ธนาคารแห่ง สปป.ลาว คาดเงินเฟ้อยังมีระดับสูงตลอดทั้งปี 67

นายบุญเหลือ สินชัยวรวงศ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว (BOL) กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อ สปป.ลาว จะยังคงมีระดับสูงจนถึงสิ้นปี 2567 ทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะลดอัตราเงินเฟ้อลงเหลือตัวเลขหลักเดียวภายในปีนี้ โดยในเดือนเมษายน 2567 อัตราเงินเฟ้อของ สปป.ลาว อยู่ที่ 24.92% ปัจจัยหลายประการที่ทำให้เกิดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ทั้งราคาเชื้อเพลิง ก๊าซ และสินค้านำเข้า การอ่อนค่าของเงินกีบ เมื่อเทียบกับเงินบาทไทยและดอลลาร์สหรัฐ ทำให้สถานการณ์ยุ่งยากยิ่งขึ้น โดยทำให้ยากต่อการรักษาราคาสินค้านำเข้าให้ต่ำ

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/05/23/inflation-in-laos-to-remain-high-all-year-long-bank-of-laos-says/

ธนาคารโลกเผย อัตราเงินเฟ้อ สปป.ลาว กระทบรูปแบบการจ้างงานและผู้มีรายได้น้อย

ธนาคารโลกเผยสถิติจากการสำรวจ Rapid Monitoring Phone Surveys แสดงให้เห็นถึงขนาดการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เพิ่มขึ้นเป็น 45% ในเดือนมกราคม 2567 เพิ่มขึ้นจาก 29% ในปีก่อนหน้า ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าค่าจ้างจะมีการเติบโตในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 แต่ก็ไม่สามารถตอบสนองอัตราเงินเฟ้อได้ ส่งผลให้ประชาชนหันมาทำธุรกิจส่วนตัวและธุรกิจครอบครัวมากขึ้น เพื่อป้องกันกำลังซื้อที่ลดลง แม้ว่ารายได้ครัวเรือนโดยรวมจะมีอัตราการเติบโต 25% ภายในเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งแทบจะเกินอัตราเงินเฟ้อที่ 24% เพียงเล็กน้อย แต่แนวโน้มนี้ไม่ได้ป้องกันส่วนสำคัญของครัวเรือนจากกำลังซื้อที่ลดลง กว่า 40% ของครัวเรือนประสบปัญหาระดับรายได้ตามหลังอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้ความตึงเครียดทางการเงินรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีรายได้น้อย

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/04/10/sustained-inflation-in-laos-forces-shift-in-employment-patterns-hits-low-income-families-hardest-world-bank-reveals/

อัตราเงินเฟ้อ สปป.ลาว มีนาคม 67 อยู่ที่ 24.98% ปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน

 

Update: April 3, 2024 (เผยแพร่ต้นฉบับ: April 2, 2024)

ที่มา: Laotian Times.

สำนักงานสถิติของ สปป.ลาว เผยอัตราเงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2567 อยู่ที่ 24.98% ปรับลดลงจาก 25.35% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยราคาสินค้าหมวดเสื้อผ้าและรองเท้ามีราคาพุ่งสูงสุด โดยเพิ่มขึ้น 36.23% โรงแรมและภัตตาคาร 35.90% หมวดการแพทย์และยา 34.61% แอลกอฮอล์และยาสูบ 26.42% เครื่องใช้ในครัวเรือน 26.39% อาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 23.61% การสื่อสารและการขนส่ง 23.58% ปัจจัยหลักเกิดจากสกุลเงินกีบของ สปป.ลาว อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างประเทศที่สำคัญ เช่น ดอลลาร์สหรัฐ เงินบาทของไทย และเงินหยวนของจีน ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายสำหรับการนำเข้าสินค้ามาในประเทศลาว โดยเงินกีบอ่อนค่าลง 18.6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และ 21.5% เมื่อเทียบกับเงินบาท นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นและความไร้ประสิทธิภาพในการจัดการราคาสินค้าและบริการภายในประเทศทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อยังคงมีความรุนแรง ทำให้ไตรมาส 1 ปี 2567 เงินเฟ้อของ สปป.ลาว อยู่ที่ 24.93%

