แบงก์ชาติยอมรับ อัตราเงินเฟ้อสูง เป็นปัจจัยกดดัน ให้ปรับดอกเบี้ย

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวยอมรับว่า ปัจจัยเศรษฐกิจตอนนี้ ยังมีความไม่แน่นอน (Uncertainty) ทำให้เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องสร้างกันชน-ภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ตามปัญหาเงินเฟ้อจากเดิมที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำมากจนไม่จำเป็นต้องสนใจเลย แต่หลังเกิดเหตุสงครามยูเครน-รัสเซีย ส่งผลให้พุ่งสูงขึ้นจนเกินเป้า คาดว่าจะถึงจุดสูงสุด(พีค)ในไตรมาส 3 ปีนี้ ทำให้เรื่องเงินเฟ้อเป็นโจทย์สำคัญมากต่อภาวะเศรษฐกิจนี้ ส่วนการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed จะสะท้อนกับกระทบเงินทุนเคลื่อนย้าย ส่วนการขึ้นดอกเบี้ยของไทย ควรเป็นแบบไทย ไม่ใช่ตามต่างชาติ ดังนั้นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ช้าเกินไปก็ไม่ดี เร็วไปก็ไม่ดี เหมือนการเหยียบคันเร่งกับการแตะเบรก ที่ผ่านมานโยบายการเงินเราผ่อนปรนมากหากเทียบกับภูมิภาค ระยะต่อไปเราจึงต้องค่อยๆถอดคันเร่งแล้ว การขึ้นดอกเบี้ยแม้จะส่งผลกระทบต่อประชาชนก็ต้องดูแล แต่ถ้าไม่ทำอะไรผลกระทบต่อประชาชนจะยิ่งหนักเข้าไปใหญ่

ที่มา: https://www.naewna.com/business/660091

“เวียดนาม” เผยเงินเฟ้อพุ่ง 2.25%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนพ.ค.65 เพิ่มขึ้น 0.38% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน หากพิจารณาในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 2.25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมัน โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 2.25% และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีกในอนาคตข้างหน้า อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ทำให้กลุ่มขนส่งมีต้นทุนสูงขึ้น 2.34% ทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคโดยรวมเพิ่มขึ้น 0.23% ในขณะที่ราคาบ้านและวัสดุก่อสร้างปรับตัวลดลง 0.13% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน นอกจากนี้ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (IIP) เดือนพ.ค.65 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 10.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ที่มา : https://www.sggpnews.org.vn/business/inflation-climbs-by-225-percent-in-five-first-months-99494.html

พิษเงินเฟ้อลาวพุ่ง-กีบอ่อนค่าทุบค้าชายแดน7หมื่นล.หงอย

เศรษฐกิจลาวฝืดหนัก ปม “เงินเฟ้อพุ่ง-กีบอ่อนค่า” ต่อเนื่อง ทำการค้า 7 หมื่นล้าน สะเทือน “ทูตพาณิชย์ สปป.ลาว” หวั่น สินค้าไทย รถยนต์-อุปโภคบริโภค โดนหางเลข ประธานหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชี้ปัญหาลามกระทบค้าขายชายแดนเงียบเหงา “ตั้งงี่สุ่น” ค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่อุดร ลูกค้าลดวูบ เศรษฐกิจของประเทศลาวที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 และถูกซ้ำเติม จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา และล่าสุดผลพวงจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น ขณะที่ค่าเงินกีบกลับอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ยิ่งทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของลาวมีอาการที่หนักขึ้น อีกด้านหนึ่งก็ส่งผลให้ธุรกิจการค้าชายแดนลาว-ไทย ได้รับผลกระทบตามไปด้วย

ทั้งนี้ ปัญหาเงินกีบที่อ่อนค่า เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อกำลังซื้อและทำให้ผู้บริโภคระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ล่าสุดพบว่า ส่งผลต่อการส่งออกสินค้าของไทย โดยเฉพาะรถยนต์ ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคแม้จะยังมีความต้องการ แต่ผู้บริโภคระวังการจับจ่าย ทำให้ผู้นำเข้าระวังมากขึ้นและสต๊อกสินค้าตามความต้องการ

