ออสเตรเลียจับมือธนาคารโลก สนับสนุนเงินทุนเพื่อเชื่อมเส้นคมนาคมใน สปป.ลาว

การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมเป็นเป้าหมายของ สปป.ลาว และเป็นเป้าหมายของอาเซียน นี่คือสาเหตุที่ธนาคารโลกและรัฐบาล สปป.ลาว ได้ลงทุนโครงการมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ร่วมกับพันธมิตรหลายประเทศในภาคเหนือของลาว ภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทอาเซียนด้านการเชื่อมต่อ โครงการจะยกระดับถนนแห่งชาติลาว 2 ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างไทย ลาว และเวียดนาม เพื่อสร้างทางเดินตะวันออก-ตะวันตกใหม่ นอกจากนี้ ยังจะเชื่อมต่อถนนท้องถิ่นในแขวงหลวงน้ำทา หลวงพระบาง อุดมไซ พงสาลี และไชยะบูลี เพื่อปรับปรุงการขนส่ง อำนวยความสะดวกทางการค้า และเร่งการเคลื่อนย้ายสินค้าและผู้คน โดยออสเตรเลียบริจาคเงินมากกว่า 12 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (7.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ผ่านโครงการความร่วมมือระดับภูมิภาคสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/03/26/australia-joins-world-bank-to-support-laos-land-linked-agenda/

รัฐบาล สปป.ลาว เพิ่มเงินอุดหนุนพิเศษแก่ข้าราชการที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 1.7 ล้านกีบ

รัฐบาล สปป.ลาว ประกาศเพิ่มเงินอุดหนุนพิเศษรายเดือนอีก 150,000 กีบต่อเดือน (7.15 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน) สำหรับข้าราชการ รวมถึงทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ ลูกจ้างที่เกษียณอายุ และบุคคลทุพพลภาพ ประกาศดังกล่าว ก่อให้เกิดข้อถกเถียงอย่างรวดเร็วในสังคม หลายคนมองว่าการเพิ่มขึ้นของเงินอุดหนุนน้อยเกินปไม่เพียงพอกับอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน โดนค่าแรงขั้นต่ำใน สปป.ลาว ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 1.6 ล้านกีบต่อเดือน (76.22 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน) ซึ่งต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย เวียดนาม และกัมพูชา ตามรายงานจากสำนักงานสถิติ สปป.ลาว ปัจจุบันลาวกำลังเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่รุนแรง โดยอัตราเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 25.35 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 การเพิ่มขึ้นนี้มีสาเหตุหลักมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล ส่งผลให้ราคาอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงขึ้น แม้ว่าเงินกีบจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์และเงินบาท แต่ผู้ค้าในตลาดยังไม่ได้ปรับราคาตามนั้น เพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านี้ รัฐบาลได้อนุมัติร่างกฎหมายและกฤษฎีกาเบื้องต้นเพื่อจัดการกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงกฎหมายว่าด้วยการกระจายอำนาจการท่องเที่ยว มาตรการต่อต้านการฟอกเงิน และการจัดตั้งท่าเรือบก

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/03/25/government-faces-backlash-after-notice-of-low-subsidy-raise-for-civil-servants/

‘สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด’ คาดการณ์ GDP เวียดนามไตรมาส 1/67 โต 6.1%

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (Standard Chartered) คาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสแรกของปีนี้ ขยายตัว 6.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) จาก 6.7% ในไตรมาสที่สี่ของปีที่แล้ว และคาดการณ์ว่า GDP ของปี 2567 จะขยายตัวที่ 6.7% โดยจากข้อมูลในเดือน มี.ค. แสดงให้เห็นว่าทิศทางของภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัว จากแรงหนุนภาคการค้าปลีกที่เพิ่มขึ้น 9.2%YoY ในขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้น 5.2%YoY และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 5.0%YoY ตลอดจนอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4.2%YoY ในเดือน มี.ค ดีดตัวสูงขึ้นจาก 4.0% ในเดือน ก.พ.

ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้จะมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง แต่คาดการณ์ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามยังคงไม่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ดีควรประเมินและเตรียมการรับมือในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากเผชิญกับปัญหาอุปสรรคการค้าโลก

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/standard-chartered-forecasts-vietnam-s-gdp-in-q1-to-moderate-to-6-1-2263679.html

การส่งออกสินค้าประมงทะลุ 675 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 15 มีนาคม

