‘ศก.ดิจิทัลเวียดนาม’ ปี 68 มูลค่า 45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามรายงานประจำปีของกูเกิล (Google), เทมาเส็ก (Temasek) และ Bain & Company เปิดเผยว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามในปี 2566-2568 คาดว่าจะขยายตัว 20% ต่อปี และมีมูลค่ารวมประมาณ 45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 โดยการขยายตัวของการชำระเงินทางดิจิทัลในเวียดนาม เป็นผลมาจากการได้รับแรงหนุนจากการส่งเสริมของภาครัฐฯ การลงทุนจากธนาคารพาณิชย์ และความนิยมในการใช้จ่ายผ่าน QR Code

ที่มา : https://www.reuters.com/article/southeast-asia-digital-economy-vietnam/vietnams-digital-economy-on-track-to-reach-around-45-bln-by-2025-industry-report-idINL4N3C20Y0

‘การท่าเรือเวียดนาม’ ชี้ 10 เดือนแรกปีนี้ ปริมาณขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือฟื้นตัว

กรมเจ้าท่าเวียดนาม (VMA) เปิดเผยว่าในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 มีปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือเวียดนาม มากกว่า 624.55 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยปริมาณการส่งออกสินค้าลดลงเล็กน้อย 1% แต่การนำเข้ามีการเติบโตที่แข็งแกร่งราว 5%

ทั้งนี้ ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย. ปริมาณการขนส่งสินค้าที่ผ่านท่า 565 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3% การส่งออก 132 ล้านตัน ลดลง 1% ในขณะที่การนำเข้า 165 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5%

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnams-seaport-throughput-rebounds-in-10-months-post130835.html

9 เดือนแรกของปี ทางการกัมพูชาจัดเก็บภาษีแตะ 2.8 พันล้านดอลลาร์

กรมสรรพากรกัมพูชา (GDT) รายงานการจัดเก็บภาษีในช่วง 9 เดือนแรกของปีที่มูลค่า 2.8 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 จากมูลค่า 2.68 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ครอบคลุมเป้าหมายการจัดเก็บภาษีประจำปีที่ร้อยละ 78.5 ของแผนการจัดเก็บภาษี โดยการจัดเก็บที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากทางการกัมพูชาได้ปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีใหม่ ผ่านการนำระบบดิจิทัลมาปรับใช้อย่างระบบ Tax Administration 3.0 เพื่อให้ทัดเทียมกับระบบที่นานาชาติได้มีการนำมาปรับใช้ สำหรับในปี 2022 GDT จัดเก็บภาษีได้มูลค่า 3.45 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเท่ากับร้อยละ 122 ของเป้าหมายในการจัดเก็บภาษีประจำปี แต่ถึงอย่างไรก็ตามจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อปรับกลยุทธ์ในการจัดเก็บภาษีประจำปีต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501384998/tax-collection-hits-2-8-billion-in-nine-months/

การค้าระหว่าง เวียดนาม-กัมพูชา มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ปัจจุบันเวียดนามถือเป็นคู่ค้ารายสำคัญอันดับสามของกัมพูชา และใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียน ภายในปี 2022 โดยการส่งออกของกัมพูชาไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.25 สำหรับการนำเข้าของกัมพูชาจากเวียดนามเพิ่มขึ้นเช่นกันกว่าร้อยละ 26.20 ส่งผลทำให้กัมพูชาขาดดุลการค้าระหว่างเวียดนามที่มูลค่า 1.799 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 55.25 ในปี 2022 เมื่อเทียบกับปี 2021 ซึ่งสินค้าหลักที่กัมพูชาทำการนำเข้าจากเวียดนาม ได้แก่ ผ้าถักที่ทำจากยางเบามูลค่า 450 ล้านดอลลาร์ ปิโตรเลียมกลั่นมูลค่า 396 ล้านดอลลาร์ และแท่งเหล็กดิบมูลค่า 296 ล้านดอลลาร์ โดยในช่วง 21 ปีที่ผ่านมาการส่งออกของเวียดนามไปยังกัมพูชาขยายตัวขึ้นทุกปีจากมูลค่า 217 ล้านเหรียญดอลลาร์ในปี 2000 เพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 4.91 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2022 สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังเวียดนามมูลค่ารวมกว่า 2.03 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501384968/vietnams-trade-with-cambodia-on-upward-swing/

สปป.ลาว-ไทย ร่วมหารือเกี่ยวกับการก่อสร้าง ‘สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขง’

รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว และไทย ได้ทำการเจรจาเกี่ยวกับการก่อสร้างสะพานสำหรับใช้เป็นทางรถไฟข้ามแม่น้ำโขง ระหว่างนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว กับจังหวัดหนองคาย ประเทศไทย ซึ่งขยายเส้นทางรถไฟข้ามพรมแดนจากหนองคายไปยังสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (สถานีคำสะหวาด) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเข้าถึงประเทศจีนได้สะดวกขึ้น ทั้งนี้ จากการหารือทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันที่จะส่งเสริมให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณาวิธีการส่งเสริมปริมาณการค้า
ทวิภาคี โดยการขจัดอุปสรรคทางการค้าที่มีอยู่และทำให้การทำธุรกิจง่ายขึ้น และมุ่งเป้าไปที่การส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างสปป.ลาว กับประเทศไทย โดยใช้เส้นทางรถไฟเป็นระบบขนส่งหลัก

