“เวียดนาม” เผยรายได้อีคอมเมิร์ซแบบ B2C พุ่งแตะ 16 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้

เวียดนาม อยู่ที่ราว 16.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นปีแรกที่มีมูลค่าอยู่ในระดับสูงสุด และจากตัวแทนของสำนักงานอีคอมเมิร์ซและเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนาม กล่าวว่าตามรายงานข้างต้น แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ของตลาดอีคอมเมิร์ซของเวียดนามที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรค โดยเฉพาะที่สร้างความรุนแรงต่อภาคการค้าและบริการของเวียดนามและทั่วโลก ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสัดส่วนรายได้ยอดค้าปลีกอีคอมเมิร์ซและบริการ เพิ่มจากเดิม 7% มาอยู่ที่ 27% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อีกทั้ง มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซของเวียดนามจะก้าวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 เป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-b2c-retail-e-commerce-revenue-to-exceed-16-billion-this-year-2060814.html

“ธนาคารโลก” ประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามยังคงเป็นไปในทิศทางที่ดี

ตามรายงานทางด้านเศรษฐกิจเวียดนาม ธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่าภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการค้าปลีก มีอัตราการขยายตัวในเดือนสิงหาคม 15.6% และ 50.2% ตามลำดับ ในขณะที่การส่งออกและการนำเข้าในเดือนสิงหาคม ขยายตัว 22.6% และ 11.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ ทั้งนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไปยังตลาดเวียดนามลดลง สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของนักลงทุน จากความไม่แน่นอนทั่วโลก ในขณะเดียวกัน ยอดการลงทุนจริงยังคงขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อทิศทางในเชิงบวก 11 เดือน นอกจากนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ลดลงจาก 3.1% ในเดือนกรกฎาคม มาอยู่ที่ 2.9% ในเดือนสิงหาคม เป็นผลมาจากราคาน้ำมันลดลง ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเร่งตัวขึ้นจาก 2.6% ในเดือนกรกฎาคม มาอยู่ที่ 3.1% ในเดือนสิงหาคม เนื่องจากได้รับผลกระทบระลอกที่สองของการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต

ที่มา : https://en.nhandan.vn/world-bank-upbeat-about-vietnams-continued-economic-recovery-post118037.html

“ค่าแรงต่ำ แรงงานจำนวนมาก” ขับเคลื่อนธุรกิจสตาร์ทอัพสิงคโปร์ในเวียดนาม

หนังสือพิมพ์เดอะ สเตรท์ส ไทม์สของสิงคโปร์ รายงานว่าจำนวนพนักงานมาก ค่าแรงงานอยู่ในระดับต่ำและตลาดที่มีขนาดใหญ่ของเวียดนาม จึงทำให้เวียดนามเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับบริษัทสตาร์ทอัพ (Startups) สิงคโปร์

ทั้งนี้ คุณ James Tan พาร์ทเนอร์ของบริษัทกองทุน “Quest Ventures” กล่าวว่ากำลังแรงงานของเวียดนาม มีการศึกษาที่ดีขึ้นและค่าแรงงานยังค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ ประกอบกับเวียดนามมีประชากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีและชนชั้นกลางที่กำลังขยายตัว ทำให้กลายมาเป็นฐานลูกค้าของธุรกิจที่มีศักยภาพ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1315198/low-labour-costs-large-workforce-drive-singapore-start-ups-in-viet-nam.html

ธุรกิจที่ปรึกษาอสังหาฯ ระดับโลก ชี้ “เวียดนาม” จุดหมายปลายทางชั้นนำของนักลงทุนต่างชาติ

บริษัท คุชแมน แอนด์ เวคฟีลด์ จำกัด (Cushman & Wakefield) ธุรกิจที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก เปิดเผยผลการสำรวจตัวแทนผู้ประกอบการที่อยู่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง จำนวน 200 ราย ส่วนใหญ่เลือกเข้าไปลงทุนในเวียดนามเป็นประเทศแรกและอันดับสองในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ทั้งนี้ เพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เวียดนามหันมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขัน รวมถึงปรับปรุงทางหลวงและท่าเรือหลักของประเทศ อีกทั้ง ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังเป็นสาขาธุรกิจที่น่าดึงดูดเป็นอันดับ 2 ของมุมมองนักลงทุนต่างชาติ คิดเป็น 26% ของเงินลงทุนรวม นักลงทุนส่วนใหญ่มาจากสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เดนมาร์ก จีนและเกาหลีใต้