อู ยุนท์ วิน ผู้อำนวยการกรมประมง (เนปิดอ) กล่าวว่า เมียนมาส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงมากกว่า 300 ชนิด ซึ่งมีมูลค่า 675.958 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปยัง 45 ประเทศ ณ วันที่ 15 มีนาคม ในปีงบประมาณปัจจุบัน พ.ศ. 2566-2567 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวมีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ สินค้าประมงจะถูกจัดส่งไปยังคู่ค้าต่างประเทศผ่านช่องทางการค้าทางทะเล และทางชายแดน โดยการส่งออกทางทะเลเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 หากเทียบกับปีงบประมาณก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การส่งออกกุ้งในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นอย่างมาก และกุ้งเลี้ยงจากตะนาวศรีเป็นสินค้าซื้อขายที่มีมูลค่ามากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีปลามากกว่า 20 ชนิด รวมถึงฮิลซา ปลากะพง ปลาโรหู ปลาดุกแม่น้ำ และปลาบาร์บัส โดยที่คู่ค้าหลักที่เมียนมาส่งออกไป ได้แก่ ญี่ปุ่น ประเทศในตะวันออกกลาง ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป มาเลเซีย จีนไทเป และออสเตรเลีย นอกจากนี้ สหพันธ์ประมงเมียนมาและกรมประมงกำลังทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อสนับสนุนการส่งออกประมงในฐานะความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในขณะที่การส่งออกอาหารทะเลไปยังประเทศต่างๆ เช่น จีน มีการตรวจสอบที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในห่วงโซ่อุปทานกำลังพยายามปฏิบัติตามนโยบายอย่างเคร่งครัดเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกประมง

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/fishery-exports-cross-us675-mln-as-of-15-march/#article-title

MCBA อำนวยความสะดวกในการรับสินค้าออกจากท่าเรือ

สมาคมนายหน้าศุลกากรแห่งเมียนมา (MCBA) จะดำเนินการให้แน่ใจว่าการรับสินค้าออกจากท่าเรือจะไม่เกิดความล่าช้า โดยเมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา ด้านกรมศุลกากรของเมียนมาเริ่มมีการใช้เครื่องเอ็กซเรย์ เพื่อช่วยลดเวลาในการตรวจสอบสินค้า รวมทั้ง ท่าเรือ Asia World Port Terminal (AWPT) ก็มีการให้บริการสแกนเอ็กซเรย์เช่นกัน และด้านท่าเรืออุตสาหกรรมของเมียนมา (MIP) ก็เริ่มมีการฝึกปฏิบัติโซลูชั่นรักษาความปลอดภัยด้วยการเอ็กซเรย์ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากร, สมาคมขนส่งตู้คอนเทรนเนอร์เมียนมา (MCTA), การท่าเรือเมียนมา (MPA), สมาคมผู้ส่งสินค้าระหว่างประเทศเมียนมา (MFFA), AWPT, MIP และ MCBA จะอำนวยความสะดวกในการประสานงานเรื่องต่างๆ เพื่อให้การรับคืนสินค้าและการค้าเป็นไปอย่างราบรื่นทันเวลา

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/mcba-to-facilitate-cargo-retrieval-from-port-terminal/

Angkor Air เปิดเที่ยวบินตรง กัมพูชา-เดลี เสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

Angkor Air สายการบินแห่งชาติของกัมพูชา ประกาศเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างพนมเปญของกัมพูชา เชื่อมกับ กรุงเดลี เมืองหลวงของอินเดีย โดยจะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน เป็นต้นไป โดยจะมีเที่ยวบิน 4 เที่ยวต่อสัปดาห์ ให้บริการทุกวันอาทิตย์ วันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์ ซึ่งคาดว่าเที่ยวบินใหม่นี้จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชาและอินเดีย และส่งเสริมโอกาสทางการท่องเที่ยวและธุรกิจระหว่างสองประเทศให้มากขึ้น กล่าวโดย Sok Soken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และได้กล่าวเสริมว่า อินเดียและจีนเป็นตลาดนักท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดที่กัมพูชา ในขณะเดียวกัน สายการบิน IndiGo Airlines ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำของอินเดีย ได้รับอนุมัติจากทางการกัมพูชาให้ดำเนินการเที่ยวบินระหว่างเดลีและเสียมเรียบ สำหรับกัมพูชาดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้กว่า 5.43 ล้านคนในปี 2023 เพิ่มขึ้นอย่างมากถึงร้อยละ 139 จาก 2.27 ล้านคนในปี 2022 สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 3.04 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 115 จากมูลค่า 1.41 พันล้านดอลลาร์ ในปีก่อนหน้า

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501461599/phnom-penh-delhi-flight-from-june-16/

กัมพูชา-ไทย มุ่งยกระดับความสัมพันธ์สู่หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เชิงรุก

