CGCC ได้รับการรับรองให้เป็นผู้ค้ำประกันในการออกพันธบัตรรายแรกของกัมพูชา

สำนักงานกำกับดูแลหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งกัมพูชา (SERC) ภายใต้องค์กรกลางในการกำกับดูแลระบบการเงิน (FSA) หน่วยงานของกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน (MEF) ได้ให้การรับรองแก่บริษัทประกันเครดิตแห่งกัมพูชา (CGCC) ซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของ ให้สามารถเป็นผู้ค้ำประกันสำหรับการออกพันธบัตรเป็นรายแรกของกัมพูชาเพื่อสนับสนุนให้บริษัทเอกชนในท้องถิ่นมีทางเลือกในการระดมทุนเพิ่มมากขึ้นภายใต้การกำหนดอัตราดอกเบี้ยและระยะเวลาที่เหมาะสม โดย CGCC ได้พัฒนากรอบนโยบายการค้ำประกันพันธบัตรที่ได้รับอนุมัติจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง MEF เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของตลาดเงินในประเทศ ซึ่งถือเป็นก้าวแรกสู่การพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศกัมพูชา โดยในระยะถัดไปทางการจะเริ่มจัดอันดับเครดิตเรทติ้งจาก Rating Agency of Cambodia ซึ่งขณะนี้ธุรกิจภาคเอกชนสามารถระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศ (SMEs) ควบคู่ไปกับการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ผ่านการค้ำประกันการออกพันธบัตร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501357935/cgcc-accredited-as-cambodias-first-bond-issuance-guarantor/

กัมพูชา-จีน ลงนาม MoU เพิ่มอีก 6 ฉบับ ยกระดับความร่วมมือด้านการลงทุน

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) และกระทรวงพาณิชย์ของจีน จ่อลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพิ่มเติมอีก 6 ฉบับ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการลงทุนที่ครอบคลุม โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ และการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว รวมถึงการก่อสร้างอาคารระเบียงเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจก่อนหน้านี้เพื่อกำหนดกลไกในการเสริมสร้างการลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน กล่าวโดย Zhong Jie ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและการค้าประจำสถานทูตจีนในกรุงพนมเปญ ระหว่างเจรจาหารือร่วมกับ Chea Vuthy เลขาธิการคณะกรรมการการลงทุนกัมพูชาของ CDC ซึ่งคาดว่าจะช่วยยกระดับการค้าทวิภาคีระหว่างกัน สำหรับในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ กรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา ได้รายงานว่ามูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่าง จีน-กัมพูชา เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบเป็นรายปี มาอยู่ที่มูลค่าประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์ โดยคิดเป็นสัดส่วนการส่งออกของกัมพูชาไปยังจีนร้อยละ 25.6 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศที่มีมูลค่ารวมในช่วงเวลาดังกล่าวที่ 27,000 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501358251/cambodia-china-to-sign-6-more-mous-to-enhance-investment-cooperation/

เวียดนาม กัมพูชา และ สปป.ลาว พร้อมทำงานร่วมกัน กระตุ้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม (CPV) Nguyen Phu Trọng, ประธานพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) Samdech Techo Hun Sen และเลขาธิการพรรคปฏิวัติประชาชนลาว (LPRP) ประธานาธิบดี Thongloun Sisoulith ร่วมประชุมหารือระหว่างกัน ณ กรุงฮานอย เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (6 ก.ย.) โดยได้กำหนดกรอบการดำเนินงานที่สำคัญ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระชับและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภาคีเครือข่ายอย่าง เวียดนาม กัมพูชา และ สปป.ลาว ภายใต้สถานการณ์ในระดับภูมิภาคและระดับโลกที่มีความผันผวนมากขึ้น รวมถึงกำลังวางแผนร่วมกันที่จะพัฒนาในหลายสาขาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความสัมพันธ์ทางการเมือง ความร่วมมือด้านการป้องกันและความมั่นคงที่มีประสิทธิผล ความก้าวหน้าเชิงบวกในด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ การศึกษา และความร่วมมือทางเทคนิค ร่วมกับภาคเอกชน และท้องถิ่นของทั้งสามประเทศ ซึ่งอาศัยศักยภาพและจุดแข็งของแต่ละประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_VietnamCambodiaLaos175_23.php

