ราคาอ้างอิงขายส่งน้ำมันปาล์มของย่างกุ้ง พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดประจำสัปดาห์ที่สอง

ตามที่คณะกรรมการกำกับดูแลด้านการนำเข้าและจัดจำหน่ายน้ำมันบริโภคระบุว่า อัตราอ้างอิงการขายส่งน้ำมันปาล์มสำหรับตลาดย่างกุ้งถูกกำหนดให้เป็นระดับสูงสุดประจำสัปดาห์ที่สองติดต่อกัน โดยอัตราอ้างอิงสำหรับสัปดาห์นี้ สิ้นสุดวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 กำหนดไว้สูงกว่าที่ 5,380 จ๊าดต่อ viss เทียบกับเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-28 มกราคม) อยู่ที่ 5,250 จ๊าดต่อ viss และ 4,955 จ๊าดต่อ viss สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 มกราคม อย่างไรก็ตาม ราคาตลาดนั้นสูงกว่าราคาอ้างอิงมาก และเพื่อควบคุมการขายเกินราคา กรมคุ้มครองผู้บริโภค กระทรวงพาณิชย์ ได้แจ้งให้ผู้บริโภคร้องเรียนเรื่องการขายเกินราคาผ่านสายด่วนของศูนย์บริการตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ กรมกำลังพยายามร่วมกันควบคุมความผันผวนสูงของราคาน้ำมันปาล์มในตลาดค้าปลีก และเสนอราคาที่ยุติธรรมมากขึ้นแก่ผู้บริโภค โดยประสานงานกับสมาคมผู้ค้าน้ำมันบริโภคแห่งเมียนมาและบริษัทนำเข้าน้ำมัน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/ygn-palm-oil-wholesale-reference-price-heads-for-second-weekly-high/

การค้าชายแดนเมียนมาทะลุ 6.52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 19 มกราคม

Daw Cho Thet Mu รองผู้อำนวยการกรมการค้า กระทรวงพาณิชย์เมียนมา กล่าวว่า การค้าชายแดนของเมียนมากับประเทศเพื่อนบ้านมีมูลค่า 6.52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 19 มกราคม 2567 ในปีงบประมาณปัจจุบัน 2566-2567 นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ซึ่งประกอบด้วยการส่งออกมูลค่า 4.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้ามูลค่า 2.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้เมียนมาดำเนินการค้าชายแดนกับจีน ไทย อินเดีย และบังคลาเทศ โดยส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้ ประมง และสินค้าอื่นๆ เป็นหลัก ในขณะที่นำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าทุน และสินค้าขั้นกลาง อย่างไรก็ดี เมียนมาร์ตั้งเป้าที่จะบรรลุเป้าหมายทางการค้าที่ 32.5 พันล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2566-2567 ซึ่งประกอบด้วยการส่งออก 16.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้า 16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/border-trade-crosses-us6-52-bln-as-of-19-january/

มูลค่าการค้า สปป.ลาว เกิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนธันวาคม 2566

ข้อมูลล่าสุดจากเว็บไซต์ Lao Trade Portal เผยมูลค่าการค้ารวมของ สปป.ลาว โดยมีการนำเข้าและส่งออกอยู่ที่ 1.235 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรายงานระบุว่ามูลค่าการส่งออกในเดือนธันวาคม 2566 อยู่ที่ประมาณ 531 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่าประมาณ 703 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ลาวขาดดุลการค้าประมาณ 172 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ ทองคำแท่งและทองคำแท่งผสม ยาง แร่ทองคำ ผลิตภัณฑ์กระดาษ มันสำปะหลังและแป้งมันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เยื่อไม้และเศษกระดาษ เหล็กและเสื้อผ้า โดยมีจีน เวียดนาม และไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางสำคัญของการส่งออกสินค้าจาก สปป.ลาว ส่วนสินค้านำเข้าหลักของประเทศ ได้แก่ เชื้อเพลิง อุปกรณ์เครื่องจักรกล ยานพาหนะทางบก เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก น้ำมันเบนซิน เครื่องดื่ม ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ โดยประเทศที่ สปป.ลาว นำเข้าสินค้าสูงสุด ได้แก่ จีน ไทย และเวียดนาม

ที่มา : https://english.news.cn/asiapacific/20240126/40fcb191787d49fb8efc44d6c379f531/c.html

การส่งออกของกัมพูชาผ่าน RGPPSEZ ขยายตัวต่อเนื่องแตะ 1.6 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2023

มูลค่าการส่งออกของ Royal Group Phnom Penh Special Economic Zone (RGPPSEZ) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญสำหรับในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา นับจากปี 2016 ที่มีการส่งออกที่มูลค่า 316 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าที่มูลค่า 683 ล้านดอลลาร์ ในปี 2021 หลังจากนั้นก็เพิ่มขึ้นสองเท่าอีกครั้งในเวลาเพียงหนึ่งปีคิดเป็น 1.346 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2022 โดยในปี 2023 มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ที่มูลค่า 1,621 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 7 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา โดยปัจจุบันมีบริษัทผู้ผลิตกว่า 86 แห่ง จาก 14 ประเทศทั่วโลกตั้งโรงงานผลิตในโซนดังกล่าว สร้างการจ้างงานกว่า 43,800 คน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501429922/royal-group-phnom-penh-sezs-exports-crosses-1-6-billion-in-2023/

