวเมียนมาร์มาลงทุน ที่เมืองท่าครอนชตัดท์ ซึ่งมีเทคโนโลยีล่าสุดในการส่งออกและนำเข้าสินค้าทางทะเล การตรวจสอบสินค้านำเข้าและการคืนสินค้า ทำให้ประหยัดเวลา มีความราบรื่นของเส้นทางการขนส่ง และเทคโนโลยีล่าสุดในการขนถ่ายสินค้า

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/russia-myanmar-trade-and-economic-cooperation-to-be-promoted/

ต้นทุนการผลิตน้ำมันลดลงเนื่องจากราคาถั่วลิสงลดลง

ผู้ผลิตน้ำมันกล่าวกับ The Global New Light of Myanmar (GNLM) ว่า ราคาถั่วลิสงที่ลดลง ช่วยลดต้นทุนการผลิตน้ำมันถั่วลิสง นอกจากนี้ อุปสงค์ของถั่วพัลส์ที่ลดลงของจีนทำให้ราคาลดลงเหลือ 5,500 จ๊าดต่อ viss จากเดิม 7,500 จ๊าดต่อ viss ในเดือนตุลาคม ราคาของถั่วลิสงป่นก็ลดลงเหลือ 2,500 จ๊าดต่อ viss จากเดิม 3,300 จ๊าดต่อ viss  ผู้ผลิตน้ำมันกล่าวอีกว่า ต้นทุนการผลิตน้ำมันถั่วลิสงลดลงอย่างมากเนื่องจากราคาถั่วลิสงที่ลดลง ขึ้นอยู่กับคุณภาพ และปริมาณการผลิตน้ำมันด้วย ซึ่งต้นทุนการผลิตน้ำมันต่อเที่ยวอยู่ที่ 10,000 – 11,500 จ๊าดต่อ viss ซึ่งหากรวมต้นทุนอื่นๆด้วย จะอยู่ที่ 14,000 – 15,000 จ๊าดต่อ viss เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่ผ่านมา ราคาขายส่งน้ำมันถั่วลิสงปรับตัวอยู่ในช่วงระหว่าง 12,500 – 16,000 จ๊าดต่อ viss ขึ้นอยู่กับภูมิภาค ในขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มอยู่ที่ 4,500-5,500 จ๊าดต่อ viss ทั้งนี้ การผลิตน้ำมันถั่วลิสง น้ำมันงา และน้ำมันดอกทานตะวันยังไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้นจึงยังคงมีการนำเข้าน้ำมันปาล์มอยู่ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา ราคาถั่วลิสง งาขาว และน้ำมันปาล์ม อยู่ที่ 1,627.28 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน 2,104.17 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และ 815 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ได้ตรวจพบการเจือปนของน้ำมันปาล์มกับน้ำมันถั่วลิสงในท้องตลาด ผู้ผลิตบางรายจึงประสบปัญหาจากราคาถั่วลิสงในตลาดลดลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันถั่วลิสงลดลงตาม และทำให้ความต้องการน้ำมันถั่วลิสงและน้ำมันงาบริสุทธิ์เพิ่มขึ้น

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/oil-production-cost-declines-as-peanut-price-drops/