6 เดือนแรกของปี 65 มีนักท่องเที่ยวเยือนสปป.ลาว แตะ 42,197 คน

6 เดือนแรกของปี 2565 สปป.ลาว หลังการคลายล็อกดาวน์และการคลี่คลายของสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศทั้งสิ้น 42,197 คน จากรายงานพบว่า มีการท่องเที่ยวและพำนักโดยเฉลี่ย 7.9 วัน และใช้จ่ายเฉลี่ย 83 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อวัน สร้างรายได้มากกว่า 4.55 ล้านดอลลาร์ โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เดินทางผ่านสะพานมิตรภาพลาว-ไทย, สนามบินนานาชาติวัดไต และสนามบินนานาชาติหลวงพระบาง ตั้งแต่วันที่ 13-18 ก.ค.2565 มีนักท่องเที่ยวทั้งหมด 5,668 คน มากกว่าร้อยละ 70 มาจากไทย ซึ่งตั้งแต่เดือนพ.ค.- มิ.ย.2565 มีนักท่องเที่ยว 33,435 คนเดินเข้าประเทศ โดย 18,621 คนมาจากไทย และ 14,447 คนมาจากเวียดนาม ส่วนที่มาจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 1,902 คน จากยุโรป 467 คน, สหรัฐอเมริกา 512 คน และแอฟริกาและตะวันออกกลาง 23 คน และเกาหลีใต้ 144 คน

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten152_Laos_welcomes_y22.php

เดือนก.ค.65 เมียนมาส่งออกยางพาราไปแล้วกว่า 2,900 ตัน

ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนก.ค. 2565 (วันที่ 16-22)  เมียนมาส่งออกยางพารากว่า 2,350 ตัน ทำรายได้ถึง 3.602 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  โดยแบ่งเป็นจีน 1,350 ตัน, มาเลเซีย 130 ตัน, อินเดีย 630 ตัน และอินโดนีเซีย 60 ตัน ขณะที่สัปดาห์นี้มีการส่งออกยางพาราทั้งหมด 500 ตัน โดย 430 ตันผ่านชายแดนเมียนมา – ไทย และอีก 120 ตันผ่านชายแดนเมียนมา – จีน – ทำรายได้ประมาณ 0.618 ล้านดอลลาร์ ปัจจุบันพบว่า ราคายางเพิ่มขึ้นทุกปีทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเฉพาะยางคุณภาพดี ดังนั้นในปีนี้การปลูกยางคุณภาพดีจึงมีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ ส่งผลให้มีการลดการปลูกยางคุณภาพต่ำลง ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทางภาครัฐ ปัจจุบันเมียนมามีพื้นที่สวนยางพารามากกว่า 1.6 ล้านเอเคอร์ มีพื้นที่เก็บเกี่ยวทั้งสิ้น 850,000 เอเคอร์ มีผลผลิตต่อปีประมาณ  300,000 ตัน และพบว่ามีการบริโภคภายในประเทศเพียงร้อยละ 8 นอกนั้นเป็นการส่งออกทั้งหมด  ทั้งนี้ พื้นที่เพาะปลูกยางสำคัญของประเทศจะอยู่ในรัฐมอญ, รัฐกะเหรี่ยง,เขตตะนาวศรี ,เขตพะโค ,เขตย่างกุ้ง และเขตอิรวดี

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-exports-2900-tonnes-of-rubber-during-julys-second-week/#article-title

“เวียดนาม” ผลผลิตอุตฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

S&P Global เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ของเวียดนาม ยังคงสูงกว่าระดับ 50 เป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกันในเดือนก.ค.65 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตยังคงมีการขยายตัว แต่มีการปรับตัวลงสู่ระดับ 51.2 จากระดับ 54.0 ในเดือนมิ.ย. ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อใหม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน แต่มีอัตราที่ชะลอตัวลงอยู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณบ่งชี้ว่าเผชิญกับแรงกดดันด้านราคาและอุปทานที่เริ่มผ่อนคลายลงเมื่อต้นไตรมาสที่สาม ทั้งนี้ นาย Andrew Harker ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐศาสตร์ของ S&P Global Market Intelligence กล่าวว่าภาคการผลิตของเวียดนามที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวเล็กน้อยในเดือนก.ค. แต่กิจการต่างๆ ยังคงสามารถรักษาปริมาณคำสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นได้ รวมถึงผลผลิตและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1275686/viet-nam-s-manufacturing-output-continues-to-rise.html