นอกจากนี้ คุณจอห์น แคมป์เบลล์ จากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของโลก Savills Vietnam กล่าวว่านโยบายในการสนับสนุนเศรษฐกิจและการรณรงค์ฉีดวัคซีนที่ประสบความสำเร็จของเวียดนาม ได้สร้างฐานที่มั่นคงสำหรับบริษัทต่างชาติที่จะมีความมั่นใจต่อการฟื้นตัวของตลาดหุ้นเวียดนาม

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-top-destination-for-foreign-investors-says-cushman-wakefield-2059452.html

5 ประเทศชั้นนำของโลก เข้ามาลงทุนในเวียดนามเท่าไร?

ตามรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่าในปี 2564 สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เกือบ 22,940 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาจีน 16,863 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ, ญี่ปุ่น เยอรมนีและสหราชอาณาจักร ตามลำดับ โดยทั้ง 5 ประเทศข้างต้นได้เข้ามาลงทุนในเวียดนามมาหลายปีแล้ว หากพิจารณาในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. 2565 ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากจำนวนโครงการใหม่ 123 โครงการ ตามมาด้วยจีนกลายมาเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 2 ในเวียดนาม สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักและเยอรมนี

นอกจากนี้ กระทรวงการวางแผนและการลงทุนของเวียดนาม (MPI) ระบุว่าอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปเป็นสาขาการลงทุนที่น่าสนใจที่สุดสำหรับนักลงทุนชาวญี่ปุ่น

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/how-much-do-the-5-largest-economies-invest-in-vietnam-2059410.html

“เวียดนาม” ปรับประมาณการจีดีพี Q3/65 โต 7%

แหล่งข่าวระบุว่ารัฐบาลได้แถลงการณ์ประชุมเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา กล่าวว่าเป้าหมายการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ที่ระดับเหนือกว่า 7% จากการแถลงการณ์ของรัฐบาลชี้ว่ารัฐบาลสามารถรักษาเสียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมได้จนถึงสิ้นปีนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของโลก ทั้งนี้ GDP ของเวียดนามในไตรมาส 2/2565 ขยายตัว 7.72% จากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 5.05%

ที่มา : https://www.channelnewsasia.com/business/vietnam-q3-gdp-growth-seen-above-7-government-2932871

ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ปีนี้“เวียดนาม” ส่งออกข้าวพุ่ง 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นาย Phung Duc Tien รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท เปิดเผยในที่ประชุมว่าในช่วงกลางเดือนสิงหาคม เวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวเปลือกทั้งสิ้น 6.7 ล้านเฮกตาร์ ลดลง 0.7% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่พื้นที่เก็ยเกี่ยวทั้งสิ้น 4.4 ล้านเฮกตาร์ เพิ่มขึ้น 2.1% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ ราคาส่งออกข้าวของเวียดนาม อยู่ที่ 479 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ลดลง 8.8% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยตลาดข้าวในสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ เพิ่มการนำเข้าข้าวของเวียดนามอย่างมาก ทำให้ช่วยราคาส่งออกข้าวของเวียดนามเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้  นาย Nguyen Nhu Cuong ผู้อำนวยการแผนกเพาะปลูกพืช ชี้ว่าหากไม่มีสภาพอากาศที่ผิดปกติหรือเผชิญกับความผิดปกติในพืชพันธุ์ ภาคเกษตรกรรมของเวียดนามจะผลิตข้าวเพียงพอต่อการส่งออก ซึ่งจะบรรลุตามเป้าหมายที่ 6.5-6.7 ล้านตันในปีนี้ สร้างรายได้กว่า 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1314243/vn-to-earn-around-3-3-billion-from-rice-exports-this-year-experts.html