“เมียนมา” เผยปี 65-66 ส่งออกถั่วพุ่ง 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามข้อมูลสถิติของกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าในช่วงปีงบประมาณ 2565-2566 เมียนมาส่งออกถั่วพัลส์ (Pulses) ไปยังต่างประเทศกว่า 1.9 ล้านตัน ทำรายได้ราว 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และหากพิจารณาช่องทางการค้าของสินค้าดังกล่าว พบว่าในปีที่แล้ว เมียนมาส่วนใหญ่ส่งออกถั่วพัลส์และถั่วชนิดอื่นๆ ผ่านทางทะเล ปริมาณมากกว่า 1,640,777.1 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านผ่านด่านพรมแดนทางบก ปริมาณ 1,919,156.1 ตัน มูลค่า 1.47 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ อินเดียมีความต้องการและบริโภคถั่วดำและถั่วแระมากขึ้น โดยอินเดียนำเข้าถั่วดำจากเมียนมา 250,000 ตัน และถั่วแระ 100,000 ตัน เป็นเวลา 5 ปีติดต่อกัน ตั้งแต่ทั้งสองประเทศร่วมลงนาม MOU เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2565

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-bags-over-1-4-bln-from-pulses-exports-in-past-fy2022-2023/#article-title

เกาหลีมอบเงินทุนสนับสนุนในการพัฒนาชนบทภายใน สปป.ลาว

องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งเกาหลี (KOICA) มอบเงินสนับสนุนให้แก่ สปป.ลาว ในการพัฒนาชนบทมูลค่า 12.5 ล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ เวียงจันทน์ เชียงขวาง และบอลิคำไซ เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตและเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชนผ่านโครงการสนับสนุนดังกล่าว ซึ่งกำหนดกรอบระยะเวลาในการสนับสนุนตั้งแต่ปี 2021-2025 ใน 14 หมู่บ้าน และ 7 แขวง ของแขวงเชียงขวาง บอลิคำไซ และเวียงจันทน์ โดยจุดมุ่งหมายของโครงการคือการสนับสนุนการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการเกษตร ป่าไม้ และการพัฒนาชนบท พร้อมเสริมสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่ในส่วนกลางและระดับท้องถิ่นในการดำเนินการตามแผน สำหรับ KOICA ยังได้ให้การสนับสนุน สปป.ลาว ผ่านโครงการต่างๆ อีกมากมายไม่ว่าจะเป็นทางด้านสุขภาพ การศึกษา เศรษฐกิจ และการเกษตร ในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_SKorea69.php

2022 กัมพูชานำเข้าผ้าผืนจากไทยพุ่งแตะ 157 ล้านดอลลาร์

แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะสร้างความผันผวนให้กับภาคการค้าระหว่างประเทศ แต่การส่งออกเครื่องแต่งกายของกัมพูชาไปยังไทยกลับเพิ่มขึ้นไปแตะที่มูลค่า 57.6 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวถึงร้อยละ 40.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าผ้าผืนของกัมพูชาจากไทยก็ปรับตัวขึ้นเช่นกันอยู่ที่มูลค่า 157 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 27.6 ในปี 2022 ซึ่งไทยยังคงเป็นแหล่งนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตเสื้อผ้าที่สำคัญ โดยเฉพาะ ผ้าผืน เส้นด้าย และเส้นใย ขณะที่ปี 2025 กัมพูชาและไทยได้ตั้งเป้าที่จะผลักดันให้ปริมาณการค้าทวิภาคีขึ้นไปแตะที่ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501269748/cambodias-fabric-imports-from-thailand-at-157-million-in-2022/

โฆษกรัฐบาลกัมพูชาคาดภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวหลังจีนเปิดประเทศ

Phay Siphan โฆษกรัฐบาลกัมพูชา กล่าวว่า การปรับกลยุทธ์ป้องกันโควิด-19 ของจีน จะเป็นส่วนสำคัญในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมภาคการท่องเที่ยวทั้งในประเทศต่างๆ ด้วยจำนวนประชากรที่มีมากกว่า 1.4 พันล้านคน สำหรับภาคการท่องเที่ยวของกัมพูชาถือเป็นหนึ่งในสี่เสาหลักทางเศรษฐกิจของกัมพูชา โดยนักท่องเที่ยวจีนเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชาในช่วงเกิดการแพร่ระบาด ซึ่งรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยวได้ระบุไว้ว่าในช่วงปี 2019 กัมพูชาให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีนกว่า 2.36 ล้านคน หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 35.7 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางเข้ามาในประเทศ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าประเทศประมาณ 1.8 พันล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาดังกล่าว ขณะที่ปัจจุบันประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 4 ล้านคน คิดเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนอยู่ที่ระหว่าง 800,000 ถึง 1 ล้านคน ภายในปี 2023 ตามการคาดการณ์ของกระทรวงการท่องเที่ยว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501270323/cambodian-government-spokesman-says-chinas-reopening-revives-intl-tourism-market/

“ตลาดแรงงานเวียดนาม” ไตรมาสแรกปี 66 ฟื้นตัวต่อเนื่อง

คุณ Nguyen Trung Tien รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (GSO) เปิดเผยว่าตลาดแรงงานในเวียดนามยังคงรักษาระดับของโมเมนตัมการฟื้นตัวได้ในไตรมาสแรกของปี 2566 ในขณะที่ คุณ Pham Hoai Nam ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติประชากรและแรงงาน กล่าวเสริมว่าอัตราการว่างงานในวัยทำงานลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวน 52.2 ล้านคน สูงกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่ 88,700 คน และเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ล้านคนเมื่อเทียบกับปืที่แล้ว ตามมาด้วยผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปและมีงานทำ มีจำนวน 51.1 ล้านคน สูงกว่าปีที่แล้วที่มีจำนวน 1.1 ล้านคน ทั้งนี้ จำนวนผู้ตกงานในวัยทำงาน มีจำนวนราว 885,500 คน ลดลง 12,400 คน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่จำนวนผู้ว่างงาน อยู่ที่ 1.05 ล้านคน ลดลง 34,600 คน เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/labour-market-continues-recovering-in-q1/251136.vnp

“เวียดนาม” เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ไตรมาส 1/2566 หดตัวลง

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (IIP) ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 ปรับตัวลดลง 2.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องมาจากได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่อภาคการผลิตในประเทศและการดำเนินกิจการ โดยเฉพาะสาขาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ลดลงมากที่สุด 4.4% รองลงมาภาคการผลิตและแปรรูป 2.4% ในขณะที่ภาคการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าลดลง 1% อย่างไรก็ดี ภาคการจัดหาน้ำ บำบัดน้ำเสียและการจัดการ เพิ่มขึ้น 7% ตลอดจนดัชนีการอุปโภคของภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน ส่งผลให้สินค้าคงคลังในไตรมาสแรก เพิ่มขึ้น 19.8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และจากสถานการณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมการผลิตและธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างมาก นอกจากนี้ การแข่งขันทางเศรษฐกิจและสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรง รวมถึงความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาเชื้อเพลิงและต้นทุนโลจิสติกส์ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการในประเทศ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/industrial-production-index-fell-in-q1-post1012161.vov