ที่มา : นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 25 – 27 พ.ค. 2565

‘ศก.เวียดนาม’ เผิชญกับความท้าทายใหม่ ท่ามกลางความไม่แน่นอนโลก

The Economic Information Daily ซึ่งเป็นสื่อในเครือของสำนักข่าวซินหัวที่เป็นสื่อของรัฐบาลจีน ได้ตีพิมพ์บทความระบุว่าเศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ท่ามกลางสถานการณ์ทั่วโลกที่มีความผันผวน ตามรายละเอียดชี้ให้เห็นว่าเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจท้องถิ่นได้รับความสนใจจากประชาคมระหว่างประเทศ เศรษฐกิจของประเทศมีความยืดหยุ่น โดยเฉพาะเมื่อเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2563 เวียดนามก็เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีการเติบโตของ GDP เป็นบวก นอกจากนี้ เศรษฐกิจเวียดนามกำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการดำเนินใช้ชีวิตกำลังจะกลับสู่ภาวะปกติเหมือนก่อนเกิดโรคระบาด แต่ก็กำลังเผชิญกับอุปสรรคใหม่ อาทิ ปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นและความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกและปัจจัยดังกล่าวเริ่มที่จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามอีกด้วย

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-economy-facing-new-challenges-amid-global-uncertainties-post946020.vov

รองนายกฯ เวียดนาม ตั้งเป้า GDP โต 6.5%

การประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามสมัยที่ 15 จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 นาย เล วัน แถ่ง (Le Van Thanh) รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวว่าเศรษฐกิจเวียดนามปี 2565 ให้โตได้ตามเป้าหมาย 6-6.5% ถือเป็นเป็นความท้าทายครั้งใหญ่จากสถานการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ในปัจจุบันเวียดนามมุ่งรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระดับมหภาคและควบคุมอัตราเงินเฟ้อ แสดงได้จากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 2.1% นอกจากนี้ รัฐบาลจะดำเนินงานตามมติของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามและมุ่งป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ตลอดจนขอความร่วมมือกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามนโยบายการเงินและการคลัง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ควบคุมเงินเฟ้อและเพิ่มรายรับงบประมาณของภาครัฐ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/growth-target-of-65-remains-big-challenge-deputy-pm-post945860.vov

‘เวียดนาม’ ชี้ไตรมาส 3 เศรษฐกิจส่งสัญญาปัญหาเงินเฟ้อ

Trần Toàn Thắng หัวหน้าศูนย์ข้อมูลและวิเคราห์เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่าในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ เป็นสถานการณ์ความตึงเครียดมากที่สุดในการรับมือปัญหาเงินเฟ้อ ภายในงานเสวนาเศรษฐกิจเวียดนามแห่งปี 2022 ซึ่งจากรายงานได้เน้นย้ำถึงกระบวนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนาม แต่ต้องเผชิญกับแรงกดดันกับปัญหาต่างๆ ในปีนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้แล้ว ความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย ถือได้ว่าสร้างผลกระทบทางอ้อมต่อเศรษฐกิจเวียดนามอีกด้วย ตลอดจนการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างประเทศจีนที่คงเข็มงวดนโยบาย “Zero COVID” กลายเป็นแรงกดดันต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนามและส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1194073/q3-set-to-be-tough-period-for-inflation.html

