EXIM Bank ร่วม CCC ผลักดันการค้าการลงทุนระหว่าง ไทย-กัมพูชา

ความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและกัมพูชา คาดว่าจะได้รับการส่งเสริมอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง EXIM BANK และหอการค้ากัมพูชา (CCC) เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา นำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทย ร่วมกับ ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของบันทึกความเข้าใจคือการอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการปรึกษาหารือระหว่าง EXIM BANK และ CCC ในด้านต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การพัฒนาอุตสาหกรรม และกิจกรรมอื่นๆ ที่มีส่วนสนับสนุนการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยไทยถือเป็นคู่ค้าสำคัญของกัมพูชา ควบคู่ไปกับจีน สหรัฐฯ และเวียดนาม สำหรับในปี 2022 โดยปริมาณการค้าระหว่างไทย-กัมพูชา ทะลุ 8 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นการส่งออกของไทยไปยังกัมพูชามูลค่า 6.4 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่การนำเข้าจากกัมพูชามีมูลค่ารวม 1.6 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501437767/partnership-between-exim-thailand-and-ccc-to-drive-thai-cambodian-trade-and-investment/

EXIM BANK ร่วมกับหอการค้ากัมพูชาส่งเสริมการค้าการลงทุน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และหอการค้ากัมพูชา (CCC) โดยมี ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK และเนก โอคนา คิท เม้ง ประธานหอการค้ากัมพูชา เป็นผู้ลงนาม โดยทั้งสองหน่วยงานจะแลกเปลี่ยนข้อมูลและบริการด้านข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และการพัฒนาอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ การค้าระหว่างกัมพูชาและไทยมีมูลค่าสูงกว่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นคู่ค้าสำคัญของกัมพูชา นอกเหนือจากจีน สหรัฐฯ และเวียดนาม การส่งออกของไทยไปกัมพูชาในปี 2566 มีมูลค่า 6.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การนำเข้าของไทยจากกัมพูชามีมูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่กัมพูชาเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนที่สำคัญของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs เป็นผลมาจากนโยบายเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ธุรกิจของไทยที่ดำเนินการในกัมพูชาครอบคลุมหลายภาคส่วน

ที่มา : https://www.thebetter.co.th/news/business/13414

EXIM Bank พร้อมหนุนการเงิน AMATA City Lao สร้างเมืองอัจฉริยะ

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) พร้อมสนับสนุนทางด้านการเงินแก่ บริษัท อมตะซิตี้ ลาว จำกัด (AMATA City Lao) ผ่านการร่วมลงนามในสัญญาสนับสนุนทางการเงินมูลค่า 150 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับซื้อที่ดินและพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม อมตะ สมาร์ท แอนด์ อีโค ซิตี้ นาเตย ในแขวงหลวงน้ำทาทางตอนเหนือของ สปป.ลาว ด้านบริษัท AMATA City Lao ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม AMATA ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมใน สปป.ลาว ด้วยความเล็งเห็นในศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในการสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยนโยบายการปล่อยของเสียเป็นศูนย์ (Zero Waste Discharge) ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ สมาร์ท แอนด์ อีโค ซิตี้ นาเตย มุ่งสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ (Low Carbon City) ในระยะยาว บนพื้นฐานของการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามกรอบแนวคิด “ALL WIN” โดยโครงการนี้ออกแบบมาเพื่อรองรับนักลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงโลจิสติกส์และคลังสินค้า เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก การแปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนเคมีภัณฑ์และยา ด้านการลงทุนบริษัทวางแผนที่จะใช้เงิน 500 ล้านดอลลาร์ ในการพัฒนาที่ดินเฟสแรกครอบคลุมพื้นที่ 8,075 ไร่

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_153_Investor_y23.php

EXIM BANK จับมือ SME D Bank เติมเต็มบริการ ติดปีก SMEs ไทยสู่ตลาดโลก

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และนางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการ SME D EXIM ARI CONNEXT “เติมทุน เสริมทักษะ ยกระดับ SMEs ไทยสู่เวทีโลก” ณ SME D Bank สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อในการเติมความรู้ เติมโอกาส เติมเงินทุนอย่างครบวงจรและตอบทุกโจทย์ (Total Solutions) ของผู้ประกอบการ SMEs ไทยตลอด Supply Chain ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เชื่อมโยงไปสู่ Supply Chain การค้าโลก ภายใต้ความร่วมมือ ผู้ประกอบการไทยจะได้รับอบรมบ่มเพาะโดย EXIM BANK ร่วมกับ SME D Bank และพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนและเครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศจากทั้งสองธนาคาร เพื่อให้สามารถเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจการค้าภายในประเทศและส่งออกได้ โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่ต้องการเงินทุนเกิน 50 ล้านบาทจะได้รับการสนับสนุนโดย EXIM BANK เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของ SMEs ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ที่มา : https://www.mitihoon.com/2023/07/21/394511/

