‘ศก.เวียดนาม’ กลับมาฟื้นตัว

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ในปีที่แล้ว ส่งผลชะลอตัวการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงสร้างผลกระทบต่อการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก ทำให้ราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น นับว่าเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของการผลิตและการดำเนินธุรกิจในหลายๆ ประเทศทั่วโลก

คุณ เหงียน ถิ เฮือง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม กล่าวว่า GDP ของเวียดนามในปี 2564 ขยายตัว 2.58% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เป็นผลมาจากผลกระทบทางลบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมในไตรมาสที่ 3/64

ทั้งนี้ คุณ Jacques Morisset หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้ากลุ่มโครงการของธนาคารโลกประจำเวียดนาม กล่าวว่าเวียดนามกำลังเผชิญกับอุปสรรคหลายประการในการกลับมาเริ่มต้นฟื้นฟูเศรษฐกิจอีกครั้ง หลังจากเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม มีสัญญาเชิงบวกจากเดือนสุดท้ายของปี 2564 ที่บ่งชี้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและจะกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

ที่มา : https://en.nhandan.vn/business/item/11135102-vietnamese-economy-on-the-rebound.html

สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาด GDP ‘เวียดนาม’ ปี 65 โต 6.7%

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดและเติบโตได้ราว (GDP) 6.7% ปี 2565 และในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นเป็น 7% เนื่องจากเห็นสัญญาแนวโน้มระยะกลางเชิงบวก โดยเศรษฐกิจเวียดนามจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2565 ในขณะที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลกดีขึ้น ทั้งนี้ เงินเฟ้อจะกลายเป็นความกังวลมากขึ้นต่อเวียดนามในปีนี้ ปัจจัยทางฝั่งอุปทาน (ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น) เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในระยะกลาง และแรงกดดันด้านอุปสงค์จะสร้างผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต นอกจากนี้ ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 4% ในปี 2565 เพื่อรองรับกับการขยายตัวของสินเชื่อและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1114426/standard-chartered-forecasts-viet-nam-2022-gdp-growth-at-67-per-cent.html

 

กัมพูชาตั้งเป้า GDP เติบโตร้อยละ 3 ในปี 2021

นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน กล่าวถึงการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของกัมพูชาในปีนี้จะสูงถึงประมาณร้อยละ 3 โดยกล่าวในพิธีเปิดโรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ พนมเปญ เมื่อวานนี้ (15 ธ.ค.) ซึ่งเป็นการปรับปรุงจากการรายงานในครั้งก่อน ที่ได้กล่าวไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ประจำปี 2022 ที่ร้อยละ 2.4 ด้วยการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม และภาคบริการเป็นปัจจัยหลักที่หนุนให้การเติบโตปรับตัวเพิ่มขึ้นเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าภาคบริการซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคการท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมา เนื่องจากรัฐบาลได้เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ได้ทำการฉีดวัคซีนครบแล้ว รวมถึงนักท่องเที่ยวภายในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ในด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์หลักในช่วง 11 เดือน ของปีนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ขยายตัว โดยเฉพาะการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 13.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 10 ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่มก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 53 ไปจนถึงการส่งออกสินค้าเกษตรก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50989307/gdp-growth-for-2021-targetted-at-3-percent/

เวิลด์แบงก์ คาด GDP ไทยปี 65 ฟื้นโต 3.9% จาก 1% ในปี 64 ก่อนโตเพิ่ม 4.3% ปี 66

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำประเทศไทย ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 65 เป็น 3.9% จากเดิมที่คาดไว้ 3.6% ซึ่งเป็นการฟื้นตัวจากปี 64 ที่คาดว่าจะเติบโตได้ราว 1% ก่อนที่ปี 66 จะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 4.3% ขณะที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในปี 65 และ 66 ได้แรงขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวของกิจกรรมภาคบริการ การบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวที่กลับมาเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 7 ล้านคนในปี 65 โดยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของปีและเพิ่มขึ้นอีกในปี 66 เป็นประมาณ 20 ล้านคนหรือประมาณครึ่งหนึ่งของระดับนักท่องเที่ยวในปี 62 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2021/154784

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด GDP ไทยปี 65 โต 2.8-3.7% ขึ้นกับความรุนแรงของโอมิครอน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 65 ฟื้นตัวมาเติบโตได้ในกรอบ 2.8-3.7% ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อทิศทางของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าให้กลับมามีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดเกี่ยวกับอัตราการแพร่เชื้อ และประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้อยู่ว่าจะสามารถต้านทานการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนได้หรือไม่ แต่จากการที่หลายประเทศเริ่มคุมเข้มการเดินทาง ก็อาจทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 65 โดยเฉพาะในไตรมาสแรกได้รับผลกระทบ

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2021/153139

ยัน‘GDP’ปีหน้าไม่ติดลบ ‘บิ๊กตู่’แจงนักธุรกิจพร้อมกระตุ้นต่อ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยหลังตรวจเยี่ยมโครงการ โมบาย พาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน ส่วนใหญ่ชอบใจอยากให้จัดต่อเนื่องและเพิ่มจำนวนรถ จากปัจจุบันที่มี 50 คันกระจายไปทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนต่างจังหวัดได้ให้พาณิชย์จังหวัด เป็นผู้พิจารณาความเหมาะสม กระทรวงพาณิชย์จะไม่ทำเฉพาะพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน แต่จะมีอีก 2 เรื่อง คือ หมู และอาหารจานด่วน ที่จะช่วยบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชน สำหรับหมู สัปดาห์หน้าจะเปิดตัวโครงการหมูเนื้อแดง กก.ละไม่เกิน 130 บาท ตั้งใจว่าจะเปิด 600 จุดทั่วประเทศ และโครงการอาหารจานด่วน ที่จะเปิดให้ร้านค้าทั่วไปขายในราคาจานละ 30-35 บาท และในห้างจานละไม่เกิน 35-40 บาท

