ปีหน้าจีดีพียังมีความเสี่ยงด้านต่ำ ผู้ว่าธปท. ส่งซิกต้องช่วยกันมากขึ้น

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวในเวทีสัมมนา Thailand Economic Outlook : เศรษฐกิจไทย 2020 โดยระบุว่า  เศรษฐกิจไทย ปีหน้าประมาณการเติบโตไว้ที่ 2.8% เป็นการขยายตัวที่ภาครัฐจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งจะเป็นอานิสงส์ทั้งงบประมาณประจำปี 2563 นโยบายการคลังและนโยบายการเงินและแนวโน้มการส่งออกที่มีโอกาสขยายตัวได้ดีกว่าปีนี้ที่คาดว่าส่งออกจะติดลบ 3-4% อย่างไรก็ตาม การเติบโตนั้นยังเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะขยายตัว 3.5-4% จึงมีความจำเป็นในการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ รอบปีที่ผ่านมา ธปท. ได้ดำเนินนโยบายการเงินทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและออกมาตรการกำกับแต่ต้องใช้เวลา และอาจจะส่งผลข้างเคียงในระยะยาว ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำหลายด้านที่ทำให้เศรษฐกิจไม่เติบโตทั้งสงครามทางการค้าและการเมืองในประเทศและปัจจัยเชิงโครงสร้าง. เช่น แรงกดดันค่าเงินบาท แต่หากปรับตัวได้ก็จะทำให้เข้าสู่ความเสี่ยงด้านสูงได้

ที่มา: https://www.thansettakij.com/content/money_market/417358?utm_source=homepage&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=money_market

จับสัญญาณเศรษฐกิจไทยปี’63 ระวังปัจจัยเสี่ยงการเมืองภายใน

สัญญาณสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐมีทิศทางดีขึ้น ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจ การค้าโลก และตลาดการเงินโดยรวม คาดทำให้จีดีพีโลก ค้าโลกขยายตัวเพิ่มในปีหน้า การลงทุนในตลาดการเงินโลกคึกคักมาก ส่งผลดีต่อเนื่องกับเศรษฐกิจไทย ภาคส่งออก และภาคการท่องเที่ยวทั้งระบบ ขณะที่การเจรจาเรื่อง Brexit มีความชัดเจนขึ้นเช่นเดียวกัน หลังทราบผลการเลือกตั้งในประเทศอังกฤษ ลดความไม่แน่นอนจากผลกระทบเรื่อง Brexit ได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่การลดภาษีนำเข้าจากจีนของสหรัฐจะทำให้ไทยได้ประโยชน์ลดลงจากการเบี่ยงเบนทางการค้า (trade diversion) เนื่องจากสินค้าจีนจะกลับเข้าไปในตลาดสหรัฐมากขึ้น ส่วนกลุ่มสินค้าส่งออกไทยที่ทดแทนสินค้าจีนได้ดีในช่วงที่ผ่านมาจากการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ได้แก่ สินค้าเกษตรกรรม อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป เคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติก เหล็กและอะลูมิเนียม และของใช้ในบ้านและสำนักงาน คงได้รับผลกระทบบ้าง แต่การขยายตัวของส่งออกไปทั่วโลกจะดีขึ้น และภาพรวมของการส่งออกไปสหรัฐ และจีนจะเพิ่มขึ้นจากการเติบโตที่สูงขึ้นในปีหน้า ส่วนการเจรจาเรื่อง Brexit ที่มีความชัดเจนขึ้นหลังทราบผลการเลือกตั้ง ช่วยลดความไม่แน่นอนจากผลกระทบ ซึ่งไทยควรเตรียมการในการเจรจาเชิงรุกเพื่อจัดทำเอฟทีเอกับสหราชอาณาจักร พร้อมกับการเจรจาทำเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป แนวโน้มปีหน้า ปัจจัยภายนอกจะเป็นบวกมากขึ้น แต่ปัจจัยภายในโดยเฉพาะความเสี่ยงทางการเมือง ผลกระทบเชิงลบเหล่านี้จะหักล้างปัจจัยบวกจากสัญญาณการฟื้นตัวของการค้าโลก และทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสจากการกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจโลกได้ นอกจากนี้ การย้ายฐานการลงทุนบางส่วนมายังอาเซียนจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนอาจมีการทบทวนใหม่ ซึ่งจะสัมพันธ์กับ สงครามทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาจะยืดเยื้อหรือไม่และออกมาในรูปแบบใด หลังการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา จะมีส่วนสำคัญความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ แต่ภูมิภาคอาเซียนโดยรวมนั้นยังคงเป็นภูมิภาคที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจอยู่ เนื่องจากมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยสูงกว่าภูมิภาคอื่น อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ โดยเฉพาะมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย แม้ไทยนั้นจะมีปัญหาเรื่อง rule of law และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม เพราะประเด็นนี้จะเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติมากที่สุด

