กัมพูชาเตรียมการเจรจาด้านการค้าและการลงทุนกับสหภาพยุโรป

กัมพูชาและสหภาพยุโรป (EU) ได้จัดให้มีการหารือเตรียมการสำหรับการประชุมกลุ่มย่อยด้านการค้าและการลงทุน ครั้งที่ 11 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 26-27 พ.ย. โดยการเตรียมการดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ระหว่างการประชุมทางวิดีโอ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชาเป็นประธานร่วมที่กระทรวงพาณิชย์ และหัวหน้าฝ่ายการค้าและการลงทุนของคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย โดยทางกระทรวงพาณิชย์กัมพูชาได้ทำการอัปเดตเกี่ยวกับปริมาณการค้าระหว่างกัมพูชาและสหภาพยุโรป ไปจนถึงผลกระทบจากโควิด-19 ต่อการค้าและการลงทุนของกัมพูชา ซึ่งในที่ประชุมยังพิจารณาถึงการแก้ไขกฎหมายการค้าและการลงทุนของกัมพูชา การเจรจาภายใต้กรอบการค้าเสรีทวิภาคีและพหุภาคี ทั้งความคืบหน้าของวาระการประชุมในองค์การการค้าโลก (WTO)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50784381/cambodia-eu-trade-and-investment-talk-set-for-next-week/

แบงก์ชาติกัมพูชาอนุมัติการปรับโครงสร้างเงินกู้จนถึงกลางปี 2564

ขณะนี้ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) อนุญาตให้ธนาคารและกลุ่มไมโครไฟแนนซ์ดำเนินการปรับโครงสร้างเงินกู้สำหรับลูกค้าของตนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันในกัมพูชาจนถึงกลางปี 2564 โดย NBC กล่าวว่าหน่วยงานกำกับดูแลได้อนุญาตให้มีการปรับโครงสร้างเงินกู้ได้ถึงสามครั้งสำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งการปรับโครงสร้างเงินกู้ถือเป็นการช่วยเหลือลูกค้า โดยจะตรวจสอบความเป็นไปได้ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมอื่นในการทำธุรกรรมลง ซึ่งสถาบันการเงินทุกแห่งต้องดำเนินการตามประกาศและจะต้องติดตามการปรับโครงสร้างเงินกู้อย่างสม่ำเสมอตาม NBC กำหนด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50784908/nbc-approves-restructuring-of-loans-until-mid-2021/

อุตสาหกรรมเครื่องดื่มของเวียดนาม พยายามหาทางออกจากวิกฤติที่คาดไม่ถึง

ในการประชุม ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน นาย Hoang Quang Phong รองประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม (VCCI) เปิดเผยว่าบริษัทเครื่องดื่มอย่าง Sabeco, Habeco, Carlsberg Vietnam และ Heineken Vietnam มีส่วนแบ่งทางการตลาดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในเวียดนาม รวมกันร้อยละ 90 แต่ด้วยปัจจัยลบจากการดำเนินธุรกิจ ส่งผลให้ธุรกิจดังกล่าวล้มเหลวไปสู่อุตสาหกรรมโดยรวมในไม่กี่ปีข้างหน้า และอีกปัจจัยหนึ่ง คือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงนโยบายของภาครัฐฯ ในปัจจุบัน ที่ล้วนส่งผลให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มในประเทศเข้าสู่วิกฤติอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า คาดว่าการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มในปี 2562 มีสัดส่วนร้อยละ 15 ของ GDP และจะเพิ่มขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม “Sabeco” ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีกำไรลดลงอย่างมากถึงร้อยละ 44 ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ แต่ผลการดำเนินงานเริ่มกลับมาฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 มีกำไรอยู่ที่ 63.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ประเด็นของทางออกจากวิกฤต นาย Nguyen Van Viet กล่าวว่าในช่วงวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจในท้องถิ่นส่วนใหญ่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่อุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีส่วนน้อยร้อยละ 2 ยังคงไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐฯ

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-beverage-industry-struggles-to-find-way-out-of-unprecedented-crisis-314924.html

