“กัมพูชา-ไทย” วางแผนเปิดพรมแดนใหม่ กระตุ้นภาคการค้าและการท่องเที่ยว

ทางการกัมพูชาและไทย วางแผนเปิดพรมแดนระหว่างประเทศแห่งใหม่ ในช่วงจังหวัดโพธิสัตว์ของกัมพูชาที่เชื่อมต่อกับจังหวัดตราดของประเทศไทย โดยคาดว่าจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างกัน ซึ่งในปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมถึงอาคารตรวจคนเข้าเมือง กรมศุลกากร และสรรพสามิต ตลอดจนที่จอดรถ โกดังสินค้า และสถานที่อำนวยความสะดวกต่างๆ ในด้านของการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยมีมูลค่ามากถึง 7.97 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10.26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกัมพูชานำเข้าสินค้าจากไทยมูลค่ารวมกว่า 7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 16.37 ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ที่ทำการนำเข้าจากไทย ได้แก่ สินค้าเกษตร รถยนต์ ปุ๋ยอินทรีย์ อาหารและวัสดุก่อสร้าง เป็นสำคัญ โดยทั้งสองประเทศมีความหวังสูงสุดที่จะผลักดันการค้าทวิภาคีให้มีมูลค่าสูงถึง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในปี 2023

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501025053/new-cambodia-thai-border-set-to-boost-mutual-trade-and-tourism-say-experts/

พณ.วางแผนปิดเจรจา FTA ไทย-ตุรกี ในปี 65

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงแผนการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ของไทย ในปี 2565 ว่า กรมฯเตรียมเดินหน้าเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอย่างเต็มที่ ตามนโยบายรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้เร่งสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าส่งออกของไทยและการใช้ประโยชน์จาก FTA สร้างโอกาสทางการค้าการลงทุนให้กับผู้ประกอบการไทย โดยการเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา ได้ตกลงเปิดเจรจาไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างกำหนดแผนการเจรจาและคาดว่าจะนัดประชุมรอบแรกในเร็วๆ นี้ สำหรับการเปิดเจรจา FTA ฉบับใหม่ 2 ฉบับ คือ FTA กับสหภาพยุโรป (อียู) และ FTA กับสมาคมการค้าเสรียุโรป (เอฟตา) กรมฯ ได้หารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยเพื่อร่างกรอบการเจรจา ซึ่งดำเนินการใกล้เสร็จแล้วและอยู่ระหว่างหารือกับคู่เจรจา เพื่อจัดทำเอกสารความคาดหวังจากการเจรจาร่วมกัน โดยการจัดทำ FTA กับประเทศใหม่ๆ จะช่วยขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้กับผู้ประกอบการไทย ซึ่งจะได้แต้มต่อทางการค้าจากการที่ประเทศคู่ค้าลดเลิกกำแพงภาษีศุลกากรและอุปสรรคทางการค้าต่างๆ

ที่มา : https://www.innnews.co.th/news/news_292724/

พาณิชย์ชี้ดีเซลกระทบต้นทุนน้อย สั่งตรึงราคาสินค้า ขอผู้ผลิตให้ความร่วมมือ

กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายในวิเคราะห์“น้ำมันดีเซล”กระทบต้นทุนการผลิตสินค้า พบปรับเพิ่มขึ้นไม่มาก อาหาร เครื่องดื่มแค่ 1.45% ของใช้ประจำวัน 1.1% วัสดุก่อสร้าง 1.2% ปัจจัยเกษตร 0.5% ห้ามร้านค้าอ้างเหตุผลปรับขึ้นราคา ขอความร่วมมือผู้ผลิตให้ตรึงราคาไปก่อน ยันไม่มีนโยบายให้ปรับขึ้นราคาช่วงนี้ พร้อมเชิญ ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมการค้า ผู้ผลิตสินค้า ผู้ประกอบการ มาหารือ ติดตามสถานการณ์ เผยเตรียมจัดโครงการลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน นอกจากนี้กรมฯ ยังมีแผนจะประสานงานไปยังซับพลายเออร์ เพื่อให้จัดส่งสินค้าอุปโภคบริโภคต้นทุนถูกเช่นของใช้ส่วนบุคคล สบู่ แชมพู ยาสระผม ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน เป็นต้น ให้กับร้านค้าธงฟ้าที่มีอยู่1.3แสนราย เพื่อจำหน่ายต่อให้กับผู้บริโภค รวมทั้งพิจารณาจัดจำหน่ายสินค้าราคาถูก เพื่อแทรกแซงตลาดตามความจำเป็น

ที่มา: https://www.naewna.com/business/635517

เสนอให้ปรับราคาสินค้าแทนการฉวยโอกาส

ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต เปิดเผยว่า กล่าวว่า สินค้าและบริการใดที่มีต้นทุนสูงขึ้นโดยเฉพาะจากราคาน้ำมันและพลังงานที่สูงขึ้น กระทรวงพาณิชย์ควรให้ปรับราคาเพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงไม่ใช่ฉวยโอกาสขึ้นราคา หากไม่ให้ปรับขึ้นราคาตามต้นทุนจะทำให้เกิดภาวะการขาดแคลนสินค้าได้ ส่วนสินค้าและบริการจำเป็นพื้นฐานนั้น รัฐบาลควรเข้ามาอุดหนุนหรือแทรกแซงกลไกราคาไม่ให้ราคาสูงเกินจนประชาชนไม่สามารถซื้อหาได้และเกิดความเดือดร้อนในการดำรงชีวิต