EXIM BANK ร่วมการประชุมระดับสูงด้านเศรษฐกิจการทูตในโครงการรถไฟจีน-ลาว

นายเชิดชัย ใจไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) พร้อมด้วย นางวรังคณา วงษ์คาหลวง รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ของ EXIM BANK ได้เข้าร่วมการประชุม Economic Diplomacy High-Level Meeting on the China-Laos Railroad Projects โดยมีนายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน ณ โรงแรม แบงค็อก แมริออท เดอะ สุรวงศ์ ในการประชุมที่จัดโดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศของ MFA ผู้แทนระดับสูงของรัฐบาลและหุ้นส่วนเอกชนรายสำคัญได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับมุมมองทางเศรษฐกิจมหภาคและการจัดการการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้อง แนวโน้มเศรษฐกิจไทยและการเตรียมความพร้อมของประเทศตลอดจนโอกาสและความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นของภาคเอกชน ผ่านการทูตทางเศรษฐกิจ เส้นทางใหม่นี้เป็นโอกาศที่สำคัญของสปป.ลาวในการเชื่อมต่อด้านเศรษฐกิจการค้า กับนานาประเทศรอบข้างโดยเฉพาะด้านที่ใหญ่อย่างจีนที่เป็นจุดหมายปลายทางของประเทศส่งออกทั่วโลกและประเทศไทยผู้ส่งออกรายสำคัญของสปป.ลาว เมื่อเริ่มปิดใช้บริการเส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางการขนส่งที่สำคัญระดับภูมิภาค

ที่มา : https://www.ryt9.com/en/prg/254377

EXIM แบงก์ ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ไทย ในกัมพูชาและเมียนมา

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM bank) ออกมาตรการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ทำธุรกิจในกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) เพื่อลดผลกระทบทางการเงินจากการระบาดของโควิด-19 และความไม่สงบทางการเมืองในเมียนมา ผ่านมาตรการช่วยเหลือด้านเงินกู้ซอฟท์โลนและกำหนดให้หยุดชำระคืนเงินต้นชั่วคราวเป็นระยะเวลา 12 เดือน ส่วนมาตรการเสนอวงเงินกู้ใหม่สำหรับผู้ประกอบการใน CLMV เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยคิดเป็นเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 638,000 ดอลลาร์ต่อปี คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี ระยะเวลาชำระคืน 3 ปี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50847917/thai-bank-aids-smes-in-kingdom-over-myanmar/

“EXIM BANK” ออกสินเชื่อวงเงิน 20 ล.ดอกเบี้ย 3.99% ช่วย SMEs ใน CLMV

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ ธสน. (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ธสน. ได้ดำเนินการออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SMEs) ใน ตลาด CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งประกอบด้วยมาตรการสินเชื่อ CLMV อุ่นใจ เป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการไทยใน CLMV ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (Covid-19) และสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ วงเงินสูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 3.99% ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 3 ปี ใช้เพียงหนังสือค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นหลักประกันร่วมกับบุคคลหรือนิติบุคคลค้ำประกันได้ ทั้งนี้ ตลาด CLMV ไต่อันดับขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 CLMV เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 4 ของไทย รองจากสหรัฐฯ อาเซียนเดิม 5 ประเทศ และจีน ตามลำดับ อย่างไรก็ดี จากการติดตามสถานการณ์ความไม่สงบภายในเมียนมาอย่างใกล้ชิดและประเมินผลกระทบต่อลูกค้า ผู้ประกอบการไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากการชำระเงินล่าช้าและการชะลอคำสั่งซื้อของคู่ค้าในเมียนมา EXIM BANK จึงได้พิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านมาตรการต่าง ๆ ตามความจำเป็นอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.thansettakij.com/content/477549

EXIM BANK จัดงานสัมมนาออนไลน์ส่งเสริมนักธุรกิจ CLMV ลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ไทย

