‘เวียดนาม’ เผยยอดส่งออกข้าวทะลุ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท (MARD) เปิดเผยว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกข้าวของเวียดนามกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็นมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะเดือนเมษายน เพียงเดือนเดียวที่ทำรายได้จากการส่งออกข้าว 273 ล้านเหรียญสหรัฐ ปริมาณกว่า 550,000 ตัน ส่งผลให้ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ปริมาณส่งออกรวมอยู่ที่ 2.05 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถึงแม้ว่าระดับราคาข้าวจะลดลง แต่หากเทียบกับคู่ค้า จะพบว่าราคาข้าวของเวียดนามยังสูงกว่าประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังคงเป็นผู้บริโภคข้าวเวียดนามรายใหญ่ที่สุด มีส่วนแบ่งการตลาด 42.6%

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-rice-exports-surpass-us1-billion-post942211.vov

 

สงครามรัสเซีย-ยูเครน สะเทือนเศรษฐกิจเวียดนาม

ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการจัดหาเชื้อเพลิงและวัตถุดิบของเวียดนามและยังผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ห่วงโซ่อุปทานของภาคการผลิตหยุดชะงัก จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกยังไม่ได้สิ้นสุด กิจการของเวียดนามต้องเผชิญกับอุปสรรคทางด้านเชื้อเพลิงและวัตถุดิบสำหรับการผลิต เหตุจากสงครามดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเวียดนามประสบปัญหาในการนำเข้าสินค้าบางรายการจากประเทศรัสเซียและส่งออกสินค้าไปยังรัสเซียและยูเครน ในขณะเดียวกันเผิชญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากการสั่งซื้อวัตถุดิบจากตลาดอื่นๆ โดยวิกฤติดังกล่าว เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกสูงขึ้น ผลผลิตและส่วนแบ่งการตลาดด้านการส่งออกเชื้อเพลิงและวัตถุดิบเพื่อการผลิตและบริโภค อาทิ ปิโตรเลียม ข้าวสาลี เป็นต้น ของรัสเซียและยูเครนมีขนาดใหญ่มาก

ที่มา : https://english.news.cn/europe/20220507/8d424defc5704109be27085d1e3cae91/c.html

 

เอกชนเฮ! ด่านลาวเปิดตามปกติ 9 พ.ค. นี้

วันที่ 8 พฤษภาคม 2565 ดร.จตุรงค์ บุนนาค ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว เปิดเผยว่า ขณะนี้เอกชนได้รับการแจ้งเอกสารจากสำนักงานนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เรื่องมาตรการการเข้าออกประเทศ รวมทั้งการเปิดทุกด่านในวันที่ 9 พ.ค. 2565 เป็นต้นไป โดยสรุปมาตรการเปิดประเทศ ดังนี้ 1.เปิดด่านสากลทุกด่าน 2.อนุญาตให้พลเมืองทุกสัญชาติ ที่ยกเว้นวีซ่ากับ สปป.ลาว สามารถเข้าประเทศได้ไม่ต้องขอวีซ่า 3.สำหรับประเทศที่ไม่ได้ยกเว้นวีซ่า สามารถขอวีซ่าจากสถานทูต กงสุล หรือผ่านระบบ E-visa หรือขอวีซ่าที่หน้าด่านสากล ที่มีหน่วยงานวีซ่า 4.ผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ที่ยังไม่ทันมีใบรับรองฉีดวัคซีนครบโดส ขอให้มีผลตรวจเชื้อโควิดแบบเร็ว ATK ภายใน 48 ชั่วโมง ก่อนออกเดินทางจากประเทศต้นทาง เมื่อถึง สปป.ลาว ไม่ต้องมีการตรวจซ้ำ 5. ในกรณีที่ติดเชื้อโควิด ต้องรับผิดชอบค่ารักษาโควิดเอง 6.อนุญาตให้พาหนะต่างๆ เข้า-ออก ประเทศได้ตามปกติ 7.ให้มีการเปิดร้านบันเทิง แต่เอาใจใส่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด 8.ปฏิบัติตั้งแต่ 9 พ.ค.2565 เป็นต้นไป

ที่มา: https://www.prachachat.net/economy/news-926531

 

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้าดันส่งออกข้าวในตลาดอาเซียน

