‘กองทุนสวิส’ เผยเวียดนามยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่มีเสียรภาพของนักลงทุน

ซินเย่ว โหว (Xinyue Hou) ผู้จัดการกองทุนจาก Bellecapital สัญชาติสวิส ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเวียดนามในกรุงเจนีวา เปิดเผยว่าเวียดนามมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในขณะที่แรงงานเวียดนามมีชื่อเสียงในด้านความขยัน ความคิดสร้างสรรค์และจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการ โดยสังเกตมาจากความพยายามของแรงงานที่ต้องการสะสมความมั่งคั่ง และแรงงานส่วนใหญ่เลือกที่จะกู้เงินทุนมากขึ้น เพื่อเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง อีกทั้ง นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนามจนถึงปี 2568 แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะเสริมสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจมหภาคและการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-remains-stable-destination-for-investors-swiss-fund/267721.vnp

‘เมียนมา’ ชี้ช่วง 5 เดือนปี 66 ยอดการค้าต่างประเทศ พุ่ง 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เปิดเผยว่าการค้าต่างประเทศในช่วง 5 เดือนของปี 2566 (เม.ย.-ส.ค.) ของปีงบประมาณ 2566-2567 มีมูลค่ากว่า 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกของเมียนมามีอยู่ที่ 6.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 7.21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี หากพิจารณาตัวเลขการค้าในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา พบว่าตัวเลขการค้าปรับตัวลดลงราว 690.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของเมียนมา ได้แก่ ผลผลิตทางการเกษตร ปศุสัตว์และป่าไม้ ผลิตภัณฑ์จากเหมืองแร่และสินค้าอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกัน สินค้านำเข้าหลักของเมียนมา ได้แก่ สินค้าทุน สินค้าขั้นกลาง วัตถุดิบที่นำเข้าจากบริษัท CMP และสินค้าอุปโภคบริโภค

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-foreign-trade-soars-past-us13-bln-in-last-five-months/#article-title

สายการบินของ สปป.ลาว ในหลวงพระบาง พร้อมเปิดเที่ยวบินไปยังฉางซาในจีน

สายการบินลาวแอร์ไลน์ กลับมาให้บริการเที่ยวบินระหว่างหลวงพระบางและฉางซาในมณฑลหูหนาน ประเทศจีนอีกครั้ง นับตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน หลังจากที่หยุดให้บริการไปในช่วงปี 2020 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กล่าวโดย Khamkhan Chanthavisouk ผู้ว่าราชการจังหวัดหลวงพระบาง ซึ่งคาดว่าการกลับมาให้บริการอีกครั้งจะส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่าง สปป.ลาว และจีน ตลอดจนกระชับความสัมพันธ์ระหว่างหลวงพระบางและมณฑลหูหนานในด้านการค้า การลงทุน วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และด้านอื่นๆ เป็นสำคัญ ด้าน Noudeng Chanthaphasouk ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ของสายการบิน สปป.ลาว เปิดเผยว่า เที่ยวบินจะออกจากหลวงพระบางทุกวันพุธ เวลา 13.10 น. และถึงฉางซา เวลา 16.30 น. ขณะที่เที่ยวบินขากลับออกจากฉางซาเวลา 17.30 น. และถึงหลวงพระบางเวลา 18.30 น. ของทุกวันพุธ โดยปัจจุบันนับตั้งแต่ยกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทางเนื่องจากโควิด-19 สายการบินลาวแอร์ไลน์ได้กลับมาให้บริการเที่ยวบินระหว่าง สปป.ลาว สู่กรุงเทพฯ ฮานอย โฮจิมินห์ ในเวียดนาม รวมถึงคุนหมิงในมณฑลยูนนาน กวางโจวในมณฑลกวางตุ้ง ฉางซาในมณฑลหูหนาน และเฉิงตูในมณฑลเสฉวน ในประเทศจีน และอินชอนในสาธารณรัฐเกาหลี ตามข้อมูลของฝ่ายพาณิชย์ของสายการบิน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_Laoairlines176_23.php

