SSCA สรุปผลการศึกษาโครงการสนามบินในจังหวัดมณฑลคีรี กัมพูชา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการบินพลเรือนแห่งรัฐ (SSCA) กำลังจะสรุปการศึกษาความเป็นไปของโครงการหลังทำการศึกษามาเป็นระยะเวลา 6 เดือน เกี่ยวกับการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ในจังหวัดมณฑลคีรี โดยโฆษกของ SSCA กล่าวว่าผลการศึกษาจะถูกส่งให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องตรวจสอบระหว่างกัน หลังจากนั้นการศึกษาจะถูกส่งไปยังบริษัท Powerchina เป็นจุดสิ้นสุดในการศึกษาโครงการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตัดสินใจในการลงทุน โดยสนามบินแห่งใหม่หากมีการอนุมัติจะมีพื้นที่ 600 เฮกตาร์ ก่อนหน้านี้มีการประมาณการค่าใช้จ่ายในการสร้างสนามบินไว้ที่ 60 ล้านดอลลาร์ แต่อย่างไรก็ตามการประมาณการเบื้องต้นที่สร้างขึ้นจากการศึกษาในขณะนี้คาดการณ์ว่าค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ 90 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมารัฐบาลได้อนุมัติหลักการก่อสร้างภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) และเลือก Powerchina เป็นพันธมิตรที่มีศักยภาพในโครงการ โดยบริษัทเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการศึกษาความเป็นไปได้ทั้งหมด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50812474/ssca-to-conclude-new-mondulkiri-province-airport-study/

สปป.ลาวสร้างเมืองใหม่ในเวียงจันทน์

ทางการเวียงจันทน์กำลังดำเนินการสร้างเมืองใหม่ซึ่งจะเมืองที่ 10 ในนครเวียงจันทร์ ซึ่งเมืองใหม่จะตั้งอยู่ระหว่างเมืองปากงึ่มและเมืองชัยธานี ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเวียงจันทน์ โดยจะมีหมู่บ้าน 24 แห่งรวมทั้งหมู่บ้าน 5 แห่งที่มีอยู่แล้วในเมืองปากงึ่ม และอีก 3 แห่งในเมืองชัยธานี งานพัฒนาเมืองเริ่มในปี 61 และขณะนี้ทางการกำลังเตรียมสร้างโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ เช่น อาคารสำนักงาน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้ นายกเทศมนตรีนครเวียงจันทน์กล่าวว่าเมืองใหม่นี้อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบชนบทมีพื้นที่ป่าและเนินเขาตลอดจนแม่น้ำ ยังมีตาดซอยวอย ซึ่งเป็นน้ำตกยอดนิยมของนักท่องเที่ยว และพื้นที่ใกล้เคียงของเมืองปากงึ่มเป็นที่ตั้งของน้ำกัดยอละปา ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวเช่นกัน การก่อสร้างเมืองใหม่เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาของเวียงจันทน์ในปี 68 และแผนการพัฒนาชานเมืองให้เป็นย่านการค้าและที่อยู่อาศัย เมืองชัยธานีมีขนาดใหญ่และมีหมู่บ้านมากกว่า 100 แห่งซึ่งมีครัวเรือนกว่า 43,900 ครัวเรือน เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างชนบทจึงมีศักยภาพที่แข็งแกร่งสำหรับการเกษตรและการท่องเที่ยว การพัฒนาเมืองใหม่จะให้สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการสาธารณะมากขึ้นสำหรับผู้อยู่อาศัยในเมืองชัยธานี และช่วยบรรเทาความแออัดของประชากรอีกด้วย

ที่มา : https://www.thestar.com.my/aseanplus/aseanplus-news/2021/02/10/laos-to-create-new-district-in-vientiane

สหภาพแรงงานฯ เตรียมดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ต่อต้านการประท้วงในเมียนมา