กัมพูชาคาดเศรษฐกิจปี 2024 โต 6.4%

Chea Serey ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะเติบโตร้อยละ 6.4 ในปี 2024 จากการเติบโตร้อยละ 5.5 ในปี 2023 โดยได้รับแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการผลิตที่คาดว่าจะเติบโตได้ดี ภายใต้ความเสี่ยงนอกประเทศอย่างกระแสการค้าระหว่างประเทศที่ลดลง การลงทุน ตลอดจนความไม่แน่นอนของตลาดเงินระหว่างประเทศ ในขณะที่ความเสี่ยงภายในประเทศอาจเป็นผลมาจากการฟื้นตัวที่ช้าในส่วนของภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากมีการไหลเข้าของการลงทุนจากต่างประเทศที่หดตัวเป็นสำคัญ ด้าน Mey Kalyan ที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชาและประธานสถาบันทรัพยากรเพื่อการพัฒนากัมพูชา กล่าวเสริมว่า รัฐบาลกำลังดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะเชิงปฏิบัติ ซึ่งคาดว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยให้กัมพูชาได้รับประโยชน์จากความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมในระดับภูมิภาคและข้อตกลงการค้าเสรีที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501430154/cambodias-economy-expected-to-grow-6-4-pct-in-2024/

ไทยครองแชมป์ นักท่องเที่ยวต่างชาติมากสุดในอาเซียน

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ผลการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาซียน ครั้งที่ 27 (ASEAN Tourism Forum : ATF 2024) ณ กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ภายใต้หัวข้อ “การท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและมีความรับผิดชอบ: มุ่งสู่อนาคตอาเซียนที่ยั่งยืน”(Quality and Responsible Tourism – Sustaining ASEAN Future)” โดยรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน 10 ประเทศ ได้ร่วมแสดงเจตนารมณ์ ที่จะฟื้นฟูและส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ รับผิดชอบ และยั่งยืน มุ่งเน้นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของอาเซียน และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอาเซียน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและครอบคลุม ผ่านการดำเนินกิจกรรมภายใต้แผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวอาเซียน ปี 2559-2568 ประเด็นที่น่าสนใจที่ได้จากการประชุม พบว่าในปี 2566 ตัวเลขท่องเที่ยวของภูมิภาคอาเซียน มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เพิ่มขึ้น 153% เมื่อเทียบจากปีก่อนหน้า โดยแคมเปญการตลาดในปี 2566 ทั้งสองแคมเปญได้แก่ แคมเปญ imaginASEANและแคมเปญฟื้นฟูการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยมีผู้เข้าร่วมมากถึง 2,500 ล้านคนทั่วโลก ด้านนางสาวสุดาวรรรณ กล่าวว่า ใน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าสูงสุดในปี 2566 จำนวน 28.09 ล้านคน เพิ่มขึ้น 153.94% จากปีก่อนหน้าที่มี 11.06 ล้านคน

ที่มา : https://news.trueid.net/detail/g6l3pP7orbDR

‘เวียดนาม’ เผย ม.ค. ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ระลอกใหม่ 2.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำนักงานการลงทุนต่างประเทศ กระทรวงวางแผนและการลงทุน เปิดเผยว่าในเดือน ม.ค.2567 นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในเวียดนาม มูลค่าเกินกว่า 2.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 40.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และมีเงินทุนจดทะเบียนใหม่ราว 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 66.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทั้งนี้ สิงคโปร์ยังคงเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ด้วยเม็ดเงินทุนจดทะเบียนรวมกว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 59.5% ของเงินทุนทั้งหมด และเพิ่มขึ้น 72.8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว รองลงมาญี่ปุ่นและจีน ในขณะเดียวกัน เมืองฮานอยเป็นแหล่งเงินลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด มีเม็ดเงินทุนจดทะเบียนสูงถึง 867 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยเมืองโฮจิมินห์

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnam-attracts-us2-36-billion-in-new-foreign-investments-in-january/

‘กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า’ เสนอปรับขึ้นค่าไฟฟ้า

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม เสนอยื่นให้ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในปีนี้ หลังจากผลักดันให้เพิ่มขึ้น 7.5% เมื่อปีที่แล้ว เพื่อลดต้นทุนและช่วยเหลือการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) ในการจ่ายเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และทางการเวียดนามได้อนุมัติให้มีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในทุกๆ 6 เดือน ในกรณีที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น 3% ขึ้นไป ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ของบริษัทเวียดคอมแบงก์ เซคิวริตี้ มองว่าแนวโน้มการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจะประกาศเร็วๆนี้ เนื่องมาจากผลกระทบของเอลนีโญ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในโรงไฟฟ้าพลังน้ำอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่นาย Dinh Trong Thinh นักวิเคราะห์จากสถาบัน Academy of Finance กล่าวว่าการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในครั้งนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อที่จะลดต้นทุนที่สูงขึ้น แต่ทางการไฟฟ้าเวียดนามต้องดำเนินการให้มีความโปร่งใส

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/economy/ministry-wants-another-electricity-price-hike-4705526.html