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/04/02/inflation-rate-in-laos-dips-slightly-to-24-98-percent-in-march/

อัตราเงินเฟ้อ สปป.ลาว แตะระดับ 25.35% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567

สปป.ลาว ยังคงเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ขยายตัวอยู่ที่ 25.35% เพิ่มขึ้นจาก 24.44% ในเดือนก่อน โดยเงินเฟ้อในหมวดโรงแรมและร้านอาหารมีการปรับขึ้นราคาสูงสุด ขยายตัวที่ 35.1% แต่ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับตัวเลขในเดือนก่อน ขณะที่สินค้าหมวดอื่นๆ ที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในเดือนนี้ ได้แก่ เสื้อผ้าและรองเท้า การรักษาพยาบาลและยา อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และการสื่อสารและการขนส่ง สินค้าทั้งหมดนี้มีราคาเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ 22.6% ถึง 35.1% โดยมีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น ประการแรก ความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล เช่น เทศกาลเวียดนามและตรุษจีน ส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้น ประการที่สอง ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น โดยดีเซลเพิ่มขึ้น 7% และน้ำมันเบนซิน 5% ส่งผลให้สถานการณ์เลวร้ายลง ประการสุดท้าย การอ่อนค่าของเงินกีบเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐฯ และบาทไทย ส่งผลให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจตึงตัวมากขึ้น โดยเงินกีบอ่อนค่าลง 1.70% และ 0.61% ตามลำดับ

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/03/01/laos-inflation-hits-25-35-percent-in-february/

อัตราเงินเฟ้อของลาวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือนมกราคม 2567

รายงานล่าสุดจากสำนักงานสถิติลาว ระบุว่าอัตราเงินเฟ้อของลาว เดือนมกราคม 2567 ขยายตัวที่ 24.44% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 24.37% ในเดือนธันวาคม 2566 ตามราคาสินค้าในกลุ่มที่พักแรมและร้านอาหาร ซึ่งขยายตัว 35.98% เมื่อเทียบกับปีก่อน หมวดสินค้าอื่นๆ ที่ผลักดันอัตราเงินเฟ้อของลาวเดือนนี้ ได้แก่ หมวดเสื้อผ้าและรองเท้า ขยายตัว 33.38% หมวดการดูแลทางการแพทย์และยา ขยายตัว 31.03% หมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ขยายตัว 25.26% และหมวดของใช้ในครัวเรือน ขยายตัว 24.50% จากผลของความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล ส่งผลให้ราคาอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ผลักดันอัตราเงินเฟ้อของลาว ทั้งนี้ ธนาคารแห่ง สปป.ลาว (BOL) จะพยายามลดอัตราเงินเฟ้อให้ลงมาอยู่ 9.0% หรือตัวเลขหลักเดียวภายในสิ้นปี 2567 โดยรับประกันว่ารายได้จากการส่งออกจะเข้าสู่ระบบธนาคาร

ที่มา : https://english.news.cn/asiapacific/20240207/ac65e13de9894ca99c4f3743321973ee/c.html

รัฐบาล สปป.ลาว ‘ตั้งเป้าลดปัญหาเงินเฟ้อในปี 2567’

