‘เวียดนาม-ลาว’ ตั้งเป้าการค้าทวีภาคีทะลุ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เวียดนามและสปป.ลาว คาดว่าจะบรรลุการค้าทวิภาคี 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเร็วๆนี้ เหตุจากในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศ อยู่ที่ 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 28.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว การประชุมจัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าของลาว กล่าวว่างานประชุมครั้งนี้เปิดโอกาสให้รับฟังข้อกังวลของภาคธุรกิจ และส่งเสริมความร่วมมือในทุกมิติทั้งด้านนโยบาย วิธีการดำเนินงานและกฎหมาย เพื่อช่วยเหลือธุรกิจเอกชนให้สามารถยกระดับการผลิตและการส่งออกได้ ทั้งนี้ คุณ Do Quoc Hung รองสำนักงานตลาดเอเชีย-แอฟริกาของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม กล่าวว่าสปป.ลาว อยู่ในอันดับที่ 78 ของประเทศที่เวียดนามเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ ในขณะเดียวกัน เวียดนามก็เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ในสปป.ลาว โดยงานดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การบรรลุเป้าหมายทางการค้าระหว่างสองประเทศ และความร่วมมือทางการตลาดและด้านพลังงาน

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-laos-eye-us2-billion-in-two-way-trade-post986596.vov

‘เวียดนาม’ พัฒนาอาคารสีเขียว มุ่งสู่ลดคาร์บอนเป็นศูนย์

เวียดนามตั้งเป้าที่จะเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมเป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยเป้าหมายดังกล่าว นาย ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้กล่าวในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ซึ่งจะเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์สีเขียวของชาติ ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ระทรวงการก่อสร้างได้อนุมัติแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปี 2022-2030 ในขณะที่ตามรายงานของกระทรวงฯ ระบุว่าในปัจจุบัน เวียดนามมีอาคารสีเขียวทั้งสิ้น 230 แห่ง ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนอาคารที่สร้างไว้แล้ว อาคารสีเขียวยังมีส่วนสำคัญที่จะตอบสนองความต้องการพลังงานสูงขึ้นในอนาคตและปกป้องสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-developing-green-buildings-towards-net-zero-emissions/244464.vnp

1 เม.ย.ถึง 18 พ.ย.65 การค้าระหว่างประเทศเมียนมา พุ่งแตะ 21.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์เมียนมาเผย ระหว่างวันที่ 1 เมษายนถึง 18 พฤศจิกายน 2565 ของปีงบประมาณ 2565-2566 การค้าระหว่างประเทศของเมียนมา พุ่งขึ้นถึง 21,468 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเป็นการส่งออก 10.427 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่การนำเข้าอยู่ที่ 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้านการค้าชายแดนเพิ่มขึ้น 89.595 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่การค้าทางทะเลเพิ่มขึ้นถึง 3.8 พันล้านดอลลาร์ โดยสินค้าส่งสำคัญ ได้แก่ ผลิตผลทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากป่า และสินค้าอุตสาหกรรมสำเร็จรูป ส่วนการนำเข้าจะเป็นสินค้าทุน วัตถุดิบอุตสาหกรรม และสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ในช่วงปีงบประมาณ 2563-2564 การค้าระหว่างประเทศของเมียนมาอยู่ที่ 29.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนปี งบประมาณย่อย 2564-2565 (เดือนต.ค.2564-เดือนมี.ค.2565) อยู่ที่ 15.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-foreign-trade-surges-to-over-21-46-bln-as-of-18-nov/#article-title

กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ทุ่ม 4 พันล้านพัฒนาสนามบิน ท่องเที่ยวฟื้น! รับผู้โดยสารทะลัก

นายปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยแผนพัฒนาสนามบินภูมิภาคทั้ง 29 แห่ง ปี 66 ว่า หลังสายการบินเริ่มเพิ่มเที่ยวบิน ทำให้ ทย.มีเป้าหมายดำเนินการดังนี้ 1.เร่งขยายขีดความสามารถสนามบินภูมิภาคให้มีศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น ซึ่งมีแผนลงทุนรวมกว่า 4,568 ล้านบาท รองรับปริมาณผู้โดยสาร รวม 41 ล้านคนในปี 66 และ 2.เพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้โดยสาร และสายการบินที่มาใช้บริการ ด้วยการเปิดให้บริการเคาน์เตอร์เช็กอินร่วมสายการบิน ส่วนการขยายขีดความสามารถของสนามบินภูมิภาค มีดังนี้ สนามบินกระบี่เปิดให้บริการอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 1-3 รองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 คนต่อ ชม. หรือ 8 ล้านคนต่อปี สนามบินขอนแก่นเปิดอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ รองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 2,000 คนต่อ ชม. หรือ 5 ล้านคนต่อปี สนามบินนครศรีธรรมราชเปิดอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ รองรับผู้โดยสารเป็น 1,600 คนต่อ ชม. หรือ 4 ล้านคนต่อปี ส่วนการเปิดให้บริการเคาน์เตอร์เช็กอินร่วมสายการบินนั้น ขณะนี้ ทย.ได้พัฒนาระบบให้เป็นเคาน์เตอร์เช็กอินร่วมแล้ว 6 สนามบิน.

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2564078

สปป.ลาว จับมือ กัมพูชา ยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีร่วมกัน

รัฐบาลของกัมพูชาและสปป.ลาว ลงนามความร่วมมือทวิภาคีเพื่อประโยชน์ของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งคำมั่นสัญญาดังกล่าวมีขึ้นในการประชุมระหว่างสมเด็จเฮง สัมริน ประธานสภาแห่งชาติกัมพูชา และนายสายสมพอน พมวิหาน ประธานสภาแห่งชาติสปป.ลาว ที่ได้เยือนกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา ทั้งนี้ผู้นำทั้งสองให้คำมั่นสัญญาว่าจะส่งเสริมความร่วมมือแบบรัฐต่อรัฐ การพัฒนาเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ

ที่มา: https://english.news.cn/20221125/a46c029fa77f47df8b9f007ef7239258/c.html

‘เวียดนาม’ เปิดตัวแอปอีคอมเมิร์ซของอุตสาหกรรมเครื่องกล

แอปอีคอมเมิร์ซสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลของเวียดนามได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว ชื่อว่า “ซุปเปอร์มาร์เก็ตเครื่องกล” โดยมีเป้าหมายที่จะนำการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลมาสู่ชีวิตของผู้คนมากขึ้นและเป็นศูนย์รวมจำหน่ายสินค้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ คุณ Nguyen Nhut Minh Tri ตัวแทนของทีมพัฒนาแอปพลิเคชั่น กล่าวว่าแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเวียดนามมักประสบปัญหาเกี่ยวกับการค้นหาอุปกรณ์ชิ้นส่วน ซึ่งแทบไม่มีสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ นั่นคือเหตุผลที่เริ่มต้นแอปนี้ และยังเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแห่งแรกสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องกลในเวียดนาม

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnam-launches-e-commerce-app-for-mechanical-industry-post120183.html

‘เวียดนาม’ ส่งออกไปยุโรป 10 เดือนแรกปี 65 พุ่ง 23.5%

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) เปิดเผยตัวเลขการค้าระหว่างเวียดนามและตลาดสหภาพยุโรป (EU) อยู่ที่ 52.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัว 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออก 39.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 23.5% (YoY) โดยปัจจุบันตลาดอียูเป็นคู่ค้าเบอร์ต้นๆ ของเวียดนามและเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่อันดับที่ 3 ด้วยอัตราการเติบโตของการส่งออกที่ 7.5% คิดเป็นสัดส่วน 13.6% ของมูลค่าการส่งออกรวมของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2558-2564

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnams-exports-to-eu-grow-235-in-ten-months-post985857.vov

