เวียดนาม’ เผยปี 64 ยอดการส่งออก พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว

นาย เหงวียน ฮ่ง เญียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กล่าวว่าแม้จะเผชิญกับอุปสรรคมากมาย แต่รายได้จากการส่งออกและนำเช้าของเวียดนามยังคงทำสถิติใหม่ราว 670 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบเป็นรายปี มาจากการส่งออกประมาณ 336.25 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยเวียดนามยังคงรักษาให้เกินดุลการค้าเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน ด้วยมูลค่ากว่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังตลาดพัฒนาแล้วและมีความต้องการสูง ได้แก่ สหรัฐฯ (เกินดุลราว 80.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ) และยุโรป (23.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ทั้งนี้ นายเจิ่น ก๊วก แคก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กล่าวว่าการเติบโตของการส่งออกทะลุเป้าหมายที่รัฐบาลและรัฐสภากำหนดไว้ที่ 4-5%

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-exports-rise-sharply-in-2021/220449.vnp

วิเคราะห์โอกาสของการเติบโตการส่งออก ระหว่างไทยกับเวียดนามในอนาคต

โดย อลงกรณ์ ธนศรีธัญญากุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เวียดนามสามารถสร้าง Growth Story ของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะลำดับการส่งออกในตลาดโลก  ในปัจจุบัน เวียดนามสามารถแซงหน้าทั้งมาเลเซียและไทยไปแล้ว  ในปี 2020 เวียดนามกลายเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ลำดับที่ 19 ของโลก ขณะที่ไทยและมาเลเซียเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ลำดับที่ 22 และ 23 ของโลก  หลายฝ่ายจึงกังวลว่า ไทยจะสามารถแข่งขันในการส่งออกกับเวียดนามในอนาคตได้อีกหรือไม่  เพื่อตอบคำถามดังกล่าว บทความนี้จะลองวิเคราะห์ 3 ประเด็นสำคัญคือ ส่วนแรก Growth Story ของไทยและเวียดนามแตกต่างกันหรือไม่ ส่วนที่สอง โครงสร้างภาพรวมของการส่งออกระหว่างไทยและเวียดนามเป็นอย่างไร และส่วนสุดท้าย พัฒนาการของการส่งออกของไทยและเวียดนาม รวมถึงโอกาสการแข่งขันของไทยในอนาคต

Growth Story ของไทยและเวียดนามแตกต่างกันหรือไม่

หากมองเปรียบเทียบระหว่างไทยกับเวียดนาม ความสำเร็จของการส่งออกของประเทศทั้งสองแทบไม่แตกต่างกัน เนื่องจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เป็นปัจจัยให้เกิด Growth Story อย่างก้าวกระโดดในไทยและเวียดนาม  โดย Growth Story ของไทยเกิดขึ้นก่อนในช่วงทศวรรษ 1990 และ 2000 ขณะที่ Growth Story ของเวียดนามเกิดขึ้นในทศวรรษ 2010 อันเป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีน และการย้ายฐานการลงทุนระหว่างประเทศที่ผลักดันการส่งออกของเวียดนามให้เพิ่มขึ้น จนทำให้เวียดนามกลายเป็นส่วนหนึ่งของการผงาดขึ้นของเอเชีย (Rise of Asia) อย่างชัดเจน

ในสามปีที่ผ่านมา มูลค่าส่งออกสินค้าของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 252 พันล้านเหรียญในปี 2018 เหลือ 231 พันล้านเหรียญในปี 2020 (ลดลงร้อยละ 8.3) ขณะที่เวียดนามสามารถส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 244 พันล้านเหรียญในปี 2018 เป็น 281 พันล้านเหรียญในปี 2020 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1)  ด้วยข้อมูลการส่งออกข้างต้น จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนกังวลว่าไทยกำลังเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศไป  อย่างไรก็ดี ความกังวลดังกล่าวยังไม่ได้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจน เพราะช่วงที่ผ่านมา สิงคโปร์และมาเลเซียก็ประสบปัญหาการส่งออกถดถอยเช่นเดียวกัน และลำดับการส่งออกของไทยในตลาดโลกก็ไม่ได้ลดลงมากนัก (ตารางที่ 1)

โครงสร้างภาพรวมของการส่งออกระหว่างไทยและเวียดนามเป็นอย่างไร

โครงสร้างรายการสินค้าส่งออกสำคัญระหว่างไทยกับเวียดนามมีความน่าสนใจหลายประการ  อย่างแรก ไทยและเวียดนามต่างส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเหมือนกัน แต่รายการสินค้าส่งออกสำคัญของไทยจะประกอบไปด้วย HDD แผงวงจรรวม และเครื่องปรับอากาศ ขณะที่เวียดนามจะส่งออกรายการสินค้าโทรศัพท์มือถือและส่วนประกอบของมือถือ แผงวงจรรวม และคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค  ประการถัดมา ไทยและเวียดนามต่างก้าวไปเป็นผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ในรายการสินค้าที่แตกต่างกัน เช่น ไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ลำดับที่ 2 ของโลกในสินค้า HDD และเครื่องปรับอากาศ ขณะที่เวียดนามเป็นผู้ส่งออกโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ลำดับที่ 2 ของโลก เป็นต้น  นอกจากนี้ ไทยและเวียดนามยังมีสินค้าเกษตรกรรมในสินค้าส่งออกสำคัญ 10 ลำดับแรกเหมือนกัน นั่นคือ ข้าว (ไทย) และเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ (เวียดนาม) (ตารางที่ 2)

