พาณิชย์ชี้ตลาดส่งออกยานยนต์ไปอินเดียสดใสด้วยแต้มต่อ FTA
นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก น.ส.กัญญาวัลย์ สืบสิงห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจนไน เกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดยานยนต์และอินเดียในช่วงที่ผ่านมาว่า มูลค่าจำหน่ายยานยนต์ของอินเดียในเดือน มิ.ย.66 ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นรถสามล้อ 75% รถแทรกเตอร์ 41% รถจักรยานยนต์ 7% รถยนต์นั่งส่วนบุคคล 5% และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 0.5% เนื่องจากอินเดียไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ได้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ ทั้งนี้ ตลาดยานยนต์อินเดียเติบโตและไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่อินเดียนำเข้าชิ้นยานยนต์อย่างต่อเนื่อง โดยได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีภายใต้ FTA ไทย-อินเดีย และ FTA อาเซียน-อินเดีย ดังนั้นผู้ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยควรสร้างจุดเด่นให้กับสินค้าและบริการของตน ตอบสนองความต้องการของตลาด โดยอาจหารือร่วมกับผู้นำเข้า เพื่อขยายส่วนแบ่งให้เพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดอินเดียในอนาคต สร้างโอกาสในการทำเงินเข้าประเทศต่อไป
‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ เผชิญกับอุปสรรคมากมาย
นายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวในที่ประชุมรัฐบาลว่าเศรษฐกิจเวียดนามยังคงเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก การส่งออกที่หดตัวลงและวิกฤติสินเชื่อ ถึงแม้จะได้รับสัญญาของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่ว่าแนวโน้มของการเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะถูกขัดขวางจากการบริโภคที่อ่อนแอและอุปสรรคทางการค้าโลก ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้สร้างแรงกดดันต่อหนี้สาธารณะและความกังวลทางการเงินยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะขัดขวางการฟื้นตัวของหลายๆประเทศ หลังสิ้นสุดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค นอกจากนี้ ความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ ได้แก่ ความไม่มั่นคงด้านอาหารโลก ผลผลิตน้ำมันที่ซบเซาและสภาพอากาศที่รุนแรง กำลังเพิ่มข้อจำกัดที่ส่งผลกระทบต่อตลาดโลก
ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnam-faces-protracted-economic-headwinds/
ส่งออกเวียดนามยังไม่ฟื้น เหตุอุปสงค์ทั่วโลกอ่อนแอ
กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า รายงานว่าภาคการส่งออกของเวียดนามเผชิญกับภาวะถดถอยในปี 2566 ทั้งการส่งออกและการนำเข้าที่หดตัวลงในอัตราตัวเลขสองหลัก ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค. และจากข้อมูลการส่งออกของเวียดนามในเดือน ก.ค. พบว่ามีมูลค่าอยู่ที่ 29.68 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ภาคเศรษฐกิจในประเทศ ลดลง 4.2% ในขณะที่ภาคการลงทุนจากต่างประเทศ ลดลง 3.2% อีกทั้ง การส่งออกรวมของเวียดนามในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าอยู่ที่ 194.73 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 10.6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สาเหตุสำคัญมาจากอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอ โดยเฉพาะตลาดส่งออกสำคัญของเวียดนาม อาทิเช่น สหรัฐ (-21.8%), ยุโรป (-9.9%), อาเซียน (-9.6%), เกาหลีใต้ (-8.8%) และญี่ปุ่น (-3.5%) เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-foreign-trade-sector-struggles-as-global-demand-weakens/
‘เมียนมา’ เผยส่งออกถั่วพัลส์ 4 เดือน พุ่ง 430 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่าเมียนมาส่งออกถั่วพัลส์ไปยังต่างประเทศมากกว่า 550,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าราว 430 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 4 เดือนของปีงบประมาณ 2566-2567 โดยการส่งออกของเมียนมาส่วนใหญ่ผ่านทางทะเล มูลค่า 362.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือปริมาณ 462,894 ตัน ในขณะที่ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านผ่านพรมแดน อยู่ที่ 77.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือปริมาณ 88,907 ตัน ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของเมียนมา ได้แก่ ถั่วเขียวผิวดำ ถั่วเขียวและถั่วแระ ส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะตลาดอินเดีย จีนและยุโรป นอกจากนี้ จากข้อมูลทางสถิติของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าการส่งออกถั่วพัลส์ของเมียนมาทะลุเกินกว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2565-2566