ที่มา: https://www.posttoday.com/economy/news/675536

ค้าข้ามแดน “ไทย-กัมพูชา” โตร้อยละ 16.63 สู่มูลค่า 1.449 แสนล้านบาท

การค้าข้ามพรมแดนในปี 2021 ระหว่างไทยและกัมพูชาขยายตัวร้อยละ 16.63 หรือคิดเป็นมูลค่า 1.449 แสนล้านบาท รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งการค้าข้ามพรมแดนของไทยเติบโตถึงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยในปี 2022 ไทยตั้งเป้าเติบโตไว้ที่ร้อยละ 5-7 ด้านการค้ารวมในปี 2021 ของไทยแตะ 1.71 ล้านล้านบาทในปี 2021 เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.03 คิดเป็นการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.6 หรือคิดเป็นมูลค่า 1.03 ล้านล้านบาท และการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.7 คิดเป็นมูลค่า 684 พันล้านบาท

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501020980/cross-border-trade-with-cambodia-jumps-16-63-percent-to-144-9-billion-baht-in-2021/

KKP คาดเงินเฟ้อขึ้นเป็น 2.3% กระทบผู้มีรายได้น้อยและธุรกิจเล็ก

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร รายงาน “จับตาเงินเฟ้อโลกและไทย ความเสี่ยงใหญ่เศรษฐกิจปี 2022” เผยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยปรับประมาณการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2022 จากระดับ 2% เป็น 2.3% ทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะสูงขึ้นแตะระดับ 3% ได้ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วงไตรมาส 1 จะปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 3.5% ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 11 ปี โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ 3 ประการ คือ ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ราคาเนื้อหมูปรับตัวสูงขึ้น มาตรการรัฐในการช่วยเหลือค่าน้ำค่าไฟปี 2021 ทั้งนี้ KKP Research ประเมินว่าธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงให้น้ำหนักกับปัจจัยด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากที่สุด และยังเชื่อว่าเงินเฟ้อในปัจจุบันเป็นสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว

ที่มา : https://www.mitihoon.com/2022/02/08/286044/  

โรงแรม 53% อาจไปต่อได้แค่ 3 เดือน

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่พักแรมเดือน ม.ค. ที่ทำการสำรวจวันที่ 10-26 ม.ค. จากผู้ตอบแบบสำรวจ 200 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นโรงแรมสถานที่กักตัวทางเลือก (AQ) 18 แห่ง และฮอสพิเทล 7 แห่ง พบว่า โรงแรม 42% ยังมีความกังวลต่อโควิด-19 อย่างมาก โดยโรงแรม 175 แห่ง (ไม่รวมโรงแรมที่เป็น AQ และ Hospitel) เปิดกิจการปกติ 73% ใกล้เคียงกับเดือน ธ.ค.2564 ที่ 74% โรงแรมที่ปิดกิจการชั่วคราวมีสัดส่วน 3% ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่ปิดมามากกว่า 6 เดือน และคาดว่าจะกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งในครึ่งหลังของปีนี้

ที่มา : https://www.thairath.co.th/business/market/2309647

ผู้ผลิตหมดแรงตรึงราคาสินค้า

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารสมาชิก ส.อ.ท. (CEO Survey) รวม 150 คน จาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด เดือน ก.พ.65 ในหัวข้อ “สินค้าแพง ค่าครองชีพพุ่ง จะช่วยเหลือประชาชนได้อย่างไร” ว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท.มองว่าปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ ต้นทุนผลิตที่เพิ่มขึ้น และราคาพลังงานที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ ราคาสินค้าสูงขึ้น คาดว่าราคาสินค้าแพงจะยาวนานไปอย่างน้อย 3 เดือน หรืออาจถึงสิ้นปีนี้ และน่าจะทำให้เงินเฟ้อของไทยปีนี้สูงถึง 2-4% หากราคาพลังงานยังอยู่ในระดับสูง โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะสามารถตรึงราคาสินค้าได้อีก 1-2 เดือนเท่านั้น

ที่มา : https://www.thairath.co.th/business/economics/2309667

กสิกรฯฟันธงบอร์ดกนง. คงดอกเบี้ย ไว้ที่เดิม 0.50%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 9 ก.พ. 2565นี้ กนง. จะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโอมิครอนในระดับหนึ่ง แต่คาดว่าผลกระทบจะมีจำกัดและน้อยกว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ก่อนหน้า นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นนั้นเกิดจากปัจจัยด้านอุปทานที่ตึงตัวเป็นหลัก ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้อย่างตรงจุดเท่าใดนัก คาดว่าจะยังไม่พิเลือกใช้นโยบายการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดกันเงินเฟ้อตามทิศทางธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก

ที่มา: https://www.naewna.com/business/633909

“พิพัฒน์” จ่อเจรจาทราเวลบับเบิลจีน สทท.หนุนเพิ่มดีมานด์ตลาดอาเซียน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ตามกำหนดการเดินทางไปร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งที่ 24 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ระหว่าง 3-6 ก.พ.นี้ จะขอหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ประเทศจีน ถึงความเป็นไปได้ในการทำทราเวลบับเบิล (Travel Bubble) เพื่อแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างไทยกับจีนโดยไม่ต้องกักตัว และปลายเดือน ก.พ. จะหารือกับทางการมาเลเซียเรื่องทำทราเวลบับเบิล เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมาเลเซียมีกำหนดเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากสถิติการลงทะเบียนสมัครไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) เมื่อ 1 ก.พ. ตั้งแต่เวลา 9.00-24.00 น. ซึ่งกลับมาเปิดระบบลงทะเบียนประเภท Test & Go รอบใหม่เป็นวันแรก พบว่ามีผู้ลงทะเบียนในระบบไทยแลนด์พาสรวม 35,046 ราย แบ่งเป็นประเภท Test & Go จำนวน 31,343 ราย แซนด์บ็อกซ์ 3,290 ราย และ AQ หรือการกักตัว 413 ราย

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/986185