2022 กัมพูชาส่งออกไปยังสหรัฐฯ มูลค่ารวมกว่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์

การส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐอเมริกายังคงแข็งแกร่งในปีที่แล้ว แม้ระบบสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี (GSP) ของสหรัฐฯ ที่มอบให้กับประเทศที่พัฒนาน้อย (LDCs) จะยังไม่ได้ต่ออายุ ซึ่งกัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ารวมกว่า 1.22 หมื่นล้านดอลลาร์ ไปยังสหรัฐฯ ในปี 2022 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้าสินค้าของกัมพูชามีมูลค่ารวมอยู่ที่ 450 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นกัมพูชาเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ที่ 1.09 หมื่นล้านดอลลาร์ รายงานโดยสำนักงานสำมะโนประชากรสหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทเสื้อผ้าสำเร็จรูป รวมถึงสินค้าต่างๆ เช่น รองเท้า จักรยาน และเฟอร์นิเจอร์ภายใต้สิทธิพิเศษทางการค้า GSP ขณะที่สินค้านำเข้าของกัมพูชาจากสหรัฐฯ ได้แก่ รถยนต์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501237385/cambodias-export-to-us-tops-12b-last-year/

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรปมูลค่าแตะ 4 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2022

การส่งออกของกัมพูชาไปยังสหภาพยุโรป (EU) ในปีที่แล้ว (2022) มีมูลค่ารวมกว่า 4 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2021 ตามรายงานของกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากสหภาพยุโรปคิดเป็นมูลค่า 812 ล้านดอลลาร์ ส่งผลทำให้มูลค่าการค้าระหว่างกัมพูชาและสหภาพยุโรปสูงถึง 4.8 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2022 เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็นกัมพูชาเกินดุลการค้ากับสหภาพยุโรปที่มูลค่า 3.23 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป เยอรมนีถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกัมพูชาที่มีมูลค่าการค้ากว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 ตามมาด้วยเบลเยียมมูลค่า 731 ล้านดอลลาร์, เนเธอร์แลนด์มูลค่า 596 ล้านดอลลาร์, ฝรั่งเศสมูลค่า 542 ล้านดอลลาร์ และสเปนมูลค่า 503 ล้านดอลลาร์ ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) กัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501236859/cambodias-exports-to-eu-surge-25-percent-to-4-billion-in-2022/

กัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ารวมกว่า 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2022

ในปี 2022 กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศมูลค่ารวมกว่า 2.24 หมื่นล้านดอลลาร์ ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่ารวมอยู่ที่ 2.55 หมื่นล้านดอลลาร์ แถลงการณ์โดยกรมศุลกากรและสรรพสามิตในระหว่างการประชุมเพื่อสรุปผลการดำเนินการกรมศุลกากรและสรรพสามิตประจำปี 2022 ด้าน Kun Nhim อธิบดีกรมศุลกากรและสรรพสามิต กล่าวเสริมว่า การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1 ในขณะที่ภาคส่วนอื่นๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์จากไม้ ขยายตัวร้อยละ 26.2 โดยการส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 6.6 ส่งผลทำให้ภาคการส่งออกรวมขยายตัวร้อยละ 16.7 เมื่อเทียบกับปี 2021 ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญของกัมพูชา ได้แก่ ยานพาหนะ และเครื่องจักร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501233389/cambodias-2022-exports-valued-at-more-than-22-billion/

ปี 2022 กัมพูชาส่งออกไปยังเยอรมนีมูลค่าแตะ 1 พันล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังเยอรมนีมูลค่ารวมกว่า 1,083 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวกว่าร้อยละ 23 ในปีที่แล้ว ตามรายงานล่าสุดจากกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ในขณะเดียวกัน การนำเข้าของกัมพูชาจากเยอรมนีก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันประมาณร้อยละ 3 หรือคิดเป็นมูลค่า 163 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชา ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า สินค้าเดินทาง สินค้าเกษตร ชิ้นส่วนไฟฟ้า และจักรยาน ขณะที่สินค้านำเข้าหลักจากเยอรมนี ได้แก่ ยานพาหนะ วัสดุก่อสร้าง และเฟอร์นิเจอร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501232469/cambodias-exports-to-germany-worth-over-1-billion-in-2022/

กัมพูชาส่งออกไปยังออสเตรเลียโตกว่า 85% ในช่วงปีก่อน

ออสเตรเลียกลายเป็นหนึ่งในคู่ค้ารายสำคัญของกัมพูชา โดยในปี 2022 มูลค่าการส่งออกของกัมพูชาไปยังออสเตรเลียเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 84.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ซึ่งหากคิดเป็นมูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างทั้งสองประเทศคิดเป็นมูลค่ากว่า 523 ล้านดอลลาร์ หรือขยายตัวร้อยละ 60.9 เทียบกับปี 2021 ส่งผลทำให้กัมพูชาเกินดุลการค้ากับออสเตรเลียที่ 234 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 โดยกัมพูชาเน้นการส่งออก เสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทางไปยังออสเตรเลีย ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชา ได้แก่ ถ่านหิน เครื่องจักร และธัญพืช เป็นหลัก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501227589/kingdoms-exports-to-australia-surge-by-85/