ข้อแตกต่างอย่างหนึ่งคือ โครงสร้างการส่งออกของไทยจะกระจายตัวสูงกว่าเวียดนาม โดยรายการสินค้าส่งออกสำคัญ 10 ลำดับแรกของไทยและเวียดนาม จะมีสัดส่วนมูลค่าส่งออกเป็นร้อยละ 21.6 และ 34.2  ตามลำดับ  หากสังเกตให้ดีแล้ว เวียดนามพึ่งพาการส่งออกโทรศัพท์มือถือและส่วนประกอบอย่างมาก(ร้อยละ 19.7)  อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ไทยและเวียดนามต่างมีระดับการกระจุกตัวของการส่งออกค่อนข้างสูง  จากรายการสินค้าตามระบบฮาร์โมไนซ์ (HS) จำนวนสิ้น 5,388 รายการ มูลค่าสินค้าส่งออกใน 100 ลำดับแรกของไทยและเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนรวมกันสูงถึงร้อยละ 60.1 และ 69.2 ตามลำดับ ขณะที่สินค้าส่งออกลำดับรายการที่ 101 เป็นต้นไป แต่ละรายการมีสัดส่วนมูลค่าไม่ถึงร้อยละ 0.2 เท่านั้น

พัฒนาการการส่งออกของไทยและเวียดนาม โอกาสการแข่งขันของไทยในอนาคต

ในบริบทของพัฒนาการการส่งออก ไทยสามารถพัฒนาการส่งออกของประเทศได้อย่างมากแม้ต้องเผชิญปัจจัยทางลบหลายประการ และสามารถยกระดับผู้ผลิตคนไทยบางส่วนให้กลายเป็นผู้ส่งออกในหลาย ๆ รายการสินค้า หรืออาจกล่าวได้ว่าแม้ว่าการเติบโตของการส่งออกไทยจะถดถอย แต่ไทยก็ยังพื้นฐานของการส่งออกที่ดี นั่นคือ ไทยมีรายการสินค้าส่งออกสูงถึง 4,620 รายการ และมีตลาดส่งออกมากถึง 194 ประเทศ ขณะที่เวียดนามเองก็มีรายการสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีสินค้าส่งออกจำนวน 4,127 รายการ แต่กลับมีตลาดส่งออกเพียง 97 ประเทศเท่านั้น (WITS Database) [1]

แม้ช่วงที่ผ่านมาไทยจะประสบปัญหาค่าจ้างแรงงานที่สูงอย่างต่อเนื่องและไม่มีแต้มต่อทางภาษีศุลกากรจากเขตการค้าเสรีในบางตลาดเหมือนดังกรณีเวียดนาม (EU-Vietnam FTA, CPTPP)  แต่ความล้มเหลวของรายการสินค้าส่งออกก็เกิดขึ้นในระดับต่ำ  งานศึกษาเกี่ยวกับความอยู่รอดของการส่งออกในไทยและประเทศคู่แข่งในภูมิภาคพบว่า จีนมีอัตราความอยู่รอดของการส่งออกสูงที่สุด และไทยยังมีอัตราความอยู่รอดของการส่งออกสูงกว่าเวียดนามในทุกรายการสินค้า หรือนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา มีจำนวนรายการสินค้าส่งออกที่สามารถอยู่รอดมาโดยตลอดของไทยและเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 56.2 และ 27.9 ของรายการสินค้าที่ส่งออกไปตลาดต่าง ๆ ในโลก (อลงกรณ์, 2564)

หากเรามองความสามารถในการแข่งขันจากเกณฑ์การเติบโตของการส่งออกเพียงอย่างเดียว ก็คงสรุปได้ว่า ไทยเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกเมื่อเทียบกับเวียดนาม แต่บริบทของการพัฒนาการส่งออกข้างต้นจึงไม่สามารถสรุปได้ง่าย ๆ แบบนั้นได้  และที่สำคัญ เวียดนามก็ยังเผชิญปัญหาการส่งออกบางประการเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาการกระจุกตัวของการส่งออกที่สูงเกินไปในบางรายการ และอัตราความอยู่รอดของสินค้าส่งออกที่ต่ำกว่าไทย เรื่องดังกล่าวคงเป็นปัจจัยการเติบโตของการส่งออกของเวียดนามในอนาคต