ที่มา: https://www.prachachat.net/columns/news-403998

ได้ฤกษ์ปัดฝุ่นเจรจา เอฟตา ไทยส่งออกผลไม้กระหึ่มโลก

อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ผู้แทนของสมาคมการค้าเสรียุโรป (เอฟตา) 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ลิกเตนสไตน์ และไอซ์แลนด์ มาเข้าพบ และยื่นหนังสือเพื่อขอเริ่มต้นการเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับไทย ที่กรมต้องเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอเดิม และเริ่มต้นเจรจาเอฟทีเอกับประเทศใหม่ๆ ซึ่งก็คือการเจรจากับเอฟตาที่ขณะนี้ อยู่ระหว่างนำผลการศึกษาที่เคยทำมาตั้งแต่ปี 2549 มาปัดฝุ่นใหม่ เพื่อดูว่ามีประเด็นใด ที่จะนำเข้าสู่การเจรจาเพิ่มเติมอีก รวมถึงจะหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องถึงผลดี ผลเสีย มาตรการเยียวยา โดยจะรวบรวมทำเป็นข้อสรุป เสนอนโยบายเพื่อตัดสินใจต่อไป โดยล่าสุด เอฟทีเอ ที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ ทำให้ประเทศคู่ค้าเอฟทีเอได้ลด/เลิกเก็บภาษีนำเข้าผลไม้จากไทย ทำให้การส่งออก 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมีมูลค่าการส่งออก 3,213 ล้านเหรียญสหรัฐ มากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก รองจากสเปน เนเธอร์แลนด์ เม็กซิโก สหรัฐฯ ชิลี ขยับขึ้นจากอันดับ 10 เมื่อปี 2561 มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้น 41% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ อาเซียน และจีน

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/business/1729453

ไทยผลักดันสินค้าจังหวัดนครพนมสู่ CLMV

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยนายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรี และนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เดินทางพบปะหารือด้านการค้ากับกลุ่มหอการค้าจังหวัดนครพนม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจการค้าชายแดน ซึ่งทราบว่าจังหวัดนครพนมมีศักยภาพมากอีกจังหวัดหนึ่งในภาคอีสานตอนบน เช่น การค้าชายแดน การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทั้งนี้ เมื่อ 2 ปีก่อน ได้รับทราบปัญหา  โดยเฉพาะการส่งออกชายแดน ซึ่งจังหวัดนครพนมถือว่าเป็นประตูไปสู่เวียดนาม และต่อไปจีน บริเวณมณฑลตอนใต้ ไทยได้ส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านแดนที่นี่ รวมทั้งผัก ผลไม้ และอื่น ๆ ซึ่งสิ่งที่หอการค้าฯ อยากให้ช่วยคลี่คลายในเรื่องปัญหาการส่งออกผัก ผลไม้ไปที่ชายแดนแล้วข้ามไปจีนบริเวณด่านผิงเสีย ให้ช่วยเจรจาอำนวยความสะดวก นอกจากนี้ ทาง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ระบุว่าจังหวัดนครพนมได้เสนอให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยนำสินค้าไทย และสินค้าท้องถิ่นภาคอีสานไปทำโรดโชว์ (Road Show) ที่ตลาด CLMV และทางหอการค้าจังหวัดนครพนมเสนอไปที่โฮจิมินห์ ฮานอย และดานัง เนื่องมาจากเป็นเมืองใหญ่ของเวียดนาม ถ้าได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมฯ หอการค้าฯ รวมทั้งองค์กรอื่น ๆ โอกาสที่จะได้ตัวเลขการส่งออกเพิ่มขึ้นก็มีความเป็นไปได้สูง

