ไทย-จีน จับมือพัฒนามาตรฐานคุณภาพผลไม้ไทย ดันส่งออกปี 64 เพิ่ม ตั้งเป้าทะลุ 7 หมื่นล้าน

เมื่อวันที่ 17 ก.พ.64 นายอลงกรณ์ พลบุตร  ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ภายใต้นโยบายทำงานเชิงรุกยุคโควิดเพื่อขยายการส่งออกผลไม้ไทยสู่ตลาดโลกของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ จะจัดการประชุมว่าด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาคุณภาพผลไม้เพื่อสร้างโอกาสเพิ่มขึ้นในการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน โดยจะมีการประชุมร่วมกันกับผู้แทนกระทรวงเกษตรฯ และอัครราชฑูตที่ปรึกษาด้านพาณิชย์ของจีนรวมทั้งหอการค้าไทย-จีนและผู้แทนภาคเอกชนของ 2 ฝ่าย ในเดือนมีนาคมที่จะถึง สำหรับประเด็นการหารือจะครอบคลุมตั้งแต่ การพัฒนามาตรฐานและคุณภาพผลไม้ไทย ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ จากฟาร์มถึงผู้บริโภค การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การขนส่งโลจิสติกส์ การส่งเสริมการตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ การพัฒนาการอำนวยความสะดวก บริเวณด่านส่งออก 4 ด่านได้แก่ ด่านโมฮ่าน ด่านโหยวอี้กวน ด่านตงชิงและด่านผิงเสียง รวมทั้งความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรและผู้ประกอบการ ทั้งนี้ประเทศไทยและประเทศจีนมีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานผูกพันเสมือนพี่น้องกันและได้พัฒนาความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้มีพิธีลงนามความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยให้มีคุณภาพและมาตรฐานสอดคล้องกับกฎระเบียบและข้อบังคับการนำเข้าของสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างหอการค้าไทย-จีน และ บริษัท ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) จำกัด

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/923074

แนวโน้มธุรกิจค้าปลีกของเวียดนามอยู่ในทิศทางสดใส

ตามผลการสำรวจ ชี้ให้เห็นว่าบริษัทค้าปลีกเวียดนาม 47% ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างรุนแรง ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าไรนัก และธุรกิจ 8% ได้รับผลกระทบเล็กน้อย ผู้คนส่วนใหญ่ปรับลดค่าใช้จ่ายหลังจากถูกเลิกจ้างหรือปรับลดเงินเดือน เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ในขณะเดียวกัน ธุรกิจค้าปลีกเผชิญกับปัญหาขาดแคลนเงินทุนและภาวะหยุดชะงักด้านซัพพลายเชน อย่างไรก็ตาม นาย Vu Dang Vinh ผู้อำนวยการของ Vietnam Report กล่าวว่านักเศรษฐศาสตร์และคนวงในยังคงเชื่อมั่นต่อภาคค้าปลีกอยู่ในทิศทางที่ดี ตลอดจนความสะดวกในการซื้อของออนไลน์ ทั้งนี้ ‘ล็อตเต้มาร์ท’ ซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ เผยยอดขายออนไลน์เติบโต 100-200% โดยเฉพาะเมืองฮานอยและโฮจิมินห์

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/outlook-positive-for-vietnams-retail-market/196355.vnp

เวียดนามเผยยอดผู้โดยสารเดินทางช่วงเทศกาลเต็ด ลดลง 64.8%

ตามรายงานของคณะกรรมการความปลอดภัยการจราจรแห่งชาติ (NTSC) แสดงให้เห็นว่าความต้องการในการเดินทางลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเทศกาลเต็ด ผู้โดยสารชาวเวียดนามมีจำนวน 408,000 คน และปริมาณการขนส่งสินค้า 2,000 ตัน ลดลง 64.8% และ 54.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ทั้งนี้ จำนวนผู้โดยสารและสินค้าที่ทำการขนส่งทางรถไฟต่างก็ลดลงเช่นเดียวกัน โดยเมื่อวันที่ 9 – 13 ก.พ. มีผู้โดยสารจำนวน 12,792 คน และปริมาณการขนส่งสินค้า 6,035 ตัน คิดเป็นสัดส่วนเพียง 33.56% ของจำนวนผู้โดยสารรวม และ 65.56% ของปริมาณการขนส่งเมื่อเทียบกับเทศกาลเต็ดปีก่อน อย่างไรก็ตาม การขนส่งทางน้ำยังคงราบรื่น ตลอดจนดำเนินการขนถ่ายสินค้า

  ที่มา : http://dtinews.vn/en/news/018/72532/tet-flight-passenger-numbers-plunge-by-64-8-.html

