เมียนมาเร่งกระตุ้นสินค้าในประเทศผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

กระทรวงอุตสาหกรรมของเมียนมาได้เชิญผู้ประกอบการและผู้ผลิตในประเทศให้ขายสินค้าของตนเองผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่รัฐบาลจัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมการส่งออก โดยผู้ประกอบการที่ต้องการใช้แพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์สามารถเชื่อมต่อกับหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกได้ภายในวันที่ 28 เมษายน 2566 ทั้งนี้แพลตฟอร์มดังกล่าวจะให้บริการจัดส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็วและมีวิธีการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สะดวกมากยิ่งขึ้นสำหรับผู้ซื้อจากประเทศ

ที่มา: https://english.news.cn/asiapacific/20230319/9075354d3e6f4711968d2411ca797057/c.html

เดือนก.พ. 66 ค้าชายแดนท่าขี้เหล็ก-เกาะสอง ของเมียนมา แตะ 32.549 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย เดือนกุมภาพันธ์ 2566 การค้าระหว่างประเทศของเมียนมากับประเทศเพื่อนบ้าน ณ ชายแดนท่าขี้เหล็กและเกาะสอง มีมูลค่าประมาณ 32.549 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย ชายแดนท่าขี้เหล็กมีมูลค่าการค้ารวม 12.573 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการส่งออกมูลค่า 6.268 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้ามูลค่า 6.305 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ส่วนการค้าชายแดนเกาะสองมีมูลค่ารวม 19.976 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการส่งออกมูลค่า 17.537 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้ามูลค่า 2.439 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย มูลค่าการค้ารวมของเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เมื่อนำมาเทียบกับช่วงเดียวกับของปีก่อน (กุมภาพันธ์ 2565) พบว่า ลดลงถึง 9.003 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-carries-out-trade-worth-32-549-mln-via-tachilek-kawthoung-borders-in-feb/

11 เดือนของปีงบฯ 65-66 เมียนมาส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปแบบ CMP โกยรายได้กว่า 4.7 พันล้านดอลลาร์ฯ

จากสถิติของสมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าเมียนมา เผย 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565-2566 (เดือนเมษายน 2565 ถึงกุมภาพันธ์ 2566) เมียนมาส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปแบบ CMP (Cut, manufacture and produce) สร้างรายได้กว่า 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มในเมียนมาดำเนินธุรกิจโดยผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ เช่น  จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไทย ส่วนผู้นำเข้าหลักคือ จีน ไทย สิงคโปร์ รวมถึงประเทศในแถบยุโรป ถือได้ว่าอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มในเมียนมาเป็นแหล่งโอกาสในการทำงานที่สำคัญและเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตซึ่งจำเป็นต้องใช้แรงงานที่มีทักษะเป็นหลัก ปัจจุบันมีโรงงานทั้งหมด 738 แห่งทั่วประเทศ ประกอบไปด้วยโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า 505 แห่ง โรงงานผลิตรองเท้า 48 แห่ง โรงงานผลิตวิกผม 8 แห่ง รวมถึงโรงงานที่เกี่ยวข้องกับกระเป๋า ชุดกีฬา รองเท้ากีฬา และถุงเท้า 117 แห่ง ฯลฯ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/cmp-garment-export-brings-in-over-4-7-bln-in-11-months-of-this-fy/#article-title

เมียนมาตั้งเป้าส่งออกหัวหอม ปีงบฯ 66-67 ทะลุ 100,000 ตัน

กระทรวงพาณิชย์เมียนมาตั้งเป้าในปีงบประมาณ 2566-2567 จะส่งออกหัวหอม 100,000 ตัน ไปยังตลาดต่างประเทศ โดยมีแผนในการส่งออก ดังนี้ เดือนเมษายน-มิถุนายน 2566 จำนวน 300,000 ตัน เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2566 จำนวน 15,000 ตัน เดือนตุลาคมและธันวาคม  2566 จำนวน 20,000 ตัน และเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 จำนวน 35,000 ตัน ซึ่งตลาดส่งออกสำคัญได้แก่ เวียดนาม ไทย บังกลาเทศ และจีน ด้านราคาหัวหอมในประเทศจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 1,000 ถึง 1,750 จัตต่อ viss จากความต้องการในประเทศลดลงทำให้ราคาตลาดดิ่งลงอย่างมาก ทั้งนี้ จากสถิติของกระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และชลประทาน ในปีงบประมาณ 2561-2562 การเพาะปลูกหัวหอมในเมียนมาครอบคลุมพื้นที่กว่า 170,000 เอเคอร์ มีผลผลิตเฉลี่ย 3,600 viss ต่อเอเคอร์ โดยภาคมัณฑะเลย์มีผลผลิตคิดเป็นร้อยละ 36 ของผลผลิตหัวหอมทั้งประเทศ รองลงมาคือภาคซะไกง์ ร้อยละ 32 และภาคมะกเว ร้อยละ 26