“เวียดนาม” เตรียมยกเลิกกักกันนำเข้าสินค้าอาหารทะเลแปรรูป เหตุจากโควิด-19

กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนาม ได้ประกาศยกเลิกข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการกักกันโควิด-19 สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่เยือกแข็งที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อทำการแปรรูปใหม่และส่งออก โดยมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 11 ก.ย. กระทรวงฯ จะส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตร ลดจำนวนหมวดหมู่สินค้าที่ต้องกักกันโรคและใช้เทคโนโลยีเพื่อเร่งกระบวนการทางศุลกากร ทั้งนี้ สมาคมผู้ส่งออกและผู้ผลิตอาหารทะเลของเวียดนาม (VASEP) ได้ยื่นคำร้องต่อรัฐบาลให้ทำการแก้ไขข้อบังคับการกักกันโรค โดยระบุว่ารัฐบาลจะทำให้อุตสาหกรรมอาหารทะเลเผชิญกับปัญหาครั้งใหญ่ นอกจากนี้ ทางสมาคมฯ ยังต้องการให้ยกเลิกการกักกันโรค สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปที่นำเข้าจากต่างประเทศเพื่อบริโภคในประเทศเป็นหลัก ซึ่งได้รับการประเมินว่าไม่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรคทางน้ำ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1275697/viet-nam-set-to-scrap-covid-quarantine-for-imported-processed-seafood.html

กัมพูชาวอนจีนกระตุ้นการค้าระหว่างประเทศ

รัฐบาลกัมพูชากำหนดเป้าหมายการค้าทวิภาคีกับจีนใหม่หวังเพิ่มขึ้นเป็น 15 พันล้านดอลลาร์ กล่าวโดยนายกรัฐมนตรี ฮุนเซน ในระหว่างการพบปะกับ หวัง ยี่ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ณ กรุงพนมเปญ ซึ่ง ฮุนเซน กล่าวว่า ปริมาณการค้าระหว่างกัมพูชาและจีนปัจจุบันมีมูลค่ามากกว่า 11 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021 โดยกัมพูชาร้องขอให้จีนช่วยสนับสนุนกัมพูชาโดยการนำเข้าสินค้าทางการเกษตรเพิ่มมากขึ้น อาทิเช่น ข้าว ลำไย และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่น ๆ เนื่องจากเริ่มมีความต้องการสูงขึ้นในตลาดจีน ซึ่งในปีที่แล้วการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและจีนมีมูลค่า 11.19 พันล้านดอลลาร์ โดยคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาไปยังจีนมีมูลค่าอยู่ที่ 1.51 พันล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ทางการกัมพูชายังขอให้จีนเร่งเดินหน้าเพิ่มการลงทุนในกัมพูชา ซึ่งปัจจุบันตามรายงานของสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชาแสดงให้เห็นว่าจีนได้เข้ามาลงทุนในกัมพูชามูลค่าการลงทุนรวม 1.29 พันล้านดอลลาร์ เฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ และยังขอให้จีนเพิ่มจำนวนเที่ยวบินระหว่างทั้งสองประเทศเพื่อช่วยฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501127588/cambodia-urges-china-to-step-up-bilateral-trade/

“Royal Group PPSEZ” กัมพูชา ส่งออกมูลค่าแตะ 492.7 ล้านดอลลาร์ ในช่วง H1

Eumatsu Hiroshi ซีอีโอของ Royal Group Phnom Penh Special Economic Zone (Royal Group PPSEZ) รายงานถึงการเติบโตของยอดการส่งออกที่มูลค่า 492.7 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้กล่าวเสริมว่าปัจจุบันเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นที่ 357 เฮกตาร์ และมีบริษัทดำเนินกิจการอยู่ภายในเขต 102 แห่ง โดยมีการจ้างพนักงานราว 39,100 คน ณ เดือนกรกฎาคม 2022 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.9 จากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2021 โดย Eumatsu ยังได้กล่าวเสริมว่า Royal Group มีความมุ่งมั่นเป็นอย่างมากที่จะสนับสนุนนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมภายในประเทศเกิดการเติบโต รวมถึงพยายามสร้างสภาพแวดล้อมทางด้านการลงทุนให้เอื้อต่อภาคธุรกิจด้วยเทคโนโลยี และด้วยเสถียรภาพทางการเมืองและสังคม รวมถึงกฎหมายด้านการลงทุนฉบับใหม่ของกัมพูชา ทางด้าน Eumatsu มองว่าปัจจัยดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนมายังกัมพูชามากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501127759/royal-group-ppsez-exports-rise-to-492-7m-in-7-months/

หอการค้าชี้รับได้ขึ้นค่าแรง 5-8% เติมเงินให้คนรายได้น้อยสู้ของแพง ย้ำชัดห้ามปรับราคาเดียว