CGCC ได้รับการรับรองให้เป็นผู้ค้ำประกันในการออกพันธบัตรรายแรกของกัมพูชา

สำนักงานกำกับดูแลหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งกัมพูชา (SERC) ภายใต้องค์กรกลางในการกำกับดูแลระบบการเงิน (FSA) หน่วยงานของกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน (MEF) ได้ให้การรับรองแก่บริษัทประกันเครดิตแห่งกัมพูชา (CGCC) ซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของ ให้สามารถเป็นผู้ค้ำประกันสำหรับการออกพันธบัตรเป็นรายแรกของกัมพูชาเพื่อสนับสนุนให้บริษัทเอกชนในท้องถิ่นมีทางเลือกในการระดมทุนเพิ่มมากขึ้นภายใต้การกำหนดอัตราดอกเบี้ยและระยะเวลาที่เหมาะสม โดย CGCC ได้พัฒนากรอบนโยบายการค้ำประกันพันธบัตรที่ได้รับอนุมัติจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง MEF เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของตลาดเงินในประเทศ ซึ่งถือเป็นก้าวแรกสู่การพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศกัมพูชา โดยในระยะถัดไปทางการจะเริ่มจัดอันดับเครดิตเรทติ้งจาก Rating Agency of Cambodia ซึ่งขณะนี้ธุรกิจภาคเอกชนสามารถระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศ (SMEs) ควบคู่ไปกับการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ผ่านการค้ำประกันการออกพันธบัตร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501357935/cgcc-accredited-as-cambodias-first-bond-issuance-guarantor/

กัมพูชา-จีน ลงนาม MoU เพิ่มอีก 6 ฉบับ ยกระดับความร่วมมือด้านการลงทุน

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) และกระทรวงพาณิชย์ของจีน จ่อลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพิ่มเติมอีก 6 ฉบับ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการลงทุนที่ครอบคลุม โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ และการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว รวมถึงการก่อสร้างอาคารระเบียงเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจก่อนหน้านี้เพื่อกำหนดกลไกในการเสริมสร้างการลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน กล่าวโดย Zhong Jie ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและการค้าประจำสถานทูตจีนในกรุงพนมเปญ ระหว่างเจรจาหารือร่วมกับ Chea Vuthy เลขาธิการคณะกรรมการการลงทุนกัมพูชาของ CDC ซึ่งคาดว่าจะช่วยยกระดับการค้าทวิภาคีระหว่างกัน สำหรับในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ กรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา ได้รายงานว่ามูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่าง จีน-กัมพูชา เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบเป็นรายปี มาอยู่ที่มูลค่าประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์ โดยคิดเป็นสัดส่วนการส่งออกของกัมพูชาไปยังจีนร้อยละ 25.6 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศที่มีมูลค่ารวมในช่วงเวลาดังกล่าวที่ 27,000 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501358251/cambodia-china-to-sign-6-more-mous-to-enhance-investment-cooperation/

ผู้ผลิตชิป-บ.เทคโนโลยีสหรัฐ ส่งตัวแทนประชุมที่เวียดนามพรุ่งนี้ สะท้อนเวียดนามยังเนื้อหอม

สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่ง รวมถึงสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า บริษัทเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยีชั้นนำของสหรัฐ ได้แก่ กูเกิล อินเทล โบอิ้ง ไปจนถึงโกลบอลฟาวน์ดรีส์ (GlobalFoundries) แอมคอร์ (Amkor) และมาร์เวลล์ (Marvell) ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เตรียมเข้าร่วมการประชุมทางธุรกิจที่กรุงฮานอยของเวียดนามในวันพรุ่งนี้ ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ เยือนเวียดนามเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2023/333384

‘โฮจิมินห์’ ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนเศรษฐกิจดิจิทัล ปี 2573 แตะ 40% ของ GRDP

