“OpenAI” เปิดให้บริการ ChatGPT Plus ในเวียดนาม คิดค่าบริการ 20 เหรียญสหรัฐต่อเดือน

ChatGPT ได้รับการพัฒนาโดย OpenAI ในซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยที่นำโดยแซม อัลต์แมน (Sam Altman) และยังได้รับการสนับสนุนจาก Microsoft โดยเฉพาะ ChatGPT ที่พึ่งมีการอัพเดตเวอร์ชั่น ‘ChatGPT Plus’ ได้เสนอแผนการเก็บค่าสมาชิกและการปรับปรุงบางอย่าง โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงการใช้บริการในช่วงเวลาเร่งด่วน ไม่มีความแออัดและตอบสนองที่เร็วขึ้น ทั้งนี้ ล่าสุด มีการประกาศจาก OpenAI ออกมาแล้วว่า ‘ChatGPT Plus’ เตรียมให้บริการในเวียดนาม ซึ่งคิดค่าบริการสมาชิกต่อเดือน 20 ดอลลาร์สหรัฐ โดยบริการสมัครสมาชิกจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้แก่ การจัดลำดับความสำคัญในการใช้งาน เมื่อมีการเข้าถึงแอปพลิเคชันจำนวนมาก การใช้บริการที่เร็วขึ้น ตลอดจนการเข้าถึงฟิเจอร์ใหม่และผู้ใช้สามารถชำระเงิน ‘ChatGPT Plus’ ด้วยบัตรเดบิตระหว่างประเทศ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/openai-company-to-sell-chatgpt-plus-in-vietnam-for-us-20-per-month-2109526.html

การผลิตภาคอุตสาหกรรมเวียดนาม เดือน ม.ค. ลดลงฮวบ ช่วงเทศกาลเต็ด

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (GSO) เปิดเผยดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (IIP) ของเวียดนาม ในเดือน ม.ค. 2566 ลดลง 14.6% จากเดือนก่อน และ 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สาเหตุที่ดัขนีฯ ปรับตัวลดลง เนื่องมาจากตรงกับช่วงเทศกาลเต๊ด (Tet) และธุรกิจอุตสาหกรรมประสบปัญหาจากยอดคำสั่งซื้อที่ลดลง โดยผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำคัญที่มีการลดลงของดัชนี IIP ในเดือน ม.ค. ได้แก่ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ลดลง 33%, รถจักรยานยนต์ (32%), รถยนต์ (32%), เหล็กเส้นและน้ำตาล (29%) และโทรทัศน์ (24%) ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมสำคัญที่ลดลงอย่างมากในเดือน ม.ค. ได้แก่ การขนส่ง ลดลง 27%, การผลิตยานยนต์ (24%), การผลิตเครื่องแต่งกาย (21%), อุปกรณ์ไฟฟ้า (19%) และการผลิตโลหะ (15%)

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1482791/industrial-production-plunges-in-january-over-tet-holiday.html

“ภาคการบินเวียดนาม” กลับมาฟื้นตัวเต็มที่ในสิ้นปี

สำนักงานการบินพลเรือนเวียดนาม (CAAV) เปิดเผยว่าภาคการบินของเวียดนามมีทิศทางที่จะเริ่มฟื้นตัวเต็มที่หลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในสิ้นปีนี้ ด้วยจำนวนผู้โดยสารประมาณ 80 ล้านคน และปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศ 1.44 ล้านตันในปี 2566 ตามแนวโน้มอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของการบินของเวียดนาม จากข้อมูลบ่งชี้ว่าปริมาณผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าทางอากาศในปีนี้ ขยายตัว 45.4% และ 15% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ภาคการบินของเวียดนามยังมีอุปสรรคใหญ่ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานด้านการจราจรทางอากาศที่ค่อนข้างจำกัด ความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง การขาดแคลนทรัพยากรบุคคลและความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งจะส่งผลเชิงลบต่ออุตสาหกรรมการบินในปีนี้

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1482680/vietnamese-aviation-sector-to-fully-recover-by-end-of-year.html

