กัมพูชารายงานถึงจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงสัปดาห์ก่อนแตะ 2.5 แสนคน

ภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศกัมพูชาดูเหมือนจะเริ่มกลับฟื้นตัวอีกครั้ง ถึงแม้จะมีการแพร่ระบาดของ Omicron อยู่ในปัจจุบันก็ตาม โดยกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชาได้รายงานถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคม รวม 253,876 คน คิดเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 11,688 คน ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติค่อนข้างคงที่ มีเพียงจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยจังหวัดที่นักท่องเที่ยวไปเยือนมากที่สุดคือพระสีหนุ โดยมีการบันทึกจำนวนนักท่องเที่ยวไว้ที่ 37,110 คน, รองลงมาจังหวัดโพธิสัตว์ 28,724 คน, พนมเปญ 28,419 คน, เสียมราฐบัน 27,543 คน, พระตะบอง 23,990 คน, กำปอต 26,136 คน, กำปงสปือ 12,509 คน และแกบจำนวน 11,443 คน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501041576/full-house-cambodia-records-more-than-250000-tourists-last-week/

คาด RCEP กระตุ้นส่งออกกัมพูชาร้อยละ 9-18 ต่อปี

สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับภาคการค้าภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) แสดงให้เห็นว่าการส่งออกของกัมพูชาคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 9.4-18 ต่อปี จากการเข้าเป็นสมาชิกภายใต้ข้อตกลง RCEP ซึ่งจะส่งผลทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกัมพูชาจากที่เคยเติบโตร้อยละ 2 เพิ่มขึ้นเป็นเติบโตร้อยละ 3.8 กล่าวโดย Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ซึ่งปัจจุบัน RCEP ครอบคลุมกลุ่มประชากรประมาณร้อยละ 30 ของโลก คิดเป็นร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั่วโลก และคิดเป็นร้อยละ 28 ของการค้าโลก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501041189/rcep-set-to-boost-cambodia-exports-by-9-18-yearly/

ราคาน้ำมันโลกปรับขึ้น กระทบอุปทานน้ำมันในสปป.ลาว

ต้นทุนเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้นในตลาดโลกกำลังส่งผลกระทบสปป.ลาว ซึ่งโรงกลั่นน้ำมันบางแห่งกำลังกักตุนน้ำมันเชื้อเพลิงโดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างผลกำไร ในขณะเดียวกันธุรกิจสปป.ลาวกำลังประสบปัญหาในการนำเข้าเชื้อเพลิงให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ อีกด้านผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงก็ประสบปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้นเช่นกัน เนื่องจากราคาน้ำมันที่นำเข้าจะสูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันนำเข้าหมายความว่าราคาขายปลีกในประเทศลาวจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งราคาน้ำมันเป็นตัวประกอบในต้นทุนการผลิต ซึ่งหมายความว่าราคาผลิตภัณฑ์ก็จะสูงขึ้นด้วย ทั้งนี้รัฐบาลสปป.ลาวจะพยายามลดต้นทุนโดยการลดค่าธรรมเนียมที่จ่ายให้กับกองทุนบำรุงรักษาถนน การลดภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่จ่ายโดยธุรกิจ เพื่อไม่ให้ราคาพุ่งจนเกินควบคุม ปัจจุบันน้ำมันมีราคา 18,640 – 19,200 กีบต่อลิตร เกรดปกติขายอยู่ที่ 16,380 -17,020 กีบ และดีเซลราคา 14,500 – 15,150 กีบต่อลิตร

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Global51.php

 

ยูเครน-น้ำมันดันค่าสร้างบ้านพุ่ง

นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยถึงแนวโน้มธุรกิจรับสร้างบ้าน ปี 2565 ว่า ภาพรวมตลาดมีสัญญาณที่เป็นบวกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 จากยอดการจองปลูกสร้างบ้านในงานรับสร้างบ้านและวัสดุ Expo 2021 ที่จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนพ.ย. 2564 พบยอดเติบโตขึ้นกว่าปีก่อนถึง 20% จนมาถึงช่วงเดือนม.ค. – ก.พ. 2565 ยังมีผู้บริโภคที่ต้องการปลูกสร้างบ้านติดต่อมายังบริษัทที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตามองปัจจัยต่าง ๆ ที่คาดว่าจะส่งผลต่อต้นทุนบ้าน ทั้งวิกฤตสงครามรัสเซียและยูเครน ต้นทุนราคาน้ำมัน  ในส่วนของสมาคมฯ ประเมินว่า การขึ้นค่าแรงหากไม่เกิน 10-15% จะไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่หากปรับค่าแรงขึ้นถึง 30-40% จะส่งผลค่อนข้างมาก ซึ่งได้มีการเตรียมแผนรับมือไว้ในหลายส่วนด้วยกัน