7 เดือนแรกของ ปีงบฯ 65-66 เมียนมาขาดดุลการค้า 678.226 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ระหว่างวันที่ 1 เมษายนถึง 11 พฤศจิกายน 2565 ของปีงบประมาณปัจจุบัน 2565-2566 เมียนมาขาดดุลการค้า 678.226 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเมื่อเทียบบประมาณ 2564-2565  ที่เมียนมาเกินดุลการค้า 315.991 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย 7  เดือนที่ผ่านมา เป็นการส่งออกประมาณ 10.072 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการนำเข้าอยู่ที่ 10.751 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมูลค่าการค้าทางทะเลของเมียนมาเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 12.29 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณก่อน แต่การค้าชายแดนลดลงเล็กน้อยเหลือ 62.637 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากการค้าชายแดนกับจีนกลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังจากการระบาดของ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย ทั้งนี้สินค้าส่งออกหลักของเมียนมา คือ ผลผลิตทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากป่า และสินค้าอุตสาหกรรมสำเร็จรูป ส่วนการนำเข้า คือ สินค้าทุน วัตถุดิบอุตสาหกรรม และสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์เมียนมาพยายามลดการนำเข้าสินค้าที่ฟุ่มเฟือย โดยเน้นการนำเข้าสินค้าจำเป็น วัสดุก่อสร้าง สินค้าทุน วัสดุสำหรับสุขภาพหรืออนามัย แทน

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-registers-trade-deficit-of-678-226-mln-as-of-11-november/

เงินเฟ้อทำคน สปป.ลาว กังวลหนักเรื่องค่าครองชีพ

ราคาสินค้าเกือบทุกประเภท เช่น อาหาร พลังงาน ไปจนถึงการขนส่ง ใน สปป.ลาว ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 19.69 ในช่วง 10 เดือนแรกของปี ซึ่งในเดือนตุลาคมเพียงเดือนเดียว ราคามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 36.75 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.05 ที่ได้มีการบันทึกไว้ในเดือนกันยายน และร้อยละ 30.01 ในเดือนสิงหาคม ตามรายงานล่าสุดจากสำนักงานสถิติ สปป.ลาว โดยราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลก ความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจและการอ่อนค่าของค่าเงินกีบ เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ผลักดันอัตราเงินเฟ้อใน สปป.ลาว ส่งผลทำให้ต้นทุนค่าครองชีพของคนในประเทศ สปป.ลาว ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เป็นที่น่ากังวลของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อได้รับการปรับขึ้นเป็นร้อยละ 17 ภายในสิ้นปี 2022 จากราคาน้ำมันที่สูงกว่าที่คาดการณ์ และค่าเงินกีบอ่อนค่าลงตามรายงานล่าสุดของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB)

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten228_Inflation.php

ธุรกิจกว่า 19,300 แห่ง เข้าจดทะเบียนกับกระทรวงเศรษฐกิจ และการคลังกัมพูชา

ธุรกิจมากกว่า 19,300 แห่ง ได้เข้าจดทะเบียนกับกระทรวงเศรษฐกิจ และการคลัง ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน โดยได้รับการอนุมัติด้วยทุนจดทะเบียนรวม 5.51 พันล้านดอลลาร์ ตามรายงานจากระบบการลงทะเบียนธุรกิจออนไลน์ ของกระทรวงเศรษฐกิจ และการคลัง ซึ่งจำนวนมูลค่าการลงทุนตามภาคส่วนนำโดยภาคการก่อสร้างร้อยละ 17 หรือคิดเป็นมูลค่า 963 ล้านดอลลาร์, ภาคอสังหาริมทรัพย์ ร้อยละ 12 มูลค่า 643 ล้านดอลลาร์, กิจกรรมที่ปรึกษาด้านการจัดการร้อยละ 5 มูลค่า 289 ล้านดอลลาร์, ภาคการผลิตร้อยละ 5 มูลค่า 269 ล้านดอลลาร์, กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัยร้อยละ 5 มูลค่า 250 ล้านดอลลาร์ และภาคส่วนอื่นๆ ร้อยละ 56 มูลค่า 3.1 พันล้านดอลลาร์ โดยกระทรวงและสถาบันของรัฐหลายแห่ง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กรมภาษีอากร กระทรวงแรงงานและการฝึกอาชีพ กระทรวงมหาดไทย และสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา ถูกรวมเข้ากับระบบการลงทะเบียนธุรกิจบนแพลตฟอร์มด้วย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Single Portal เพื่อเสริมเป็นทางเลือกให้แก่นักลงทุนและเจ้าของธุรกิจ ให้สะดวกในการเข้าจดทะเบียนเนื่องจากก่อนหน้าได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501189424/over-19300-businesses-registered-with-mef-portal/