คลังสหรัฐฯ รับทราบความคืบหน้าของทางการเวียดนามชี้ประเด็นค่าเงิน

ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) เปิดเผยว่ากระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยอมรับรายงานความคืบหน้าของทางการเวียดนามเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจมหภาคและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ โดยธนาคารกลาวเวียดนามยังคงทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อที่จะหารือถึงข้อกังวลของทั้งสองฝ่ายและประสานผลประโยชน์ร่วมกัน อีกทั้ง ธนาคารกลางเวียดนามจะดำเนินนโยบายการเงินที่มุ่งรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและควบคุมเงินเฟ้อ นอกจากนี้ยังคงมุ่งรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและเป้าหมายของนโยบายการเงิน อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยังคงทบทวนบัญชีรายชื่อประเทศที่ละเมิดเกณฑ์ 3 ข้อของสหรัฐฯ ได้แก่ ตัวเลขเกินดุลการค้า, ตัวเลขเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และการแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยเวียดนามและไต้หวัน ยังคงจับตาและติดตามผลต่อไป

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1250395/us-treasury-department-recognises-viet-nams-progress-in-addressing-currency-related-concerns.html

“เวียดนาม” ดัชนีค่าครองชีพสูงอันดับ 89 ของโลก

“นัมเบโอ (Numbeo)” เว็บไซต์ฐานข้อมูลด้านค่าครองชีพระดับสากล เปิดเผยดัชนีค่าครองชีพ (Cost of Living Index) ทั่วโลก ปี 2565 พบว่าอันดับของเวียดนามขยับเพิ่มขึ้นมาเป็นอันดับ 89 มีคะแนน 37.48 คะแนน โดยคำนวณจากดัชนีค่าครองชีพของนครโฮจิมินห์อยู่ที่ 39.01 จุด ซึ่งมีค่าดัชนีสูงสุดของทั้งประเทศ ส่วนค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของครอบครัวที่มีสมาชิก 4 คน ไม่รวมค่าเช่าบ้าน อยู่ที่ 40 ล้านดองต่อเดือน ขณะที่คนเดียวใช้จ่ายมากกว่า 11 ล้านดองต่อเดือน ในขณะที่แหล่งอื่นๆ ดัชนีค่าครองชีพในเมืองฮานอยอยู่ที่ 36.85 จุด ส่วนค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของครอบครัวที่มีสมาชิก 4 คน ไม่รวมค่าเช่าบ้าน อยู่ที่ 36 ล้านดองต่อเดือน ขณะที่คนเดียวใช้จ่ายประมาณ 10 ล้านดองต่อเดือน

นอกจากนี้ ประเทศที่มีค่าครองชีพสูง 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 หมู่เกาะเบอร์มิวด้าในมหาสมุทรแอตแลนติก 146.04 คะแนน อันดับ 2 สวิตเซอร์แลนด์ 123.35 คะแนน อันดับ 3 นอร์เวย์ 100.90 คะแนน อันดับ 4 ไอซ์แลนด์ 94.86 คะแนน และอันดับ 5 บาร์เบโดส 92.37 คะแนน

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-ranks-89th-in-cost-of-living-index-rankings-post950321.vov

“เวิลด์แบงก์” มองศก.เวียดนามฟื้นตัวได้แข็งแกร่ง แม้เผชิญความไม่แน่นอนทั่วโลก

รายงานฉบับเดือนมิ.ย. ของธนาคารโลก (World Bank) แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจเวียดนามยังคงฟื้นตัวได้แข็งแกร่ง แม้ว่าจะมีความไม่แน่นอนทั่วโลก จากความขัดแย้งที่ยืดเยื้อในยูเครนและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานที่เกิดจากการล็อกดาวน์ในประเทศจีน ทั้งนี้ ตามรายงานดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง 10.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่ยอดค้าปลีก ขยายตัว 22.6% ต่อปี ซึ่งบ่งชี้ว่าการบริโภคของภาคเอกชนฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง แต่อย่างไรก็ดี การส่งออกกลับชะลอตัวจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทั่วโลก นอกจากนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สี่ ขณะที่การเบิกจ่าย FDI มีแนวโน้มขยายตัวเป็นเดือนที่ 6

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-economic-recovery-remains-strong-despite-global-uncertainties-wb-post950062.vov

“เวียดนาม” เตรียมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต้นเดือนหน้า

พระราชกฤษฏีกากาฉบับที่ 38/2022/ND-CP ว่าด้วยการเพิ่มเงินเดือนทั่วประเทศ ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. นาย Pham Binh Minh รองนายกรัฐมนตรี ประกาศว่ามีผลบังคับใช้กับแรงงานที่ลงนามในสัญญาจ้างตามประมวลกฎหมายแรงงานและนายจ้าง ได้แก่ กิจการที่ดำเนินงานอยู่ภายใต้กฎหมายวิสาหกิจ สหกรณ์ ธุรกิจครัวเรือนและธุรกิจส่วนตัว โดยรัฐบาลเวียดนามจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 6% ในต้นเดือนหน้านี้ ทั้งนี้ อัตราค่าแรงขั้นต่ำสำหรับแรงงานในภูมิภาคที่ 1 เขตเมือง จะกำหนดให้เพิ่มขึ้นเป็น 4.68 ล้านดอง  ขณะที่ภูมิภาคที่ 2 กำหนดเพิ่มเป็น 4.16 ล้านดอง, ภูมิภาคที่ 3 เพิ่มขึ้นเป็น 3.64 ล้านดอง และภูมิภาคที่ 4 เพิ่มขึ้นเป็น 3.25 ล้านดอง

