รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไฟฟ้าแห่งสหภาพเมียนมาร์ กลับจากการประชุมกำกับดูแลพลังงานระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกครั้งที่ 6

ตามคำเชิญของนาย Zhang Jianhua หัวหน้าคณะบริหารพลังงานแห่งชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน คณะผู้แทนที่นำโดย U Nyan Tun รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไฟฟ้าแห่งสหภาพเมียนมาร์ ได้เดินทางเยือนเซินเจิ้นและคุนหมิงระหว่างวันที่ 15-19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียครั้งที่ 6 – ด้านกำกับดูแลพลังงานระดับภูมิภาคแปซิฟิก และเรียนรู้เกี่ยวกับการผลิตพลังงานลม จากนั้น รัฐมนตรีสหภาพฯ ได้พบกับนาย Zhang Jianhua หัวหน้าสำนักงานบริหารพลังงานแห่งชาติ (NEA) และหารือเกี่ยวกับการพัฒนาภาคส่วนพลังงานไฟฟ้า ทั้งนี้ยังได้เยี่ยมชมศูนย์นิทรรศการ Shenzhen Huawei Digital Power Edison Exhibition Hall และสถานีชาร์จรถยนต์ EV ที่จัดเก็บพลังงานแสงและการชาร์จ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างกริดและยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ พวกเขายังได้เยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานลมฝูหยวนซี ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้ง 800 เมกะวัตต์ ซึ่งสร้างโดย State Power Investment Corporation ในมณฑลยูนนาน นอกจากนี้ ในระหว่างการเยือนยังได้พบเพื่อหารือเกี่ยวกับข้อกำหนดและแผนสำหรับการดำเนินโครงการที่กำลังดำเนินอยู่ กับบริษัท China Southern Power Grid ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐของจีน ร่วมมือกับกระทรวงพลังงานไฟฟ้า และบริษัทด้านพลังงานอื่นๆของจีนอีกด้วย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/moep-union-minister-returns-from-6th-asia-pacific-regional-energy-regulatory-forum/

การส่งออกภาคการผลิตของเมียนมาร์มีมูลค่า 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนเม.ย.-ต.ค

กระทรวงพาณิชย์เมียนมาร์ เผยสถิติของมูลค่าการส่งออกจากภาคการผลิตว่า มีมูลค่าถึง 5.55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณปัจจุบันปี 2565-2566 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 ทั้งนี้ ตัวเลขในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาบ่งชี้ว่ามูลค่าการส่งออกของภาคการผลิตลดลงมากถึง 1.45 พันล้านดอลลาร์ หากเทียบกับ 7 พันล้านดอลลาร์ ที่บันทึกไว้ในช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณก่อนหน้า โดยในบรรดาสินค้าส่งออก 10 อันดับแรกการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปอยู่ในอันดับที่ 1 รวมถึงก๊าซธรรมชาติและแร่ธาตุ ในขณะเดียวกันเมียนมาร์มีการส่งออกผลิตผลทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ และสินค้าอุตสาหกรรมสำเร็จรูปเป็นหลัก กับคู่ค้าต่างประเทศ ในขณะที่มีการนำเข้าสินค้าทุน สินค้าขั้นกลาง วัตถุดิบสำหรับผลิตสินค้า CMP และสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลักเช่นกัน  อย่างไรก็ดี เมียนมาร์ได้ดำเนินนโยบายตามยุทธศาสตร์การส่งออกแห่งชาติ (NES) พ.ศ. 2563-2568 เพื่อสนับสนุนการส่งออก ซึ่งภาคส่วนที่มีความสำคัญตามนโยบายดังกล่าว ประกอบด้วยการผลิตทางการเกษตร เครื่องนุ่งห่มและเครื่องแต่งกาย อุปกรณ์อุตสาหกรรมและอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจประมง ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ การผลิตและบริการดิจิทัล บริการโลจิสติกส์ การจัดการคุณภาพ บริการข้อมูลการค้า นวัตกรรม และภาคผู้ประกอบการ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/manufacturing-sector-exports-earn-us5-5-bln-in-apr-oct/#article-title

กัมพูชาให้การต้อนรับผู้โดยสารทางอากาศในช่วง 10 เดือนแรกของปี แตะ 4.11 ล้านคน

Mao Havannall รัฐมนตรีสำนักงานเลขาธิการการบินพลเรือนแห่งรัฐกัมพูชา เปิดเผยว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2023 มีผู้เดินทางซึ่งลงทะเบียนในระบบเดินทางทางอากาศมายังกัมพูชากว่า 4.11 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 144 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจุบันมีสายการบินทั้งในและต่างประเทศประมาณ 32 สายการบิน ให้บริการเที่ยวบินทั้งหมด 41,596 เที่ยวบิน ไปยังสนามบินนานาชาติ 3 แห่ง ของกัมพูชา สำหรับในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคมปีนี้ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 93 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเที่ยวบินตรงมากจาก 8 ประเทศกลุ่มสมาชิกอาเซียน และมาจากจีน เกาหลีใต้ และกาตาร์ รวมถึงประเทศอื่นๆ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501393834/cambodia-reports-4-11-mln-air-passengers-in-first-10-months-minister/

กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT ลดลงเกือบ 17% หลังได้รับผลกระทบ

กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง (GFT) ลดลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยในช่วงเดือนมกราคมถึงตุลาคมการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวลดลงร้อยละ 16.90 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลการค้าล่าสุดของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ซึ่งได้รายงานการส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT ของกัมพูชาไว้ที่มูลค่า 8.96 พันล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วง 10 เดือนแรกของปี ซึ่งลดลงอย่างมากจาก 10.78 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลทำให้ภาคการจ้างงานในอุตสาหกรรมดังกล่าวสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการจ้างงานลดลง ด้านผู้เชี่ยวชาญได้ระบุเสริมว่านอกจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากภาวะสงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ภาคการส่งออกของกัมพูชายังได้รับผลกระทบจากการไม่ต่ออายุระบบสิทธิพิเศษทั่วไป (GSP) ของสหรัฐฯ และการลดสิทธิประโยชน์บางรายสินค้าจาก สิทธิพิเศษทางภาษี (EBA) ของสหภาพยุโรป (EU) ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT เป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ การส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปยังสหภาพยุโรปของกัมพูชาลดลงจาก 4.2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2019 เหลืออยู่ที่มูลค่า 3.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2020 และลดลงร้อยละ 20 หรือคิดเป็นมูลค่า 2.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501393555/global-headwinds-keep-cambodias-gft-exports-down-nearly-17-percent/

ศูนย์อุตฯ ฮาลาล เพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าไทย

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ได้มีการประชุม ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ได้เล็งเห็นโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยไปยังตลาดโลก โดยจากข้อมูลในปี 2564 ตลาดอุตสาหกรรมฮาลาลโลกมีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคาดว่าในปี 2567 จะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 2.325 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยเติบโตเฉลี่ย 7.5% ต่อปี และในปี 2565 มูลค่าการส่งออกอาหารฮาลาลของไทยมีมูลค่า 213,816 ล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งในตลาดโลก 2.7% เป็นอันดับที่ 11 ของโลก ซึ่งอาหารฮาลาลส่งออกของไทยส่วนใหญ่ 78% เป็นฮาลาลโดยธรรมชาติ ส่วนที่เหลือ 22% ต้องผ่านการรับรองฮาลาล โดยเฉพาะกลุ่มเนื้อสัตว์และอาหารพร้อมรับประทาน ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย ผ่านกลไกคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) และการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งภารกิจของศูนย์ดังกล่าวครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยเร่งรัดจัดทำข้อตกลงทางการค้าเพื่อเปิดตลาด ส่งเสริมการขยายตลาดการค้าระหว่างประเทศ และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ (National Focal Point) และด้านพัฒนาการผลิตและมาตรฐาน

ที่มา : https://www.naewna.com/business/770216

โอกาสส่งออกของมะพร้าวเวียดนามในตลาดสหรัฐฯ และจีน

คุณ Bui Duong Thuat ผู้อำนวยการของบริษัท Mekong Fruit Export กล่าวว่าตลาดสหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้ามะพร้าวรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน เนื่องมาจากได้มีการนำเข้ามะพร้าวสดประมาณ 2,000 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อปี ในขณะที่บริษัทเวียดนามส่งออกมะพร้าวสดไปยังตลาดสหรัฐฯ ราว 110-120 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อปี แสดงให้เห็นว่ายังมีโอกาสเติบโตของมะพร้าวเวียดนามในตลาดดังกล่าวอีกมาก นอกจากนี้ ในพื้นที่ของจังหวัดเบ๊นแจ (Ben Tre) พบว่ามีบริษัท 5 แห่งที่ทำการส่งออกมะพร้าวสดไปยังตลาดต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน (จีน) ออสเตรเลียและแคนาดา เป็นต้น และยังมีบริษัทประมาณ 20 แห่งที่ลงทะเบียนเพื่อรับรหัสหีบห่อและรหัสพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งช่วยให้สามารถส่งออกมะพร้าวไปยังตลาดจีนได้

ที่มา : https://en.nhandan.vn/opportunity-for-vietnams-coconut-exports-to-us-china-post131272.html

‘นครโฮจิมินห์’ ครองอันดับดัชนีความสามารถโลจิสติกส์ของประเทศ

สมาคมธุรกิจโลจิสติกส์เวียดนาม (VLA) ร่วมกับสถาบันวิจัยและการพัฒนาด้านโลจิสติกส์เวียดนาม (VLI) และศูนย์บ่มเพาะ จัดทำรายงานดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ (LCI) และได้มีการประเมิน 26 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีตัวชี้วัด ดังนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในภูมิภาค (GRDP) ปริมาณสินค้าบรรทุก และจำนวนธุรกิจโลจิสติกส์ ทั้งนี้ จากการประเมินพบว่านครโฮจิมินห์ได้รับคะแนนสูงสุด อยู่ที่ 43.3-74.3 จากคะแนนเต็ม 100 บ่งชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่โดดเด่นของเมืองในการบูรณาการเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คุณภาพการให้บริการ และกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ รองลงมาเมืองไฮฟองและเมืองบิ่นห์ดิ่นห์ (Binh Dinh)

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/hcmc-tops-logistics-competitiveness-index/