‘เวียดนาม’ เผย CPI เดือน เม.ย. 65 ขยายตัว 0.18%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนเมษายน ขยายตัว 0.18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สาเหตุสำคัญมาจากราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าอุโภคบริโภคและบริการ จำนวน 11 รายการสินค้าที่ใช้ในการคำนวณดัชนี CPI พบว่าวัสดุก่อสร้างและที่อยู่อาศัย ขยายตัว 2.7%, ราคาก๊าซ เหล็กและวัสดุสำหรับการผลิตปูนซีเมนต์ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลกระทบของสงครามยูเครน-รัสเซีย ในขณะเดียวกัน การบริการด้านวัฒนธรรม ความบันเทิงและการท่องเที่ยว และบริการด้านอาหารและการจัดเลี้ยง ขยายตัว 1.8% และ 3.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าการเติบโตในเดือนก่อนหน้า อันเนื่องมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับการท่องเที่ยวและการเปิดเมือง

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/cpi-inches-up-0-18-in-april/

‘เวียดนาม’ เผยรัฐบาลกู้เงิน 54 ล้านล้านดอง ม.ค.-เม.ย.

สำนักงานบริหารหนี้ กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ภาระหนี้ของรัฐบาลรวมทั้งสิ้นอยู่ที่ 54 ล้านล้านดอง เงินกู้สำหรับใช้เป็นงบประมาณของรัฐบาล วงเงินมากกว่า 51.3 ล้านล้านดอง (7.9% ของเป้าหมายรัฐบาล) ในขณะที่เงินกู้จากแหล่งอื่นๆ 2.5 ล้านล้านดอง ทั้งนี้ เฉพาะในเดือนเมษายนเพียงเดือนเดียว รัฐบาลชำระหนี้ไปแล้วกว่า 12.6 ล้านล้านดอง รวมไปถึงการชำระเงินกู้ในประเทศ 9 ล้านล้านดอง และชำระเงินเงินกู้จากต่างประเทศ 3.6 ล้านล้านดอง ทำให้เดือนม.ค.-เม.ย. รัฐบาลได้ชำระหนี้เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 91.6 ล้านล้านด่อง ซึ่งเป็นการชำระหนี้โดยตรงของรัฐบาลที่มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 84 ล้านล้านด่อง

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/govt-borrows-vnd54-trillion-from-jan-apr/

 

‘ภาคส่งออก’ แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจเวียดนาม

ตามรายงานทางสถิติการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยตัวเลขการส่งออกเดือนเมษายน 2565 มีมูลค่า 33.26 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 32.19 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.5% ส่งผลให้ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามเกินดุลการค้า 2.53 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ Maybank Investment Securities (MIB) รายงานว่าภาคเศรษฐกิจหลักของการส่งออกเวียดนามส่วนใหญ่มีการเติบโตเชิงบวก โดยน้ำมันดิบพุ่ง 204% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม อย่างไรก็ดี การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน และการล็อกดาวน์อย่างเข็มงวดของประเทศจีน ไม่สร้างผลกระทบต่อการส่งออกของเวียดนาม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกิจการต่างๆ ส่งออกสินค้าคงเหลือตามการฟื้นตัวของอุปสงค์

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/export-sector-is-bright-spot-for-vietnam-economy/

 

‘เวียดนาม’ เผยยอดส่งออกข้าวทะลุ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท (MARD) เปิดเผยว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกข้าวของเวียดนามกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็นมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะเดือนเมษายน เพียงเดือนเดียวที่ทำรายได้จากการส่งออกข้าว 273 ล้านเหรียญสหรัฐ ปริมาณกว่า 550,000 ตัน ส่งผลให้ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ปริมาณส่งออกรวมอยู่ที่ 2.05 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถึงแม้ว่าระดับราคาข้าวจะลดลง แต่หากเทียบกับคู่ค้า จะพบว่าราคาข้าวของเวียดนามยังสูงกว่าประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังคงเป็นผู้บริโภคข้าวเวียดนามรายใหญ่ที่สุด มีส่วนแบ่งการตลาด 42.6%

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-rice-exports-surpass-us1-billion-post942211.vov

 

สงครามรัสเซีย-ยูเครน สะเทือนเศรษฐกิจเวียดนาม

ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการจัดหาเชื้อเพลิงและวัตถุดิบของเวียดนามและยังผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ห่วงโซ่อุปทานของภาคการผลิตหยุดชะงัก จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกยังไม่ได้สิ้นสุด กิจการของเวียดนามต้องเผชิญกับอุปสรรคทางด้านเชื้อเพลิงและวัตถุดิบสำหรับการผลิต เหตุจากสงครามดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเวียดนามประสบปัญหาในการนำเข้าสินค้าบางรายการจากประเทศรัสเซียและส่งออกสินค้าไปยังรัสเซียและยูเครน ในขณะเดียวกันเผิชญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากการสั่งซื้อวัตถุดิบจากตลาดอื่นๆ โดยวิกฤติดังกล่าว เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกสูงขึ้น ผลผลิตและส่วนแบ่งการตลาดด้านการส่งออกเชื้อเพลิงและวัตถุดิบเพื่อการผลิตและบริโภค อาทิ ปิโตรเลียม ข้าวสาลี เป็นต้น ของรัสเซียและยูเครนมีขนาดใหญ่มาก

ที่มา : https://english.news.cn/europe/20220507/8d424defc5704109be27085d1e3cae91/c.html

 

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้าดันส่งออกข้าวในตลาดอาเซียน