นายกฯ สปป.ลาว ร่วม รมว.เทคโนโลยี หนุนดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม
รัฐบาล สปป.ลาว เร่งดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล สังคมดิจิทัล และรัฐบาลดิจิทัล ภายใต้กรอบการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ 20 ปี (2021-2040) ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ 10 ปี (2021-2030) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ 5 ปี (2021-2025) โดยกรอบนโยบายต่างๆ คาดว่าจะสนับสนุนการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจของ สปป.ลาว ในระยะสั้นและระยะยาว ขณะที่รัฐบาลดิจิทัลยังส่งผลให้มีการจัดการบริการภาครัฐที่โปร่งใสมากขึ้น ซึ่งเชื่อมโยงกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที ที่กระทรวงกำลังเตรียมขยายการทดลองใช้ 5G ซึ่งได้พัฒนาใน สปป.ลาว ให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อและเกตเวย์ดิจิทัลภายในภูมิภาค และรับประกันความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่แข็งแกร่ง ด้านนายกรัฐมนตรี Sonexay Siphandone แนะนำให้กระทรวงและสถาบันการวิจัยในประเทศสร้างแผนในการพัฒนาเพื่อเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และแผนการพัฒนาสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ ภายใต้กรอบงบประมาณประจำปี 2025
ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_PMtechnology150.php
ยอดขายตั๋วเช้าชมนครวัดอังกอร์ขยายตัวกว่า 500%
กัมพูชาทำรายได้เข้าประเทศมากกว่า 20 ล้านดอลลาร์ จากการให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 430,000 คน ซึ่งซื้อตั๋วเข้าชมนครวัดอังกอร์ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นมากกว่า 500% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในการเติบดังกล่าวนับเป็นนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศกว่า 2.6 ล้านคน ที่เดินทางมาเยือนยังนครวัด ในเสียมราฐ คิดเป็นนักท่องเที่ยวภายในประเทศ 2,203,696 คน และชาวต่างชาติ 439,365 คน รายงานจากกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา ขณะที่ในช่วงครึ่งแรกของปี กัมพูชาต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณกว่า 2.57 ล้านคน ซึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ ไทย เวียดนาม จีน สปป.ลาว สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ เป็นสำคัญ ขณะที่การคาดการณ์ล่าสุดในปีนี้ กัมพูชาคาดว่าจะให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณกว่า 5 ล้านคน คิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 120% เมื่อเทียบกับปี 2022
ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501337271/over-500-increase-in-angkor-ticket-sales/
กัมพูชาหารือร่วมกับสหรัฐฯ หวังต่ออายุสิทธิพิเศษ GSP
กระทรวงพาณิชย์กัมพูชาและสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกาหารือร่วมกัน นำโดย Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือทางการค้าในแง่มุมต่างๆ รวมถึงข้อตกลงทางการค้าใหม่ๆ และการต่ออายุระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) โดยปัจจุบันด้วยยุทธศาสตร์ชาติของกัมพูชา ประกอบกับฐานการผลิตในประเทศที่สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ทำให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศต่างเข้ามาแสวงหาโอกาสสำหรับทั้งการค้าและการลงทุน ซึ่งการต่ออายุระบบสิทธิพิเศษดังกล่าว มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการเสริมสร้างความร่วมมือทางการค้าระหว่างกัมพูชาและสหรัฐฯ จากความได้เปรียบทางภาษีศุลกากรสำหรับผู้ส่งออกกัมพูชา ที่มีส่วนในการสนับสนุนการเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของกัมพูชาเป็นอย่างมาก
‘ธุรกิจจีน’ รุกตั้งโรงงานอลูมิเนียมในจังหวัดเหงะอาน ลงทุน 165 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
บริษัทสัญชาติจีน ‘อินโนเวชั่น พรีซิชั่น เวียดนาม จำกัด’ ประกาศตั้งโรงงานอลูมิเนียมด้วยเงินลงทุน 165 ล้านดอลลาร์สหรัฐในจังหวัดเหงะอาน (Nghe An) ภาคเหนือของประเทศเวียดนาม โดยโรงงานดังกล่าวคลอบคลุมพื้นที่ 17,800 ตารางเมตร ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม VSIP ที่จังหวัดจังหวัดเหงะอาน และมีกำลังการผลิตอลูมิเนียม 1 แสนตันต่อปี ทั้งนี้ โรงงานแห่งนี้จะเริ่มดำเนินการในเดือน ต.ค. ปี 2567 และสร้างแรงงานจำนวน 1,500 คน นอกจากนี้ จังหวัดเหงะอาน ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เกินกว่า 890 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ ส่งผลให้จังหวัดนี้เป็น 1 ใน 8 จังหวัดชั้นนำที่ดึงดูดเงินลงทุน FDI สูงที่สุดทั่วประเทศ
ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/chinese-firm-to-build-us165-million-aluminum-factory-in-nghe-an/