สถานี Kasy ในโครงรถไฟลาว-จีนสร้างแล้วเสร็จ

ขณะนี้สถานีส่วนใหญ่ในโครงการรถไฟลาว-จีนสร้างเสร็จก่อนแผนเปิดรถไฟในเดือนธันวาคม สถานี Kasy ในแขวงเวียงจันทน์เป็นสถานีล่าสุดที่จะแล้วเสร็จและเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 กันยายน สถานีนี้สร้างโดย China Railway Construction Group และได้รับการออกแบบให้คล้ายกับสถานีขนส่ง โดยมีจุดจอดเดียวและรถไฟสายกลาง 3 สาย และสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 150 คน สถานีครอบคลุมพื้นที่ 1498.7 ตารางเมตร  การรถไฟลาว-จีนเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ One Belt, One Road ของจีน และจะช่วยทำให้ลาวที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลเป็นทางเชื่อมทางบก โดยมีทางรถไฟวิ่งจากคุนหมิงในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน และสิ้นสุดที่เวียงจันทน์ ส่วนถัดไปจะดำเนินต่อไปทางใต้ผ่านประเทศไทยไปยังสิงคโปร์

ที่มา:https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Economic_190.php

กัมพูชาลงนาม MoU ร่วมกับออสเตรเลีย ลงทุนด้านอาหาร

กัมพูชาและออสเตรเลียได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เกี่ยวกับการจัดหาเงินทุนสำหรับ Agri-Food Investment Desk (AFID) ที่สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) มีเป้าหมายเพื่อสร้างงานและปรับปรุงมาตรฐานในภาคการเกษตรของกัมพูชา โดยพิธีการดังกล่าวจัดขึ้นผ่านระบบออนไลน์ ได้รับเกียรติจากเลขาธิการ CDC และรัฐมนตรี Sok Chenda Sophea พร้อมด้วยเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย ซึ่งงานดังกล่าวจัดขึ้นโดย CDC ร่วมกับกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมง (MAFF) และกระทรวงการต่างประเทศและการค้าของออสเตรเลีย (DFAT) โดย CDC กล่าวว่า พิธีดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ CDC, MAFF และ DFAT ในการส่งเสริมการลงทุนด้านการเกษตรภายใต้กรอบของโครงการห่วงโซ่คุณค่าทางการเกษตรของกัมพูชา-ออสเตรเลีย (CAVAC) ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นตัวช่วยในการปรับปรุงความปลอดภัยทางอาหารและลดความยากจน ผ่านการสร้างงาน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยเมื่อเดือนที่แล้ว CDC อนุมัติโครงการ 376 โครงการมูลค่าเกือบ 9.7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งลงทุนในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50944283/deal-on-food-investment-signed-with-australia/

IMF คาดการณ์เศรษฐกิจกัมพูชาโตร้อยละ 2.2

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของกัมพูชา (GDP) ว่าจะมีการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ในปีนี้ ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ร้อยละ 4.2 โดยได้รายงานเพิ่มเติมว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในอนาคตนั้นขึ้นอยู่กับว่ากัมพูชาจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีเพียงใด จนสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางกลับมาท่องเที่ยวในกัมพูชาอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาได้ทำการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชากรแล้วกว่าร้อยละ 83 ของประชากรทั้งหมดประมาณ 16 ล้านคน โดยตั้งเป้าการกระจายวัคซีนไว้อย่างน้อยร้อยละ 91 ของประชากร ซึ่ง IMF กล่าวเพิ่มเติมอีกว่าการขาดดุลทางการคลังของกัมพูชาคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบร้อยละ 6 ในปีนี้ เนื่องจากรายรับทางด้านภาษีที่ลดลงและความต้องการใช้จ่ายด้านสุขภาพและความช่วยเหลือทางสังคมที่สูงขึ้น โดยคากว่าหนี้สาธารณะจะปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 36 ของ GDP ซึ่งในปี 2019 ปริมาณหนี้สาธารณะคิดเป็นร้อยละ 29

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50944430/economy-will-grow-2-2-before-recovery-says-imf/

