‘เซมิคอนดักเตอร์’ หนุนอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ของเวียดนาม

สำนักงานการลงทุนต่างประเทศ กระทรวงวางแผนและการลงทุน เปิดเผยว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเวียดนาม ปี 2567 มีมูลค่า 38.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในโครงการขนาดใหญ่ ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์ พลังงาน และการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ในขณะเดียวกัน นายโทมัส รูนีย์ (Thomas Rooney) รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารอุตสาหกรรมของบริษัท Savills Hanoi กล่าวว่าเวียดนามกำลังก้าวขึ้นมาเป็นจุดหมายปลางทางเชิงกลยุทธ์ของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ เนื่องจากเวียดนามมีข้อได้เปรียบทำเลที่ตั้งในห่วงโซ่อุปทานโลก รวมถึงการลงทุนในโครงการเทคโนโลยีขั้นสูง และจัดตั้งศูนย์วิจัย ผลักดันโครงสร้างพื้นฐานและโรงงานต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ เวียดนามยังมีแรงงานจำนวนมาก นนโยบายที่สนับสนุนโครงการเทคโนโลยีขั้นสูง และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้เวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดของนักลงทุนต่างชาติ และผลักดันให้เวียดนามเป็นศูนย์กลางการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงอีกด้วย

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/hi-tech-semiconductor-sectors-promote-vn-s-industrial-property-development-2372091.html

เงินดองอ่อนค่ามากสุดเป็นประวัติการณ์และมีแนวโน้มอ่อนค่า คาดธนาคารกลางเวียดนามจะคงดอกเบี้ยนโยบายถึงสิ้นปี 2025

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

เงินดองอ่อนค่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางความเสี่ยงสงครามการค้ารอบใหม่ โดยเงินดองอ่อนค่า 0.6%YTD มาที่ระดับ 25,535 ดอง/ดอลลาร์ฯ ในวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการลดลงต่ำกว่าระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ก่อนหน้านี้ที่ทำไว้เมื่อปลายเดือนธันวาคม โดยปัจจัยหลักมาจากความเสี่ยงสงครามการค้ารอบใหม่ ที่เวียดนามเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.23 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2024 ประกอบกับธนาคารกลางเวียดนามยังปรับลดอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงมาอยู่ที่ 24,522 ดอง/ดอลลาร์ฯ

ภายใต้นโยบายทรัมป์ 2.0 คาดเวียดนามเกินดุลการค้าน้อยลงในปีนี้ส่งผลให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยกดดันเงินดองอ่อนค่ารัฐบาลเวียดนามกำลังเผชิญแรงกดดันระหว่างการถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าเวียดนามหรือต้องนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งสองทางเลือกล้วนส่งผลให้การเกินดุลการค้าลดลง

นอกจากนี้ ยังมีกระแสเงินทุนไหลออกจากทั้งตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และจากการลงทุนอื่นๆ ส่งผลให้เวียดนามขาดดุลบัญชีการเงิน ซึ่งเป็นอีกปัจจัยกดดันค่าเงินดอง โดยปกติ เวียดนามจะมีเม็ดเงิน FDI ไหลเข้ามากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในแต่ละปี ซึ่งเป็นปัจจัยหลักหนุนการเกินดุลบัญชีการเงิน อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2023 มีกระแสเงินไหลออกจากทั้งตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และจากการลงทุนอื่นๆ เช่น ภาคการเงินการธนาคาร รวมมากกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ฯส่งผลให้เวียดนามขาดดุลบัญชีการเงินซึ่งหลักๆ สะท้อนอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในต่างประเทศตามการคงดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงของเฟด ประกอบกับปัจจัยพื้นฐานของภาคการเงินเวียดนามที่ยังเปราะบาง

