ผู้ประกอบการปลื้ม การท่องเที่ยวเมียนมาเห็นแววฟื้นตัวจากโควิด-19

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเมียนมา เฮ ! รัฐบาลประกาศยกเลิกการระงับเที่ยวบินประเทศและมาตรการการต่างๆ ในวันปีใหม่เมียนมา เป็นเวลากว่าสองปีแล้วที่อุตสาหกรรมการบินระหว่างประเทศหยุดให้บริการท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยรัฐบาลจะยกเลิกมาตรการจำกัดเที่ยวบินของประเทศ ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. 2565  ซึ่งตรงกับวันปีใหม่ของเมียนมา (เทศกาลตะจาน) เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวและการจ้างงานของประเทศ พบว่าโรงแรมและเกสต์เฮาส์ริมชายหาดถูกจองเต็มระหว่างวันที่ 9 ถึง 17 เม.ย.2565 ซึ่งธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศกลับมาคึกคักอีกครั้งในช่วงวันหยุดปีใหม่ เนื่องจากเมียนมากำลังจะเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาในเร็วๆ นี้ โดยสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่นักท่องเที่ยวนิยม ได้แก่ พุกาม อินเลย์ ปินดายา และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ส่งผลให้ธุรกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวก็จะกลับสู่ภาวะปกติเช่นกัน  ทั้งนี้ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวต่างเห็นด้วยที่รัฐบาลเมียนมาจะลดข้อจำกัดของการเดินทางในวันขึ้นปีใหม่ของประเทศ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/entrepreneurs-delighted-with-tourism-recovery-from-covid-19/#article-title

 

เวียดนามสนับสนุนการปรับปรุงการชลประทาน เพิ่มความมั่นคงด้านอาหารในสปป.ลาว

การก่อสร้างระบบชลประทานบนพื้นที่ 500 เฮกตาร์ของจังหวัดคำม่วนได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงความมั่นคงด้านอาหารและส่งเสริมการทำการเกษตรเชิงพาณิชย์ในสปป.ลาว โดยจะมีการสร้างหัวปั๊มแบบใช้ไฟฟ้าพร้อมทั้งช่องชลประทาน 2,996 เมตร ยาว 20,665 เมตร 2 ช่อง และเขื่อนกั้นน้ำจากดินถล่ม ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลเวียดนามจำนวน 263 พันล้านดอง และรัฐบาลลาวบริจาค 27,000 ล้านด่อง ต้นทุนโครงการทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 290 พันล้านดอง เมื่อเสร็จสมบูรณ์ จะเพิ่มศักยภาพระบบชลประทานให้แข็งแกร่งขึ้น เสริมสร้างการผลิตในฟาร์มอย่างมีนัยสำคัญและปรับปรุงการเพาะปลูกพืชผลในลักษณะที่ส่งผลให้ได้ผลผลิตสูงขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มความมั่นคงด้านอาหารในสปป.ลาว การก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสองปี โครงการนี้ถูกมองว่ามีความสำคัญทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคม นอกจากนี้เพื่อส่งเสริมมิตรภาพพิเศษระหว่างลาวและเวียดนาม ในปีนี้ รัฐบาลทั้งสองประเทศได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือแปดฉบับในด้านความมั่นคง การควบคุมชายแดน การพัฒนาเศรษฐกิจ การธนาคาร การศึกษา การดูแลสุขภาพ และไฟฟ้า

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten70_Vietnam.php

สถาบันการเงินวอลล์สตรีท ชี้ ‘เวียดนาม’ ติด 1 ใน 3 ตลาดหุ้นร้อนแรงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 65

สถานีโทรทัศน์ CNBC สอบถามนักวิเคราะห์จากโกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) ธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐ และกองทุนยักษ์ใหญ่อย่าง JPMorgan Asset Management เปิดเผยว่าตลาดที่สถาบันการเงินชั้นนำของโลกอยากจะเข้าไปลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด คือตลาดอินโดนีเซีย สิงคโปร์และเวียดนาม ทั้งนี้ คุณ Desmond Loh ผู้จัดการกองทุนของ JPMorgan Asset Management กล่าวว่าเวียดนามเป็นตลาดดาวเด่น (STAR) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประกอบกับเศรษฐกิจมีความยืดหยุ่นและเติบโตได้ดี ถึงแม้จะเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อโรค แต่เศรษฐกิจยังสามารถเติบโตไปในเชิงบวกได้