จีดีพีเวียดนาม Q3 ติดลบ 6.17%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาส 3/64 หดตัว 6.17% เนื่องจากมาตรการเว้นระยะทางสังคมและข้อจำกัดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ในขณะที่ จีดีพีในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัว 1.42% เมื่อเทียบกับ 2.12% ช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย. ภาคบริการหดตัว 0.69% เมื่อเทียบต่อปี ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมการผลิตและการก่อสร้าง ขยายตัว 3.57% และภาคเกษตร ป่าไม้และประมง 2.74% อย่างไรก็ตาม ยอดจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น มีจำนวน 85,500 ราย ลดลง 13.6% เมื่อเทียบต่อปี ซึ่งจากการสำรวจพบว่าธุรกิจที่อยู่ในภาคการผลิตส่วนใหญ่ 43.4% มองว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในไตรมาสสุดท้าย นอกจากนี้ ธนาคารโลก คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตที่ 4.8% ในปีนี้

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1049629/hcm-city-wants-tax-reduction-for-covid-affected-businesses.html

‘เวียดนาม’ เผย GDP ช่วง 9 เดือนแรกของปี 64 โต 1.42%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 1.42% โดยเป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปยังทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ และหลายพื้นที่ของประเทศยังคงดำเนินมาตรการเว้นระยะทางสังคม โดยเฉพาะอัตราการขยายตัวของ GDP ไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ คาดว่าจะลดลง 6.17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ถือว่าลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่รายงานตัวเลขเศรษฐกิจรายไตรมาส ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป ยังคงเป็นแรงผลักดันของเศรษฐกิจ ด้วยอัตราการขยายตัว 6.05% ในขณะที่ภาคการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 5.24% นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาโครงสร้างเศรษฐกิจ พบว่าภาคเกษตร ป่าไม้และประมง มีสัดส่วน 12.79% ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ก่อสร้าง และภาคบริการ คิดเป็น 38.03% และ 40.19% ตามลำดับ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/gdp-grows-by-only-142-during-nine-month-period-894286.vov

เดือนส.ค.ของปีงบฯ 63-64 FDI ภาคการเกษตรเมียนมา คิดเป็นเพียง 1% ของการลงทุนทั้งหมด

คณะกรรมการการลงทุนและการบริหารบริษัท (DICA) เผย ณ เดือนส.ค. 2564 ของปีงบประมาณ 2563-2564 การลงทุนจากต่างประเทศในภาคเกษตรของเมียนมามีสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 1 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาในปีงบประมาณ 2560-2561 มีการลงทุนในภาคเกษตรจำนวน 134.485 ล้านดอลลาร์ แต่ไม่มีการลงทุนในปีงบประมาณ 2559-2560 ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2531-2532 จนถึงสิ้นเดือนก.ย. 2561 มีการลงทุนจากต่างประเทศจำนวนกว่า 77.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีการลงทุนในภาคการเกษตร กว่า 395 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 0.51% ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด .จนถึงปัจจุบัน มีเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศจำนวน 87.969 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการลงทุนในภาคการเกษตร เพียง 441.838 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนในด้านการปศุสัตว์และการประมงมีการลงทุน 926.218 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา : https://news-eleven.com/article/216778

รัฐบาล สปป.ลาวออกคำสั่งเตรียมชดเชยคนตกงาน

นาย Oudone Maniboune รองอธิบดีกรมการจัดการแรงงาน กล่าวเมื่อวันอังคารว่า กระทรวงได้สั่งให้บางธุรกิจที่ระงับการดำเนินการในเดือนเมษายน ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี แต่ยังคงให้จ่ายเงินค่าจ้างตามปกติให้ลูกจ้าง ทั้งนี้ธุรกิจที่ประสบปัญหาทางการเงินอย่างร้ายแรงควรจ่ายค่าจ้างให้คนงานอย่างน้อยร้อยละ 50 ของค่าจ้างปกติ นส่วนคนงานที่ค่าจ้างกำหนดโดยผลผลิตหรือจ่ายเป็นรายวันและมีรายได้น้อย ควรจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำอย่างน้อยร้อยละ 50 ของจำนวนเงินที่พวกเขามักจะได้รับ หรือประมาณ 550,000 กีบต่อเดือน ขณะนี้มีผู้ว่างงานหลายพันคนต้องการความช่วยเหลือทางการเงินอย่างรวดเร็วเพื่อครอบคลุมค่าครองชีพรายวัน ภาคเอกชนเรียกร้องให้รัฐบาลเข้าแทรกแซง โดยขอให้ธนาคารขยายระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้และดอกเบี้ย และให้สถาบันไมโครไฟแนนซ์จัดหาเงินกู้ฉุกเฉินสำหรับธุรกิจ ทั้งนี้ข้อเรียกร้องและคำสั่งของรัฐบาลเป็นไปเพื่อรักษาระดับการจ้างงานให้ได้ดีที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบันที่ตัวพุ่งสูงอย่างต่อเนื่องและหากไม่มีการควบคุมที่ดีอาจนำมาซึ่งวิกฤตด้านเศรษฐกิจและแรงงานในอนาคต