เงินดองยังมีแนวโน้มอ่อนค่ามาอยู่ที่ระดับ 25,600 ดอง/ดอลลาร์ฯ ภายในสิ้นปี 2025 จากปัจจัยเสี่ยงมาตรการภาษีทรัมป์ และเฟดชะลอการลดดอกเบี้ย ส่วนโอกาสที่ธนาคารกลางเวียดนามจะเข้าพยุงค่าเงินดองคาดมีค่อนข้างจำกัด เพราะต้องรักษาระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เหมาะสม โดยตั้งแต่เดือน ก.พ.-ต.ค. 2024 ธนาคารกลางเวียดนามใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์ฯเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินดองส่งผลให้ระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงจากระดับเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้า 3.79 เดือน ในเดือน ก.พ. 2024 มาอยู่ที่ระดับเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้า 2.45 เดือน ในเดือน ต.ค. 2024 (IMF ได้ให้เกณฑ์สากลว่าประเทศควรมีทุนสำรองสามารถรองรับการนำเข้าสินค้าได้มากกว่า 3 เดือน)

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อของเวียดนามยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในเดือน ม.ค. 2025 อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.63%YoY ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อเป้าหมายของธนาคารกลางเวียดนามอยู่ในกรอบไม่เกิน 4.5%

ดังนั้น เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินและบริหารจัดการอัตราเงินเฟ้อ คาดธนาคารกลางเวียดนามจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 4.5% ไปจนสิ้นปี 2025 ภายใต้สมมุติฐานว่าเฟดจะลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ครั้งละ 25 bps ในปีนี้

อ่านต่อ : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/VN-Dong-EBR4126-FB-2025-02-14.aspx

‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ เติบโตดี จากแรงหนุนลงทุน-การบริโภค

นายอดัม ซัมดิน (Adam Samdin) ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์ขององค์กรวิจัยพยากรณ์เศรษฐกิจระดับโลก ‘Oxford Economics’ กล่าวว่าเศราฐกิจเวียดนามมีการเติบโตที่โดดเด่น ได้แรงหนุนมาจากภาคการผลิตที่แข็งแกร่งและอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น มีผลทำให้เศรษฐกิจขยายตัวไปข้างหน้า แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามนั้น แทนที่จะพึ่งพาอุปสงค์ภายนอก กลับกันเวียดนามได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะไตรมาสที่ 3-4

นอกจากนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ มีส่วนสำคัญต่อการสนับสนุนการส่งออกของเวียดนามประมาณ 75% เนื่องมาจากธุรกิจที่ลงทุนจากต่างประเทศ ได้รับประโยชน์จากนโยบายรัฐบาล ซึ่งได้สร้างเงื่อนไขเชิงโครงสร้างที่เอื้อประโยชน์ต่อการส่งออกของประเทศ รวมถึงยังตั้งข้อสังเกตว่าการเติบโตของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากบริษัทข้ามชาติกระจายตลาด เพื่อลดความเสี่ยง

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-economy-thrives-on-investment-and-consumption-growth-drivers-post1147117.vov

‘เวียดนาม’ ประเมินเม็ดเงินทุน FDI ไหลเข้าทะลักกว่า 40 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้

นาย Tran Quoc Phuong รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวางแผนและการลงทุนของเวียดนาม กล่าวในช่วงการแถลงข่าวว่าเวียดนามจะดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มากกว่าราว 39-40 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวอยู่ในระดับเทียบเท่าหรือสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2566 และจากข้อมูลในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าเวียดนามดึงดูดเงินทุน FDI อยู่ที่ประมาณ 15.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี (YoY) ส่งผลให้ยอดเงินลงทุนที่จดทะเบียนใหม่ มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นเกินกว่า 9.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 46.9%YoY สิ่งเหล่านี้เป็นที่น่าสังเกตได้ว่าการเพิ่มขึ้นของเงินทุนที่จดทะเบียนใหม่ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเวียดนามที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักลงทุนทั่วโลก

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-s-fdi-capital-likely-to-hit-us-40-billion-this-year-2299480.html