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา (ที่ 4 จากซ้าย) กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ต้อนรับนายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ (ที่ 4 จากขวา) อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ผศ.ดร.สมชาย รัตนซื่อสกุล (ที่ 3 จากซ้าย) คณบดี คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) และนายทินกฤต สินทัตตโสภณ (ที่ 2 จากขวา) กรรมการผู้จัดการ บริษัท คามุ คามุ จำกัด วิทยากรในงานสัมมนาออนไลน์ Thai Franchise “Your Opportunity” จัดโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้าของ EXIM BANK (EXIM Excellence Academy : EXAC) ดำเนินรายการโดย ดร.นิ่มนวล ผิวทองงาม (ที่ 2 จากซ้าย) อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มธบ. เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่นักลงทุนจาก CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) และอาเซียน ในการเลือกลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ไทยและโอกาสของธุรกิจใน CLMV ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่

ที่มา : https://thaipublica.org/2020/08/exim-bank-thai-brand-franchise-businesses-in-clmv/

EXIM BANK ปล่อยกู้ลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป. ลาว

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และนายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) (บีซีพีจี) ร่วมลงนามกับ ดร.จื้อกัง หลี่ ประธานกรรมการ ธนาคาร ไอซีบีซี (ไทย) ในสัญญาสนับสนุนทางการเงินจำนวน 172 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว นอกจากนี้ยังร่วมลงนามกับนายมานาบุ อิโนอุเอะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย ทรัสต์ (ไทย) (SMTBT) ในสัญญาสนับสนุนทางการเงินจำนวน 6,465.07 ล้านเยน (ประมาณ 1,900 ล้านบาท) ให้แก่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ชิบะ 1 (Chiba 1) ในประเทศญี่ปุ่น ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ซึ่งความร่วมมือระหว่าง EXIM BANK กับ บีซีพีจี ซึ่งเป็นผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพเข้าไปลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานทดแทนเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศเพื่อนบ้านอย่างยั่งยืน โดยมี ไอซีบีซี (ไทย) และ ไอซีบีซี เวียงจันทน์ ร่วมให้การสนับสนุนทางการเงินจำนวน 172 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แก่บริษัท บีซีพีจี อินโดไชน่า จำกัด สำหรับลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Nam San 3A และ Nam San 3B ใน สปป. ลาว กำลังการผลิตรวม 114 เมกะวัตต์ โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงระหว่างรัฐบาลของเวียดนาม และ สปป.ลาว ในการก่อสร้างสายส่งเชื่อมต่อชายแดนของทั้งสองประเทศ เพื่อขายไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปยังประเทศเวียดนาม

ที่มา : https://www.posttoday.com/finance-stock/news/628866

“ธสน.” เตือนผู้ส่งออกบริหารความเสี่ยงรับมือ “เศรษฐกิจโลก” และปัญหาผู้ซื้อต่างประเทศ

นายพิศิษฐ์  เสรีวิวัฒนา  กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ ธสน. (EXIM BANK) เปิดเผยว่า จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ธนาคารโลก (World Bank) ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2563 เศรษฐกิจโลกจะหดตัว 5.2% ต่ำสุดในรอบเกือบ 100 ปีนับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ในช่วงทศวรรษ 1930 ขณะที่การค้าโลกจะหดตัว 13.4% เป็นการหดตัวรุนแรงเกินเลข 2 หลัก (-10% ขึ้นไป) ครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2552 “EXIM BANK” คาดว่า ในปี 2563 ภาคการส่งออกของไทยจะหดตัว 5-8% สินค้าที่มีโอกาส เช่น สินค้าจำเป็นประเภทอาหาร และสินค้าตามกระแสเมกะเทรนด์ เช่น อุปกรณ์สำนักงานสำหรับทำงานจากบ้าน (Work from Home) เครื่องมือแพทย์ เภสัชภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ ทั้งนี้  จากการคาดการณ์ของออยเลอร์เฮอร์เมส (Euler Hermes) บริษัทประกันสินเชื่อทางการค้าชั้นนำของโลก Covid-19 จะส่งผลกระทบให้ธุรกิจการค้าทั่วโลกขาดทุนคิดเป็นมูลค่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งจะมีธุรกิจล้มละลายเพิ่มสูงขึ้นกว่า 20% ผู้ส่งออกไทยจึงต้องบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ โดยวิธีกระจายตลาดส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังเติบโตหรือมีคนรุ่นใหม่ที่ยังมีกำลังซื้ออยู่มาก เช่น ตลาดใหม่อย่าง CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เอเชียใต้ และแอฟริกา

ที่มา : https://www.thansettakij.com/content/439442