8 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกแตะ 15.7 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 0.3%

กรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) รายงานภาวะการส่งออกของกัมพูชาส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2023 มีมูลค่ารวม 15.7 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.3 จากมูลค่า 15.64 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยส่งออกไปยังจีนเพิ่มขึ้นร้อยละถึงร้อยละ 16.8 หรือคิดเป็นมูลค่า 940 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มูลค่า 804.6 ล้านดอลลาร์

ซึ่งรายงานระบุว่าจีนถือเป็นตลาดเป้าหมายสำคัญของกัมพูชาที่มีศักยภาพ เหมาะสมแกการผลักดัน รองจากสหรัฐฯ และเวียดนาม ด้านสินค้าส่งออกหลักที่กัมพูชาส่งออก ได้แก่ เครื่องแต่งกาย รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง จักรยาน และสินค้าเกษตรหลายชนิด เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง กล้วย มะม่วง และลำไย ขณะที่ Penn Sovicheat รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา กล่าวเสริมว่า การเพิ่มขึ้นของการส่งออกไปยังจีนอย่างมีนัยสำคัญเป็นผลมาจากการที่กัมพูชามีข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงเขตการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA) เป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นภาคการส่งออกไปยังจีนและประเทศอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้กรอบข้อตกลง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501357435/cambodias-exports-worth-15-7-billion-in-8-months-up-0-3-pct/

ม.ค.-ส.ค. กัมพูชาส่งออกข้าวสารแตะ 278.6 ล้านดอลลาร์

สหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) รายงานการส่งออกข้าวสารของกัมพูชาในช่วงในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ปริมาณรวมกว่า 401,699 ตัน สร้างรายได้เข้าประเทศรวม 278.6 ล้านดอลลาร์ โดยส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศรวม 56 ประเทศ ซึ่งจีนยังคงเป็นผู้นำเข้าข้าวสารรายสำคัญของกัมพูชาที่จำนวน 143,818 ตัน สร้างรายได้รวม 91.6 ล้านดอลลาร์ ด้าน Chan Sokheang ประธาน CRF ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวสารตลอดทั้งปีไว้ที่ 700,000 ตันในปี 2023 โดยเน้นการส่งออกไปยังจีนเป็นสำคัญจากการกำหนดโควตาการส่งออกไปให้ถึง 400,000 ตันต่อปี ภายใต้ความร่วมมือจากสหพันธ์ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501357757/cambodia-earns-278-6-million-from-milled-rice-export-in-january-august/

จีนทุ่มทุนสร้างทางด่วนในกัมพูชา หวังประหยัดเวลาการเดินทาง

จีนเข้าลงทุนสร้างทางด่วนสาย พนมเปญ-สีหนุวิลล์ เป็นสายแรก หวังอำนวยความสะดวกในการคมนาคมขนส่ง และช่วยประหยัดเวลา รวมถึงช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งเป็นสำคัญ ลงทุนโดยบริษัท China Road and Bridge Corporation (CRBC) ด้วยเงินลงทุน 2 พันล้านดอลลาร์ และเปิดให้บุคคลทั่วไปใช้บริการเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2022 หลังจากใช้เวลาก่อสร้างนานกว่า 3 ปี ซึ่งทางด่วนสายดังกล่าวมีความยาวอยู่ที่ 187 กิโลเมตร ด้าน Penn Sovicheat รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา กล่าวว่า ทางพิเศษเป็นผลจากความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างกัมพูชาและจีน ภายใต้กรอบความคิดริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) โดยก่อนหน้านี้หากเดินทางบนทางหลวงหมายเลข 4 จะใช้เวลาถึงประมาณกว่า 5 ชั่วโมง แต่ปัจจุบันเมื่อใช้ทางด่วนสายดังกล่าวจะใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าทางด่วนสายดังกล่าวจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของกัมพูชา เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวเชื่อมโยงไปยังสถานที่สำคัญหลายแห่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501356499/chinese-invested-expressway-in-cambodia-saves-time-money-for-travelers/