เมียนมา ตัดสัญญาณเน็ต กระทบธุรกิจออนไลน์ยอดขายลดฮวบ

ธุรกิจออนไลน์ของเมียนมากำลังเจอปัญหาจากการประกาศเคอร์ฟิว การปิดสัญญาณอินเทอร์เน็ตของรัฐบาลทหาร ตั้งแต่เวลา 01.00 น. ถึง 9.00 น. ร้านค้าออนไลน์กล่าวว่ายอดขายลดลงครึ่งหนึ่งในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมจากการเชื่อมต่อที่หยุดชะงักและความเร็วที่ช้าลง จากสถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมาทำให้ธุรกิจหันเหปรับเปลี่ยนเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ซึ่งสถานการณ์ทางการเมืองทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจการได้ตามปกติ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอาหารออนไลน์อย่าง Food Panda  หรือธุรกิจอาหารและร้านค้าออนไลน์ส่วนใหญ่ล้วนได้รับผลกระทบต่อยอดขายที่ลดลงจากการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/internet-cut-spells-trouble-online-businesses-myanmar.html

อสังหาฯ มัณฑะเลย์ ปรับตัวเน้นให้เช่ามากขึ้น

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของมัณฑะเลย์เริ่มเปลี่ยนเป็นให้เช่าแทน ตัวแทนภาคอสังหาริมทรัพย์กล่าวว่าการระบาดของ COVID-19 และความวุ่นวายทางการเมืองเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้กระทบตลาดอย่างรุนแรง ซึ่งต้องใช้เวลาสักพักกว่าที่ตลาดจะฟื้นตัวและต้องอาศัยการให้เช่าเพื่อพยุงในช่วงนี้ไปก่อน เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคเน้นเก็บเงินสดงดการบริโภค จากความวุ่นวายทางการเมืองในปัจจุบัน

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/mandalay-real-estate-market-clinging-rentals.html

การสำรวจวิสาหกิจในสปป.ลาว พบ ผู้ประกอบการรายย่อย มีสัดส่วนสูงถึง 94.2 %

ผลสำรวจสปป.ลาวในฐานะประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด ยังคงมีสัดส่วนผู้ประกอบการรายย่อยสูง ซึ่งคิดเป็น 94.2 % ของวิสาหกิจทั้งหมดในประเทศ โดยในปี 62 มีวิสาหกิจทั้งหมด 133,997 แห่ง เพิ่มขึ้น 9,124 เมื่อเทียบกับปี 56 จากการสำรวจสำมะโนเศรษฐกิจครั้งที่ 3 จัดทำโดยสำนักงานสถิติสปป.ลาวในปี 62-63 ตัวเลขทั้งหมดประกอบด้วยผู้ประกอบการรายย่อย 126,168 แห่ง วิสาหกิจขนาดเล็ก 6,600 แห่ง ( 4.9% ) วิสาหกิจขนาดกลาง 954 แห่ง (0.7%) และวิสาหกิจขนาดใหญ่ 276 แห่ง (0.2%)  การสำรวจระบุว่าผู้ประกอบการรายย่อยแสดงถึงเปอร์เซ็นต์ที่น้อยที่สุดในแง่ของการเข้าถึงการเงินจากธนาคาร แม้ว่าจะมีจำนวนมากที่สุดในทุกประเภทก็ตาม วิสาหกิจขนาดกลางมีเงินกู้ยืมจากธนาคารมากที่สุด 29.7% วิสาหกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็กคิดเป็น 27% และ 24.6% ตามลำดับ ผู้ประกอบการรายย่อยมีการเข้าถึงเงินกู้ เพียงร้อยละ 8.7  ทั้งนี้ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกถือเป็นธุรกิจที่จดทะเบียนมากที่สุด รองลงมาคือร้านซ่อมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยมีสัดส่วนรวมกัน 61.2% โรงงานแปรรูป 14.7% ในขณะที่ธุรกิจบริการ 10.6%  จากการสำรวจสถานประกอบการมีการจ้างงาน 490,373 คนซึ่งเป็นผู้หญิง 50.1% และ 90.6% ขององค์กรทั้งหมดจ้างคนงานเพียง 1-5 คน ซึ่งในปี 61 มีทุนจดทะเบียนวิสาหกิจทั้งหมด 649,000 พันล้านกีบและมีรายได้รวม 107,584 พันล้านกีบ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Micro34.php

กัมพูชาวางแผนปรับปรุงการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตข้าวภายในประเทศ

กระทรวงเกษตรกัมพูชากำลังปรับปรุงแผนการพัฒนาการผลิตข้าวระดับชาติ เพื่อเพิ่มคุณภาพและปริมาณการผลิตข้าวภายในประเทศ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรกล่าวว่าจำเป็นต้องจำแนกพันธุ์และแผนที่เกษตรเชิงนิเวศ ในส่วนของพื้นที่เพาะปลูกข้าวในกัมพูชาเพื่อเป็นพื้นฐานในการจัดทำแผนเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายและการพัฒนาการผลิตข้าว ไปจนถึงการพัฒนาระบบชลประทาน การประกันราคาผลผลิต ตลอดจนการพิจารณาสภาพภูมิอากาศและปัจจัยอื่น ๆ ในแต่ละโซนโดยละเอียด เพื่อเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศมีการเติบโต และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรผู้ผลิตข้าวในกัมพูชา โดยเมื่อปีที่แล้วกัมพูชาปลูกข้าวได้รวม 3,404,131 เฮกตาร์ สร้างผลผลิตรวม 10,935,618 ตัน ซึ่งส่งออกข้าวสารไปยังตลาดต่างประเทศรวม 690,829 ตัน สร้างรายได้เกือบ 540 ล้านดอลลาร์ รวมถึงส่งออกข้าวเปลือกจำนวน 2,893,750 ตันข้าวเปลือก มูลค่าเกือบ 725 ล้านดอลลาร์ ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50814769/agricultural-rice-map-updated-to-boost-production/

