ปัญหาเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ฉุดรั้งอันดับความสุขของ สปป.ลาว ปี 67

สหประชาชาติรายงานความสุขทั่วโลกประจำปี 2567 พบว่า อันดับความสุขของ สปป.ลาว ปรับลดลง 5 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 94 จากกว่า 140 ประเทศทั่วโลก การลดลงนี้สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน โดย สปป.ลาว ได้คะแนน 5.13 จากคะแนนเต็ม 10 ขณะที่ฟินแลนด์ซึ่งเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดได้คะแนน 7.74 และอัฟกานิสถานซึ่งเป็นประเทศที่มีความสุขน้อยที่สุด 1.72 คะแนน ทั้งนี้ ปัจจัยทางเศรษฐกิจมีส่วนสำคัญที่ทำให้อันดับความสุขของ สปป.ลาว ในปีนี้ปรับลดลง โดยมีอัตราเงินเฟ้อเป็นปัญหาสำคัญ การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อมีสาเหตุมาจากค่าเงินกีบที่อ่อนค่าลง ผลผลิตในประเทศลดลง มูลค่าการนำเข้าสูง และความท้าทายในการควบคุมราคาสินค้าในตลาดท้องถิ่น

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/03/26/laos-drops-in-global-happiness-rankings-economic-factors-play-key-role/

สหภาพยุโรปมอบเงิน 1.5 ล้านยูโร ส่งเสริมการเกษตรอัจฉริยะใน สปป.ลาว

สหภาพยุโรป (EU) อนุมัติเงิน 1.5 ล้านยูโร ให้แก่ สปป.ลาว สำหรับดำเนินโครงการส่งเสริมการเกษตรอัจฉริยะเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มสตรีและเกษตรกรเยาวชนที่เปราะบาง สำหรับโครงการนี้จะดำเนินการใน 15 หมู่บ้านใน 7 เมือง ในแขวงสะหวันนะเขต และแขวงหลวงพระบาง คาดว่าจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อครอบครัวเกษตรกรรมจำนวน 300,000 ครอบครัว และอื่นๆ อีกกว่า 100,000 คน ผ่านการให้เทคนิค ความรู้ และทักษะที่เกี่ยวข้องกับ Climate Smart Agriculture (CSA) นอกจากนี้ ยังคาดว่าจะช่วยเพิ่มผลผลิต ปรับปรึงความเป็นอยู่ โภชนาการ และความมั่นคงทางอาหารในท้องถิ่นของ สปป.ลาว อีกด้วย

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_63_EU_y24.php

ระบบลงทะเบียนธุรกิจออนไลน์ของกัมพูชาได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี

ระบบ Single Portal หรือระบบลงทะเบียนธุรกิจออนไลน์ ดำเนินการโดยกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง (MEF) ของกัมพูชา ซึ่งกระทรวงได้รายงานถึงปริมาณการลงทะเบียนธุรกิจ (OBR) ที่มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 3.76 พันล้านดอลลาร์ในปี 2023 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในปีที่แล้วมีการลงทะเบียนธุรกิจผ่านระบบ Single Portal จำนวนทั้งสิ้น 23,454 แห่ง เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 467 เมื่อเทียบกับจำนวน 4,139 แห่ง ที่ลงทะเบียนในปี 2022 สำหรับมูลค่าการลงทุนตามประเภทธุรกิจ พบว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบริการที่พักอาศัยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 21.46 ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด รองลงมาคือ ธุรกิจที่ปรึกษาบริหารจัดการที่ร้อยละ 7.58 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ร้อยละ 7.55 ธุรกิจผลิตยางพาราร้อยละ 7.20 ธุรกิจผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปร้อยละ 6.01 และธุรกิจอื่นๆ ร้อยละ 50.20

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501462968/single-portal-registers-3-76-billion-investments/

DCTS ดันส่งออกกัมพูชาไปยังสหภาราชอาณาจักรโตกว่า 25%

กัมพูชาส่งออกไปยังสหราชอาณาจักร (UK) เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 25.1 คิดเป็นมูลค่ากว่า 136 ล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับแรงหนุนจากโครงการ Developing Countries Trading Scheme (DCTS) ฉบับใหม่ของสหราชอาณาจักร ซึ่งอนุญาตให้ส่งออกสินค้าปลอดภาษีสำหรับสินค้าเกือบทั้งหมด (ร้อยละ 99 ของสินค้าทั้งหมด) โดยเฉพาะสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาอย่างสินค้าสิ่งทอ สินค้าเพื่อการเดินทาง และสินค้าที่ทำจากเครื่องหนัง ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ Cambodia Development Centre ได้รายงานไว้ ถึงการที่กัมพูชายังคงได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับการส่งออกไปยังสหราชอาณาจักรภายใต้ DCTS แม้ว่าจะพ้นจากสถานะประเทศด้อยพัฒนา (LDC) แล้วก็ตาม สำหรับโครงการพิเศษภายใต้ DCTS Enhanced Preferences สำหรับประเทศที่มีรายได้น้อยและประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางที่มีระบบเศรษฐกิจเปราะบาง ซึ่งมีการกำหนดภาษีเป็นศูนย์สำหรับสินค้ามากกว่าร้อยละ 85 หรือ DCTS Standard Preferences สำหรับประเทศรายได้น้อยและประเทศรายได้น้อยถึงปานกลาง ที่มีการยกเลิกหรือลดภาษีศุลกากรบางส่วนหรือทั้งหมดสำหรับสินค้ามากกว่าร้อยละ 80 จากสหราชอาณาจักร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501462930/dcts-boosts-cambodias-exports-to-uk-by-25/

‘เวียดนาม’ ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 6% มีผล 1 ก.ค.

จากพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 38 ที่เสนอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยกระทรวงแรงงาน ผู้พิการ และสวัสดิการสังคม (MOLISA) รายงานว่าค่าแรงขั้นต่ำในภูมิภาคจะเพิ่มขึ้น 6% ทั้งค่าจ้างรายเดือนและรายชั่วโมง เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ซึ่งจะช่วยค่าครองชีพของแรงงานและคนในครอบครัว รวมถึงหนุนตลาดแรงงานเวียดนามฟื้นตัวดีขึ้นและส่งเสริมการผลิตและการดำเนินธุรกิจของกิจการ อย่างไรก็ตามยังมีอุปสรรคใหม่บางประการที่มีผลต่อการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าค่าแรงขั้นต่ำจะเพิ่มขึ้นประมาณ 200,000-280,000 ดองต่อเดือน เมื่อเทียบกับระดับปัจจุบัน

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/minimum-wage-to-increase-by-6-from-july-1-2263650.html

‘วินฟาสต์’ ผู้ผลิตรถ EV สัญชาติเวียดนาม วางขายรถยนต์ไฟฟ้าในไทย

วินฟาสต์ (VinFast) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติเวียดนาม ประกาศเมื่อวันอังคารว่าทางบริษัทวางแผนที่จะขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในไทย และร่วมมือกับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ในการเปิดโชว์รูม อย่างไรก็ดี วินฟาสต์ที่เริ่มส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าเมื่อปีที่แล้ว เผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดไทยจากคู่แข่งรถยนต์สัญาชาติจีน ‘บีวายดี’ รวมถึงเทสลา ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากสหรัฐฯ ก็เริ่มเข้าสู่ตลาดรถยนต์นี้ ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหมดจะเข้าร่วมงานบางกอก มอเตอร์โชว์

ทั้งนี้ จากรายงานของ เคาน์เตอร์พอยต์ รีเสิร์ช บริษัทวิจัยตลาด เปิดเผยว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของไทย คิดเป็นสัดส่วน 58% ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2565 แซงหน้าเวียดนามและอินโดนีเซีย แต่ว่าเมื่อพิจารณามูลค่าของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ยังคงมีสัดส่วนเล็กน้อยที่ 0.5% ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าโลกในปี 2565

ที่มา : https://www.khaosodenglish.com/news/2024/03/27/vietnamese-automaker-vinfast-to-start-selling-evs-in-thailand/

อุปสงค์จากต่างประเทศที่ซบเซาส่งผลให้ราคาข้าวโพดลดลง

ตามข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดเมียนมา รายงานว่า เนื่องจากความต้องการในตลาดข้าวโพดลดลง ราคาข้าวโพดจึงขยับลงไปที่ประมาณ 1,000 จ๊าดต่อviss ในช่วงปลายเดือนมีนาคม หลังจากที่แตะ 1,200 จ๊าดต่อviss ในต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 โดยเมียนมาส่งออกข้าวโพดไปยังจีนและไทยผ่านทางชายแดน และส่งออกผ่านช่องทางเดินเรือ ไปยัง จีน อินเดีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ดี ประเทศไทยที่ถือเป็นผู้นำเข้าข้าวโพดชั้นนำของเมียนมา อนุญาตให้นำเข้าข้าวโพดภายใต้อัตราภาษีเป็นศูนย์ (พร้อมแบบฟอร์ม D) ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ถึง 31 สิงหาคม โดยที่ประเทศไทยกำหนดอัตราภาษีสูงสุดที่ร้อยละ 73 สำหรับการนำเข้าข้าวโพด เพื่อปกป้องสิทธิของผู้ปลูกหากข้าวโพดนำเข้าในช่วงฤดูข้าวโพดของประเทศไทย นอกจากนี้ จากสถิติของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ระบุว่า เมียนมาส่งออกข้าวโพดไปทั่วโลกจำนวน 934,883 ตัน ในปีงบประมาณปัจจุบันปี 2566-2567 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน โดยมีมูลค่ารวม 279.042 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งน้อยลงมากหากเทียบกับฤดูข้าวโพดปี 2565-2566 ที่เมียนมาส่งออกข้าวโพดมากกว่า 2 ล้านตันไปยังคู่ค้าต่างประเทศ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/sluggish-foreign-demand-drives-corn-prices-down/

ราคาทองคำในประเทศเมียนมาเกิน 4.3 ล้านจ๊าดต่อ tical

หลังจากที่ราคาทองคำพุ่งขึ้นเหนือ 2,170 เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์ และค่าเงินจ๊าดในตลาดอ่อนค่าลงประมาณ 3,740 จ๊าดเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ราคาทองคำในประเทศแตะจุดสูงสุดใหม่ที่ 4.31 ล้านจ๊าดต่อ tical (1 tical = 0.578 ออนซ์ หรือ 0.016 กิโลกรัม) ในขณะเดียวกัน สมาคมผู้ประกอบการทองคำย่างกุ้ง (YGEA) กำหนดราคาอ้างอิงที่ 3.7989 ล้านจ๊าดต่อ tical ซึ่งแสดงถึงช่องว่างระหว่างราคาที่แท้จริงในตลาดกับราคาอ้างอิงกว่า 500,000 จ๊าดต่อ tical อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกำลังตรวจสอบสาเหตุของความผันผวนของราคา และกำลังดำเนินคดีตามกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ YGEA จึงขอให้ตัวแทนจำหน่ายทำธุรกรรมทองคำให้ต่ำกว่าราคาอ้างอิงที่ตั้งไว้ และหลีกเลี่ยงการเผยแพร่ข่าวเท็จและการบิดเบือนราคา

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/domestic-gold-price-exceeds-k4-3-mln-per-tical/#article-title