“เวียดนาม” ประเมินปี 66 ส่งออกข้าวลดลง

กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนาม เปิดเผยว่าในเดือน ม.ค. 66 เวียดนามส่งออกข้าวเพียง 400,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 203 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 20.9% และ 17.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ โดยตลาดฟิลิปปินส์เป็นตลาดส่งออกข้าวสำคัญของเวียดนาม และในปีที่แล้ว เวียดนามส่งออกข้าวไปยังตลาดดังกล่าว มีมูลค่ามากกว่า 3 ล้านตัน เป็นสัดส่วน 45% ของยอดการส่งออกรวม และมากกว่า 80% ของการนำเข้าข้าวของฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตาม หากฟิลิปปินส์มีการจัดเก็บสินค้าคงคลังเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้ปริมาณการนำเข้าชะลอตัวลง ยิ่งไปกว่านั้น การสต็อกข้าวของเวียดนามมีทิศทางที่ลดลงในช่วงปลายปีที่แล้ว ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกข้าวลดลงในปีนี้ ด้วยเหตุนี้ แนวโน้มการส่งออกข้าวของเวียดนาม คาดว่าจะอยู่ที่ 6 ล้านตันในปี 2566 ต่ำกว่าตัวเลขของปีที่แล้ว เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านอุปทานและสินค้าคงคลัง

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-s-rice-exports-predicted-to-drop-in-2023-2109005.html

ปี 2565 สปป.ลาว นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากเวียดนาม พุ่งไปถึง 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จากข้อมูลของ AEC CONNECT พบว่าในปีที่ผ่านมาการนำเข้าเชื้อเพลิงของสปป.ลาวจากเวียดนามเพิ่มขึ้น 439% มีมูลค่า 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ส่วนการส่งออกจากสปป.ลาวไปเวียดนามเพิ่มขึ้น 34.6% มูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าขั้นต้น เช่น ไม้ ผลิตภัณฑ์จากไม้ และยางมะตอย   เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา Economic Intelligence Center ของธนาคารไทยพาณิชย์ ประเทศไทย ได้คาดการณ์ว่าสปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และเมียนมา ในปี 2566 เศรษฐกิจจะเติบโตขึ้น    โดยที่ผ่านมา สปป.ลาว  ได้นำเข้าเชื้อเพลิงจากไทยเป็นหลัก  บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวว่า สปป.ลาว จะนำเข้าเชื้อเพลิงจากไทยเท่านั้นอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ  ในทางกลับกัน สื่อท้องถิ่นรายงานว่าเนื่องจากการอ่อนค่าของเงินกีบ และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และราคาน้ำมันมีความผันผวน จึงกลายเป็นเรื่องท้าทายสำหรับผู้นำเข้าเชื้อเพลิงในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศ

ที่มา: https://laotiantimes.com/2023/02/10/laos-fuel-imports-from-vietnam-reaches-over-usd-120-million-in-2022/

“ตลาดการบินเวียดนาม” ส่งสัญญาฟื้นตัวเต็มที่ในสิ้นปี 2566

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เปิดเผยว่าตลาดการบินเวียดนามมีแนวโน้มที่จะกลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มที่ภายในสิ้นปีนี้ และในปี 2566 อุตสาหกรรมการบินคาดว่าจะขนส่งผู้โดยสารประมาณ 80 ล้านคน และขนส่งสินค้า 1.44 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 45.4% และ 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองว่าอุตฯ การบินเวียดนามยังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ อาทิเช่น โครงสร้างพื้นฐานการบิน ราคาเชื้อเพลิง การขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน เป็นต้น ทั้งนี้ ตามข้อมูลของสำนักงานการบินพลเรือนเวียดนาม (CAAV) ระบุว่าในเดือน ม.ค. สนามบินในประเทศให้บริการผู้โดยสาร 9.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 13.8% จากเดือนก่อน และรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ 2.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10%

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-aviation-market-predicted-to-fully-recover-by-year-end-post1000559.vov

ผลสำรวจ JETRO เผยธุรกิจญี่ปุ่นเล็งขยายกิจการในเวียดนาม

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เปิดเผยผลการสำรวจ พบว่านักลงทุนญี่ปุ่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่ 60% วางแผนที่จะขยายการดำเนินธุรกิจในเวียดนาม อีก 2 ปีข้างหน้า นับว่าเป็นอัตราผลการสำรวจที่สูงที่สุดในอาเซียน รองจากอินเดีย (72.5%) และบังกลาเทศ (71.6%) ทั้งนี้ นางนากาจิมะ ทาเคโอะ หัวหน้าผู้แทนองค์การการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นในกรุงฮานอย ได้ประชุมกับกระทรวงการวางแผนและการลงทุน โดยอธิบายถึงผลการสำรวจในครั้งนี้ให้เห็นถึงความคาดหวังของผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่มองว่าตลาดเวียดนามในปัจจุบันมีศักยภาพที่จะเติบโตและการขยายตัวของการส่งออก ในขณะเดียวกัน นาย Nguyen Chi Dung รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนและการลงทุน ได้เน้นย้ำถึงความพยายามของรัฐบาลเวียดนามในการปรับปรุงบรรยากาศทางธุรกิจ เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงนักลงทุนจากญี่ปุ่นอีกด้วย