รายงานล่าสุดจากสำนักงานสถิติลาวเผยว่า ในเดือนธันวาคม 2566 อัตราเงินเฟ้อ สปป.ลาว อยู่ที่ 24.4% แม้ว่าจะปรับลดลงเล็กน้อยจาก 25.24% ในเดือนก่อน โดยเงินเฟ้อใยหมวดหมู่โรงแรมและร้านอาหารมีราคาเพิ่มขึ้นสูงสุดเมื่อเทียบเป็นรายปีที่ 35.9% ตามมาด้วยหมวดเสื้อผ้าและรองเท้า การรักษาพยาบาล และของใช้ในครัวเรือน สาเหตุหลักเกิดจากเงินกีบที่อ่อนค่าลง ผลผลิตในประเทศปรับลดลง มูลค่าการนำเข้าที่สูง และความยากลำบากในการควบคุมราคาในตลาดท้องถิ่น ทำให้ความพยายามของรัฐบาลในการควบคุมราคาสินค้ายังเผชิญกับความท้าทาย ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินอยู่ ธนาคารแห่งลาว (BOL) ให้คำมั่นที่จะใช้นโยบายการเงินเข้มงวด โดยมุ่งเน้นที่การรักษาเสถียรภาพของค่าเงินกีบ ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญในการควบคุมต้นทุนสินค้าและบริการ ซึ่งสอดคล้องกับแผนของรัฐบาลที่จะลดอัตราเงินเฟ้อลง 9% ในปี 2567 ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26-27 ธันวาคม 2566 นายกรัฐมนตรี สอนไซ สีพันดอน ได้สั่งการให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องปรับปรุงระบบการจัดเก็บรายได้ให้ทันสมัย ​​ระบุแหล่งรายได้ใหม่ และลดการรั่วไหลทางการเงิน นอกจากนี้ ยังมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงกฎระเบียบด้านเงินตราต่างประเทศ เพิ่มรายได้จากการส่งออก และดึงดูดการลงทุนเพื่อรักษาเสถียรภาพของมูลค่าเงินกีบและลดอัตราเงินเฟ้อ

ที่มา: https://laotiantimes.com/2023/12/29/government-targets-lower-inflation-rates-in-2024/

อัตราเงินเฟ้อของลาวลดลงเล็กน้อยเป็น 25.24% ในเดือนพฤศจิกายน

สำนักงานสถิติ สปป.ลาว ระบุว่าอัตราเงินเฟ้อของลาวในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ร้อยละ 25.24 ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 25.8 ในเดือนตุลาคม เงินกีบที่อ่อนค่าถูกมองว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ผลักดันอัตราเงินเฟ้อในช่วงนี้ จากข้อมูลอัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤศจิกายน พบว่า ราคาสินค้าในหมวดโรงแรมและร้านอาหาร อยู่ร้อยละ 35.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน ราคาอาหารปรุงสุก เช่น ปลาย่าง ยำเนื้อรสเผ็ด และก๋วยเตี๋ยว รวมถึงราคาเบียร์ ไวน์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ผลักดันราคาสินค้าหมวดนี้ หมวดอื่นๆ ที่ผลักดันอัตราเงินเฟ้อ ได้แก่ หมวดเสื้อผ้าและรองเท้า ร้อยละ 31.8 หมวดเครื่องมือทางการแพทย์และยา ร้อยละ 26.5 หมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 26.4 หมวดของใช้ในครัวเรือน ร้อยละ 25.3  เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และหมวดยาสูบ ร้อยละ 24.5 ส่วนหมวดการสื่อสารและการขนส่ง ร้อยละ 22.1 ต้นทุนสินค้าและบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อแตะระดับสูงสุดที่ร้อยละ 41.26 ในเดือนกุมภาพันธ์ ปัจจัยบวกประการหนึ่ง คือ การที่ สปป.ลาว เกินดุลการค้ามากกว่า 943 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 โดยมีการส่งออกมากกว่า 5.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้ามูลค่า 5.01 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://english.news.cn/20231128/386e00e66b6145809ca4526bc42744fb/c.html