ที่มา : นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 19 ธ.ค. 2562

ส่งออกตลาดของขวัญปี 62 มูลค่า 2.4 หมื่นล้านบาท ติดลบ 3%

มูลค่าตลาดสินค้าของขวัญ ของชำร่วย ตลาดส่งออกมูลค่ากว่า 2.4 หมื่นล้านบาท ปี 62 คาดว่าจะเติบโตติดลบ 3% จากเดิมวางเป้าหมายการเติบโตไว้ที่ 2% จาก 4 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นกว่า 23% โดยตลาดส่งออกสำคัญ สินค้าของขวัญฯ คือ ญี่ปุ่น และ สหรัฐอเมริกา 2. การถดถอยของ เศรษฐกิจโลก และตลาดหลัก อันได้แก่ สหรัฐ อเมริกา ญี่ปุ่น จีน และสหภาพยุโรป 3.ต้นทุนการผลิตที่แพงขึ้น และ 4. ขีดความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง ในหลายประเภท สินค้าที่ต้องพึงพาแรงงานฝีมือ และแรงงานฝีมือหายไปจากตลาด อย่างไรก็ตามในปีหน้า ผู้ประกอบการธุรกิจในอุตสาหกรรมฯ จะต้องปรับตัวให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลของโลกการซื้อในยุคใหม่ รวมถึงภาครัฐต้องส่งเสริมสนับสนุน อย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมนี้ .ช่วยเหลือให้ผู้ประกอบเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อเพื่อใช้ในการ Tranformation องค์กร สำหรับตลาดของขวัญในประเทศ มีมูลค่าประมาณ 4 หมื่นล้านบาท โดยในปี 62 คาดเติบโตลดลง ขณะที่ ภาครัฐควรมีมาตรการกระตุ้นออกอย่างต่อเนื่องและเข้าถึงง่าย เช่น โครงการชิ้มช้อปใช้กระเป๋า 2 ซึ่งหากมีการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจในประชาชนให้ใช้มากขึ้น คาดจะสามารถกระตุ้นให้ใช้จ่ายมากขึ้นได้ สำหรับเทรนด์สินค้าของขวัญที่คาดว่าจะได้รับความนิยม คือ 1.ตะกร้าของขวัญ กิฟต์เซ็ท 2. สินค้าเพื่อสุขภาพ ทุกหมวดหมู่ 3.ของเครื่องใช้ กระเป๋า เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ และ 4. ไอที และอุปกรณ์อื่นๆ นอกจากนี้ ในปีหน้าสินค้าที่คาดว่าจะได้รับความนิยมหรือมาแรง คือ ถุงผ้า จากความต้องการของตลาดและผู้บริโภค ภายใต้นโยบายเลิกใช้ถุงพลาสติก ปัจจุบัน สมาคมของขวัญฯ มีผู้ประกอบการธุรกิจในอุตสาหกรรมฯนี้ กว่า 3,000 ราย และเป็นสมาชิกกับสมาคมของขวัญของชำร่วยไทยและของตบแต่งบ้าน ประมาณ 350 ราย โดยในช่วง 3 เดือนสุดท้ายปีนี้ มีผู้ประกอบการเพิ่มเข้ามาอีกเกือบเท่าตัว โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี

ที่มา: https://www.posttoday.com/economy/sme/609127

หนุนพลิกโฉม FTA เจาะประเทศเป้าหมาย-รายมณฑล

ภาพรวมการค้าโลกอ่อนแรงลงมากจากสงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจจีน-สหรัฐ ความไม่แน่นอนของการเมืองระหว่างประเทศ องค์การการค้าโลก (WTO) ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการค้าโลกปีนี้ว่าจะขยายตัว 1.2% จากเดิม 2.6% และประมาณการปี 2563 ว่าจะขยายตัวเพียง 2.7% จากเดิมที่เคยคาดไว้ 3% แรงกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ ส่งผลให้การส่งออก 10 เดือนแรกหดตัว 2.4% ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 3% ซึ่งแนวทางที่จะฟื้นการส่งออก จำเป็นต้องหาตัวช่วยด้วยการเจรจาความตกลงการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศศึกษาแนวทางการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) หรือข้อตกลงกับประเทศจีนและอินเดีย โดยเจาะลงลึกเจรจาเป็นรายมณฑล หรือรายรัฐ เพื่อส่งเสริมการส่งออกพร้อมกันนี้ ให้เร่งผลักดันการเจรจาที่ค้างอยู่ ทั้งเอฟทีเอไทย-ตุรกี, ไทย-ศรีลังกา และไทย-ปากีสถาน ให้แล้วเสร็จภายในปี 2563 และหาข้อสรุปที่จะเริ่มเปิดเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู, ไทย-สหราชอาณาจักร และไทย-ฮ่องกง ส่วนนายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ การประชุม สหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะเร่งผลักดันเอฟทีเอ เนื่องจากเป็นการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน และมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ยังมีโอกาสขยายตัวเป็นบวก โดยเฉพาะนโยบายสำคัญ เช่น การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซีที่ต้องทำให้ชัดเจนและต่อเนื่อง ส่วนภาคเอกชน นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้องเร่งเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอต่าง ๆ โดยเร็ว โดยเฉพาะเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป และไทย-สหราชอาณาจักร เพราะการเจรจารายประเทศต้องใช้เวลา ไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จได้เร็ว หากสำเร็จจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งทางคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 ฝ่าย จะพิจารณากำหนดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจปี 2563 อีกครั้ง ในช่วงกลางเดือนมกราคม 2563

ที่มา: https://www.prachachat.net/economy/news-401634

ก.พาณิชย์ จัดมหกรรมการลดราคาสูงสุด 70% ส่งท้ายปีเป็นของขวัญประชาชน

ล่าสุด นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้กระทรวงฯ ประสานงานผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ ห้างสรรพสินค้า ผู้ประกอบการทั่วประเทศ จัดลดราคาสินค้าเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน เป็นการลดตั้งแต่ 10-70% ตามนโยบายลดค่าครองชีพให้กับประชาชน ทั้งนี้ มอบนโยบายว่าในวันที่ 13 ธ.ค. 2562 เวลา 09.00 ณ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะมีภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการลดราคาจำหน่ายสินค้าช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พร้อมทั้งสนับสนุนนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าร่วมด้วย สำหรับภาคเอกชนที่เข้าร่วมงานลดราคาจำหน่ายสินค้า ได้แก่ ห้างค้าปลีก ค้าส่งสมัยใหม่ ห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าส่ง ค้าปลีกท้องถิ่น รวมกว่า 20,000 แห่ง จำนวนที่ลดสูงสุดถึง 70% อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม ของใช้ประจำวัน เครื่องครัว เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย วัสดุก่อสร้าง เครื่องนอน เครื่องสำอาง เครื่องเขียน เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการยางรถยนตร์อีก 8 ราย เข้าร่วมโครงการกับกระทรวงพาณิชย์ โดยลดราคาจำหน่ายสินค้าประเภทยางรถยนต์-อุปกรณ์อื่นๆ และลดค่าบริการลงถึง 10-30% โดยมหกรรมการลดราคา จะเริ่มระหว่างวันที่ 14 ธ.ค. 2562 ถึง 12 ม.ค. 2563 รวม 30 วัน

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/business/1721791

‘บิ๊กซี’บุกตลาดซีแอลเอ็มวี ประกาศทุ่มทุน1.5พันล้านขยายสาขา

ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการฝ่ายต่างประเทศ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์เปิดเผยว่า ในปี 63 บิ๊กซีจะลงทุนในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีอย่างต่ำ 1,500 ล้านบาท เริ่มจากประเทศเวียดนาม โดยจะเปิดศูนย์ค้าส่ง MM (Mega Market) อีก 3 สาขา จากปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 18 สาขา และ 25 ธ.ค.นี้ จะเปิดสาขาใหม่ที่เมืองฮานอย รวมทั้งจะเปิดศูนย์การค้าสำหรับธุรกิจอาหารและโรงแรมในเมืองฮาลองและและดานัง ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยว ขณะที่ร้านสะดวกซื้อ B’s Mart ซึ่งมี 107 สาขาในเมืองโฮจิมินท์มีแผนขยายออกไปอย่างต่ำอีก 10 สาขา สำหรับในสปป.ปัจจุบันบิ๊กซีเป็นผู้นำ โดยมีมินิบิ๊กซีในเวียงจันทน์ 44 สาขา ในปีหน้ามีแผนเปิดไฮเปอร์มาร์เก็ต 1 แห่ง และ มินิ บิ๊กซีอีก 20 สาขา ส่วนประเทศกัมพูชา ได้เปิดให้บริการไฮเปอร์มาร์เก็ตที่เมืองปอยเปตเป็นสาขาแรก และอยู่ระหว่างการศึกษาการลงทุนในเมืองอื่นๆ เช่น พนมเปญ และเสียมเรียบ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท BJC เปิดเผยว่า บริษัทคาดหวังว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/62 จะเติบโตได้ต่อเนื่อง ถึงแม้แนวโน้มการฟื้นตัวของกำลังซื้อภายในประเทศไม่ได้เป็นตามที่คาดการณ์ไว้ แม้ว่าจะเป็นช่วงจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ จากผลกระทบทางด้านภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอลงตัว โดยภาพรวมรายได้ทั้งปีบริษัทยังคงเป้ารายได้เติบโตราว 5% จากปีก่อนที่ทำได้ 172,196.38 ล้านบาท