ที่มา : https://english.news.cn/20231101/4129819645d347a6a2b36f7d10d100ed/c.html

‘การเติบโตทางเศรษฐกิจ สปป.ลาว’ ช่วงสองปีครึ่งที่ผ่านมาเติบโตได้ 4.03%

นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เผยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศตั้งแต่ปี 2564 ถึงกลางปี 2566 ขยายตัวได้ 4.03% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4% ทั้งนี้ รัฐบาลได้ปรับลดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจตลอดทั้งปี 2566 จากที่คาดการณ์ไว้ 4.5% ปรับลดเหลือขยายตัว 4.2% เนื่องจากผลกระทบของค่าเงินกีบที่อ่อนค่ารุนแรงและปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งจะส่งผลให้ GDP ต่อหัวของประชากร สปป.ลาว ปีนี้มีแนวโน้มปรับลดลงมาอยู่ที่ 1,712 ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม รัฐบาล สปป.ลาว มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้รายได้ต่อหัวของประชากรบรรลุเป้าหมายที่ระดับ 2,880 ดอลลาร์สหรัฐ ให้ได้ภายในปี 2568 นอกจากนี้ รัฐบาลมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความไม่มั่นคงทางการเงิน อัตราเงินเฟ้อที่สูง และอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน โดยได้สั่งให้ธนาคารกลางใช้กลไกทั้งหมดในลักษณะบูรณาการเพื่อรักษาปริมาณเงิน M2 ในวงกว้างให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ เน้นการใช้สกุลเงินต่างประเทศกับการนำเข้าที่มีลำดับความสำคัญ ยกเลิกร้านแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและบริการแลกเปลี่ยนสกุลเงินทั่วไป ให้แลกเปลี่ยนได้เฉพาะกับธนาคารพาณิชย์

ที่มา : https://english.news.cn/20231101/5e4ef2c249474f61b71121209ad22634/c.html#:~:text=VIENTIANE%2C%20Nov.%201%20(Xinhua,Lao%20Prime%20Minister%20Sonexay%20Siphandone.

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองและประชากรแห่งสหภาพเมียนมา ให้การต้อนรับคณะผู้แทนจีน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองและประชากร U Myint Kyaing ให้การต้อนรับสมาชิกสภาแห่งรัฐของสาธารณรัฐประชาชนจีน และนาย Wang Xiaohong รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ และคณะฯ ที่กรุงเนปิดอว์ วานนี้ โดย ทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือเรื่องการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับคนเข้าเมืองเพื่อความมั่นคงและสันติภาพในพื้นที่ชายแดน ทำให้ประชาชนของทั้งสองประเทศสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้อย่างสะดวกสบาย โดยจัดตั้งด่านชายแดนระหว่างจีน-เมียนมามากขึ้น รวมทั้งขยายความร่วมมือในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับคนเข้าเมือง จัดการประชุมระดับอธิบดีเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ ยังมีการอภิปรายเรื่องการสนับสนุนของจีนเพื่อตอบสนองความต้องการทางเทคโนโลยี และการสำรวจสำมะโนประชากรและครัวเรือนของเมียนมา และระบบ e-ID ที่เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศของ เมียนมา จีน ไทย และลาว เพื่อป้องกันการอพยพข้ามแดนอย่างผิดกฎหมาย การค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ และการพนันออนไลน์ การฟื้นฟูเสถียรภาพอย่างเร่งด่วนในพื้นที่ชายแดนจีน-เมียนมารซึ่งมีการสู้รบปะทุขึ้น และความพยายามในการรักษาความสัมพันธ์ทวิภาคีฉันมิตรที่ยั่งยืนระหว่างเมียนมาและจีน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/moip-union-minister-receives-chinese-delegation/

ราคายางพาราปรับตัวลดลงปลายตุลาคม

ราคายางพาราในตลาดยางของรัฐมอญ ซึ่งเป็นรัฐผลิตยางรายใหญ่ในเมียนมา ปรับตัวลดลงเหลือประมาณ 1,580 จ๊าดต่อปอนด์ โดย เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา ยางแผ่นรมควันขั้น 3 ราคาแตะระดับสูงสุดอยู่ที่ 1,790 จ๊าดต่อปอนด์ และยางตากแห้งราคาอยู่ที่ 1,770 จ๊าดต่อปอนด์ ในขณะที่ราคาปัจจุบันของยางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ 1,580 จ๊าดต่อปอนด์ และยางตากแห้งราคาอยู่ที่ 1,560 จ๊าดต่อปอนด์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วงสองสัปดาห์ ราคาปรับลดลงกว่า 210 จ๊าดต่อปอนด์ ซึ่งมีปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อราคายางพาราจาก อุปสงค์ของยางพาราทั่วโลก อุปทานของยางพาราในตลาดโลก และปริมาณการผลิตยางในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ เมียนมามีเป้าหมายที่จะการส่งออกยางพาราให้ได้ 300,000 ตันในปีงบประมาณปัจจุบัน 2566-2567 อย่างไรก็ตาม การผลิตยางในปีงบประมาณ 2565-2566 ที่ผ่านมามีจำนวนมากกว่า 360,000 ตัน และมีการขนส่งยางมากกว่า 200,000 ตันไปยังคู่ค้าต่างประเทศ ได้แก่ จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม เกาหลีใต้ อินเดีย และ ญี่ปุ่น

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/rubber-prices-on-decline-in-end-oct/#article-title