สำนักงานส่งเสริมการค้าเวียดนาม (Vietrade) กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ได้ประสานงานกับสำนักงานการค้าเวียดนามในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อหารือเรื่องการส่งออกข้าว โดยในปีที่แล้วฟินิปปินส์เป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม จำนวน 2.45 ล้านตัน เป็นมูลค่าราว 1.25 พันล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากตลาดข้างต้นแล้ว เวียดนามยังส่งออกไปยังตลาดสำคัญ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซียและบรูไน เป็นต้น นอกจากนี้ ตามข้อมูลของสำนักข่าวเวียดนาม (VNA) เปิดเผยว่าเวียดนามส่งออกข้าวไปยังตลาดมาเลเซียในเดือนมกราคม เพิ่มขึ้นอย่างมาก 104.4% และ 67.5% ในด้านของปริมาณส่งออกและมูลค่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

 

ที่มา : https://www.bernama.com/en/world/news.php?id=2078125

 

กัมพูชาเร่งประชุมหารือร่วมประเทศอาเซียนช่วยเหลือเมียนมา

กัมพูชา ในฐานะ ประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ประจำปี  2565 จะเป็นเจ้าภาพการประชุมปรึกษาหารือด้านความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับเมียนมาในวันศุกร์ที่ 6 พ.ค.2565 แบบไฮบริดผ่านการประชุมทางวิดีโอ โดยจะมี Mr. Lim Jock Hoi เลขาธิการอาเซียน จะร่วมเป็นประธานการประชุม ณ กรุงพนมเปญ โดยการเข้าร่วมจะมีผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิกอาเซียน หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจของอาเซียน หน่วยงานจากสหประชาชาติ และองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังจะหารือถึงวิธีการสนับสนุนด้านวัคซีนโควิด-19 ให้กับเมียนมา

 

ที่มา: https://english.news.cn/asiapacific/20220505/87782e5aaf724b559804b1db
90fbaf82/c.html

อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นปัญหาที่สปป.ลาวกำลังเผชิญ

จากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนได้เพิ่มความไม่แน่นอนทางการเมืองและสินค้าโภคภัณฑ์และตลาดการเงินที่สั่นสะเทือนท่ามกลางการระบาดของโควิดนอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นและความตึงเครียดทางการเมืองจะเพิ่มแรงกดดันต่อราคาสำหรับสินค้านำเข้าในสปป.ลาว โดยธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยต่อปีในลาวจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.8% ในปี 2565 และ 5.0% ในปี 2566 ซึ่งได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจากข้อมูลราคาน้ำมันเบนซินเกรดพรีเมียมในเวียงจันทน์อยู่ที่ 20,620 กีบต่อลิตร เกรดปกติ 18,060 กีบ และดีเซล 18,000 กีบ อีกปัจจัยที่สำคัญคือการอ่อนค่าของ kip อย่างต่อเนื่อง ซึ่งค่าเงินกีบอ่อนค่าโดยเฉลี่ยต่อปีที่ 7.6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อไม่เพียงเป็นปัญหาเดียว ที่สปป.ลาวกำลังเผชิญ ขณะนี้หนี้สาธารณะและหนี้ที่ภาครัฐค้ำประกันได้รับรายงานล่าสุดที่ร้อยละ 78.8 ของ GDP ในปี 2564 ค่าใช้จ่ายภายในประเทศที่ค้างชำระ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง และ kip ที่อ่อนตัวลงในปี 2564 ส่งผลให้ระดับหนี้เพิ่มขึ้น ในขณะหนี้สาธารณะต่างประเทศของสปป.ลาวคาดว่าจะมี 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีในช่วงห้าปีข้างหน้าคิดเป็นร้อยละ 7 ของ GDP ทั้งนี้รัฐพยายามแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนรวมถึงปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนให้ดียิ่งขึ้น และผลักดันให้มีการดำเนินการตามแผนโครงการขนาดใหญ่อย่างเต็มรูปแบบ ตลอดจนยกเครื่องการจัดการธุรกิจนำเข้าเพื่อให้แน่ใจว่าสกุลเงินต่างประเทศที่เพียงพอเข้าสู่ระบบธนาคาร

 

