แชมป์ส่งออกอันดับ 1 ของโลก ทูน่ากระป๋อง

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปของไทยเติบโตได้ดี แม้อยู่ในภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวน เพราะผู้ประกอบการมีศักยภาพในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ประกอบกับ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการอาหารที่เก็บไว้ได้นานเพิ่มมากขึ้น และไทยยังมีแต้มต่อจากการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ช่วยปลดล็อกกำแพงภาษีศุลกากรที่ประเทศคู่เอฟทีเอเก็บจากสินค้าของไทย ส่งผลให้ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเล กระป๋องและแปรรูปอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน และส่งออกทูน่ากระป๋องอันดับ 1 ของโลก

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/business/market-business/1957054

กัมพูชาและจีนร่วมลงนามข้อตกลงทางด้านการค้า

กัมพูชาและจีนได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ณ พนมเปญ โดยมีนายกรัฐมนตรีฮุนเซน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนเข้าร่วมพิธีลงนาม ซึ่งนายฮุนเซนพูดถึง FTA ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองต่อประเทศกัมพูชา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของจีนกล่าวว่าเขตการค้าเสรีจะช่วยให้กัมพูชาก้าวข้ามจากผลกระทบที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบันในหลายด้าน ซึ่งฝ่ายกัมพูชามีความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ที่จะเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมระหว่างกัมพูชาและจีน โดยจะยังคงสนับสนุนจีนอย่างต่อเนื่องในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างจีนและยินดีที่จะทำงานร่วมกับจีนเพื่อกระชับความร่วมมือที่ส่งผลประโยชน์ร่วมกันในด้านต่างๆต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50772642/cambodia-china-sign-trade-deal/

พาณิชย์โชว์ส่งออกนมและผลิตภัณฑ์ไทยโตต่อเนื่อง 8 เดือน เพิ่มขึ้น 7.9% พาณิชย์ดันเจ้าตลาดด้วยเอฟทีเอ

อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.) กล่าวในการสัมมนา โครงการ “โคนมไทยก้าวไกล ขยายตลาดส่งออกได้ด้วยเอฟทีเอ” ว่าโครงการดังกล่าวกรมดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 สามารถขยายการส่งออกสินค้านม UHT นมอัดเม็ด ไอศกรีม และโยเกิร์ต ไปตลาดคู่ค้าเอฟทีเอ โดยเฉพาะจีน และอาเซียน (สิงคโปร์ กัมพูชา เมียนมา) และผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพื่อให้อุตสาหกรรมโคนมและนมโคแปรรูปของไทยสามารถแข่งขันได้อย่างมีศักยภาพในตลาดโลก และพัฒนาไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์นมโคในภูมิภาค ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-ส.ค.) ไทยส่งออกสินค้านมโคและนมโคแปรรูปไปตลาดโลก 382 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.9% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ นมพร้อมดื่ม UHT นมเปรี้ยว โยเกิร์ต และนมจืด ตลาดส่งออกหลักคือ อาเซียน (กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เมียนมา สปป.ลาว และสิงคโปร์) 82.7% จีน 5.4% และฮ่องกง 3.4% ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าเอฟทีเอของไทยที่ได้ลดภาษีนำเข้าสินค้านมโคและนมโคแปรรูปให้ไทยแล้ว ทั้งนี้ ไทยจึงมีความได้เปรียบในการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านจากทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้กันและประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน จึงเป็นโอกาสทางการค้าของผู้ประกอบการไทย

ที่มา : https://www.khaosod.co.th/economics/news_5067398

เวียดนามเผย FTA เป็นกุญแจสำคัญในการหาตลาดใหม่

ข้อตกลงการค้าเสรี หรือเรียกอีกชื่อว่า FTA มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการค้าและการดำเนินธุรกิจ รวมถึงช่วยให้สินค้าและบริการของเวียดนามไปยังตลาดใหม่ๆ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ปัจจุบันมีสมาชิก 11 ประเทศ ซึ่งมูลค่าการค้าระหว่างเวียดนามกับสมาชิกดังกล่าว ในปี 2562 อยู่ที่ 77.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายและปัญหาหลายประการที่ต้องได้รับการแก้ไขก่อนลงนาม FTA ได้อย่างเต็มศักยภาพ ยกตัวอย่างเช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กล่าวว่าธุรกิจเกษตรส่วนใหญ่ของเวียดนามยังคงเน้นการส่งออกจำนวนมาก ที่ไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพเท่าไรนักก็ต่อเมื่อไม่กระทบต่อความสามารถทางการแข่งขัน ด้วยเหตุนี้ทำให้ธุรกิจได้รับความเสี่ยงที่จะไม่ผ่านมาตรฐานการนำเข้าของกลุ่มประเทศ นอกจากนี้ จีน อินเดียและกลุ่มประเทศในอาเซียน ยังผลิตสินค้าและบริการที่คล้ายคลึงกันหรือในบางกรณีที่แข่งขันโดยตรงกับสินค้าของเวียดนาม ในขณะที่ ข้อตกลงการค้าเสรี ‘CPTPP’ และ ‘EVFTA’ ถือเป็นก้าวสำคัญของเวียดนามในการดำเนินงานระดับโลกและการพัฒนาของประเทศ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/772719/ftas-key-to-help-find-new-markets.html