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnam-set-to-raise-minimum-salaries-early-next-month/

“เวียดนาม” พุ่งขึ้น 5 อันดับ รั้งอันดับ 54 ระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพโลก

“StartupBlink” ศูนย์กลางข้อมูลด้านระบบนิเวศนวัตกรรม เผยแพร่ดัชนีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพโลก (Global Startup Ecosystem Index) จัดอันดับระบบนิเวศแบบครบวงจรทางสตาร์ทอัพ 100 ประเทศทั่วโลก พบว่าในปีนี้เวียดนามกระโดดขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 54 ของโลก และเพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 6 มาอยู่ที่อันดับที่ 5 ในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงอยู่ในอันดับที่จะแซงไทยได้ในปีหน้า (อันดับ 4) หากยังคงอยู่ในทิศทางที่เป็นบวก ทั้งนี้ เมืองโฮจิมินห์อยู่ในอันดับต้นๆ ของเมืองที่มีระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่ดีที่สุดของโลก กระโดดขึ้นจากอันดับที่ 68 สู่อันดับที่ 111 แสดงให้เห็นถึงผลการดาเนินงานในปีที่แล้วที่มีทิศทางที่เป็นบวกและมีสัญญาว่าจะเติบโตดีขึ้น อย่างไรก็ตามการที่จะเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคและระดับโลกอย่างแท้จริง เวียดนามจะต้องสร้างนวัตกรรมที่มีผลกระทบในระดับภูมิภาคหรือระดับโลกได้

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-jumped-five-spots-to-rank-54-in-the-top-global-startup-ecosystems-2029383.html

“IMF” มองเวียดนามกลายเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับที่ 5 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) พบว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในปี 2564 อยู่ที่ 368 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เวียดนามกลายเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจัดอยู่ในอันดับที่ 41 ของโลก โดยสหรัฐอเมริกายังเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด มีมูลค่า 22,940 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาจีน 16,863 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ รายได้ต่อหัวของคนเวียดนาม อยู่ที่ 3,743 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน นอกจากนี้ เมื่อพิจารณารายได้ต่อหัวของคนทั่วโลก พบว่าอันดับ 1 คือ ลักเซมเบิร์ก มี GDP ต่อหัวมากที่สุดในโลก อยู่ที่ 131,302 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน รองลงมาไอร์แลนด์ ($102,394) และสวิตเซอร์แลนด์ ($93,515) เป็นต้น ในขณะที่ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 1 ของรายได้ต่อหัวมากที่สุด อยู่ที่ 66,263 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน รองลงมาคือบรูไน ($33,979), มาเลเซีย ($11,125), ไทย ($7,809) และอินโดนีเซีย ($4,225)

ที่มา : https://en.dangcongsan.vn/daily-hot-news/vietnam-becomes-fifth-largest-economy-in-southeast-asia-imf-598783.html

บริษัทเยอรมนีส่วนใหญ่ 93% ขยายกิจการธุรกิจในเวียดนาม

จากการสำรวจของสมาคมหอการค้าต่างประเทศของเยอรมนี (AHKs) เปิดเผยว่าผู้ประกอบการเยอรมนีส่วนใหญ่ 93% ที่ดำเนินธุรกิจในเวียดนาม มองว่ายังคงลงทุนในเวียดนามต่อไป สำหรับประเด็นมุมมองเศรษกิจในอนาคต ผู้ประกอบการเยอรมนีส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตไปในทิศทางที่เป็นบวกใน 12 เดือนข้างหน้า และผู้ตอบมากถึง 46% วางแผนที่จะเพิ่มการจ้างงานในปีหน้า โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้กิจการตัดสินใจที่จะทำการค้าการลงทุนในเวียดนาม ได้แก่ เสียรภาพทางการเมือง ทักษะแรงงาน โครงสร้างพื้นฐาน ด้านการขนส่งและเครือข่ายโลจิสติกส์ นอกจากนี้ เวียดนามมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เนื่องจากเวียดนามมีความได้ปรียบจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA)

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/nearly-93-of-german-firms-say-will-expand-vietnam-operations/

“เวียดนาม” ทุ่มเงิน 815 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดำเนินโครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำและเหมืองแร่ ในสปป.ลาว

หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ ไทมส์ รายงานว่าเวียดนามดำเนินการโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ (Hydropower) ด้วยมูลค่าทุนกว่า 815 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเมืองอัดตะปือ สปป.ลาว ทั้งนี้ คุณวิทยา พรหมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่ามีการลงทุนโครงการไฟฟ้าหลายแห่ง อาทิ Xekaman 1, Xekaman Sanxay, Xekong Loum A และ Xekong Loum B คิดเป็นมูลค่ารวมกันทั้งสิ้น 691 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568 โครงการพลังงานดังกล่าว รวมไปถึงโรงงานพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าชีวมวล พร้อมกับสายส่งหรือสายนำสัญญาณบางส่วน และเงินลงทุนที่เหลืออีก 30.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้าไปลงทุนในสถานีแปลงกระแสไฟฟ้า ในขณะเดียวกันเงินลงทุนไหลเข้าไปยังภาคขุดแหมืองแร่ประมาณ 93.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-invests-over-815-million-usd-in-hydropower-mining-in-lao-province/230867.vnp