‘นครโฮจิมินห์’ เผยเม็ดเงินทุนไหลเข้านิคมอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก พุ่ง 549 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามข้อมูลสถิติ แสดงให้เห็นว่าในปี 2565 มีเม็ดเงินทุนระลอกใหม่และการลงทุนเพิ่มเติมที่มีมูลค่ามากกว่า 549 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ไหลเข้าไปยังนิคมอุตสาหกรรมและการแปรรูปเพื่อการส่งออกนครโฮจิมินห์ (HEPZA) ซึ่งตัวเลขข้างต้นสูงกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้เกินกว่า 9.8% และนิคมอุตฯ เผยว่าเมืองโฮจิมินห์ได้เม็ดเงินทุนจากต่างประเทศ 196.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจากการลงทุนในประเทศ 352.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ คุณ Hua Quoc Trung ผู้อำนวยการของนิคมอุตฯ กล่าวว่าทิศทางของการดึงดูดการลงทุนมีแนวโน้มไปในเชิงบวกมากขึ้น นับตั้งแต่เวียดนามเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2565 ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของนักลงทุน ดังนั้น ผู้ประกอบการหลายรายจึงเข้ามาแสวงหาโอกาสจากนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ เนื่องจากเวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าลงทุนและมีความปลอดภัยสำหรับนักลงทุนต่างชาติ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1448253/over-us-549-million-invested-in-hcm-city-s-export-processing-industrial-zones.html

กัมพูชาส่งออกไปยังสหรัฐฯ พุ่งขึ้นเป็น 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์

ในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2022 กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังสหัรฐฯ มูลค่ารวมกว่า 11,391 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละกว่า 42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามรายงานของสำนักสถิติสหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากสหรัฐฯ มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 428 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้กัมพูชาเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ กว่า 10,963 ล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่สินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชา ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า จักรยาน และเฟอร์นิเจอร์ ภายใต้สิทธิพิเศษทางการค้า GSP ขณะที่การนำเข้าสินค้าสำคัญของกัมพูชาจากสหรัฐฯ ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501216028/cambodias-export-to-us-surges-to-11-billion/

กัมพูชาส่งออกไปยังญี่ปุ่นโต 10% มูลค่าแตะ 1.6 พันล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่า 1,658 ล้านดอลลาร์ ไปยังญี่ปุ่นในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ในขณะที่ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคมกัมพูชานำเข้าสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นมูลค่า 433 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นการค้าทวิภาคีระหว่าง กัมพูชา-ญี่ปุ่น อยู่ที่ 2,081 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง กระดาษและเครื่องใช้สำนักงาน และเครื่องหนัง ขณะที่กัมพูชานำเข้าเครื่องจักร รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ ผ้าผืน และพลาสติกจากญี่ปุ่นเป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501200556/cambodias-export-to-japan-up-10-at-1-6b/

ปีงบฯ 65-66 ส่งออกเมียนมา พุ่งขึ้น 15%

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย การส่งออก ระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึง 2 ธันวาคม ของปีงบประมาณ 2565-2566 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 11,170 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 9,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นมาจากจีนผ่อนปรนกฎและข้อบังคับในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น และปัจจุบันอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าแบบ CMP บูมขึ้นมาอีกครั้งหลังจากเริ่มฉีดวัคซีนให้แก่แรงงงานในโรงงานมากขึ้น โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร อยู่ที่ 2.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ปศุสัตว์ 18.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าประมง 491.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แร่ธาตุ 205 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ผลิตภัณฑ์จากป่า 97.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าเพื่อการผลิต 7.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสินค้าอื่นๆ 320.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ภาคการส่งออกของประเทศต้องพึ่งพาภาคเกษตรกรรมและการผลิตมากขึ้น ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จึงให้ความสำคัญกับการลดการขาดดุลการค้า โดยเร่งส่งเสริมการส่งออก เพื่อลดการนำเข้าลง

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmars-exports-rise-15-per-cent-in-fy-2022-2023/