ที่มา: https://www.naewna.com/business/641396

ธนาคารโลกมอบเงินสนับสนุนให้แก่กัมพูชา ในการพัฒนาระบบสาธารณสุข

ธนาคารโลกอนุมัติเงินสนับสนุนจำนวน 113 ล้านดอลลาร์ ให้แก่กัมพูชา เพื่อการปรับปรุงและพัฒนา การเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพในกัมพูชา โดยคาดว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้มีรายได้ต่ำ จากการสร้างการเข้าถึงบริการสุขภาพแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง ภายใต้คุณภาพ อย่างเท่าเทียม ซึ่งการอนุมัติเงินสนับสนุนในครั้งนี้ถือเป็นระยะที่สองของโครงการ Health Equity and Quality Improvement Project (HEQIP-2) ที่มุ่งเป้าไปที่การพัฒนาหลักประกันทางด้านสุขภาพในต่างประเทศ โดยปัจจุบันกัมพูชากำลังสร้างโครงสร้างการประกันสุขภาพภายในประเทศ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญสู่เป้าหมายในการบรรลุหลักประกันทางด้านสุขภาพในประเทศ ภายในปี 2030

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501040822/cambodia-gets-113-million-world-bank-healthcare-financing/

กัมพูชาส่งออกข้าวแตะ 1 แสนตัน ในช่วง 2 เดือนแลกของปี

กัมพูชาส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2022 กัมพูชาส่งออกข้าวไปแล้วกว่า 103,058 ตัน เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่ได้ส่งออกข้าวไปแล้ว 76,222 ตัน ซึ่งการส่งออกข้าวในเดือนกุมภาพันธ์เพียงเดือนเดียวกัมพูชาส่งออกไปถึง 50,022 ตัน เพิ่มขึ้น 8,073 ตัน หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจีนถือเป็นตลาดหลักสำหรับการส่งออกข้าวของกัมพูชา ซึ่งในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ของปีนี้ กัมพูชาส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนแล้ว 56,385 ตัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501041136/cambodia-achieves-more-than-100000-tons-of-rice-exports-in-january-february/

‘เวียดนาม’ เล็งหาผลประโยชน์จากการลงทุนสหรัฐฯ ด้านพลังงานหมุนเวียน

จากการประชุมสุดยอดธุรกิจเวียดนาม-สหรัฐฯ ณ กรุงฮานอย คุณ  Pham Tan Cong ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมของเวียดนาม (VCCI) เปิดเผยว่าพลังงานเป็นหนึ่งในสาขาเศรษฐกิจที่มีศักยภาพทางในการร่วมมือการลงทุนระหว่างบริษัทเวียดนามและสหรัฐฯ และเชื่อมั่นว่าผู้ประกอบการเวียดนามและสหรัฐฯ มีโอกาสที่ดีในการสร้างความร่วมมือทางด้านก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG), พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางการค้าและความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ทั้งนี้ คุณ Hoang Tien Dung ผู้อำนวยการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กล่าวว่าเวียดนามตั้งเป้าในปี 2573 ว่าจะมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน สัดส่วน 45% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ โดยนายฝ่าม มิงห์ จิ๋ง นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ประกาศว่าเวียดนามได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมพลังงานอย่างยั่งยืนเป็นอันดับแรก

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-seeks-us-investment-in-renewable-energy/223430.vnp

 

