MEF ชี้เศรษฐกิจกัมพูชายังคงแข็งแกร่ง

กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชา คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาที่ร้อยละ 5.6 ในปีนี้ โดยเติบโตจากภาคบริการและการส่งออกสินค้ากลุ่มที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่มที่มีการขยายตัว ท่ามกลางปัจจัยภายนอกที่ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เช่น ผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ-จีน รวมถึงนโยบายการเงินที่เข้มงวดจากประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทั่วโลกและเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจกดดันให้ภาคการส่งออกของกัมพูชาชะลอตัวลง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้ากลุ่มสำคัญต่างๆ สำหรับระบบเศรษฐกิจของกัมพูชาในปัจจุบันเน้นพึ่งพาการส่งออกเครื่องนุ่งห่ม ภาคการเกษตร อสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้าง และภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ กัมพูชาดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 2.57 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 409 จากจำนวน 506,762 คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการคาดการณ์ล่าสุดของกระทรวงการท่องเที่ยวคาดว่าในปี 2023 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นไปแตะ 5 ล้านคน ภายในสิ้นปี หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 120 จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีก่อนที่ 2.27 ล้านคน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501340003/economy-to-stay-healthy-this-year-says-mef/

นักวิเคราะห์หวั่น ประเทศผู้ส่งออกข้าวส่อหยุดส่งออกตามรอยอินเดีย-ดันราคาพุ่ง

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การระงับส่งออกข้าวของอินเดียสร้างความหวาดหวั่นให้ตลาดโลก เนื่องจากทำให้ซัพพลายข้าวหายไปจากตลาดโลกถึง 10 ล้านตัน ส่งผลให้เกิดความวิตกว่าประเทศผู้ส่งออกข้าวต่าง ๆ อาจระงับการส่งออกข้าวตามรอยอินเดียไปด้วยเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาข้าวขาดแคลนภายในประเทศ นักวิเคราะห์ระบุว่า มาตรการจำกัดการส่งออกล่าสุดของอินเดียแทบจะเหมือนกับมาตรการก่อนหน้านี้ของอินเดียเมื่อปี 2550 และ 2551 ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ หลังประเทศอื่น ๆ ถูกบีบให้จำกัดการส่งออกในลักษณะเดียวเพื่อปกป้องผู้บริโภคในประเทศ ในเวลานี้ ผลกระทบต่อซัพพลายและราคาข้าวอาจยิ่งกระจายตัวกว้างขวางมากขึ้น เนื่องจากอินเดียในตอนนี้ครองสัดส่วนการค้าข้าวโลกมากกว่า 40% เพิ่มจากสัดส่วนประมาณ 22% เมื่อ 15 ปีก่อน สร้างแรงกดดันให้ประเทศผู้ส่งออกข้าว อาทิ ไทยและเวียดนามต้องระงับส่งออก ด้านนักวิเคราะห์และผู้ค้ากล่าวว่า ผลกระทบที่มีต่อราคาข้าวนั้นรวดเร็วอย่างมาก โดยราคาข้าวดีดตัวขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี หลังจากอินเดียได้สร้างความตกตะลึงให้กับประเทศผู้ซื้อโดยการประกาศระงับการส่งออกข้าวหลากหลายสายพันธุ์ที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อควบคุมราคาข้าวในประเทศที่พุ่งสูงขึ้น

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/iq34/3444442

‘ทูน่าเวียดนาม’ ส่งออกไปยังอิตาลีพุ่ง เหตุแรงจูงใจด้านภาษี

กรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าการส่งออกปลาทูน่าของเวียดนามไปยังตลาดอิตาลีในเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้น 12 เท่า เนื่องจากได้รับอัตราภาษีพิเศษที่อยู่ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ทั้งนี้ สมาคมผู้ส่งออกและผู้ผลิตอาหารทะเลของเวียดนาม (VASEP) ประเมินว่าอิตาลีนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องจากเวียดนามมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของมูลค่าการส่งออกปลาทูน่าไปยังอิตาลี นอกจากนี้ยังมีการส่งออกเนื้อปลาทูน่าแช่แข็งหรือเนื้อปลาแบบฟินเล รหัสศุลกากร HS0304 ไปยังตลาดอิตาลี เพิ่มขึ้น 71% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-tuna-exports-to-italy-skyrocket-due-to-tax-incentives-post1038172.vov

‘เวียดนาม’ โตทุ่มตลาด เตรียมจ่อเก็บภาษีน้ำตาลจากไทย

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) เปิดเผยว่าเป็นครั้งแรกที่กระทรวงฯ ทำการทบทวนการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนน้ำตาลจากไทย โดยได้ออก Decision No. 1989/QD-BCT มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2566 – 15 มิถุนายน 2569 ทั้งนี้ ผลการบังคับจะมีผลต่อบริษัทไทยบางแห่ง ได้แก่ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด และบริษัทในเครือ 4 แห่ง ตามมาด้วยบริษัท ซีซาร์นิโคว, บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด และบริษัทในเครืออีก 5 แห่ง ด้วยเหตุนี้ จากการพิจารณามาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด พบว่าอากรตอบโต้การทุ่มตลาด เรียกเก็บขั้นต่ำ อยู่ที่ 25.73% และอัตราสูงสุดที่ 32.75% นอกจากนี้ ภาษีต่อต้านการอุดหนุน อยู่ที่ 4.65%