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/news/498229/

‘สมัชชาแห่งชาติเวียดนาม’ ตั้งเป้าการเติบโตของ GDP ปี 65 โต 6%-6.5%

เมื่อวันที่ 12 พ.ย. สมัชชาแห่งชาติเวียดนาม (NA) พิจารณารับรองแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปีหน้า ทำให้ต้องปรับประมาณการตัวเลขจีดีพี (GDP) อยู่ที่ 6%-6.5% โดยการลงมติดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อดูแลความปลอดภัยของประชาชนและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดจนแก้ไขปัญหาในการทำธุรกิจและช่วยเหลือธุรกิจท้องถิ่น ยิ่งไปกว่านั้น เวียดนามต้องใช้ข้อได้เปรียบจากโอกาสทั้งหมด เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวและเป็นแรงขับเคลื่อนในการผลักดันเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ทางสมัชชาแห่งชาติ ได้ตั้งเป้ารายได้ต่อหัวที่ 3,900 เหรียญสหรัฐ, ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อยู่ที่ระดับ 4% และอัตราการว่างงานในเมืองต่ำกว่า 4%

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/na-approves-2022-gdp-growth-target-at-6-6-5/

 

รัฐบาลกัมพูชา อนุมัติร่างกรอบงบประมาณปี 2022

รัฐบาลกัมพูชาอนุมัติร่างกรอบงบประมาณประจำปี 2022 ภายใต้กรอบวงเงิน 8.013 พันล้านดอลลาร์ ส่วนด้านกรอบรายรับของประเทศตั้งไว้ที่ประมาณ 5.771 พันล้านดอลลาร์ โดยร่างกฎหมายงบประมาณได้รับการอนุมัติในการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำสัปดาห์ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ต.ค. มีนายกรัฐมนตรีฮุนเซนเป็นประธาน โดยรายจ่ายที่อนุมัติเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับปี 2021 หรือเท่ากับร้อยละ 26.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และรายรับของประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 หรือคิดเป็นร้อยละ 17.7 ของ GDP โดยรัฐบาลยังได้กำหนดสิทธิไถ่ถอนเงินพิเศษ (SDRs) ไว้ที่ 1,600 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้รัฐบาลสามารถลงนามในการกู้ยืมเงินนำมาบริหารประเทศ จากจีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ไทย เกาหลีใต้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ธนาคารโลก และจากแหล่งอื่นๆ ซึ่งรัฐบาลยังได้คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 4.8 ในปีหน้า เพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.4 ในปีนี้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50958209/government-approves-budget-bill-for-2022/

“บางกอกโพสต์” ชี้เวียดนามเป็นพิกัดเป้าหมายทางการลงทุน หลังการระบาดโควิด-19

สำนักข่าวไทย “Bangkok Post” รายงานว่าการลงทุนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความท้าทายของนักลงทุนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ความหวังของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียจะเติบโตได้ดีมาจากตลาดเวียดนามที่ทำได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ ในระดับสากล เนื่องมาจากการขยายตัวของจีดีพีเมื่อปีที่แล้ว ท่ามกลางการระบาดของเชื้อไวรัส โดยกลุ่มบริหารกองทุนบัวหลวง เปิดเผยว่าการแพร่ระบาดส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 9 เดือนแรก ขยายตัวเพียง 1.4% แต่เมื่อพิจารณา 3-6 เดือนข้างหน้า แนวโน้มเศรษฐกิจเวียดนามมีทิศทางที่เป็นบวก ทั้งนี้ Bloomberg คาดการณ์ว่า การเติบโตของ GDP เวียดนาม สูงถึง 7% ในปีหน้า ถือว่าเป็นตัวเลขสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมี 3 ประเด็นสำคัญที่เป็นแรงขับเคลื่อนระยะยาว ได้แก่ 1) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุของประชากร 2) ผลประโยชน์จากการเติบโตของอุตสาหกรรมที่ได้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และ 3) การเปลี่ยนแปลงของดิจิทัล

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-is-an-investment-destination-in-postpandemic-period-bangkok-post/209969.vnp

‘ธนาคารโลก’ หั่น GDP เวียดนามปีนี้ 2-2.5%

ธนาคารโลกปรับลดตัวเลขคาดการณ์ GDP เวียดนามในปีนี้ลงเหลือ 2-2.5% เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 หดตัวลงอย่างมากและคาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 สำหรับสภาวะตลาดแรงงานแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากการล็อกดาวน์ที่ยืดเยื้อ ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เริ่มลดลง ทำให้เมืองฮานอยและหลายๆจังหวัดได้ผ่อนคลายข้อจำกัดที่เข็มงวด ทั้งนี้ เงินเฟ้อยังคงอ่อนตัว ท่ามกลางอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ ขณะที่เงินดองเวียดนามแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย การเติบโตของสินเชื่อชะลอตัว เนื่องจากความต้องการสินเชื่อลดลง ซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว นอกจากนี้ ธนาคารโลกแนะนำให้รัฐบาลเวียดนามระดมตรวจเชื้อและเร่งฉีดวัตซีนในวงกว้าง ตลอดจนควรใช้นโยบายการคลังเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/wb-lowers-vietnams-gdp-growth-forecast-to-225-percent-this-year/209673.vnp