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Govt191.php

ภัยแล้งนำความเสียหายมาสู่ภาคการผลิตข้าวในกัมพูชา

รายงานของกระทรวงสิ่งแวดล้อมกัมพูชา ระบุว่า การสูญเสียผลผลิตข้าวที่เกิดจากภัยแล้งมีมูลค่าความเสียหายมากถึง 100 ล้านดอลลาร์ โดยกล่าวเสริมว่าภัยแล้งในช่วงระหว่างปี 2015 ถึง 2019 ภายในประเทศกัมพูชาได้รับผลกระทบบนพื้นที่การเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ล้านเฮกตาร์ ซึ่งพื้นที่จำนวน 201,490 เฮกตาร์ ได้รับความเสียหายทั้งหมด โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ภัยแล้งได้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตข้าวคิดเป็นจำนวนรวม 624,262 ตัน หรือมูลค่าประมาณ 100 ล้านดอลลาร์ ทางด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรกัมพูชา ทราบถึงปัญหา จึงได้ทำการศึกษาวิธีการแก้ไขปัญหาและสรุปผลการศึกษาเกี่ยวกับการจัดการน้ำและดินได้ว่า ควรใช้เทคนิคการทำการเกษตรให้สอดคล้องกับสภาพอากาศ ซึ่งสามารถช่วยให้เกษตรกรปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และถือเป็นการเพิ่มผลผลิตข้าวในเวลาเดียวกัน โดยกระทรวงได้ให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ ทักษะ การแบ่งปันประสบการณ์ และการเพิ่มการเผยแพร่เทคนิคใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและชุมชน ให้เกิดการนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ในการทำการเกษตร ควบคู่ไปกับภาครัฐให้การสนับสนุน

ที่มา : http://khmertimeskh.com/50943617/droughts-caused-about-100-million-in-rice-production-losses/

ADB อนุมัติเงินกู้เพื่อการปรับปรุงถนนแก่รัฐบาลกัมพูชา

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) อนุมัติเงินกู้จำนวน 82 ล้านดอลลาร์ ให้กับรัฐบาลกัมพูชา เพื่อใช้ในการปรับปรุงถนนในเขตพื้นที่จังหวัด ไพรแวง และกันดาล โดยคาดว่าโครงการนี้จะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจอนุภาคกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ซึ่ง ADB ได้ให้ความช่วยเหลือดังกล่าวเป็นระยะที่ 2 ของโครงการปรับปรุงเครือข่ายถนน โดยความพยายามนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชากับเวียดนาม และสนับสนุนการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกข้ามพรมแดนระหว่างจังหวัด ไพรแวง และกันดาล ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาได้กำหนดแผนในการพัฒนาระดับชาติเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพสูง และมีมันคง โดยสามารถรองรับภาคการขนส่งภายในประเทศที่กำลังเผชิญอยู่กับความท้าทายในปัจจุบัน อาทิเช่น ถนนในชนบทส่วนใหญ่เป็นถนนราดยาง และมีเส้นทางอยู่จำกัด ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดด้านการขนส่ง รวมถึงเพื่อรองรับปัจจัยด้านการเติบโตของประชากรและการจ้างงานของประเทศภายในปี 2030

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50944155/adb-approves-82-million-loan-to-government-towards-road-improvement-projects/

พาณิชย์เผยค้าชายแดน-ผ่านแดน สค.โต 32.56%

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถิติการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ในช่วงเดือน ส.ค.64 พบว่า มีมูลค่ากว่า 1.47 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.56 โดยเป็นการส่งออกกว่า 9.1 หมื่นล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 39 โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี การค้าชายแดนและผ่านแดน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.11 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.18 คิดเป็นมูลค่าการส่งออกกว่า 6.82 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.03 โดยการค้าผ่านแดนไปยังประเทศจีน ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จากการส่งออกผลไม้ไปจีน มูลค่ากว่า 1.4 หมื่นล้านบาท รวมถึงการเปิดด่านรอบประเทศที่มีอยู่ 97 ด่าน เปิดได้แล้ว 46 ด่าน โดยเฉพาะ ด่านฝั่ง สปป.ลาว มาเลเซียและกัมพูชา มีนโยบายเร่งรัดผลักดันให้มีการเปิดด่านได้เร็วขึ้นและมากที่สุด เพื่อให้การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนขยายตัวมากกว่าที่เป็นอยู่

ที่มา : https://www.innnews.co.th/news/economy/news_201148/