ก.ย. อัตราเงินเฟ้อ สปป.ลาว ลดลงเล็กน้อย ด้านรัฐบาลเล็งใช้แผนลดค่าครองชีพ

สปป.ลาว รายงานอัตราเงินเฟ้อประจำเดือนกันยายนอยู่ที่ร้อยละ 25.69 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนสิงหาคมที่ร้อยละ 25.88 ตามข้อมูลของธนาคารแห่ง สปป.ลาว ด้านนายกรัฐมนตรี Sonexay Siphandone ย้ำถึงความสำคัญของภาคธุรกิจในการรับมือกับสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยน และรักษาเสถียรภาพราคาสินค้า โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิเช่น ข้าว เนื้อสัตว์ ปลา และไข่ เพื่อลดผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ อีกทั้งนายกฯ ยังได้เสนอการสนับสนุนและติดตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนจากต่างชาติที่ได้รับอนุมัติอย่างใกล้ชิด โดยกลยุทธ์ดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อดึงดูดเงินตราต่างประเทศเข้ามายัง สปป.ลาว เพิ่มขึ้น รวมถึงเร่งรัดการชำระบัญชีโครงการผ่านระบบธนาคาร ด้านปัญหาเงินเฟ้อในประเทศที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดจากปัจจัยหลายประการ หนึ่งในนั้นคือการอ่อนค่าของสกุลเงินกีบ รวมถึงสภาวะขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากแรงงานในประเทศไหลออกไปยังประเทศที่มีค่าตอบแทนสูงกว่า ซึ่งส่งผลทำให้รายได้ภาคครัวเรือนไม่สามารถเติบโตได้ทันอัตราเงินเฟ้อ ทำให้ต้นทุนในการดำเนินชีวิตของภาคประชาชนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/10/03/inflation-rate-sees-slight-drop-in-september-government-takes-aim-at-rising-cost-of-living/

คาดอัตราเงินเฟ้อกัมพูชาลดลงเหลือ 3.2% ในช่วงครึ่งหลังของปี

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) คาดอัตราเงินเฟ้อกัมพูชาจะลดลงเหลือร้อยละ 3.2 หลังจากเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.5 ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก เป็นผลอันเนื่องมาจากราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้น รวมถึงการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศที่ยังไม่ดี ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงร้อยละ 18.2 สอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบโลก โดยอุปทานน้ำมันทั่วโลกได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดของสงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ควบคู่ไปกับอุปสงค์ที่ฟื้นตัวทั่วโลก ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะลดลงเฉลี่ยร้อยละ 3.2 เป็นผลมาจากการคาดการณ์ราคาน้ำมันที่ชะลอตัวลงกว่าร้อยละ 9.3 ในขณะที่ราคาอาหารคาดว่าจะลดลงเหลือร้อยละ 2.5 โดยได้รับการสนับสนุนจากการปรับปรุงห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงจีนก็เริ่มผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆลง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501124651/inflation-in-kingdom-expected-to-drop-to-3-2-pct/

เวิลด์แบงก์คาดจีดีพีไทยปีนี้ 2.9% ราคาน้ำมัน-สินค้าแพง ดันเงินเฟ้อพุ่ง 5.2%

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่า เวิลด์แบงก์ออกรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยฉบับใหม่ โดยคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้ที่ 2.9% ซึ่งปรับลดลง 1% จากคาดเดิมเมื่อเดือนเดือนธ.ค.64 โดยไทยได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาพลังงานสูงและราคาสินค้าแพง กดดันเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้นมาก และยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจจีนไม่ฟื้นตัวจากการปิดเมือง รวมทั้งความเสี่ยงจากโควิดที่อาจกลับมาระบาดได้อีกครั้ง ส่วนปัจจัยสนับสนุนเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะกลับเข้ามาได้ 6 ล้านคนในปีนี้ ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยได้พึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศ ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งจึงกระทบต่อไทย แต่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีจะได้รับแรงกระตุ้น และกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดโควิดในไตรมาสที่ 4 ของปี 65 จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ลดลงและการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางข้ามพรมแดนของประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านคนในปี 65 เพิ่มขึ้นจาก 4 แสนคนในปี 64 และเพิ่มขึ้นเป็น 24 ล้านคน หรือ 60% ของระดับก่อนการระบาดภายในปี 67 จึงคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 4.3% ในปี 66 และขยายตัว 3.9% ในปี 67 ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ 5.2% ในปีนี้ ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 14 ปี ตลอดปี 65 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.3 การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัว 4.1% ในปี 65 ชะลอตัวลงจากผลของปี 64 ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ 18.8% สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์โลกที่ลดลงและปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลกที่ยืดเยื้อ

ที่มา : https://www.businesstoday.co/business/29/06/2022/85098/