อดีตนายกรัฐมนตรีฮุนเซน เรียกร้องให้มีการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชากับไทย ในด้านการค้า แรงงาน และภาคการท่องเที่ยว โดยยกระดับความสัมพันธ์จากหุ้นส่วนยุทธศาสตร์สู่หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เชิงรุก ซึ่งได้กล่าวไว้ในระหว่างการให้การต้อนรับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรของไทย ณ กรุงพนมเปญ ในวันศุกร์ที่ผ่านมา (22 มี.ค.) โดยทั้งสองฝ่ายมองว่าการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากทั้งสองประเทศมีความมุ่งมั่นที่จะกลับมาหารืออีกครั้งเกี่ยวกับการสำรวจและขุดเจาะแหล่งน้ำมันและก๊าซร่วมกัน ในพื้นที่ทับซ้อน (Overlapping Claims Area: OCA) ขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตร ในอ่าวไทย ซึ่งความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เชิงรุก (Comprehensive Strategic Partnership) เป็นรูปแบบความร่วมมือทวิภาคีที่ครอบคลุมระหว่างสองประเทศในประเด็นต่างๆ อย่างรอบด้าน ครอบคลุมหลายภาคส่วน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความมั่นคง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501461617/call-to-elevate-cambodia-thai-ties-amid-bid-to-settle-oca/

เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า กระทบเงินบาทของไทย-ริงกิตของมาเลเซีย รวมถึงสกุลอื่นๆ ในอาเซียน

สกุลเงินบาทของไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในช่วงเริ่มต้นปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงขยายตัวและข้อมูลการจ้างงานที่สดใส ความคาดหวังที่เพิ่มสูงขึ้นว่าธนาคารกลางสหรัฐจะคงอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีกนาน ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เงินบาทของไทยและริงกิตของมาเลเซียได้รับผลกระทบหนักที่สุด แม้ว่าจะมีการฟื้นตัวในช่วงสั้นๆ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา ตามการตัดสินใจครั้งล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ “สกุลเงินเกือบทั้งหมดในโลกอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสแรก Joey Chew หัวหน้าฝ่ายวิจัย FX ของเอเชียของธนาคาร  HSBC กล่าวกับ The Business Times.

ที่มา : https://www.businesstimes.com.sg/international/asean/strong-us-dollar-hits-thai-baht-malaysian-ringgit-hardest-among-asean-currencies

‘ส่งออกข้าวเวียดนาม’ ส่งสัญญาณเชิงบวก

เหงียนอันเซิน ผู้อำนวยการฝ่ายนำเข้าและส่งออก กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) ประเมินว่าอุตสาหกรรมข้าวของเวียดนามมีการเติบโตที่โดดเด่นผ่านการปฎิรูปทั้งด้านการผลิตและการส่งออก รวมถึงปรับปรุงคุณภาพสินค้าและกระบวนการผลิตให้ดีขึ้น เพื่อขยายตลาดและยกระดับอันดับข้าวเวียดนามในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป สหรัฐฯ เกาหลีใต้และตะวันออกกลาง ซึ่งประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มต้องการข้าวเวียดนามที่มีคุณภาพสูง

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ตลาดข้าวในปีนี้ เห็นได้ว่าตลาดข้าวมีความต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น ปริมาณอาจมากกว่า 9 แสนตันในปีที่แล้ว

อย่างไรก็ดี กระทรวงฯ ร้องขอให้หน่วยงานท้องถิ่นและสมาคมธุรกิจข้าวให้แบ่งปันข้อมูลและเสนอแนวทางแก้ไขในการพัฒนาตลาด เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมข้าว ใช้ประโยชน์จากการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศและยกระดับแบรนด์ข้าวเวียดนาม

ที่มา : https://borneobulletin.com.bn/positive-outlook-for-vietnams-rice-exports/

‘เวียดนาม’ เผชิญกับดักรายได้ปานกลาง งานไม่ดี ค่าจ้างต่ำ

หลังจากมีการปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจ “โด่ยเหมย” เวียดนามก็ขึ้นแท่นประเทศดาวรุ่งและมีการพัฒนาทุกภาคส่วนด้วยการใช้โมเดลแรงงานจำนวนมากหรือแรงงานเข้มข้น ซึ่งแรงงานเหล่านี้ไม่ได้รับการฝึกอบรมและผลักดันให้เวียดนามเข้าสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับต่ำ อย่างไรก็ดี เวียดนามใช้โมเดลนี้จนนานเกินไปและไม่ได้เตรียมบุคลากรและเทคโนโลยีให้มีความพร้อมที่ไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้สูง จึงจำเป็นที่จะต้องฝึกอบรมแรงงานและยกระดับขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยี

ทั้งนี้ Pham Manh Hung อาจารย์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนามฮานอย กล่าวว่าเวียดนามยังไม่ได้ลงทุนกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณที่ยังไม่เพียงพอ

ในขณะที่จากรายงานพบว่าแรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้รับการฝึกอบรมและมีเพียงระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่านั้น ทำให้ไม่ตอบสนองกับความต้องการของตลาดแรงงานได้ และส่งผลให้แรงงานมีทักษะต่ำและค่าจ้างไม่ดี

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/bad-jobs-low-pay-and-the-risk-of-a-middle-income-trap-2256840.html