อัตราเงินเฟ้อสปป.ลาว ใกล้สองหลัก

อัตราเงินเฟ้อปีต่อปีในประเทศลาวเพิ่มขึ้นเป็น 9.9% ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 ตามรายงานล่าสุดจากสำนักงานสถิติลาว ดัชนีราคาผู้บริโภคพุ่งขึ้นเร็วที่สุดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินค่าอาหาร เชื้อเพลิง และสิ่งจำเป็นอื่นๆ มากขึ้น สปป.ลาวมีอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนใหญ่ได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นจากขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนส่งผลให้ตลาดเชื้อเพลิงทั่วโลกผันผวนและการอ่อนค่าของ kip อย่างต่อเนื่อง ในเดือนเมษายน ค่าใช้จ่ายในหมวดการสื่อสารและการขนส่งเพิ่มขึ้น 6.7%  ราคาในหมวดสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และร้อยละ 16.3 เมื่อเทียบปีต่อปี ค่ารักษาพยาบาลและค่ายาเพิ่มขึ้น 0.7% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และ 11% เมื่อเทียบเป็นรายปี การเพิ่มขึ้นของหมวดนี้เป็นผลมาจากราคายาและค่ารักษาพยาบาล ในขณะเดียวกัน ราคาเสื้อผ้าและรองเท้าเพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และ 9.4 % เมื่อเทียบเป็นรายปี นอกจากนี้ ราคาในหมวดที่อยู่อาศัย น้ำ ไฟฟ้า และก๊าซ เพิ่มขึ้น 1.7% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และ 9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ค่าอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 1.8% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และ 5.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten86_Inflation_y22.php

ผู้เชี่ยวชาญชี้ ควบคุมเงินเฟ้อของเวียดนามให้อยู่ในระดับ 4% เป็นไปได้ยาก

รศ. ดร.ตรัง แถ่ง มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งชาติ (NEU) เปิดเผยว่าเวียดนามมีแนวโน้มที่จะบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ 6.5% ในปี 2565 แต่การรักษาอัตราเงินเฟ้อให้ต่ำกว่า 4% เป็นไปได้ยาก โดยการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ เนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตในประเทศ ซึ่งเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อของประเทศในปีนี้ ทั้งนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน 45% จะทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 0.6% และดัชนีราคาราคาผู้ผลิต (PPI) 2%

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/under4percent-inflation-rate-tough-to-complete-experts/227568.vnp

‘เวียดนาม’ เผยนโยบายการคลัง คุมเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย

นาย Võ Thành Hưng รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเวียดนาม เปิดเผยว่าได้ดำเนินนโยบายการคลัง เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลอดจนควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย (4%) ที่สภาแห่งชาติกำหนดไว้ ท่ามกลางราคาสินค้าในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อตลาดในประเทศ ทั้งราคาอาหารและวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อของเวียดนาม เฉลี่ย 1.92% ในไตรมาสแรกของปีนี้ นโยบายการคลังจึงต้องลดภาษีและค่าธรรมเนียม เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจให้ควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ นอกจากนี้  ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อของเวียดนามจะยังต่ำกว่า 4% และเสริมว่ารัฐบาลมีความสามารถที่จะควบคุมราคาสินค้าให้มีความยืดหยุ่น เช่น การลดภาษีการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสำหรับเชื้อเพลิง

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1174694/fiscal-policies-work-to-keep-inflation-under-control.html

 

คาดสินค้ากลุ่มพลังงาน ดันเงินเฟ้อกัมพูชาพุ่ง 4.7% ในปี 2022

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดกัมพูชาได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤต สงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ค่อนข้างต่ำ แต่อัตราเงินเฟ้อภายในจะยังคงเร่งขึ้นภายในปี 2022 ตามรายงานล่าสุดของ ADB โดยได้คาดการอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 4.7 จากราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานและน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น อันเนื่องมาจากวิกฤตสงคราม ประกอบกับอุปสงค์ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยก๊าซธรรมชาติถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการผลิตปุ๋ยไนโตรเจน ซึ่งรัสเซียและเบลารุสส่งออกสินค้าชนิดนี้คิดเป็นกว่าร้อยละ 32 ของการส่งออกทั่วโลก ส่งผลทำให้ต้นทุนการเพาะปลูกพืชผลคาดว่าจะเพิ่มขึ้น นอกจากปุ๋ยแล้ว ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นยังทำให้การทำฟาร์มมีต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้เงินเฟ้อด้านอาหารทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501054826/energy-prices-set-to-accelerate-inflation-to-4-7-in-2022/