สมาพันธ์สหภาพแรงงานแห่งเมียนมา (CTUM) กล่าวว่าเจ้าหน้าที่คนใดก็ตามที่บังคับให้พนักงานที่ประท้วงกองทัพเมียนมาให้ลาออกหรือออกจากสถานสงเคราะห์จะต้องถูกตั้งข้อหา ขณะนี้มีการประณามการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่บังคับให้แรงงานออกจากงานหรือที่พักอาศัย CTUM กำลังตรวจสอบพนักงานของรัฐที่เข้าร่วมในการประท้วงต่อต้านกองทัพเมียนมาที่เข้ายึดอำนาจ ทั้งนี้เมื่อสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติจะขอคืนสถานะให้เป็นพนักงานของรัฐเหมือนเดิม CTUM พร้อมให้บริการทางการแพทย์ฟรีแก่ผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่ไร้ซึ่งความยุติธรรม ก่อนหน้านี้ CTUM ได้ออกจากองค์กรไตรภาคีซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนภาครัฐ ภาคธุรกิจ และแรงงาน ที่ได้หารือเกี่ยวกับปัญหาที่คนงานประท้วงการยึดอำนาจและควบคุมตัวผู้นำระดับสูงของประเทศรวมถึงนางอองซาน ซูจี ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 64 ที่ผ่านมา

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/trade-union-myanmar-prosecute-those-taking-legal-action-against-cdm-participants.html

เวียดนามตั้งเป้าปี 73 ยอดส่งออกภาคเกษตร ป่าไม้และประมง 60-62 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ตามคำสั่งอนุมัติของนายกรัฐมนตรีเมื่อเร็วๆนี้ ต่อโครงการเกษตรกรรม เผยว่าเวียดนามตั้งเป้าการส่งออกภาคเกษตร ป่าไม้และประมง อยู่ที่ประมาณ 60-62 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2573 โดยโครงการดังกล่าวเล็งเห็นถึงการเข้าร่วมของห่วงโซ่อุปทานภาคเกษตร ป่าไม้และประมง ตลอดจนปรับปรุงคุณภาพและมูลค่า เพื่อที่จะส่งออกให้เป็นไปตามกฎระเบียบของผู้นำเข้าและพัฒนาเครื่องหมายการค้าในตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ การส่งออกของภาคเกษตร ป่าไม้และประมง คาดว่าจะเติบโต 6-8% ต่อปี ประมาณ 40% มาจากการส่งออกสินค้สที่เป็นแบนด์ระดับชาติ, 70% มาจากธรรมชาติ และ 60% มาจากการส่งออกสินค้าที่ผ่านกระบวนการแปรรูป  ดังนั้น โครงการแห่งนี้จึงกำหนดเป้าหมายและนโยบาย เพื่อรองรับกับความปลอดภัยทางอาหารและพัฒนาอุตสาหกรรมที่สนับสนุน รวมไปถึงช่วยเหลือธุรกิจเกี่ยวกับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาในตลาดส่งออก

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-targets-60-62-bln-usd-from-agroforestryfisheries-export-by-2030/196140.vnp

เวียดนามนำเข้าเนื้อหมูพุ่ง เหตุราคาในประเทศร้อนแรง

ตามรายงานตัวเลขสถิติของกรมศุลกากร เผยว่าเวียดนามนำเข้าเนื้อหมูมากกว่า 141,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าราว 334.4 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 63 เพิ่มขึ้น 382% และ 500% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ซึ่งการนำเข้าเนื้อหมูที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าว เนื่องมาจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระบาด (ASF) ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนเนื้อหมูและทำให้ราคาเนื้อหมูในประเทศขยับเพิ่มขึ้นในเดือนแรกของปี 63 ส่วนใหญ่จะนำเข้าจากประเทศบราซิล รัสเซีย โปแลนด์ สหรัฐฯและแคนาดา เป็นต้น ราคานำเข้าเนื้อหมูเฉลี่ยที่ 2.2 เหรียญสหรัฐต่อตัน ทั้งนี้ นาย Nguyễn Văn Trọng รองผู้อำนวยการกระทรวงของสำนักงานผลิตปศุสัตว์ กล่าวว่าราคาเนื้อหมูปรับตัวลดลงเมื่อไม่กี่วันก่อน เพราะว่าบริษัทแปรรูปมีการสั่งซื้อสินค้าลดลง เนื่องจากมีสินค้าเพียงพอต่อการบริโภคในช่วงเทศกาลเต็ด นอกจากนี้ ในปัจจุบัน เวียดนามมีจำนวนหมู 27.3 ล้านตัว เพิ่มขึ้น 21 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/871761/vn-increases-pork-imports-to-cool-off-domestic-prices.html