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1172369/viet-nam-%E2%80%93-one-of-three-hottest-markets-in-southeast-asia-for-2022-wall-street-banks.html

 

‘เวียดนาม’ เผยกิจการไม่พร้อมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

สมาพันธ์แรงงานเวียดนาม (VGCL) ได้เสนอให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 7% ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. แต่คนวงในจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอฉบับนี้ คุณ Bạch Thăng Long รองผู้อำนวยการบริษัท Garment 10 Corp. กล่าวว่าไตรมาสที่ 1 การแพร่ระบาดของเชื้อโรคส่งผลกระทบทางลบต่อการเงินของบริษัท ในขณะที่ต้นทุนเงินเดือนพนักงานที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้กิจการของธุรกิจขนาดเล็กได้รับภาระสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงแนะให้เลื่อนค่าแรงขั้นต่ำจนถึงปี 2566 โดยค่าแรงขั้นต่ำควรปรับเพิ่มขึ้น เพื่อจัดการกับเงินเฟ้อเท่านั้น ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดค่าจ้างแรงงานของเวียดนาม จะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 12 เม.ย. เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อเสนอครั้งนี้ต่อไป

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1172358/firms-not-ready-for-higher-minimum-wages.html

‘จุรินทร์’ลงใต้กระต้นศก. เอกชนเสนอประเด็นให้รัฐช่วย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมทีมเซลส์แมนจ.ยะลา ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่โรงแรมแกรนด์แมนดาริน เบตง อำเภอเบตง มีข้อสรุปดังนี้ โดยประเด็นที่ 1 ต้องการให้ผ่อนปรนผังเมืองยะลา ให้สามารถสร้างห้องเย็นเก็บทุเรียนหรือผลไม้ได้โดยสะดวกขึ้น ไม่ต้องฝากเช่าห้องเย็นที่จังหวัดอื่น ประเด็นที่ 2 ขอให้ภาครัฐช่วยต่ออายุโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ที่ธนาคารออมสินปล่อยกู้ผ่านธนาคารพาณิชย์ และธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการในจังหวัดชายแดนใต้ในอัตรา 1.5% ต่อปี วงเงิน 25,000 ล้านบาท จะหมดอายุในปีนี้ ขอต่อไปอีก 5 ปี คือ 2566-70 ขณะที่ความต้องการแรงงานต่างด้าวเมียนมาและกัมพูชา ได้มีการชี้แจงว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2564 อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวโดยต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1-3 เดือน เนื่องจากเงื่อนไขที่ ศบค. กำหนดเรื่องสถานการณ์โควิด-19

ที่มา: https://www.naewna.com/business/646851

‘ADB’ คาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามปีนี้ โต 6.5%

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชีย ประจำปี 2022 โดยระบุว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในปีนี้อยู่ที่ 6.5% และ 6.7% ในปี 2566 ตามอัตราการฉีดวัคซีนในระดับสูง ทั้งนี้ นาย แอนดรูว์ เจฟฟรีส์ ผู้อำนวยการธนาคารเอดีบี กล่าวว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานเวียดนาม การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในปี 2564 อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งในปีนี้และปีหน้า เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนที่อยู่ในรดับสูง ทำให้กิจกรรมการค้าขายกลับมาดีขึ้น นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเปิดได้อีกครั้งในช่วงกลางเดือนมีนาคมและประกาศยกเลิกการควบคุมเชื้อโรค โดยคาดว่าภาคท่องเที่ยวจะเคิบโตที่ 5.5%

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/adb-forecasts-vietnams-2022-gdp-growth-at-6-5/