หนี้สาธารณะกัมพูชาพุ่งแตะ 10.7 พันล้านดอลลาร์

ณ ครึ่งแรกของปี หนี้สาธารณะของกัมพูชาขึ้นมาอยู่ที่มูลค่า 10.72 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งยังคงมีความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ต่ำ ตามรายงานของกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน (MEF) โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 99.57 หรือคิดเป็นมูลค่า 10.67 พันล้านดอลลาร์ เป็นหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นจากภายนอก และส่วนที่เหลือเป็นหนี้สาธารณะในประเทศ ซึ่งรายงานระบุเสริมว่าหนี้สาธารณะร้อยละ 64 มาจากการกู้ยืมจากหุ้นส่วนการพัฒนาในระดับทวิภาคี, มาจากหุ้นส่วนการพัฒนาพหุภาคีคิดเป็นร้อยละ 36 และหนี้สาธารณะในประเทศอยู่ที่ร้อยละ 0.43 โดยในระดับทวิภาคี จีนถือเป็นผู้ให้เงินกู้สินเชื่อแบบมีสัมปทานหลักของกัมพูชา ซึ่งมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 4.08 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 38.2 ของหนี้สาธารณะต่างประเทศทั้งหมด ในขณะที่การกู้ยืมในระดับพหุภาคีของกัมพูชาจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) อยู่ที่ 2.22 พันล้านดอลลาร์ และธนาคารโลกที่ 1.26 พันล้านดอลลาร์ หากนับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายนของปีนี้ รัฐบาลได้ลงนามในสัญญาเงินกู้แบบผ่อนปรนใหม่กับพันธมิตรมูลค่ารวม 787 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 36 ของเพดานที่กฎหมายงบประมาณกำหนด สำหรับปี 2023 รัฐบาลวางแผนที่จะระดมทุน 200 ล้านดอลลาร์ จากการออกพันธบัตรรัฐบาล โดยวัตถุประสงค์ของการกู้เงินส่วนใหญ่นำไปลงทุนสำหรับโครงการภาครัฐในภาคส่วนที่มีความสำคัญ เพื่อหวังที่จะสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในระยะยาว และเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจ เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501356109/kingdoms-public-debt-stands-at-10-7-billion/

NBC เตรียมขายเงินดอลลาร์ล็อตใหญ่ หวังแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) พร้อมสร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานให้แก่สกุลเงินเรียล โดยจะเริ่มการแทรกแซงครั้งแรกในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของประเทศในวันนี้ (6 ก.ย.) ด้วยการขายเงินสกุลดอลลาร์มูลค่ารวม 50 ล้านดอลลาร์ เพื่อรักษาเสถียรภาพให้กับอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินเรียลและดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง NBC วางแผนที่จะขายเงินจำนวนดังกล่าวให้กับธนาคารที่ได้รับใบอนุญาต รวมถึงสถาบันการเงินรายย่อย และผู้แลกเปลี่ยนเงิน เพื่อลดสัดส่วนปริมาณเงินเรียลในระบบ โดยจะส่งผลทำให้เงินเรียลมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นระหว่างสกุลเงินเรียลต่อดอลลาร์สหรัฐในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ด้วยมูลค่าดังกล่าวจะถูกนำออกประมูล 4 ครั้ง ต่อธนาคารและสถาบันการเงิน โดยแบ่งเป็นครั้งแรก 10 ล้านดอลลาร์ ในวันนี้ 15 ล้านดอลลาร์ ในวันศุกร์ (8 ก.ย.) 10 ล้านดอลลาร์ ในวันพุธ (13 ก.ย.) และอีก 10 ล้านดอลลาร์ ในวันศุกร์ (15 ก.ย.) ด้าน Raymond Sia ประธานสมาคมธนาคารในกัมพูชา (ABC) เชื่อว่านโยบายดังกล่าวเพียงพอสำหรับการแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของกัมพูชาในการรักษาเสถียรภาพของเงินเรียล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคในกัมพูชามากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501355329/nbc-to-sell-50m-to-intervene-in-foreign-exchange-today/