วิกฤตการทางการเมืองเมียนมาส่งผล SME ส่อเค้าทรุดหนัก

นักธุรกิจจากเมืองเปียงมานา (Pyinmana)  ของเนปยีดอ เผยยอดขายสินค้าตั้งแต่อาหารไปจนถึงสินค้าฟุ่มเฟือยลดลงอย่างมากหลังจากการประกาศภาวะฉุกเฉินหนึ่งปีของกองทัพเมียนมา พบว่าผู้คนต่างจับจ่ายเฉพาะสิ่งของจำเป็นเพราะวิตกกังวลกับสถานการณ์ปัจจุบันในตอนนี้ เช่น ยอดขายไข่ลดลงประมาณ 70% อีกทั้งยอดขายสัตว์ปีกและเนื้อสัตว์ประเภทอื่น ๆ ยังได้รับผลกระทบอย่างหนักตามไปด้วย ขณะนี้ตลาดยังไม่เปิดเต็มรูปแบบเนื่องจาก COVID-19 ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันผู้คนกังวลว่าเศรษฐกิจจะแย่ลงและหลายคนเริ่มประหยัดมากขึ้น ซึ่งการใช้จ่ายที่ลดลงยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจสตาร์ทอัพในพื้นที่และธุรกิจ SMEs ส่วน MSMEs (วิสาหกิจขนาดเล็กขนาดกลางและขนาดย่อม) ล้วนประสบปัญหามากมายช่วงการระบาดและบางส่วนถูกบังคับให้ปิด MSMEs คิดเป็น 90% ของเศรษฐกิจประเทศและหากเกิดปัญหาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อาจกระทบต่อการว่างงานอย่างมากในอนาคต

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/growing-number-myanmar-smes-forced-fold-amid-political-crisis.html

สปป.ลาวจัดแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวในสะหวันนะเขตและแขวงทางใต้

สะหวันนะเขตจะร่วมมือกับแขวงอื่น ๆ ในภาคใต้และ บริษัท ทัวร์เพื่อจัดแพ็คเกจทัวร์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ภายหลังจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้สูญเสียนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้รัฐบาลต้องออกมากระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศเพื่อช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวที่ตอนนี้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง  แขวงสะหวันนะเขตมีสถานที่น่าสนใจมากมายซึ่งห่างจากเวียงจันทน์ 480 กม. มีโรงแรมและร้านอาหารรวมถึงระบบสาธาณูปโภคที่ดีในการรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างดี จึงได้รับเลือกให้เป็นแขวงที่จะจัดทำแคมเปญการท่องเที่ยว

ที่มา : https://www.thestar.com.my/aseanplus/aseanplus-news/2021/02/09/laos-pushing-the-tourism-button-savannakhet-joins-forces-with-other-southern-provinces-for-package-tours