ที่มา : https://www.naewna.com/business/458433

จุรินทร์ เปิดงานเศรษฐกิจทันสมัย พัฒนาศักยภาพคน 4 กลุ่มทันโลกดิจิทัล

วันที่ 2 ธ.ค. 2562 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานสัมมนา หัวข้อ “เศรษฐกิจทันสมัย เกษตรไทยก้าวหน้าไปกับสื่อดิจิทัล” ซึ่งจัดขึ้นที่ จ.อุบลราชธานี โดยกล่าวในช่วงหนึ่งว่า การจัดงานนี้เป็นนโยบายของกระทรวงพาณิชย์และนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตการแปรรูปและบริการ มี 4 กลุ่มที่เกี่ยวข้อง คือ 1. เกษตรกร 2. นักศึกษา 3. ผู้ประกอบการ และ 4. วิทยุชุมชน ซึ่งโลกเปลี่ยนไป จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้ผู้ผลิตสามารถสื่อสารโดยตรงกับผู้บริโภค และจะสามารถทำให้เกษตรกรไทยสามารถขายสินค้าเกษตรได้ในราคาต่อหน่วยที่ดีขึ้น จึงเป็นที่มาของกิจกรรมวันนี้ที่จัดขึ้นเพื่อสร้างองค์ความรู้และความตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และสนับสนุนให้เกษตรกรไทยมีการปรับตัว ใช้ช่องทางการสื่อสารที่เหมาะสมในการเข้าถึงผู้บริโภค รวมทั้งสร้างโมเดลธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ “ประเทศไทย มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และแผนการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าในทุกมิติตามการเปลี่ยนโลกของธุรกิจดิจิทัล การพัฒนาภาคการเกษตรแบบยั่งยืน คือ การพัฒนาจากต้นน้ำ ยกระดับประสิทธิภาพการผลิตหรือเพิ่มผลิตภาพ จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเป็นการพัฒนาเกษตรยุคใหม่ หรือ Smart Farmer ด้วยการช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ โดยมีสถานีวิทยุชุมชนเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างองค์ความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมและขยายโอกาสทางการตลาดของคนในชุมชนในนามของกระทรวงพาณิชย์ ผมมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำให้ภาคการเกษตรของประเทศมีความเข้มแข็ง งานนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวให้บรรลุสัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์”

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/business/1716441

การนำเข้าเมล็ดพันธุ์ถูกแบนจากโรคเชื้อรา กระทบต้นยางไทย

หลังจากการระบาดของเชื้อรา Pestalotiopsis หรือโรคใบร่วงชนิดใหม่ ในต้นยาง เมล็ด และกล้ายางของไทย จะไม่ได้รับอนุญาตผ่านสนามบินและประตูชายแดน โรคเชื้อราแพร่กระจายในสวนยางพาราบางแห่งในประเทศไทย ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการป้องกันไว้ก่อน นอกจากนี้การนำเข้าจากประเทศอื่น ๆ ก็จะถูกระงับเช่นกัน การระบาดของเชื้อราครั้งนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดยางและการนำเข้ายางดิบและน้ำยาง ต้นยางพาราที่เชื้อรา pestalotiopsis จะทำให้ได้น้ำยางมีคุณภาพต่ำ จากข้อมูลของพบว่าเชื้อรายังแพร่กระจายในอินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย และศรีลังกาแม้ว่าจะยังไม่ได้รับการยืนยัน

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/seed-imports-banned-fungal-disease-hits-thai-rubber-trees.html