สำนักงานส่งเสริมการค้าเวียดนาม (Vietrade) กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ได้ประสานงานกับสำนักงานการค้าเวียดนามในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อหารือเรื่องการส่งออกข้าว โดยในปีที่แล้วฟินิปปินส์เป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม จำนวน 2.45 ล้านตัน เป็นมูลค่าราว 1.25 พันล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากตลาดข้างต้นแล้ว เวียดนามยังส่งออกไปยังตลาดสำคัญ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซียและบรูไน เป็นต้น นอกจากนี้ ตามข้อมูลของสำนักข่าวเวียดนาม (VNA) เปิดเผยว่าเวียดนามส่งออกข้าวไปยังตลาดมาเลเซียในเดือนมกราคม เพิ่มขึ้นอย่างมาก 104.4% และ 67.5% ในด้านของปริมาณส่งออกและมูลค่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

 

ที่มา : https://www.bernama.com/en/world/news.php?id=2078125

 

ประธาน JETRO ชี้ ‘เวียดนาม’ ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจของนักลงทุนญี่ปุ่น

นายซาซากิ โนบุฮิโกะ ประธาน CEO องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) กล่าวว่าเวียดนามเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจของนักลงทุนชาวญี่ปุ่นและเล็งเห็นถึงศักยภาพของตลาด โดยหน่วยงานของภาครัฐฯ ทั้งสองประเทศ ได้ร่วมกันลงนามและร่วมมือกัน โดยเฉพาะการลงทุนใหม่ๆ ได้แก่ พลังงาน การเปลี่ยนแปลงกระบวนการของเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม แสดงให้เห็นถึงเทรนด์การลงทุนของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ ผู้บริหารของ JETRO เปิดเผยว่าความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างญี่ปุ่นและเวียดนาม มีความคืบหน้าอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นลงทุนในเวียดนาม มูลค่ากว่า 64.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ จำนวน 4,935 โครงการ นอกจากนี้ นักลงทุนชาวญี่ปุ่นต่างชื่นชมศักยภาพการผลิตและการตลาดของเวียดนาม  ซึ่งทั้งสองประเทศสามารถสร้างความสัมพันธ์เพื่อเสริมจุดแข็งและจุดอ่อนของกันและกัน

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-remains-attractive-destination-for-japanese-investors-jetro-chief-post941372.vov

‘ข้อตกลง EVFTA’ กระตุ้นการส่งออกข้าวเวียดนามไปยังสหภาพยุโรป

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) เปิดเผยว่าในไตรมาสแรกของปีนี้ การส่งออกข้าวของเวียดนามไปยังตลาดยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลประโยชน์ของข้อตกลงการค้าเสรียุโรป-เวียดนาม (EVFTA) โดยปริมาณการส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรป จำนวน 15,500 ตัน ทำรายได้ประมาณ 12 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 24% ในแง่ของปริมาณและ 10.5% ในแง่ของมูลค่า เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่เมื่อพิจารณาราคาส่งออกข้าวในตลาดยุโรป พบว่าเพิ่มขึ้น 9% อยู่ที่ 755 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งราคาส่งออกข้าวเวียดนามในตลาดยุโรปสูงกว่าราคาเฉลี่ย เนื่องจากข้าวส่วนใหญ่ที่ส่งออกไปยังตลาดยุโรปเป็นข้าวหอมที่มีมูลค่าสูง อย่างไรก็ตาม ข้าวส่งออกของเวียดนามยังคงไม่สามารถแข่งขันทางด้านราคาในตลาดยุโรปกับคู่แข่งรายอื่นๆ ได้ เช่น กัมพูชา ไทย และอินเดีย

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1178059/evfta-boosts-viet-nams-rice-exports-to-the-eu.html

Q1/2022 กัมพูชาส่งออกไปยัง เวียดนาม จีน และไทย เป็นสำคัญ

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ถือเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของกัมพูชา โดยการส่งออกของกัมพูชาไปยังประเทศสมาชิก RECP มีมูลค่าแตะ 1.95 พันล้านดอลลาร์ ในไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากมูลค่า 1.75 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งประเทศผู้นำเข้าสำคัญของกัมพูชา ได้แก่ เวียดนาม จีน และไทย รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา โดยกัมพูชาได้ส่งออกสินค้าไปยังเวียดนามมูลค่า 759 ล้านดอลลาร์, ไปยังจีน 322 ล้านดอลลาร์ และส่งออกไปยังไทยมูลค่าแตะ 318 ล้านดอลลาร์ ซึ่งผลิตผลทางการเกษตรถือเป็นสินค้าสำคัญที่มีศักยภาพในการส่งออก อาทิเช่น ข้าว กล้วย มะม่วง มันสำปะหลัง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501068941/cambodias-top-export-destinations-in-q1-2022-vietnam-china-and-thailand/

‘เวียดนาม’ เผย Q1 ว่างงานลดลง

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าไตรมาส 1/2565 ผู้ว่างงานลดลงกว่า 130,000 คน มาอยู่ที่ 1.3 ล้านคนจากไตรมาสที่แล้ว สะท้อนให้เห็นว่าตลาดแรงงานฟื้นตัวหลังโควิด-19 เป็นผลมาจากเวียดนามเปิดรับนโยบาย “อยู่ร่วมกับไวรัส” และการครอบคลุมการได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ค่อนข้างสูงของกลุ่มอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ คุณ Vu Quang Thanh รองผู้อำนวยการศูนย์จัดหางานฮานอย กล่าวว่าความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะพิเศษในด้านการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อิเล็กทรอนิกส์ การขนส่ง การค้าปลีกและค้าส่ง ตลอดจนคาดว่าจะมีตำแหน่งงานว่างเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมการบริการ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/q1-unemployment-rate-drops-gso/227805.vnp