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnam-to-impose-anti-dumping-duty-on-sugar-imports-from-thailand/

‘MAEX’ ทำสถิติการซื้อขายสูงสุดในตลาดหุ้นเมียนมา

บริษัทเกษตรเมียนมา (Myanmar Agro Exchange Public Limited : MAEX) จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2566 และมีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดในบรรดาบริษัทจดทะเบียน 8 แห่งในตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้ง (YSX) ในเดือนก.ค. โดยราคาพื้นฐานของบริษัท MAEX อยู่ที่ 1,800 จ๊าตต่อหน่วย ราคาเคลื่อนไหวอยู่ที่ระหว่าง 1,550-2,050 จ๊าตต่อหน่วย และจากรายงานประจำเดือนของตลาดหลักทรัพย์ พบว่าตลาดหุ้นมีแนวโน้มที่จะเป็นขาขึ้น ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 2,068 พันล้านจ๊าตในเดือน ก.ค. นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งเมียนมา (SECM) ได้อนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถลงทุนในตลาดหุ้นในประเทศได้ ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป โดยการมีส่วนร่วมของนักลงทุนต่างชาติจะทำให้ปริมาณเงินไหลเข้ามากขึ้น และเป็นการลงทุนระยะยาวและมีความยั่งยืน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/mrf-to-sell-off-170000-rice-sacks-under-subsidy-scheme/#article-title

EXIM Bank พร้อมหนุนการเงิน AMATA City Lao สร้างเมืองอัจฉริยะ

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) พร้อมสนับสนุนทางด้านการเงินแก่ บริษัท อมตะซิตี้ ลาว จำกัด (AMATA City Lao) ผ่านการร่วมลงนามในสัญญาสนับสนุนทางการเงินมูลค่า 150 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับซื้อที่ดินและพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม อมตะ สมาร์ท แอนด์ อีโค ซิตี้ นาเตย ในแขวงหลวงน้ำทาทางตอนเหนือของ สปป.ลาว ด้านบริษัท AMATA City Lao ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม AMATA ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมใน สปป.ลาว ด้วยความเล็งเห็นในศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในการสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยนโยบายการปล่อยของเสียเป็นศูนย์ (Zero Waste Discharge) ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ สมาร์ท แอนด์ อีโค ซิตี้ นาเตย มุ่งสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ (Low Carbon City) ในระยะยาว บนพื้นฐานของการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามกรอบแนวคิด “ALL WIN” โดยโครงการนี้ออกแบบมาเพื่อรองรับนักลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงโลจิสติกส์และคลังสินค้า เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก การแปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนเคมีภัณฑ์และยา ด้านการลงทุนบริษัทวางแผนที่จะใช้เงิน 500 ล้านดอลลาร์ ในการพัฒนาที่ดินเฟสแรกครอบคลุมพื้นที่ 8,075 ไร่

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_153_Investor_y23.php

ครึ่งแรกของปี กัมพูชาจัดเก็บภาษีแตะ 2.79 ล้านดอลลาร์

ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ กัมพูชาจัดเก็บภาษีโดยภาพรวมได้ประมาณกว่า 2.79 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 49.1 ของเป้าหมายในการจัดเก็บภาษีประจำปี ตามรายงานของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง โดยปัจจุบันกัมพูชามีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดเก็บภาษี 2 แห่ง ได้แก่ General Department of Taxation (GDT) ซึ่งเน้นภาษีภายใน เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีโรงเรือน และอีกแห่งคือ General Department of Customs and Excise (GDCE) เน้นการจัดเก็บภาษี สินค้าเข้า-ออกประเทศ ซึ่งกระทรวงระบุว่ารายได้ภาษีที่จัดเก็บโดย GDCE มีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 1.12 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 41.4 ของเป้าหมายในการจัดเก็บภาษีลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การจัดเก็บภาษีของ GDT สูงถึงประมาณกว่า 1.67 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 56.1 ของเป้าหมาย เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.9 โดยการจัดเก็บรายได้ภาษีที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการปฏิรูประบบภาษี รวมถึงการพัฒนาให้บริการแก่ผู้เสียภาษีและบริการจดทะเบียนที่สะดวกมากยิ่งขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501339088/kingdom-collects-2-79-billion-in-tax-revenue-in-1h/