ผลการดำเนินงานของธนาคารเวียดนามดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Rating ในรายงานฉบับใหม่ เปิดเผยว่าผลประกอบการดำเนินงานของธนาคารเวียดนามในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ แสดงให้เห็นถึงคุณภาพสินทรัพย์ฟื้นตัวและความสามารถในการทำกำไรดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในไตรมาสที่ 3 ปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยเฉพาะตลาดแรงงานที่มีแนวโน้มดีขึ้น หลังจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่คาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากการควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หน่วยงานดังกล่าว คาดการณ์ว่าผลประกอบการของธนาคารจะฟื้นตัวในปี 2564 จากการด้อยค่าของสินทรัพย์ลดลงและการเติบโตของสินเชื่อที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับปีที่แล้วในไตรมาสที่ 3

ที่มา : https://www.vir.com.vn/vietnamese-banks-performance-improves-with-economic-recovery-80916.html


การค้าเมียนมาหดตัว เซ่นพิษ COVID-19

5 สัปดาห์แรกของปีงบประมาณ 63-64 มูลค่าการค้าของเมียนมาลดลงประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วอันเป็นผลมาจาก COVID-19 โดยในปีนี้มีมูลค่าการค้ามากกว่า 2.53 พันล้านดอลลาร์เมื่อเทียบกับ 3.99 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว แม้จะมีแนวโน้มลดลงแต่กระทรวงพาณิชย์ได้เพิ่มเป้าหมายในปีงบประมาณปัจจุบันขึ้น 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น 34,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยมีการส่งออก 16.2 พันล้านเดอลลาร์สหรัฐและการนำเข้า 18.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากรายงานของกระทรวงพาณิชย์ การส่งออกผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้รับผลกระทบที่รุนแรงที่สุดซึ่งประกอบด้วยการส่งออกที่ลดลง 70% ในปีนี้ การส่งออกเครื่องนุ่งห่มก็ลดลงเช่นกัน อย่างไรก็ตามการส่งออกสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นซึ่งสอดคล้องกับแผนในการกระตุ้นการค้าในปีนี้ โดยกำลังวางแผนเพิ่มการผลิตพืช เช่น ข้าวและข้าวโพดในการส่งออกเพื่อชดเชยสำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งออกลดลง ส่วนการนำเข้าก็ลดลงเช่นกันเนื่องจากความต้องการภายในประเทศลดลง

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/myanmar-trade-volumes-soften-back-covid-19.html

เมียนมามีแผนปรับปรุงการภาคบริการเพื่อรับมือ COVID-19

กระทรวงโรงแรมและการท่องเที่ยวพยายามปรับปรุงบริการในภาคการท่องเที่ยวเพื่อให้เป็นไปตามแผนงานการฟื้นฟูยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของเมียนมาที่ได้จัดทำขึ้นร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังการระบาดของโควิด -19 ทั้งนี้ธุรกิจต่างๆ จะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน COVID-19 เพื่อกลับมาเปิดการดำเนินการใหม่อีกครั้ง ซึ่งผู้ประกอบการกล่าวว่าภาคการท่องเที่ยวต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลในการฟื้นตัว คาดว่าจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งหลังจากยกเลิกข้อจำกัด โดยเริ่มจากการท่องเที่ยวในประเทศก่อน ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวกล่าวว่ากระทรวงจำเป็นต้องร่วมมือกับกระทรวงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/myanmar-hotel-ministry-plans-improve-services.html

พาณิชย์ร่วมหารือรัฐมนตรีเอเปค หนุนปรับทิศทางการค้ารับมือโควิด

พาณิชย์ร่วมหารือรัฐมนตรีเอเปค หนุนปรับทิศทางการทำงานรับมือผลกระทบจากโรคโควิด-19  และยกระดับการทำงานขององค์การการค้าโลก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบการค้าและการลงทุน นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก รมว.พาณิชย์ ให้เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีเอเปคครั้งที่ 31 ผ่านระบบทางไกล โดยในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการหารือในเรื่องการส่งเสริมความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตโลก และรัฐมนตรีเอเปคได้รับรองรายงานการดำเนินงานของคณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการลงทุน ประจำปี 63 เพื่อมอบหมายให้เขตเศรษฐกิจเร่งสานต่อการดำเนินการที่ยังไม่แล้วเสร็จให้สำเร็จตามเป้าหมายโบกอร์ต่อไป ทั้งนี้ ไทยได้ร่วมกล่าวโดยมีประเด็นสำคัญ คือ การเสริมสร้างระบบการค้าพหุภาคี ให้มีเสถียรภาพ ลดการหยุดชะงักทางการค้า และสนับสนุนการเจรจาภายใต้องค์การการค้าโลก อาทิ การอุดหนุนประมง และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นต้น  การสนับสนุนการดำเนินการตามเป้าหมายโบกอร์ แสดงถึงความคืบหน้าของการดำเนินงานในภาพรวมของเขตเศรษฐกิจเอเปค การให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งคำนึงถึงความแตกต่างของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยพร้อมสนับสนุนการดำเนินโครงการหรือข้อริเริ่มทางการค้า เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของสมาชิกเอเปคจนนำไปสู่การจัดทำความตกลง   และสนับสนุนการไหลเวียนของสินค้าจำเป็นในภูมิภาคเอเปคโดยจะต้องสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก และยินดีให้ความร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจเอเปคในการกำหนดแนวทางร่วมกันเพื่ออำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายบุคลากรที่จำเป็น เพื่อรองรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/808360