500 บริษัทโตเร็วที่สุดในเวียดนาม มองศก.เติบโตเป็นบวก ปี 65

การสำรวจล่าสุดของ Vietnam Report เปิดเผยว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 83.3% ของบริษัทที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุด 500 แห่งในเวียดนาม (FAST500) มองทิศทางเศรษฐกิจเวียดนามปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวเป็นบวก เนื่องจากเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ในขณะเดียวกัน เมื่อสอบถามถึงแนวทางในการดำเนินธุรกิจ พบว่าส่วนใหญ่ 89.2% วางแผนที่จะขยายกิจการ และ 67.6% มีความมั่นใจทางด้านความสามารถทางการแข่งขัน เพราะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้าและลูกค้า รวมถึงผลิตภัณฑ์มีคุณภาพสูงและราคาที่แข่งขันได้ ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทที่อยู่ใน FAST500 ล้วนให้ความสำคัญกับการทำกลยุทธ์ โดยส่วนใหญ่ 91.9% ธุรกิจวางแผนที่จะฝึกอบรมบุคลากร รองลงมา 83.8% ส่งเสริมการขายมากขึ้น, เร่งปรับวิธีการทำงานทางดิจิทัล (67.6%), จ้างพนักงาน (56.8%), พัฒนาระบบการบริหารความเสี่ยง (48.6%) และ 37.8% วางแผนที่จะสร้างความร่วมมือและการลงทุนในอนาคตอันใกล้นี้

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/up-to-833-percent-of-fast500-firms-optimistic-about-2022-outlook/223429.vnp

 

ราคางาดำในเมียนมาพุ่งเป็น 235,000 จัตต่อถุง

จากข้อมูลของตลาดบุเรงนอง ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาราคางาดำที่จำหน่ายในประเทศพุ่งขึ้นเป็น 235,000 จัตต่อถุง (1 ถุง = 3 ตะกร้า) ผลมาจากค่าเงินจัตที่อ่อนค่าลงและความต้องการที่มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยราคาจะอยู่ในช่วง 155,000 – 235,000 จัตต่อถุง โดยปกติแล้วร้อยละ 80 จะถูกส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น จีน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหภาพยุโรป และไต้หวัน ซึ่งทั้งเมล็ดงาดิบและงาที่แปรรูปแล้วส่งออกไปยังจีนผ่านชายแดนได้มากขึ้น เมื่อการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้คลี่คลายลง โดยเขตมะกเวเป็นพื้นที่เพาะปลูกหลักของประเทศและสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี สำหรับพืชน้ำมันที่ใช้อาหารที่ปลูกในเมียนมา พื้นที่เพาะปลูกงามีมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 51.3 ของพื้นที่เพาะปลูกพืชน้ำมันทั้งหมด มีผลผลิตเมล็ดงาประมาณ 600,000-800,000 ตันต่อปี

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/prices-of-black-sesame-seeds-soar-to-k235000-per-bag/#article-title

 

เดือนต.ค.64-ก.พ65 ภาคการผลิตเมียนมาดึงดูดเม็ดเงินลงทุนไปแล้ว 138 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จากสถิติของคณะกรรมการการลงทุนและการบริหารบริษัท (DICA) พบว่า นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่จับตาภาคการผลิตเพื่อการลงทุนในเมียนมา เพราะสามารถดึงเงินลงทุนใน 25 โครงการ มีมูลค่าประมาณ 138.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของงบประมาณย่อย (เดือนต.ค. 2564 ถึงเดือนมี.ค. 2565) ปัจจุบัน บริษัทที่เน้นใช้แรงานเป็นหลักได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 โดยเฉพาะการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป ส่งผลให้โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าแบบ CMP (Cutting, Making และ Packing) บางแห่งปิดตัวลงอย่างถาวรและชั่วคราว ทำให้คนงานหลายพันคนตกงาน อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมกำลังกลับสู่ภาวะปกติหลังจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับในหมู่คนงานมากขึ้น ภาคการผลิตของเมียนมาส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอที่ผลิตแบบ CMP และถือเป็นส่วนสำคัญของ GDP ประเทศ ทั้งนี้ในช่วงเดือนต.ค.2564 -ก.พ.2565 เมียนมาดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากกว่า 530.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากบรรษัทข้ามชาติ 34 แห่ง แบ่งเป็น การลงทุนในภาคเกษตรกรรม ปศุสัตว์และการประมง การผลิต พลังงาน การก่อสร้าง การขนส่งและการสื่อสาร การโรงแรมและการท่องเที่ยว และบริการอื่นๆ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/manufacturing-sector-attracts-over-138-mln-in-october-february/#article-title