“สำนักข่าวเบลเยียม” ชี้เวียดนามมีโอกาสทางเศรษฐกิจสูง

สำนักข่าว The Brussels Times ของเบลเยียม ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง “ความร่วมมือกันกว่า 30 ปีที่รักษาความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นอยู่ที่ดีของสหภาพยุโรปและประชาชนขาวเวียดนาม” โดยประเด็นไฮไลท์สำคัญ คือเวียดนามและกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปกำลังจะกลายเป็นภูมิภาคที่มีความสามารถในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อาทิเช่น การควบคุมเงินเฟ้อและคงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูง ถึงแม้เผชิญกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ สถาบันการจัดอันดับ “Moody’s” ปรับขึ้นอันดับความน่าเชื่อถือของเวียดนามจาก Ba3 เป็น Ba2 ในขณะที่นิคเคอิ (Nikkel) จัดอันดับการฟื้นตัวจากโควิด-19 ของเวียดนามอยู่ในอันดับที่ 2 ของโลก เพิ่มขึ้น 12 อันดับ นอกจากนี้ ตามรายงานของธนาคารโลก ประจำเดือนตุลาคม 2565 เปิดเผยว่าเศรษฐกิจของเวียดนามคาดว่าจะขยายตัว 7.2% ในปีนี้ เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและผลการดำเนินงานทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก

ที่มา :https://en.nhandan.vn/brussels-times-speaks-highly-of-vietnams-economic-prospects-post118467.html

“แบงก์ชาติเวียดนาม” คุมเข้มสภาพคล่อง

ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ทำการดึงปริมาณเงินออกจากในระบบ 57.6 ล้านล้านดองผ่านการดำเนินการในตลาดเปิด (OMO) และช่องทางในการขายเงินสกุลต่างประเทศ เพื่อรักษาสภาพคล่องในระบบของธนาคารให้อยู่ในระดับเหมาะสม หลังจากทำการลดปริมาณเงินแล้ว อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมระหว่างธนาคารในช่วงข้ามคืน (Overnight) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้น 40 จุด อยู่ที่ 4.9% และในส่วนของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงแบบ 1 สัปดาห์และ 1 เดือน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.2% และ 5.6% ตามลำดับ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่าธนาคารกลางจะรักษาสภาพคล่องของระบบธนาคารเวียดนามให้ไม่มากจนเกินไป เพื่อคงอัตราดอกเบี้ยให้กู้ยืมระหว่างธนาคาร อยู่ที่ระดับ 5.0-5.5% ซึ่งเป็นระดับที่สมเหตุสมผลกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และจะลดแรงกดดันต่ออัตราแลกเปลี่ยน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1339007/central-bank-acts-to-tighten-dong-liquidity.html

“สนง.สถิติเวียดนาม” เผย GDP ไตรมาส 3 ขยายตัว 13.67%

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 29 ก.ย. ตามข้อมูลของหน่วยงานรัฐบาลว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในไตรมาส 3 ปี 2565 ขยายตัว 13.67% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ อันเป็นผลมาจากภาคการผลิตและการส่งออก รวมถึงผลกระทบที่อยู่ในระดับต่ำ อีกทั้ง ภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้างในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน ขยายตัวดีขึ้น 12.91% จากปีก่อนหน้า และภาคบริการขยายตัว 18.86% ขณะที่ภาคเกษตรขยายตัว 3.24%

ที่มา : https://www.reuters.com/markets/asia/vietnam-q3-gdp-grows-1367-yy-vs-783-expansion-q2-stats-office-2022-09-29/

“เวียดนาม” ชี้ผู้ประกอบการค้าข้าวได้รับประโยชน์จากราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น