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-to-export-100000-tonnes-of-onions-in-fy-2023-2024/#article-title

นทท. แห่จอง โรงแรม-เกสต์เฮาส์ ต้อนรับเทศกาลตะจานของเมียนมา

นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศและนักท่องเที่ยวในประเทศจำนวนมากแห่จองห้องพักโรงแรมและเกสต์เฮาส์บนชายหาดงาปาลี รัฐยะไข่ สำหรับในช่วงวันหยุดเทศกาลตะจาน (เทศกาลสงกรานต์ของเมียนมา) ในช่วงเดือนเมษายน 2566 ที่จะมาถึง  หาดงาปาลีเป็นชายหาดที่มีชื่อเสียงที่สุดของเมียนมา และคาดว่าจะคับคั่งไปด้วยนักท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดเทศกาลตะจาน ตลอด 10 วัน โดยนาย U Tin Htut ผู้อำนวยการฝ่ายโรงแรมและการท่องเที่ยวของรัฐยะไข่ คาดการณ์ว่า ธุรกิจโรงแรมจะดีขึ้นกว่าปีที่แล้วเนื่องจากมีแนวโน้มว่าจะมีนักท่องเที่ยวมากขึ้นในช่วงวันหยุดมากขึ้น หลังจากสถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลายเป็นปกติ  นอกจากนี้ ยังได้ฝากให้นักท่องเที่ยวช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเพื่อให้หาดงาปาลีสะอาดและน่าท่องเที่ยวอยู่เสมอ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/hotels-guesthouses-in-ngapali-beach-fully-booked-for-thingyan-holidays/#article-title

เดือนมค.-ก.พ.66 เมียนมาส่งแรงงานไปเกาหลีใต้ ผ่านโครงการ EPS ทะลุกว่า 1,000 คน

สถานทูตเมียนมาในกรุงโซล เผย ในเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีแรงงานเมียนมาถูกส่งไปยังเกาหลีใต้ผ่านโครงการระบบอนุญาตการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) จำนวน 1,040 คน ประกอบไปด้วยแรงงานฝ่ายผลิต 345 คน แรงงานฝ่ายผลิตเฉพาะทางแบบ CBT 28 คน แรงงานที่กลับเข้าไปทำงานในสถานประกอบการ/โรงงานเดิมที่เคยทำ 236 คน เกษตรและปศุสัตว์ 374 คน และการก่อสร้าง 57 คน โดยรัฐบาลเกาหลีใต้เปิดรับแรงงานเมียนมาอีกครั้งอย่างหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งปี 2565 ที่ผ่านมามีการส่งแรงงานไปเกาหลีใต้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม จำนวน 1,293 คน เดือนกันยายน จำนวน 1,169 คน เดือนตุลาคม จำนวน 728 คน และเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม อีก 599 คน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/over-1000-myanmar-workers-sent-to-s-korea-under-eps-within-2-months/#article-title

รัสเซียอนุมัติวีซ่าท่องเที่ยว 6 เดือน สำหรับพลเมืองเมียนมา

กระทรวงการต่างประเทศของเมียนมา เปิดเผยว่า สหพันธรัฐรัสเซียอนุมัติวีซ่าท่องเที่ยว 6 เดือนสำหรับพลเมืองของ 19 ประเทศ รวมไปถึงเมียนมา โดยเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 นายกรัฐมนตรีมิคาอิล มิชูสตินของรัสเซียได้ลงนามในกฤษฎีกาของรัฐบาลสหพันธรัฐรัสเซียฉบับที่ 372-r ที่ระบุว่าพลเมืองของ 19 ประเทศที่ได้อนุมัติวีซ่าท่องเที่ยวจะมีระยะเวลานานถึง 6 เดือน โดยประเทศที่ได้รับการอนุมัติวีซ่า ได้แก่ บาห์เรน บรูไน อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน กัมพูชา จีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี คูเวต สปป.ลาว มาเลเซีย เม็กซิโก เมียนมา โอมาน ซาอุดีอาระเบีย เซอร์เบีย ไทย เตอร์กิเย และฟิลิปปินส์