INFOGRAPHIC : ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศและจำนวนประชากร ในกลุ่มสมาชิกอาร์เซ็ป

จากข้อมูลของ Worldometer และ World Bank เปิดเผยว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นสนธิสัญญาการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งครอบคลุมตลาดที่มีประชากรรวมกัน 2.2 พันล้านคน และมี GDP รวมกันกว่า 26.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 30% ของ GDP โลก

จำนวนประชากร ณ เดือนพฤศจิกายน 2563 (ล้านคน) และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในปี 2562 (ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ)

  1. จีน – จำนวนประชากร 1,441 ล้านคน, GDP 14.34 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
  2. เกาหลีใต้ – จำนวนประชากร 51.3 ล้านคน, GDP 1.64 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
  3. ญี่ปุ่น – จำนวนประชากร 126.3 ล้านคน, GDP 5.08 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
  4. อาเซียน – จำนวนประชากร 669.8 ล้านคน, GDP 2.87 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
  5. ออสเตรเลีย – จำนวนประชากร 25.6 ล้านคน, GDP 1.39 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
  6. นิวซีแลนด์ – จำนวนประชากร 4.8 ล้านคน, GDP 0.207 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อวันจันทร์ (4 พฤศจิกายน 2562) อินเดียถอนตัวจากข้อตกลง RCEP

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/gdp-and-population-of-rcep-member-countries/190525.vnp

จุรินทร์ ชี้ไทยได้ประโยชน์จากซีพีทีพีพี หลังร่วมลงนามอาร์เซ็ป-แต่ยังเหลือขั้นตอนทำสัตยาบัน

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์​ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมครม.ว่า ในที่ประชุมวันเดียวกันนี้ จะยังไม่มีการนำเรื่องความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เข้าหารือ เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป ซึ่งหลังจากลงนามาร่วมกันเมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีผลบังคับใช้ทันที ขั้นตอนต่อไปจะต้องมีการให้สัตยาบันระหว่างประเทศสมาชิกทั้ง 15 ประเทศ รายละเอียดขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศที่กำหนดไว้ สำหรับประเทศไทยต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน ถ้ารัฐสภาผ่านความเห็นชอบ จึงจะสามารถแจ้งให้กับทางเลขาธิการอาร์เซ็ปทราบ ซึ่งตนจะเร่งนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาโดยเร็ว และให้ทันในสมัยประชุมนี้ มีระยะเวลาอีกเพียง 4 เดือนคือ พ.ย.2563-ก.พ.2564

ที่มา : https://www.naewna.com/business/532311

NA อนุมัตินโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจและกฎหมายเพิ่มเติม 5 ฉบับ

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติสมัยที่ 10 (NA) สมัยสามัญครั้งที่ 8 สิ้นสุดลงในวันอังคารหลังจากอนุมัตินโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและกฎหมาย 5 ฉบับ ช่วงสามสัปดาห์ที่ผ่านมาสมาชิกสภานิติบัญญัติได้ถกเถียงหารือเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาล รวมถึงเรื่องภาระหนี้ที่เกิดขึ้นจากดำเนินนโยบายต่างๆในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19  ในปีนี้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของ COVID-19  และคาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.3 อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.72 ในช่วงเก้าเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลยังได้รับการร้องขอของสมาชิกให้เพิ่มการผลิตทางการเกษตรเพื่อการส่งออกในขณะที่ลดการนำเข้าให้น้อยที่สุดเพื่อเป็นการบรรเทาอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน นอกจากนี้ในที่ประชุมยังได้มีการอนุมัติเพิ่มเติมกฎหมาย 5 ฉบับเพื่อให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_NA_225.php