เปิดเวทีรับฟังเอฟทีเอ ไทย-อียู 22ก.ย.นี้ เพิ่มโอกาสค้าขายสินค้าไทย

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฟื้นการเจรจา FTA ไทย-อียู 22 ก.ย.นี้ หลัง “ไอเอฟดี” ศึกษาเสร็จแล้ว “อรมน” ชี้ปัจจุบันไทยมีสัดส่วนการค้ากับประเทศที่มี FTA รวม 62.8% ถ้าได้อียูที่มีสัดส่วนการค้า 7.9% จะทำให้การค้าของไทยกับประเทศที่ทำ FTA เพิ่มเป็น 70.7% ยิ่งสร้างโอกาสค้าขาย แย้มผลศึกษา สินค้าไทยมีโอกาสส่งออกได้เพียบ แต่ก็ต้องเปิดตลาดให้อียูเพิ่ม จับตาหากเจรจา ต้องรับมือกับประเด็นใหม่ๆ ด้วย นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้กำหนดจัดการสัมมนา “ไทยพร้อมหรือยังที่จะฟื้นการเจรจา FTA ไทย-EU?” ในวันที่ 22 ก.ย.2563 ณ โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาประโยชน์และผลกระทบจากการฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) หลังจากที่กรมฯ ได้มอบสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) ดำเนินการเสร็จแล้ว โดยจะเชิญผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ร่วมวิพากษ์วิจารณ์ และแลกเปลี่ยนความเห็นต่อผลการศึกษาดังกล่าว รวมทั้งระดมความเห็นเรื่องการฟื้นการเจรจา FTA ไทย-อียู ก่อนที่จะรวบรวมความคิดเห็นเสนอระดับนโยบายประกอบการพิจารณาตัดสินใจการดำเนินการของไทยในเรื่องนี้ต่อไป ทั้งนี้ ผลการศึกษาในเบื้องต้น พบว่า การทำ FTA กับอียูจะช่วยสร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับสินค้าไทยได้เพิ่มขึ้น โดยสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกไปอียู เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์อาหารอื่น เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก แต่ในทางกลับกัน ไทยจะต้องเปิดตลาดให้อียู ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการไทยนำเข้าสินค้าบางชนิดจากอียูเพิ่มขึ้น เช่น นมและผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่ม เมล็ดพืชน้ำมัน และสินค้าเทคโนโลยี เป็นต้น ขณะเดียวกัน ยังพบว่า FTA ที่อียูทำกับสิงคโปร์ เวียดนาม และประเทศอื่นๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการหยิบยกประเด็นใหม่ๆ รวมไว้ในการจัดทำ FTA ด้วย เช่น การยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การเข้าเป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศ การยกระดับมาตรฐานแรงงาน และการปฏิบัติของรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยต้องพิจารณาระดมความเห็นว่าไทยพร้อมที่จะเจรจากับอียูในเรื่องเหล่านี้หรือไม่ อย่างไร เพราะจะมีผลต่อการนำไปสู่การปรับกฎเกณฑ์ทางการค้าของไทย.

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/economic/796498

FTA ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาเวียดนามพุ่งสูงขึ้น

เมื่อต้นเดือน ก.ย. ปีนี้ พบว่ามูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศอยู่ที่ 19.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 13.7 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การจดทะเบียนโครงการใหม่ 1,797 โครงการ ด้วยเงินทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 9.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่านโยบายในการดึงดูดนักลงทุนรุ่นใหม่ได้ผลอย่างเห็นได้ชัด ถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบในเชิงลบท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่เวียดนามลงนามกับญี่ปุ่น ยุโรปและสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย ล้วนเป็นประโยชน์อย่างสูงสำหรับการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในเวียดนาม นอกจากนี้ การแก้ไขอุปสรรคทางการค้าอย่างรวดเร็ว ตลอดจนแนวทางในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสแก่องค์กรต่างๆ ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการต่างชาติต่อสภาพแวดล้อมในการลงทุนดีขึ้น ในขณะเดียวกัน จากรายงาน “Doing Busines” ปี 2563 ได้จัดอันดับเวียดนามอยู่ใน 70 จากทั้งหมด 190 ประเทศ โดยพิจารณาจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ การส่งเสริมให้เข้าถึงข้อมูลเครดิต และพัฒนาฐานข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/ftas-help-attract-more-foreign-investors-to-vietnam-24468.html