ผลสำรวจ ชี้โควิด-19 ทุบการผลิตภาคอุตสาหกรรมเวียดนาม

เอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเวียดนามเดือน มี.ค. ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 51.7 จากระดับของเดือนก.พ.ที่ 54.3 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในเดือนมี.ค. ถึงแม้ว่าภาพรวมนั้น สถานการณ์การผลิตยังอยู่ในเกณฑ์ที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทไม่สามารถรักษาระดับปริมาณการผลิตได้และผลผลิตโรงงานอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน รวมถึงแรงกดดันเงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตลดลง

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1171693/viet-nams-manufacturing-sector-hit-by-wave-of-covid-19-infections.html

 

COVID-19 กระทบการส่งออกทองคำเมียนมา

สมาคมผู้ประกอบการทองคำแห่งภูมิภาคย่างกุ้ง (YGEA) เผย การส่งออกทองคำหยุดชะงักลงเนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้มีการระงับเที่ยวบินระหว่างประเทศ และไม่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการได้มีการเตรียมการส่งออกไว้แล้ว เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตและการติดเชื้อ COVID-19  ลดลงอย่างมาก ทำให้การระงับเที่ยวบินระหว่างประเทศถูกยกเลิกตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย.65 เป็นต้นไป ซึ่งเมื่อคลายมาตรการการเข้าประเทศ คาดว่าตลาดส่งออกทองคำจะฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง นอกจากนี้ การโอนเงินระหว่างประเทศในการซื้อขายทองคำที่มีมูลค่าต่ำกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ จะได้รับอนุญาตให้ใช้ระบบ Telegraph Transfer (TT) ทั้งนี้ตลาดส่งออกทองคำที่สำคัญของเมียนมาคือ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/covid-19-impacts-stop-gold-exports/#article-title

มกอช. นำทีมคณะผู้แทนไทย เป็นเจ้าภาพประชุม EWG-OA เร่งปรับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ให้สอดคล้องกับ 10 ประเทศอาเซียน

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. พร้อมด้วย กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้เข้าร่วมการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรอินทรีย์ของอาเซียน (Expert Working Group for Organic Agriculture : EWG-OA) ครั้งที่ 6 ผ่านระบบทางไกลออนไลน์ ซึ่งในปีนี้สาธารณรัฐสิงคโปร์ทำหน้าที่เป็นประธาน โดยมีประเทศไทยทำหน้าที่รองประธาน และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม โดยการประชุมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรในอาเซียนที่ยั่งยืนมีระบบการจัดการที่จะทำให้เกิดความมั่นใจในความปลอดภัยของผู้บริโภค ลดการสูญเสีย และลดผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการหารือประเด็นที่สำคัญ ประกอบไปด้วย 1. การปรับประสานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ให้เทียบเท่ามาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของอาเซียน (ASOA) 2. การปรับประสานระบบการตรวจสอบรับรองของประเทศสมาชิกเพื่อให้เกิดการยอมรับความเท่าเทียมของระบบของแต่ละประเทศ 3. การส่งเสริมการใช้มาตรฐาน ASOA และการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดเล็กเข้าสู่ตลาดที่มีมูลค่าสูงได้

 

ที่มา : https://mgronline.com/politics/detail/9650000033951

เงินเฟ้อสปป.ลาวพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

อัตราเงินเฟ้อในเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมากกว่าที่คาดการณ์ และเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 ในเดือนมีนาคมราคาในหมวดการสื่อสารและการขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบเดือนที่แล้ว ราคาเชื้อเพลิงและก๊าซเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน และยังมีราคาสินค้าในอีกหลายหมวดที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุมาจากการระบาดของโควิด-19 ประกอบกับราคาน้ำมันที่ผันผวนทำให้ราคาสินค้าต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงในการผลิตหรือการขนส่งเพิ่มขึ้นและค่า kip ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินบาทที่เพิ่มขึ้น เพราะสปป.ลาวยังต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าและวัสดุเข้าเพื่อผลิต เป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น

 

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Investment68.php