รัฐบาลกัมพูชาร่วมกับสภาหอการค้ายุโรปส่งเสริมการส่งออก

กระทรวงเกษตรป่าไม้และการประมง (MAFF) ร่วมกับสภาหอการค้ายุโรป (EuroCham) ประจำประเทศกัมพูชา ได้สัญญาว่าจะร่วมมือกันพัฒนาภาคการเกษตรของกัมพูชาเพื่อขยายการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป โดยได้มีการหารือเกี่ยวกับภาคธุรกิจการเกษตรในวงกว้าง เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษอุตสาหกรรมเกษตร โครงการสนับสนุนระหว่างประเทศเพื่อการปรับปรุงการเกษตร การยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของภาคการเกษตร รวมถึงโอกาสและความท้าทายจากข้อตกลงการค้าเสรีที่ทางกัมพูชาได้ทำสัญญาร่วมเอาไว้ ซึ่งภาคเกษตรกรรมของกัมพูชาในช่วงของการแพร่ระบาดของ COVID-19 กัมพูชาถือว่ามีหลักประกันด้านความมั่นคงด้านอาหาร ไปจนถึงการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะ จีน เกาหลี และสหภาพยุโรป เน้นไปที่สินค้าส่งออก เช่น ข้าวสาร พริกไทย มันฝรั่งทอด เม็ดมะม่วงหิมพานต์ กล้วย และมะม่วง เป็นต้น ภายใต้ความร่วมมือกัมพูชาต้องการการสนับสนุนทางเทคนิคด้านการเกษตรที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มผลผลิต ความสามารถในการแข่งขัน ความครอบคลุมและความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการแปรรูปสินค้าการเกษตรในกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50814995/ministry-and-eurocham-to-collaborate-on-exports-to-eu/

โพลชี้ถึงจุดต้องเลือกข้าง ‘อาเซียน’ หนุนสหรัฐ มากกว่าจีน

ผลจากการสำรวจความคิดเห็นประจำปีซึ่งจัดทำโดยสถาบัน ISEAS Yusof-Ishak ของสิงคโปร์ ชี้ว่า ประชาชนในภูมิภาคอาเซียนมีแนวโน้มสนับสนุนฝ่ายสหรัฐมากขึ้นหลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดนชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ผู้ตอบแบบสำรวจ 61.5% เห็นด้วยกับการสนับสนุนฝ่ายสหรัฐมากกว่าจีน ในกรณีที่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนถูกบีบบังคับให้เลือกข้าง ซึ่งนับว่ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ระดับ 53.6% ของผู้ตอบแบบสำรวจในประเด็นเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจประมาณ 76.3% ยอมรับว่าจีนเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลด้านเศรษฐกิจมากที่สุด ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจ 49.1% มีความเห็นว่าจีนเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลด้านการเมืองและยุทธศาสตร์มากที่สุด ทั้งนี้ การสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้มีผู้ร่วมตอบแบบสำรวจกว่า 1,000 คนจากทั้ง 10 ประเทศที่เป็นสมาชิกอาเซียน โดยผู้ตอบแบบสำรวจมีทั้งกลุ่มเจ้าพนักงานของรัฐ ผู้ประกอบการธุรกิจ รวมไปถึงนักวิเคราะห์จากแวดวงวิชาการ คลังสมอง และสถาบันวิจัยอีกมากมาย 

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/922856

เวียดนามเผย ม.ค. นำเข้ารถยนต์ 212 ล้านเหรียญสหรัฐ

ตามข้อมูลของกรมศุลกากร ระบุว่าในเดือนมกราคม เวียดนามนำเข้ารถยนต์เพิ่มขึ้นราว 85% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 เป็นรถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศ (CBU) จำนวน 8,343 คัน คิดเป็นมูลค่ารวม 212.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่จะนำเข้ารถยนต์จากไทยและอินโดนีเซีย จำนวน 4,341 คัน (84.5 ล้านเหรียญสหรัฐ) และ 1,437 คัน (19.2 ล้านเหรียญสหรัฐ) ตามลำดับ ทั้งนี้ ในปี 2563 เวียดนามนำเข้ารถยนต์ทุกประเภทที่ผลิตในต่างประเทศ จำนวน 100,000 คัน ด้วยมูลค่ารวม 2.35 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 24.5% ในแง่ของปริมาณ และ 25.6% เมื่อเทียบกับปี 2561 อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเป็นตลาดนำเข้ารถยนต์รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม จำนวน 52,647 คัน รองลงมาอินโดนีเซีย จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnam-spends-over-us-212-million-importing-cars-in-january-28233.html