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงกรณีกระทรวงแรงงานเตรียมปรับอัตราค่าแรงงานเพิ่ม 5-8% ซึ่งหอการค้าไทยเห็นด้วย เนื่องจากค่าครองชีพสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อสูง ถ้าไม่ปรับค่าแรง และสินค้าปรับตัวสูงขึ้นจะส่งผลโดยตรงต่อแรงงานที่มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบมาก แต่สิ่งที่ไม่เห็นด้วย คือ การปรับค่าแรงงานเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศ ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงต้องผ่านคณะกรรมการไตรภาคีของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมมากที่สุด และที่ผ่านมาหอการค้าไทยพยายามผลักดันให้รัฐออกมาตรการเยียวยากระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น คนละครึ่งเฟส 5 ซึ่งเป็นรูปทรงที่ดีที่ทำมาตรการในช่วงเศรษฐกิจกำลังดีขึ้น และมาตรการช่วยดูแลส่วนที่เป็นแรงงาน หากไม่เข้าไปดูแลส่วนนี้จะเกิดปัญหาต่อสังคม

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/news/1338687/

เกาหลีใต้พยายามดึงดูดนักท่องเที่ยวเวียดนาม

เมืองหลวงเกาหลีใต้ กรุงโซลและองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวโซล (STO) ได้จัดงานร่วมกันเมื่อวันที่ 3 ส.ค. โปรโมทโครงการต่างๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเวียดนามให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะเมืองโฮจิมินห์ และส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างสองหัวเมือง โดยงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อแนะนำการท่องเที่ยวของกรุงโซลให้กับนักท่องเที่ยวเวียดนาม หลังการระบาดระลอกที่ 4 ตลอดจนมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและโอกาสของทั้งสองประเทศที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยว และเตรียมการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว หลังสิ้นสุดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/south-korea-seeks-to-attract-vietnamese-tourists/

ครึ่งปี 65 สหรัฐฯ เร่งนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นจากตลาดเวียดนาม

ตามตัวเลขทางสถิติ เปิดเผยว่าในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2565 เวียดนามส่งออกข้าวอยู่ที่ระดับประมาณ 4.19 ล้านตัน คิดเป็นรายได้ราว 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปริมาณและมูลค่าส่งออก เพิ่มขึ้น 20.5% และ 9% ตามลำดับ จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ถือว่าอยู่ในระดับการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ถึงแม้ว่าจะเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในด้านการส่งออกข้าว แต่สินค้าเวียดนามยังคงได้รับความนิยมในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ แหล่งนำเข้าข้าวเวียดนาม พบว่าสหรัฐฯ นำเข้าข้าวเวียดนามมากที่สุด เพิ่มขึ้น 63.3% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 รองลงมาฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นตลาดที่มีการบริโภคข้าวรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วน 44.5% ของส่วนแบ่งตลาดรวม

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/us-increases-rice-imports-from-vietnamese-market-in-first-half-post961046.vov

เมียนมาส่งออกข้าวโพดไปไทย ลดฮวบ !

นาย U Aye Chan Aung ประธานสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดของเมียนมา กล่าวว่า การส่งออกข้าวโพดไปไทยลดลงอย่างมาก แม้ว่าก่อนหน้านี้จะสามารถส่งออกข้าวโพดได้ 150,000 ตันต่อเดือน แต่พบว่าการส่งออกเมื่อเดือนก.ค.2565 ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้วถึง 30%  ซึ่งเกิดจากการอ่อนค่าของเงินจัตจาก 1,850 จัตต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 2,500 จัตต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและการค้าที่ลดลงอย่างมาก เพราะเงินจัตที่อ่อนค่าจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าต่าง ๆ สูงขึ้น อีกทั้งปัญหาขั้นตอนทางกฎหมายและกฎระเบียบที่ยุ่งยากและซับซ้อน (red tape) ในการออกใบอนุญาตส่งออกข้าวโพดมีความล่าช้า ส่งผลให้มีสต็อกข้าวโพดในตลาดในประเทศตกค้างเป็นจำนวนมาก  ปัจจุบันราคาข้าวโพดอยู่ที่ประมาณ 800-820 จัตต่อ viss (viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) ในตลาดย่างกุ้ง ที่ผ่านมาไทยให้ไฟเขียวการนำเข้าข้าวโพดภายใต้ภาษีศุลกากรเป็นศูนย์ (แบบ Form-D) ระหว่างวันที่ 1 ก.พ. ถึง 31 ส.ค.2565 อย่างไรก็ตาม ไทยได้กำหนดอัตราภาษีนำเข้าสูงสุด 73% เพื่อปกป้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดของไทย โดยในปีงบประมาณ 2563-2564  เมียนมาส่งออกข้าวโพด 2.3 ล้านตันไปยังต่างประเทศ ส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปยังไทย และบางส่วนจะถูกส่งออกไปยังจีน อินเดีย และเวียดนาม

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/corn-exports-to-thailand-plummet/#article-title