กัมพูชากำลังพัฒนาด้านโลจิสติกส์ภายในประเทศเพื่อรองรับอนาคต

ด้วยข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) 5 ฉบับที่เกิดขึ้นในปีนี้ กัมพูชาจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะต้องพัฒนาโครงข่ายด้านโลจิสติกส์เพื่อรองรับต่อปริมาณการค้าที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยรัฐบาลกัมพูชาได้วางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิเช่น ขยายถนนในเขตจังหวัดบาเว็ดจากสี่เลนเป็นหกเลนภายในระยะเวลา 6 เดือน สร้างทางด่วนพนมเปญไปยังสีหนุวิลล์ที่แล้วเสร็จแล้วร้อยละ 35 มีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2022 นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อสำรวจเส้นทางใหม่จากพนมเปญไปยังบาเว็ด นอกจากนี้ยังมีแผนการก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าสีหนุวิลล์แห่งใหม่มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2025 เมื่อแล้วเสร็จท่าเรือจะสามารถรับสินค้าได้กว่า 5,000 TEU ณ ความลึก 40.5 เมตร โดยดัชนีประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ของธนาคารโลกได้ให้คะแนนกัมพูชาไว้ที่ 2.8 ในปี 2018 ซึ่งถูกจัดอันดับไว้ต่ำกว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก อีกทั้งผลสำรวจและการรวบรวมข้อมูลของสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) พบว่ากัมพูชามีต้นทุนด้านโลจิสติกส์ที่สูงเมื่อเทียบกับไทยและเวียดนามอีกด้วย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50811861/kingdom-is-bolstering-its-logistics-in-anticipation-of-string-of-ftas/

ซีพี พร้อมยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหารในกัมพูชา

CP ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP และ HACCP หลังดำเนินธุรกิจในกัมพูชามาร่วม 12 ปี ตั้งแต่ปี 2008 โดยมองถึงประโยชน์ 3 ประการที่จะเกิดขึ้นจากการได้รับมาตรฐานข้างต้น คือ ประโยชน์ต่อประเทศกัมพูชา ในการมีส่วนช่วยยกระดับมาตรฐานการผลิตที่ดีในกัมพูชา ให้สามารถทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกได้ ส่วนประการถัดมาคือประโยชน์ต่อประชาชนชาวกัมพูชาที่จะมีโอกาสได้บริโภคอาหารที่มีคุณภาพปลอดภัยถูกสุขอนามัยและสะดวกสบายที่ผลิตในท้องถิ่นโดยไม่ต้องพึ่งพาผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้า ประการสุดท้ายประโยชน์ต่อ บริษัทเอง นอกจากนี้การนำ GMP และ HACCP มาใช้เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจการผลิตอาหารของบริษัทเอง ทั้งในด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์และความปลอดภัยของผู้ประกอบการในทุกขั้นตอนการผลิต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50811862/cp-is-ready-to-raise-the-standard-of-food-products-in-cambodia/

‘พาณิชย์’ เผย ‘รัฐสภา’ เห็นชอบให้สัตยาบันความตกลง RCEP แล้ว คาดมีผลบังคับใช้ปีนี้

กระทรวงพาณิชย์เผย รัฐสภาเห็นชอบการให้สัตยาบันความตกลง RCEP เรียบร้อยแล้ว เตรียมเร่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกประกาศและแนวปฏิบัติรองรับการใช้ประโยชน์ คาดมีผลบังคับภายในปีนี้ ย้ำผู้ประกอบการและผู้บริโภคได้ประโยชน์จริง โดยในที่สุดรัฐสภาของไทยมีมติ ‘เห็นชอบ’ การให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) แล้วเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจาก จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้นำเสนอข้อมูล เหตุผล ความจำเป็น และประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการให้สัตยาบันในข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับความตกลง RCEP เนื่องจากเห็นว่าเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนของไทย โดย RCEP จะเป็น FTA ฉบับที่ 14 ของไทย ซึ่งจะช่วยสร้างแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการในการเข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรกว่า 2,200 ล้านคน สินค้าส่งออกหลายรายการของไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจะได้รับการลดและยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรจากประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งจะเปิดตลาดใน RCEP ให้ไทยเพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่ เช่น สินค้าประมง, แป้งมันสำปะหลัง, สัปปะรด, น้ำมะพร้าว, น้ำส้ม, อาหารแปรรูป, ผักและผลไม้แปรรูป เป็นต้น

ที่มา : https://thestandard.co/parliament-agreed-to-ratify-the-rcep-agreement/