กัมพูชาและเกาหลีใต้เตรียมจัดเจรจา FTA รอบ 2

วันนี้เกาหลีใต้ประกาศการเจรจาการค้าเสรี (FTA) รอบที่ 2 กับกัมพูชาในสัปดาห์นี้เนื่องจากกัมพูชาพยายามขยายการส่งออกเพราะผลกระทบทางเศรษฐกิจจากของการระบาด COVID-19 กัมพูชาเป็นแหล่งส่งออกอันดับที่ 58 ของโลก เป้าหมายเพื่อมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 4 ของเอเชีย โดยมีกำหนดจะเริ่มการประชุมแบบ Virtual meeting .ในอีกสี่วันซึ่งการจัดการเจรจารอบแรกในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 63 ภายหลังหนึ่งปีหลังจากที่นายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชาเสนอให้มีการเตรียมการสำหรับสนธิสัญญาการค้าเสรีทวิภาคีระหว่างการประชุมสุดยอดกับประธานาธิบดีมุนแจอินของเกาหลีใต้ที่พนมเปญในเดือนมีนาคม 62 การประชุมครั้งนี้จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดขอบเขตของสินค้าผลิตภัณฑ์ตลอดจนวิธีอื่น ๆ ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทวิภาคี กัมพูชากำลังลดการพึ่งพาจีนและสหรัฐอเมริกาในการส่งออกเนื่องจากทั้งสองประเทศต้องใช้เวลาการขนส่งสินค้าขาออกโดยรวมมากถึงร้อยละ 40 ข้อมูลของสมาคมการค้าระหว่างประเทศของเกาหลีพบว่าปริมาณการค้าระหว่างสองประเทศแตะระดับสูงสุดตลอดกาลที่ 1 พันล้านดอลลาร์สหรับ ในปี 62 เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อนหน้า โดยเกาหลีใต้ส่งออกไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มูลค่าถึง 697 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 62 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 เกินดุลการค้าถึง 361 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประเทศส่วนใหญ่ส่งออกรถบรรทุกสินค้า เครื่องดื่ม และสิ่งทอถักไปยังกัมพูชาในขณะที่การนำเข้าจะเป็นเสื้อผ้าและรองเท้า เมื่อลงนามในสนธิสัญญาแล้วกัมพูชาจะถูกเพิ่มเข้าไปในรายชื่อพันธมิตรคู่ค้า FTA ของเกาหลีใต้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมเวียดนามและสิงคโปร์ ซึ่งกรุงโซลและกรุงมะนิลาจัดการเจรจา FTA เป็นรอบที่ 5 ในเดือนมกราคม 63 และอยู่ระหว่างดำเนินการการเจรจากับมาเลเซียและกำลังรอพิธีลงนามอย่างเป็นทางการในกรอบข้อตกลง Comprehensive Economic Partnership Agreement (CEPA) กับอินโดนีเซีย

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/50758831/cambodia-and-south-korea-set-to-hold-2nd-round-of-fta-talks/