7 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นมูลค่ารวมกว่า 1 พันล้านดอลลาร์

องค์การการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เปิดเผยข้อมูลการส่งออก ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ว่ากัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นมูลค่ารวม 1.09 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่กัมพูชายังนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นมูลค่ารวม 296 ล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.2 โดยสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง เครื่องใช้สำนักงาน และเครื่องหนัง สำหรับสินค้านำเข้าสำคัญของกัมพูชาจากญี่ปุ่น ได้แก่ เครื่องจักร รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ ผ้า และพลาสติก ซึ่งญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้ารายสำคัญของกัมพูชา โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการเปิดการเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระดับทวิภาคี เพื่อหวังผลักดันการส่งออก รวมถึงดึงดูดการลงทุนจากญี่ปุ่นมายังกัมพูชามากขึ้น ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาได้ลงนามใน RCEP และ AJCEP รองรับการส่งออกและนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น สำหรับเมื่อปีที่ผ่านมาการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและญี่ปุ่นมีมูลค่ารวมสูงถึง 2.45 พันล้านดอลลาร์ ตามรายงานของ JETRO คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาส่งมูลค่า 1.93 พันล้านดอลลาร์ ไปยังญี่ปุ่นในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบเป็นรายปี ด้านการนำเข้าจากญี่ปุ่นมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 515 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 11.2

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501355347/kingdoms-exports-to-japan-top-1b/

อินโดนีเซียจ่อนำเข้าข้าวสารจากกัมพูชาแตะ 2.5 แสนตันต่อปี

อินโดนีเซียได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกัมพูชาสำหรับการจัดหาข้าวสารปริมาณกว่า 250,000 ตันต่อปี กล่าวโดย โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (4 ก.ย.) โดยความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากอินเดียประกาศยุติการส่งออกข้าวไปยังอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายความมั่นคงด้านอาหารแห่งชาติของอินเดีย หลังมีแนวโน้มที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ่ ด้านประธานาธิบดีอินโดนีเซียกล่าวเสริมด้วยว่าเพื่อเป็นการตอบแทนต่อกัมพูชา อินโดนีเซียพร้อมที่จะสนับสนุนโครงการความมั่นคงด้านอาหารให้แก่กัมพูชาด้วยการจัดหาปุ๋ยรองรับการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรของกัมพูชา

โดยในช่วงก่อนหน้าอินโดนีเซียวางแผนที่จะนำเข้าข้าวสารจากอินเดียมากกว่า 1 ล้านตัน แต่คำขอดังกล่าวถูกปฏิเสธ ส่งผลทำให้อินโดนีเซียจำเป็นต้องหาแหล่งในการนำเข้าข้าวสารจากแหล่งอื่นๆ เพื่อทดแทนกับโควต้าที่ถูกปฏิเสธ ตามที่รัฐมนตรีการค้า Zulkifli Hasan ได้กล่าวไว้

ขณะที่ข้อมูลของรัฐบาลอินโดนีเซียได้ระบุว่า สต๊อกข้าวในโกดังของ Bulog หน่วยงานโลจิสติกส์ของรัฐ รายงานว่าปัจจุบันมีจำนวนเกือบ 1.6 ล้านตัน อีกทั้งรัฐบาลกำลังดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อเพิ่มปริมาณอาหารสำรองเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลโดยตรงไปยังภาคการเกษตร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501354908/indonesia-to-import-250000-tons-of-rice-from-cambodia/