‘เวียดนาม’ ส่องอนาคตสดใส ดึงดูดการลงทุน FDI

ศาสตราจารย์ ดร. เหงียน ไม นายกสมาคมวิสาหกิจการลงทุนต่างประเทศ (VAFIE) กล่าวว่ามีปัจจัยหลายประการที่ขับเคลื่อนการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของเวียดนามในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และจะมีสิ่งประหลาดใจที่รออยู่ข้างหน้า โดยจากข้อมูลในเดือน พ.ค. พบว่าเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ขยายตัวราว 7% สูงกว่าไตรมาสแรก แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจได้รับปัจจัยหนุนส่วนหนึ่งมาจากการดึงดูดการลงทุน FDI

นอกจากนี้ เสถียรภาพทางการเมือง และนโยบายดึงดูดการลงทุน FDI ของเวียดนาม ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงกลยุทธ์ในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น เซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยี เป็นต้น

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนาม ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ทั้งจากการช่วยการฝึกอบรมวิศวกร 50,000 คน และแรงงาน 500,000 คน และส่งเสริมกิจการขนาดใหญ่ของเวียดนาม ได้แก่ VinGroup, FPT ที่มีส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ปัจจัยเหล่านี้ช่วยให้การสนับสนุนอย่างมากต่อการดึงดูด FDI ของเวียดนาม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/bright-prospects-in-vietnams-fdi-attraction-post289718.vnp

‘S&P Global’ ประเมินอันดับเครดิตเวียดนามไว้ที่ BB+

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือของโลก (S&P Global) รายงานว่าเวียดนามได้รับการปรับขึ้นอันดับเครดิตสู่ BB+ จาก B พร้อมกับคาดการณ์แนวโน้มมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจเวียดนามจะปรับตัวดีขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้า เนื่องจากอุปสงค์โลกที่เพิ่มสูงขึ้น และประเทศต่างๆ เริ่มคลี่คลายอุปสรรคในประเทศ โดยอันดับเครดิตสะท้อนได้จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของประเทศ ตลอดจนระดับหนี้ของภาครัฐฯ ที่อยู่ในระดับคงที่ และปัจจัยภายนอกที่แข็งแกร่ง ด้วยเหตุนี้ เวียดนามจึงได้รับการประเมินในเชิงบวก สาเหตุจากบริษัทข้ามชาติกระจายการลงทุนในภูมิภาคนี้ และเวียดนามได้รับประโยชน์จากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เม็ดเงินทุนจำนวนมากไหลเข้าไปสู่ภาคการผลิตในอีกหลายปีข้างหน้า

ที่มา : https://ven.congthuong.vn/vietnams-ratings-affirmed-at-bb-with-stable-outlook-51221.html

‘เวียดนาม’ เผยดึง FDI ช่วง 5 เดือนแรกปี 67 ทะลุ 11.07 พันล้านเหรียญสหรัฐ

สำนักงานการลงทุนต่างประเทศ กระทรวงการวางแผนและการลงทุน (MPI) เปิดเผยว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเวียดนาม ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่จากข้อมูล ณ วันที่ 30 พ.ค. พบว่าเวียดนามมีโครงการลงทุน 40,285 โครงการ และมีมูลค่าทุนจดทะเบียน 481.33 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ ภาคการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เกินดุลการค้า 19.57 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ภาคในประเทศ ขาดดุลการค้า 11.05 พันล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ สาขาการผลิตและแปรรูปยังคงได้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด มีมูลค่าเกินกว่า 7.43 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วน 67.1% ของจำนวนเงินทั้งหมด เพิ่มขึ้น 11.9% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว รองลงมาสาขาอสังหาริมทรัพย์ มีมูลค่าราว 1.98 พันล้านเหรียญสหรัฐ และสาขาการค้าส่งค้าปลีก การขนส่งและการจัดเก็บสินค้า มีมูลค่ากว่า 856.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1656338/fdi-reaches-us-11-07-billion-in-first-five-months-of-2024.html

‘เวียดนาม’ พึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศมากเกินไป จำเป็นที่ต้องพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรม

จากรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ระบุว่าภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน มีสัดส่วนราว 90% ของการส่งออกรวม และมีสัดส่วน 25.8% ของจำนวนงานทั้งหมดในประเทศ ในขณะที่การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของการลงทุนทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนสภาพจากการลงทุนของรัฐไปเป็นของการลงทุนที่มิใช้รัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไปยังภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป ทั้งนี้ ธุรกิจข้ามชาติหรือธุรกิจ FDI เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องจากธุรกิจในประเทศประสบปัญหากับการยกระดับขีดความสามารถทางด้านการผลิตและการบริหาร รวมถึงการขาดเทคโนโลยีขั้นสูงและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1656090/vn-too-heavily-dependent-on-fdi-must-improve-industrial-ecosystem.html

ภาคการผลิตของเมียนมาดึงดูด FDI ทั้งหมด 40 ล้านเหรียญสหรัฐในเดือนเมษายน

ตามสถิติที่เผยแพร่โดยคณะกรรมการการลงทุนและการบริหารบริษัท (DICA) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากกว่า 39.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไหลเข้าสู่ภาคการผลิตของเมียนมาจากวิสาหกิจ 8 แห่งในเดือนแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน พ.ศ. 2567-2568 (เมษายน-มีนาคม) โดยในเดือนเมษายน ภาคการผลิตมีส่วนดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ 100% ซึ่งบริษัทจีนมีการลงทุนในภาคการผลิตเป็นหลักโดยมี 4 โครงการ ตามมาด้วยอินโดนีเซีย อินเดีย จีนไทเป และสิงคโปร์ในแต่ละโครงการ สถานประกอบการผลิตที่ต้องการกำลังแรงงานจำนวนมากได้รับการจัดลำดับความสำคัญเพื่อสร้างโอกาสในการทำงานให้กับคนในท้องถิ่น ทั้งนี้ ภาคการผลิตของเมียนมาส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปและสิ่งทอที่ผลิตในรูปแบบ CMP และมีส่วนช่วยต่อ GDP ของประเทศในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี ตามคำแถลงของ สมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเมียนมา (MGMA) สมาคมฯ มุ่งมั่นที่จะเร่งความพยายามในการพัฒนาภาคส่วนสิ่งทอและเสื้อผ้าของเมียนมา โดยร่วมมือกับแบรนด์และพันธมิตรต่างประเทศ ซึ่ง ณ เดือนเมษายน 2567 มีโรงงานที่ดำเนินการอยู่ 539 แห่งที่ดำเนินการภายใต้ MGMA ซึ่งประกอบด้วยโรงงานในจีน 315 แห่ง, เกาหลีใต้ 55 แห่ง, ญี่ปุ่น 18 แห่ง, จากประเทศอื่น ๆ 16 แห่ง, โรงงานในประเทศ 62 แห่ง และกิจการร่วมค้า 27 แห่ง และมีโรงงานกว่า 50 แห่งที่ปิดชั่วคราวในขณะนี้

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-manufacturing-sector-attracts-whole-fdi-of-us40m-in-april/#article-title

‘เวียดนาม’ เผยเม็ดเงินทุนจากต่างประเทศ ทะลักไหลเข้าอสังหาฯ และอุตสาหกรรม

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าประมาณ 6.28 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นับว่าเป็นเม็ดเงินทุนไหลเข้ามากที่สุดในรอบ 5 ปี โดยภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปยังคงได้รับเงินทุนจากต่างประเทศมากที่สุด มูลค่า 4.93 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 78.5% ของเงินทุน FDI ทั้งหมด รองลงมาภาคอสังหาฯ 607.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศนั้น มีส่วนสำคัญอย่างมากในการส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ และการลงทุนด้านทรัพย์สินทางปัญญาในหลายๆ โครงการใหม่ อย่างไรก็ดี เวียดนามจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมกำลังแรงงานให้ดียิ่งขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/fdi-flows-strongly-into-manufacturing-real-estate-post285568.vnp