จ่อชงครม.ไฟเขียวแผนนำเข้าอาหารสัตว์ ปลาป่น-กากถั่ว-ข้าวโพดปี64-66

พาณิชย์ เตรียมชง “ครม.” เคาะนโยบายอาหารปี 64-66 กำหนดนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งกากถั่วเหลือง ปลาป่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เหมือนปี 61-63 โดยให้นำเข้าได้ทั้งจากสมาชิกดับเบิลยูทีโอ เอฟทีเอ และนอกเอฟทีเอ แต่ยังคงกำหนดให้ผู้นำเข้าข้าวสาลี ต้องซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศในสัดส่วนเดิมที่ 1 ต่อ 3 หวังไม่ให้ราคาข้าวโพดดิ่ง จากการนำเข้าข้าวสาลีที่มากขึ้น นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายอาหาร ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้เห็นชอบนโยบายอาหารสัตว์ปี 64-66 แล้ว โดยจะเปิดให้นำเข้ากากถั่วเหลือง ปลาป่น และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เหมือนกับปี 61-63   และจะเสนอให้ ครม. พิจารณาภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ทั้งนี้ กากถั่วเหลือง กำหนดการนำเข้าแบบไม่จำกัดปริมาณ ทั้งจากภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) มีภาษีนำเข้าในโควตา 2% และนอกโควตา 119%, กรอบความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อื่นๆ เช่น ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) ภาษี 0%, เอฟทีเออาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ภาษี 0% เป็นต้น และประเทศที่ไม่มีเอฟทีเอกับไทย ภาษีนำเข้า 6% และเสียค่าธรรมเนียมการนำเข้า โดยแหล่งนำเข้าใหญ่คือ บราซิล อาร์เจนตินา และสหรัฐ ส่วนปลาป่น กำหนดให้นำเข้าปลาป่นโปรตีน 60% แบบไม่จำกัดปริมาณ โดยการนำเข้าจากอาฟตา ภาษี 0%, ภายใต้เอฟทีเอต่างๆ เช่น อาเซียน-จีน ภาษีนำเข้า 0% เอฟทีเออาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ภาษี 0%, เอฟทีเอไทย-ชิลี ภาษี 0% และประเทศนอกเอฟทีเอ ภาษีนำเข้า 6% โดยแต่ละปีไทยนำเข้าจากชิลีเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กำหนดให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นผู้นำเข้าแต่เพียงผู้เดียว โดยนำเข้าภายใต้ดับเบิลยูทีโอ ปริมาณ 54,700 ตัน ภาษีในโควตา 20% นอกโควตา 73% และเสียค่าธรรมเนียมตันละ 180 บาท ส่วนภายใต้อาฟตา ภาษี 0% ไม่จำกัดปริมาณ แต่จำกัดช่วงเวลาการนำเข้าระหว่างวันที่ 1 ก.พ.-31 ส.ค.ของทุกปี เอฟทีเออื่นๆ เช่น ไทย-ออสเตรเลีย ภาษีในโควตา 4% นอกโควตา 65.70% เป็นต้น โดยปี 62 ไทยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กว่า 1 ล้านตัน ส่วนใหญ่นำเข้าจากอาเซียน

ที่มา: : https://www.dailynews.co.th/economic/792578

บริษัทเหล็กเวียดนาม “Hoa Phat Steel Sheet” ได้เปรียบการส่งออกจาก FTA

ข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA), ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน และข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวทั้งหมด ก่อให้เกิดข้อได้เปรียบต่อบริษัทในแง่ภาษีศุลกากรจากยุโรป อาเซียน จีนและกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก โดยเมื่อเร็วๆนี้ ได้ร่วมลงนามสัญญาหลายฉบับ เพื่อส่งออกสินค้าไปยังตลาดเอเชีย ยุโรปและเม็กซิโก เป็นต้น ด้วยจำนวนแผ่นเหล็ก 10,000 ตันไปยังไทย ทั้งนี้ โรงงาน Dung Quat ของหวาฟัต ประสบความสำเร็จในการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตของอิตาลี นอกจากนี้ สินค้าในปัจจุบันได้วางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก ยุโรป ออสเตรเลีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย กัมพูชาและประเทศอื่นๆ

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/hoa-phat-steel-sheet-enjoying-export-advantages-from-ftas-417781.vov

จีนและกัมพูชาอาจจะลงนาม FTA ภายในสิ้นเดือนสิงหาคม

การลงนาม FTA ระหว่างจีนกับกัมพูชาที่อาจจะเกิดขึ้นภายในสิ้นเดือนสิงหาคม จะเพิ่มรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากเดิมอีกราว 340 รายการ ที่จะส่งออกไปยังประเทศจีนภายใต้ข้อตกลง โดยกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่าสินค้าส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตรและแปรรูปสินค้าทางการเกษตร รวมถึงสินค้าที่นอกเหนือจากที่กัมพูชาได้รับ FTA จากกลุ่มประเทศอาเซียนและจีน ซึ่งผลิตภัณฑ์ 340 รายการ จะประกอบด้วยพริกไทย พริก สับปะรด ผัก ผลไม้ ปลา เนื้อสัตว์ (รวมทั้งแปรรูป) ธัญพืช ปู อาหารทะเล และผลิตภัณฑ์กระป๋อง อื่นๆ โดยกว่าร้อยละ 95 ของสินค้าเหล่านี้จะไม่ต้องเสียภาษี และในส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 5 จะทยอยลดหย่อนภาษีลงมาภายในระยะเวลา 10 ปี รวมถึงการลงนามบน FTA ในครั้งนี้ยังคาดว่าจะกระตุ้นการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรและการลงทุนในภาคส่วนนี้ โดยเฉพาะจีนและบริษัทอื่น ๆ เพื่อใช้ประโยชน์จากผลประโยชน์ของข้อตกลง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50755511/china-cambodia-fta-signing-may-be-inked-by-late-august/