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/many-japanese-firms-plan-expansion-in-vietnam-jetro-poll-2108251.html

“ศก.เวียดนาม” กลับสู่ภาวะปกติในปี 2566

นาย Michael Kokalari หัวหน้าบรรดาผู้เชี่ยวชาญของกองทุนลงทุน “VinaCapital” กล่าวว่าเศรษฐกิจกำลังกลับมาสู่เส้นทางการเติบโตในระยะยาว ประกอบกับการเปิดประเทศของเวียดนาม หลังโควิด-19 สิ้นสุดลงแล้ว อีกทั้งยังมองว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากที่ขยายตัว 8% ในปีที่แล้ว ลดลงมาอยู่ที่ 6% ในปีนี้ โดยได้รับแรงกดดันจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวตามสินค้าที่ทำมาจากเวียดนาม (Made in Vietnam) จากผู้บริโภคในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป แต่ก็ได้รับแรงหนุนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาใหม่อย่างต่อเนื่องในเวียดนาม โดยเฉพาะเมื่อเร็วๆนี้ จีนกลับมาเปิดประเทศ และการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnams-economy-to-normalise-this-year-vinacapital-post1000426.vov

“ตลาดแรงงานเวียดนาม” ฟื้นตัว

สำนักงานจัดหางานจังหวัดฮานอยร่วมมือกับศูนย์จัดหางานใน 6 จังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ บั๊กซาง (Bac Giang), บั๊กนิญ (Bac Ninh), ท้ายเงวียน (Thai Nguyen), ฮึงเอียน (Hung Yen), บั๊กกั่น (Bac Kan) และหลั่งเซิน (Lang Son) ทั้งนี้ เมืองฮานอยวางแผนที่จะจัดตลาดนัดแรงงาน จำนวน 55 แห่ง และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้หางาน 100,000 – 120,000 คน ในไตรมาสแรกของปีนี้ และในปี 2565 เมืองฮานอยช่วยให้ผู้คนหางานได้ จำนวนทั้งสิ้น 203,000 คน ซึ่งเกินกว่าที่ตั้งเป้าไว้ทั้งปี 26.9% อย่างไรก็ตามตลาดแรงงานขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจโลก และจากข้อมูลของศูนย์พยากรณ์ความต้องการกำลังคนและข้อมูลตลาดแรงงาน ระบุว่าความต้องการแรงงานใหม่ในเมืองโฮจิมินห์ จำนวนประมาณ 280,000 – 320,000 คน ในปีนี้ นอกจากนี้ เมื่อปี 2565 แรงงานส่วนใหญ่ต้องรับมือกับชั่วโมงการทำงานที่ลดลงหรือการเลิกจ้าง เนื่องจากเผชิญกับการขาดคำสั่งซื้อใหม่

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/labor-market-bounces-back-2/

เวียดนามทุ่ม 1 พันล้านดอลลาร์ นำเข้าเม็ดมะม่วงหิมพานต์จากกัมพูชา

กัมพูชาส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบรวม 670,000 ตัน มูลค่า 1.07 พันล้านดอลลาร์ ไปยังตลาดต่างประเทศในปีที่แล้ว ซึ่งร้อยละ 98.5 ของการส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบส่งออกไปยังเวียดนาม โดยเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบของกัมพูชาถือเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกสำคัญไปยังเวียดนาม ตามรายงานของสมาคมเม็ดมะม่วงหิมพานต์เวียดนาม (Vinacas) ในปีที่แล้ว ซึ่งเวียดนามนำเข้าเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบประมาณ 1.9 ล้านตัน โดยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1,400 ดอลลาร์ต่อตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.66 พันล้านดอลลาร์ในการนำเข้าวัตถุดิบ ซึ่งเวียดนามยังคงเป็นผู้นำเข้าเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบชั้นนำของโลก ขณะที่ปัจจุบันเวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกมะม่วงหิมพานต์เพียง 300,000 เฮกตาร์ ซึ่งตอบสนองต่อความต้องการได้เพียงร้อยละ 30 ของความต้องการทั้งหมด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501234910/vietnam-spends-1-billion-importing-cashew-nuts-from-cambodia/