ราคาข้าวที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากอินเดียจำกัดการส่งออกข้าว แต่เดิมอินเดียส่งออกข้าวไปกว่า 150 ประเทศทั่วโลกและมีส่วนสำคัญต่อสัดส่วนการค้าข้าวโลกประมาณ 36.7% ส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกข้าวทั่วโลกและเป็นแรงกดดันต่อราคาข้าวอีกด้วย ในขณะที่ฝั่งทางด้านผลผลิตข้าวยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากสภาพอากาศเลวร้ายของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกหลัก ทั้งนี้ จากสภาพอากาศที่เลวร้ายในประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของเอเชีย ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 90 ของผลผลิตผลิตข้าวทั่วโลก ทำให้มีแนวโน้มว่าผลผลิตจะปรับตัวลดลงในปีนี้ นอกจากนี้ จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) เปิดเผยว่าสินค้าคงคลังทั่วโลกจะลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี มีอัตราส่วนสินค้าคงคลังต่อการบริโภคอยู่ที่เพียง 34.4% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 36.6% ในช่วงปี 2561-2565 ดันให้ราคาข้าวปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการค้าขาวบางรายของเวียดนามจะได้รับประโยชน์จากข้อจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดียและการลดกำลังการผลิตของจีน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1338730/rice-companies-benefit-from-rising-prices.html

“เวียดนาม” เผยภาคอุตสาหกรรมและอสังหาฯ แม่เหล็กดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ

กระทรวงการวางแผนและการลงทุน (MPI) เปิดเผยข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.ย. ชี้ว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 18.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 15.3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยตัวเลขข้างต้น มีเงินทุนที่ไหลเข้าไปยังโครงการใหม่กว่า 7.12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจำนวน 1,355 โครงการ หดตัว 43% และเพิ่มขึ้น 11.8% ตามลำดับ ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปยังเป็นแหล่งดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ 12.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 64.6% ของทุนจดทะเบียนรวม รองลงมาอสังหาริมทรัพย์ 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (19% ของทั้งหมด) อย่างไรก็ดี ถึงแม้ยอดการลงทุนที่จดทะเบียนใหม่จะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อโรคและความไม่แน่นอนทั่วโลก แต่เงินทุนที่เพิ่มขึ้นจะเช้าไปยังโครงการในปัจจุบันและการใช้จ่ายในการซื้อหุ้นยังคงเพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://en.nhandan.vn/processing-manufacturing-real-estate-top-fdi-attraction-in-nine-months-post118357.html

“เวิลด์แบงก์” ปรับเพิ่มจีดีพีเวียดนามปี 65 ขยายตัว 7.2%

รายงานอัพเดทเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (East Asia and Pacific Country Economic Updates) ประจำเดือนตุลาคม 2565 ของธนาคารโลก คาดการณ์ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2565 ขยายตัว 7.2% เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่กำลังฟื้นตัว และการส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ธนาคารโลกชี้ว่าการฟื้นตัวของภาคส่งออกและความต้องการสะสมที่ถูกอั้นไว้ (pent-up demand) รวมถึงการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามในระยะกลาง-ระยะยาว สามารถบรรลุเป้าหมายของประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง อย่างไรก็ดีขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นนวัตกรรม

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnams-economy-to-expand-72-in-2022-wb-post118336.html

“หอการค้ายุโรป” มองเศรษฐกิจเวียดนามมีมุมมองเชิงบวก

คุณ เหงียน ไฮ มินห์ รองประธานหอการค้ายุโรป (EuroCham) ประจำเวียดนาม กล่าวว่าธุรกิจยุโรปมองทิศทางเศรษฐกิจของเวียดนามไปในทิศทางที่เป็นบวกและอยู่ในช่วงค่อยๆ ฟื้นตัว หลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถึงแม้จะเผชิญกับอุปทานที่หยุดชะงักทั่วโลก แต่เวียดนามยังคงส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหภาพยุโรป มีมูลค่าเกินกว่า 35.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 และมากกว่า 40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามทำรายได้จากการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป เพิ่มขึ้น 23.6% คิดเป็นมูลค่า 31.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เวียดนามเกินดุลการค้าราว 21.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ บ่งชี้ให้เห็นถึงผลกระทบในเชิงบวกจากผลของข้อตกลงการค้าเสรี EVFTA อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยุโรปในเวียดนาม เปิดเผยถึงผลประโยชน์ที่ได้รับมากขึ้นจากข้อตกลงการค้าเสรีดังกล่าว เนื่องจากการส่งออกของเวียดนามไปยังตลาดสหภาพยุโรปส่วนใหญ่มาจากบริษัท FDI

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/european-enterprises-optimistic-about-vietnams-economy-eurocham/239016.vnp