Lam Dinh Thang ผู้อำนวยการสำนักงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร เมืองโฮจิมินห์ กล่าวว่าเมืองโฮจิมินห์ตั้งเป้าที่จะวางตำแหน่งให้มีความโดดเด่นและมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูง ซึ่งได้เตรียมการลงมติที่ 98 เกี่ยวกับนโยบายนำร่องพัฒนาเมืองโฮจิมินห์ ทั้งนี้ ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เมืองโฮจิมินห์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและส่งเสริมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ในหลายส่วน โดยเฉพาะการบริหาร การศึกษา การดูแลสุขภาพและการขนส่ง โดยจากมาตรการดังกล่าว ส่งผลให้เศรษฐกิจดิจิทัลของเมือง มีสัดส่วน 15.48% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของภูมิภาค (GRDP) ในปี 2564 และ 18.66% ในปี 2565 ถึงแม้ว่าจะเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน แต่คาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะเพิ่มสัดส่วน 40% ของ GRDP ภายในปี 2573

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/digital-economy-to-account-for-40-of-hcmc-s-grdp-by-2030-2187341.html

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการชำระเงินออนไลน์ โต 50% ปี 2568

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) ตั้งเป้าที่จะส่งเสริมการชำระเงินออนไลน์ในตลาดอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านตัวกลางในการชำระเงินหรือแอปพลิเคชั่น มีสัดส่วน 50% ภายในปี 2568 เป็นไปตามแผนระดับชาติว่าด้สนการพัฒนาอีคอมเมิร์ซ ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัล (CID) เป็นศูนย์ในการพัฒนาและนำเอาโซลูชั่นต่างๆ มาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์และยกระดับระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ นอกจากนี้ ศูนย์จะมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาระบบการชำระเงินที่ปลอดภัยสำหรับกิจกรรมอีคอมเมิร์ซโดยใช้ระบบเอสโครว์  (ESCROW) เพื่อปกป้องทั้งผู้บริโภคและผู้ขายในธุรกรรมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/cashless-payments-in-ecommerce-to-account-for-50-by-2025/267608.vnp

‘เมียนมา’ เผย 5 เดือนปี 66 ส่งออกถั่วพัลส์ 580 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าเมียนมาส่งออกถั่วพัลส์ ปริมาณมากกว่า 720,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 580 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 (เม.ย..-ส.ค.) ของปีงบประมาณ 2566-2567 ทั้งนี้ การส่งออกถั่วพัลส์ทางทะเล มีมูลค่า 488.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 607,129 ตัน ในขณะที่ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน มีมูลค่า 97.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ เมียนมายังส่งออกถั่วเขียวผิวดำ ถั่วเขียวผิวมันและถั่วแระ ไปยังตลาดต่างประเทศ อาทิเช่น อินเดีย จีนและสหภาพยุโรป

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-pulses-exports-earn-over-us580-mln-in-past-five-months/#article-title

เวียดนาม กัมพูชา และ สปป.ลาว พร้อมทำงานร่วมกัน กระตุ้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม (CPV) Nguyen Phu Trọng, ประธานพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) Samdech Techo Hun Sen และเลขาธิการพรรคปฏิวัติประชาชนลาว (LPRP) ประธานาธิบดี Thongloun Sisoulith ร่วมประชุมหารือระหว่างกัน ณ กรุงฮานอย เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (6 ก.ย.) โดยได้กำหนดกรอบการดำเนินงานที่สำคัญ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระชับและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภาคีเครือข่ายอย่าง เวียดนาม กัมพูชา และ สปป.ลาว ภายใต้สถานการณ์ในระดับภูมิภาคและระดับโลกที่มีความผันผวนมากขึ้น รวมถึงกำลังวางแผนร่วมกันที่จะพัฒนาในหลายสาขาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความสัมพันธ์ทางการเมือง ความร่วมมือด้านการป้องกันและความมั่นคงที่มีประสิทธิผล ความก้าวหน้าเชิงบวกในด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ การศึกษา และความร่วมมือทางเทคนิค ร่วมกับภาคเอกชน และท้องถิ่นของทั้งสามประเทศ ซึ่งอาศัยศักยภาพและจุดแข็งของแต่ละประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_VietnamCambodiaLaos175_23.php