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten85_spiralling_22.php

กัมพูชา-เกาหลี ร่วมหารือพัฒนาศักยภาพภาคการค้าระหว่างกัน

กัมพูชาและสาธารณรัฐเกาหลีได้หารือร่วมกันถึงศักยภาพทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ โดยการอภิปรายเกิดขึ้นระหว่าง Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ Gyuhwa Jang รองประธานสมาคมผู้นำเข้าแห่งเกาหลี (KOIMA) และคุณ Yu Lin ประธานบริษัท GADOSH Korea Co., Ltd. บริษัทนำเข้ามะม่วงรายสำคัญของกัมพูชา ด้านรัฐมนตรีกล่าวถึงความพร้อมของกระทรวงในการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับนักธุรกิจในการทำธุรกิจในกัมพูชา และสนับสนุนให้ฝ่ายเกาหลีศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีศักยภาพอื่นๆ ของกัมพูชา เช่น ลำไยและกล้วย โดยยังแนะนำให้นักลงทุนเกาหลีลงทุนในการสร้างโรงงานแปรรูปสินค้าทางการเกษตรเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศอีกด้วย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501069705/cambodia-korea-discuss-trade-potential/

เปิดจุดผ่านแดน ไทย-กัมพูชา กระตุ้นการค้าและการท่องเที่ยว

หลังจากที่รัฐบาลไทยอนุญาตให้เปิดพรมแดนกับกัมพูชาอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยสมาคมและบริษัทเอกชนหลายแห่งในภาคการท่องเที่ยวของกัมพูชา ไทย และเวียดนาม ได้ร่วมมือกันวางแผนกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวอีกครั้ง ซึ่งในต้นเดือนพฤษภาคม สมาคมการท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิก (PATA) นำโดย Thuon Sinan นายกสมาคม ได้ร่วมกันประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับขึ้นตอนการเดินทาง ตลอดจนการจัดทำเอกสาร ณ จุดผ่านแดนทั้งฝั่งกัมพูชาและไทย หลังไทยผ่อนคลายเงื่อนไขการข้ามพรมแดน ซึ่งได้กำหนดผู้เดินทางไว้ 3 ประเภท คือ ผู้เดินทางที่ได้รับวัคซีนแล้ว ผู้เดินทางที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และ ผู้เดินทางที่อาศัยอยู่ในจังหวัดชายแดนและถือบัตรผ่านแดน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501069719/opening-of-the-cambodian-thai-border-boosts-tourism/

ธนาคารโลกให้การสนับสนุนเงินทุน 395 ล้านเหรียญสหรัฐ

ธนาคารโลกคาดว่าจะสนับสนุน 11 โครงการในลาวด้วยมูลค่า 395 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงปี 2565-2569 ความร่วมมือระหว่างลาวและธนาคารโลกจะมุ่งเน้นไปที่สามด้าน การส่งเสริมการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการปกป้องสิ่งแวดล้อม จนถึงปัจจุบัน ธนาคารโลกได้ให้เงินทั้งสิ้น 785 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับ 27 โครงการ รวมถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 681 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเงินช่วยเหลือ 104 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้พวกเขายังหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการของธนาคารโลกที่สนับสนุนกระทรวงการคลัง รวมถึงการจัดการการเงินสาธารณะ และความทันสมัยของระบบศุลกากร ควบคู่ไปกับความจำเป็นในการให้ความสนใจอย่างต่อเนื่องกับทุนมนุษย์ – การสนับสนุนด้านสุขภาพและการศึกษา – สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตของลาว

 

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_World84.php

ประธาน JETRO ชี้ ‘เวียดนาม’ ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจของนักลงทุนญี่ปุ่น

นายซาซากิ โนบุฮิโกะ ประธาน CEO องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) กล่าวว่าเวียดนามเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจของนักลงทุนชาวญี่ปุ่นและเล็งเห็นถึงศักยภาพของตลาด โดยหน่วยงานของภาครัฐฯ ทั้งสองประเทศ ได้ร่วมกันลงนามและร่วมมือกัน โดยเฉพาะการลงทุนใหม่ๆ ได้แก่ พลังงาน การเปลี่ยนแปลงกระบวนการของเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม แสดงให้เห็นถึงเทรนด์การลงทุนของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ ผู้บริหารของ JETRO เปิดเผยว่าความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างญี่ปุ่นและเวียดนาม มีความคืบหน้าอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นลงทุนในเวียดนาม มูลค่ากว่า 64.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ จำนวน 4,935 โครงการ นอกจากนี้ นักลงทุนชาวญี่ปุ่นต่างชื่นชมศักยภาพการผลิตและการตลาดของเวียดนาม  ซึ่งทั้งสองประเทศสามารถสร้างความสัมพันธ์เพื่อเสริมจุดแข็งและจุดอ่อนของกันและกัน

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-remains-attractive-destination-for-japanese-investors-jetro-chief-post941372.vov