“เมียนมา” เผยราคาข้าวโพดในประเทศ ขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ตามข้อมูลของหอการค้าและอุตสาหกรรมในเมืองย่างกุ้ง ณ วันที่ 6 เม.ย. เปิดเผยว่าราคาข้าวโพดปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 1,200 จั๊ตต่อ viss ผู้ค้าข้าวโพดรายหนึ่งกล่าวว่าความต้องการข้าวโพดที่แข็งแกร่งและราคาข้าวโพดที่สูงขึ้นในตลาดไทย โดยตลาดไทยเป็นผู้ซื้อหลักข้าวโพดจากเมียนมาและยังได้ผลักดันราคาให้สูงขึ้น ทั้งนี้ ในปัจจุบัน เมียนมาส่งออกข้าวโพดไปจีนและไทยผ่านด่านพรมแดน ตลอดจนส่งออกข้าวโพดไปยังจีน อินเดีย เวียดนามและฟิลิปปินส์ผ่านทางเรืออีกด้วย นอกจากนี้ ประเทศไทยอนุญาตให้นำเข้าข้าวโพดภายใต้ภาษีศุลกากรเป็นศูนย์ (แบบ Form-D) ระหว่างวันที่ 1 ก.พ. – 31 ส.ค. อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้กำหนดอัตราภาษีสูงสุดที่ 73% สำหรับการนำเข้าข้าวโพด เพื่อปกป้องสิทธิของผู้เพาะปลูกในประเทศ หากมีการนำเข้าข้าวโพดในช่วงฤดูข้าวโพดของประเทศไทย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/corn-price-moves-slightly-up-in-domestic-market/#article-title

สปป.ลาว-คิวบา ร่วมมือพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ผู้แทนสถาบันการต่างประเทศของกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว และสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ภายใต้กระทรวงการต่างประเทศคิวบา ได้ลงนามในข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยข้อตกลงดังกล่าวลงนามโดยผู้อำนวยการสถาบันการต่างประเทศ Mr. May Xayavong และเอกอัครราชทูตคิวบาประจำ สปป.ลาว Ms. Enna Esther Viant Valdes ซึ่งมี Mr. Thongphan Savanphet รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยาน โดยข้อตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างสองประเทศ ทั้งในระดับกระทรวง รวมถึงความร่วมมือกับสถาบันคิวบาผ่านการฝึกอบรม ยกระดับทักษะวิชาชีพของนักการทูต การวิจัย และการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างทั้งสองฝ่าย ซึ่งในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา สปป.ลาวและคิวบา ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือหลายฉบับในด้านการเมือง กิจการสังคมและเศรษฐกิจ สุขภาพ การศึกษา กีฬา ข้อมูล และด้านอื่นๆ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Laos68.php

สมาคมชาวจีนตั้งเป้าลงทุนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกัมพูชา

สมาคม Global Alliance of SMEs ของจีน กำลังมองหาโอกาสการลงทุนภายในกัมพูชา โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กล่าวโดย Cao Fang เลขาธิการ Global Alliance of SMEs ในระหว่างการประชุมกับ Thong Khon รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว ณ กรุงพนมเปญ ซึ่งสมาคมมีเป้าหมายที่จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชากับจีนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างกัน ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวได้เน้นย้ำถึงความพร้อมและสิ่งที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนจากต่างประเทศ โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2023 กัมพูชาได้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 1.2 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน 120,000 คน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501269103/chinese-association-looks-into-cambodias-tourism-investment/

ภาคการค้าและการท่องเที่ยว ยังคงเป็นส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจกัมพูชา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชาได้เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของภาคการค้าและการท่องเที่ยวกัมพูชาต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศ ซึ่งได้กล่าวไว้ในระหว่างการสัมมนาในหัวข้อ Economic Outlook for Southeast Asia, China and India 2023: Reviving Tourism Post-Pandemic ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) โดยภาคการค้าถือเป็นส่วนช่วยเพิ่มโอกาสในการจ้างงาน สร้างรายได้ และเป็นส่วนสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานอาหารและสินค้าของกัมพูชา ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวถือเป็นแรงขับเคลื่อนด้านการบริการ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลกัมพูชามีความพยายามเป็นอย่างมากในการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีทั้งระดับพหุภาคี, ภูมิภาค, อนุภูมิภาค และทวิภาคี เพื่อสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศ ขณะที่ OECD ได้ระบุว่าเศรษฐกิจของกัมพูชาจะขยายตัวประมาณร้อยละ 6.3 ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.5 ในปี 2022 โดยความท้าทายต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ยังคงเป็นแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501269119/trade-and-tourism-sector-important-for-economic-growth/