TOYOTA พร้อมดำเนินการผลิตชุดสายไฟรถยนต์ในปอยเปตกัมพูชา

Chea Vuthy รองเลขาธิการ สภาเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชา (CDC) กล่าวในแถลงการณ์ว่าปัจจุบัน Toyota Tsusho Corporation (Toyota Tsusho) วางแผนที่จะเริ่มผลิตชุดสายไฟสำหรับรถยนต์ในกัมพูชา ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษปอยเปต โดยได้กำหนดไว้ในช่วงเดือนธันวาคมปีนี้ สำหรับ บริษัท Toyota Tsusho Corporation ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียวและตลาดหลักทรัพย์นาโกย่า ซึ่งโครงการดังกล่าวคาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างมูลค่าประมาณ 36.7 ล้านดอลลาร์ โดยมีแผนที่จะรับสมัครพนักงานทั้งในและต่างประเทศประมาณกว่า 800 คน เพื่อทำงานในโครงการดังกล่าว ด้าน Aun Pornmoniroth รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง และประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจและการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดให้อุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์เป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของกัมพูชาในห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก รวมถึงส่งเสริมความหลากหลายทางเศรษฐกิจในประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501339087/toyota-to-produce-auto-wire-harness-in-poipet/

‘ซีไอเอ็มบี’ ชี้ไทยแห่ลงทุนนอก หวัง ‘ขยายตลาด-ดันรายได้โต’

นายวุธว์ ธนิตติราภรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บรรษัทธุรกิจและธุรกรรมการเงิน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนต่างประเทศของลูกค้ารายใหญ่ ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ยังเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทไทยที่มีแผนชัดเจนจะไปเปิดตลาดในต่างประเทศ ในหลากหลายภาคธุรกิจ ได้แก่ พลังงาน ปิโตรเคมี ค้าปลีก อุตสาหกรรมยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม และเกษตรแปรรูป เป็นต้น ทั้งนี้รูปแบบของการออกไปขยายตลาดต่างประเทศมีครบทุกรูปแบบ ทั้งการลงทุนขยายกิจการ เช่น การสร้างโรงงาน ,การร่วมลงทุนกับพันธมิตร และการทำ M&A ซึ่งปัจจัยทางการเมืองของแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียนรวมถึงการเมืองไทย เป็นเพียงปัจจัยเสี่ยงหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ธนาคารมีลูกค้ารายใหญ่ที่ต้องการขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน รูปแบบ M&A อีก 3-4 ดีล มูลค่าการลงทุนต่อรายเฉลี่ย 500 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป หรือราว 1,700 ล้านบาท คาดว่าสิ้นปีนี้ธนาคารมีโอกาสปิดดีล M&A ได้ราว 2-3 ดีล  ซึ่งเป็นส่วนผลักดันสินเชื่อการลงทุนต่างประเทศใกล้แตะระดับ 100,000 ล้านบาท ทั้งนี้จากการทำงานของธนาคารที่เป็นสะพานเชื่อมพาลูกค้าไปขยายตลาดต่างประเทศต่อเนื่องหลายปี พบว่า อุปสรรคที่ทำให้บริษัทไม่ออกไปเปิดตลาดหรือขยายธุรกิจ คือ 1. ด้านกฎระเบียบ กฏเกณฑ์ 2. ความเสี่ยงทางการเมืองและนโยบายของประเทศที่ไปลงทุน 3. การแข่งขันในตลาดของแต่ละประเทศ 4. ด้านวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น 5. ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและธุรกรรมการเงิน

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1082568

‘สพพ.’เพิ่มช่วยเหลือ สปป.ลาว ฝึกคนขับรถไฟ – ทำแผนธุรกิจสถานี‘บ้านคำสะหวาด’

นายพีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการ ก่อสร้างทางรถไฟสายท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ ระยะที่ 2 ส่วนที่ 2 (รถไฟไทย-ลาว)  สถานีรถไฟเวียงจันทน์ บ้านคำสะหวาด ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการระยะแรกของเส้นทาง ว่าขณะนี้โครงการแล้วเสร็จเรียบร้อยและอยู่ระหว่างรอกำหนดการจากทั้งสองประเทศคือไทย และสปป.ลาวที่จะกำหนดให้มีการเปิดใช้สถานีอย่างเป็นทางการ โดยจากการหารือกันระหว่าง สพพ. และตัวแทนรัฐบาลจาก สปป.ลาว ซึ่งได้ร้องขอให้ไทยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมในเรื่องของการฝึกอบรมพนักงานขับรถไฟ ช่วยทำแผนธุรกิจเตรียมเปิดสถานีบ้านคำสะหวาด เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่ขออนุมัติเงินกู้ 1.8 พันล้าน ให้ สปป.ลาว พัฒนาเส้นทางหมายเลข 12 (R12) เชื่อมนครพนม – ลาว – เวียดนาม เพิ่มมูลค่าการค้า 3 ประเทศ

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1082354