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/russia-approves-6-month-tourist-visa-for-citizens-of-19-countries-including-myanmar/

ราคาอ้างอิงน้ำมันปาล์มขายส่งตลาดย่างกุ้ง พุ่งขึ้น ! ในสัปดาห์นี้

คณะกรรมการกำกับดูแลการนำเข้าและจัดจำหน่ายน้ำมันเพื่อการบริโภคของเมียนมา เผย ราคาอ้างอิงน้ำมันปาล์มขายส่งของเมียนมา (วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566) ณ ตลาดย่างกุ้ง อยู่ที่ 4,600 จัตต่อ viss (1 viss เท่ากับ 1.66 กิโลกรัม) พุ่งสูงขึ้นจากราคาอ้างอิงของสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ 4,470 จัตต่อ viss เป็นผลมาจากผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียจำกัดการส่งออกน้ำมันปาล์ม ส่งผลให้ราคาซื้อ-ขายในตลาดของเมียนมาอาจพุ่งขึ้นไปถึง 6,000-7,000 จัตต่อ viss ซึ่งสูงกว่าราคาอ้างอิงเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มในประเทศอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านตันต่อปี แต่เมียนมาสามารถผลิตได้เพียง 400,000 ตัน จึงจำเป็นต้องนำเข้าจากมาเลเซียและอินโดนีเซียประมาณ 700,000 ตันต่อปี เพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/palm-oil-reference-price-for-yangon-region-rebounds-this-week-ending-5-march/

ราคาถั่วดำและถั่วแระ พุ่ง ! จากความต้องการของต่างประเทศที่สูงขึ้น

หอการค้าแห่งภูมิภาคย่างกุ้ง เผย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ราคาของถั่วแระอยู่ที่ 1,930,000 จัตต่อตัน ในขณะที่ราคาถั่วดำอยู่ที่ 1,762,000 จัตต่อตัน แต่ ณ ปัจจุบัน (25 กุมภาพันธ์ 2566) ความต้องการจากตลาดจีนและอินเดียเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ราคาถั่วแระขยับขึ้นเป็น 2,126,500 จัตต่อตัน ส่วนราคาถั่วดำขยับขึ้นเป็น 1,860,000 จัตต่อตัน โดย 10 เดือนที่ผ่านมาในปีงบประมาณปัจจุบัน 2565-2566 (เดือนเมษายน 2565 ถึง เดือนมกราคม 2566) เมียนมามีรายได้จากการส่งออกถั่วทั้งหมด 1.5 ล้านตัน มีมูลค่ากว่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นการส่งอออกถั่วดำ 595,886.762 กิโลกรัม (489.688 ล้านดอลลาร์) และถั่วแระ 185,505.772 กิโลกรัม (144.611 ล้านดอลลาร์) ที่เหลือเป็นถั่วชนิดอื่นๆ โดยถั่วดำและถั่วแระส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปยังอินเดียและจีนเป็นหลัก

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/prices-of-black-grams-pigeon-peas-on-upward-trajectory-amid-robust-foreign-demand/#article-title

MNA พร้อมให้บริการเที่ยวบินตรงจาก มัณฑะเลย์-เชียงใหม่ เริ่ม 2 มี.ค.66 นี้

สายการบินแห่งชาติเมียนมา (MNA) พร้อมให้บริการเที่ยวบินตามปกติจากมัณฑะเลย์ไปเชียงใหม่ โดยทำการบินทุกวันพฤหัสบดี เริ่มวันที่ 2 มีนาคม 2566 นี้ ซึ่งเที่ยวบินจะออกจากท่าอากาศยานนานาชาติมัณฑะเลย์ เวลา 15.45 น. และถึงท่าอากาศยานเชียงใหม่ เวลา 17.35 น. (ตามเวลาท้องถิ่นในประเทศไทย) และจะออกจากท่าอากาศยานเชียงใหม่ เวลา 18:35 น. และถึงท่าอากาศยานนานาชาติมัณฑะเลย์ เวลา 19:25 น. ทั้งนี้ MNA จะจำหน่ายราคาตั๋วเครื่องบินเที่ยวเดียวอยู่ที่ 172 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนราคาตั๋วเครื่องบินไป-กลับ อยู่ที่ 280 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/mna-to-launch-mandalay-chiang-mai-direct-flight-on-2-march/#article-title