ครบรอบ 1 ปี รถไฟจีน-สปป.ลาว … การค้าผ่านแดนไทยไปจีนมีทางเลือกเพิ่มขึ้น

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

แม้ว่าภาพรวมการส่งออกของไทยไปจีนช่วง 10 เดือนแรกปี 2565 ในรูปเงินบาทจะเติบโตช้าที่ 2.8% และการส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนในช่วงเดียวกันก็หดตัวถึง 27.3% (YoY) มีมูลค่าส่งออกที่ 1.26 แสนล้านบาท แต่การส่งออกผ่านแดนบางเส้นทางยังคงเติบโตได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการขนส่งไปยังมณฑลหยุนหนานทั้งการขนส่งด้วยรถบรรทุกและการขนส่งผ่านรถไฟจีน-สปป.ลาว ที่เปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. 2564 ผ่านมาครบ 1 ปี การขนส่งผ่านแดนยังคงมีสัญญาณบวกเติบโตได้อีกในระยะข้างหน้า ดังนี้

– ในช่วงโควิด-19 ระบาดการขนส่งผ่านแดนเป็นตัวช่วยสำคัญในการส่งสินค้าเข้าสู่จีน โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นรวดเร็วเป็น 17% ของมูลค่าการส่งออกทุกช่องทางไปจีนในปี 2564 (จากเคยอยู่ที่ 12.4% ในปี 2562)

– ปัจจุบันการขนส่งผ่านแดนระหว่างไทยกับจีนมี 4 เส้นทาง ซึ่งสามารถส่งสินค้าจากกรุงเทพฯ ถึงจีนด้วยระยะเวลาเพียง 2-5 วัน และเส้นทางเหล่านี้จะยิ่งคึกคักขึ้นจากการเตรียมเปิดเส้นทางขนส่งช่องทางที่ 5

– กำลังซื้อที่มาจากจีนตอนใต้ มณฑลหยุนหนานและเขตปกครองตนเองกว่างซียังมีโอกาสเติบโตในระยะข้างหน้า โดยในเวลานี้การส่งออกไปยังพื้นที่จีนตอนใต้เติบโตสวนกระแสการหดตัวของการส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนในภาพรวม ทั้งการส่งออกผ่านสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 จ.เชียงราย ไปยังมณฑลหยุนหนานยังขยายตัวถึง 27.9% (YoY) เช่นเดียวกับช่องทางรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาวที่เปิดใช้งานมา 1 ปี มีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็น 1,569 ล้านบาท เบื้องต้นมีสัดส่วน 1.3% ของการส่งออกผ่านแดนไปจีน จากที่ไม่เคยมีการขนส่งด้วยช่องทางนี้มาก่อน สินค้าที่น่าจับตา ได้แก่ ผลไม้ เครื่องสำอาง น้ำพริกปรุงรส เครื่องแกง มันสำปะหลัง ถั่ว ของแต่งบ้าน รวมถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกใหม่ที่น่าจับตา

– การส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนตอนใต้สามารถส่งต่อสินค้าไปยังภาคกลางและภาคตะวันตกของจีนได้อย่างรวดเร็วด้วยเครือข่ายการขนส่งที่มีประสิทธิภาพของจีน โดยเฉพาะสินค้าเพื่อการบริโภคที่จีนผลิตไม่ได้และเป็นสินค้าที่เป็นจุดเด่นของไทย รวมถึงสินค้าขั้นกลางเพื่อการผลิตในกลุ่มสินค้าที่ต้องใช้วัตถุดิบสำคัญของไทยอย่างยางพาราและเม็ดพลาสติก สามารถนำไปต่อยอดผลิตในมณฑลฉงชิ่งและเมืองเฉิงตู ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งของพื้นที่ตอนในเชื่อมโยงการขนส่งทั่วจีน และเชื่อมการขนส่งสินค้าไปยุโรป

อย่างไรก็ดี จากมาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดของจีนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง และด้วยฐานการส่งออกที่สูงในปีก่อนหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด การส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนในช่วงที่เหลือของปี 2565 แม้จะมีแรงส่งจากกำลังซื้อในช่วงเทศกาลปลายปี แต่ด้วยการส่งออกที่อ่อนแรงในช่วงที่ผ่านมาทำให้ทั้งปี 2565 การส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนหดตัวที่ 25% มีมูลค่า 145,000 ล้านบาท

ในระยะต่อไปต้องจับตา การผ่อนปรนมาตรการโควิดเป็นศูนย์ที่เริ่มส่งสัญญาณบวก และแผนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนที่หันมาพึ่งพิงการบริโภคในประเทศมากขึ้น ท่ามกลางการส่งออกในภาพรวมไปจีนที่ไม่สดใสนัก แต่การกระจายการขนส่งไปยังเส้นทางการค้าผ่านแดนทางภาคเหนือและภาคอีสานของไทยเพื่อส่งไปยังจีนตอนใต้น่าจะเป็นอีกช่องทางที่สร้างโอกาสในการส่งออกสินค้าไทยไปจีนยังพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ตอนในประเทศของจีนมากขึ้น

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Thai-China-lao-FB-13-12-2022.aspx