เมื่อพิจารณาโอกาสการเติบโตของการส่งออกไทย ไทยยังคงมีพื้นฐานของการส่งออกที่ดี และสามารถต่อยอดความสำเร็จของการส่งออกในอดีตได้ เนื่องจากโครงสร้างการส่งออกไทยมีจำนวนสินค้าและตลาดส่งออกหลากหลาย ดังนั้นโอกาสการเติบโตของไทยคงต้องมุ่งกระจายการส่งออกไปยังสินค้าส่งออกที่มีศักยภาพเหมาะสมกับต้นทุนการผลิตและศักยภาพของผู้ประกอบการในประเทศ รวมถึงกระจายการส่งออกไปตลาดส่งออกต่าง ๆ เพื่อช่วยประคองรายได้จากการส่งออกจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน  นอกจากนั้น ไทยยังมีโอกาสเชื่อมโยงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศเข้าไปกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ยานยนต์ไฟฟ้า หรือสินค้าอื่น ๆ เนื่องจากไทยมีความพร้อมของการเป็นฐานการผลิตสินค้าเหล่านั้นอยู่แล้ว เรื่องดังกล่าวน่าจะเป็นโอกาสของ Growth Story ใหม่ของไทยในอนาคตได้

ที่มา : http://www.setthasarn.econ.tu.ac.th/blog/detail/571

‘ธนาคารโลก’ ชี้เวียดนามควรเร่งฉีดวัคซีนและดำเนินนโยบายการคลัง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ตามรายงาน “Vietnam Macro Monitoring” ของธนาคารโลก เปิดเผยว่าการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยควบคู่กับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างรวดเร็ว พร้อมกับการดำเนินนโยบายการคลัง คาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศกลับมาฟื้นตัวได้ สำหรับผลกระทบเชิงลบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมดีดตัวขึ้นในเดือน พ.ย. หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.5% แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการกลับมาฟื้นตัว และยังสะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในจังหวัดภาคใต้

ทั้งนี้ ยอดจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเดือน พ.ย. ก็เพิ่มขึ้น 45% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสองเดือนติดต่อกัน นับจากเดือน พ.ค. นอกจากนี้ ประเด็นการส่งออก พบว่ายอดส่งออกเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 31.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้เกินดุลการค้า 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐในเดือน พ.ย. เป็นผลมาจากการส่งออกที่ขยายตัวเร่งขึ้นจาก 6.1% ในเดือน ต.ค. มาอยู่ที่ 26.5% ในเดือน พ.ย.

อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกได้ให้ความสำคัญอย่างมากต่อแผนการฉีดวัคซีนแบบเร่งด่วน การใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและการกักกันโรค เพื่อลดความเสี่ยงของการระบาดระลอกใหม่

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/wb-push-for-rapid-vaccination-and-fiscal-policy-support-to-help-reboot-economy-911545.vov

กัมพูชาส่งออกไปสหรัฐฯแตะ 5.5 พันล้านดอลลาร์ ช่วงเดือน ม.ค.-ต.ค.

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ มูลค่าแตะ 5,516.9 ล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่เดือน ม.ค.-ต.ค. 2021 คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยสำนักสำรวจสำมะโนของสหรัฐ (USCB) ในทางกลับกันกัมพูชาได้ทำการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มูลค่ารวม 346.6 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทเสื้อผ้า รวมถึงสินค้า เช่น รองเท้า จักรยาน และเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งกัมพูชาทำการนำเข้ารถยนต์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ จากสหรัฐฯ เป็นสำคัญ ซึ่งการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและสหรัฐฯ มีมูลค่ารวมกัน 6.9 พันล้านดอลลาร์ในปี 2020 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.89 เมื่อเทียบกับปี 2019

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50986395/cambodias-exports-to-us-nets-5-5-billion-in-january-october/

ปีงบฯ 63-64 ค้าชายแดนเมียนมา ลดฮวบ 10.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 495 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน

ปีงบประมาณ 63-64 การค้าชายแดนมีมูลค่ามากกว่า 10,140.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงเกือบ 495 ล้านดอลลาร์จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยในปีงบฯ 63-64 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 6,890.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การนำเข้า 3,250.407 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมมูลค่าการค้าระหว่างประเทศอยู่ที่ 10,140.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนในปีงบประมาณ 62-63 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 7,187.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การนำเข้า 3,447.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และรวมมูลค่าการค้าระหว่างประเทศอยู่ที่ 10,635.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนต.ค.63 ถึงปลายเดือนก.ย.64 ของปีงบประมาณ 63-64 เมียนมาส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป 3,609 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในหมวดตัด เย็บ และบรรจุห่อ (CMP) รองลงมาคือก๊าซธรรมชาติมูลค่ากว่า 3,119 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ .ข้าวและข้าวหักมูลค่า 700.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ .ปัจจุบันเมียนมากำลังพัฒนายุทธศาสตร์การส่งออกระดับชาติเพื่อกระตุ้นการส่งออก ในภาคสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมและอิเล็กทรอนิกส์ ภาคการประมง ผลิตภัณฑ์จากป่า ผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัล บริการด้านลอจิสติกส์ ด้านบริการข้อมูลการค้าและนวัตกรรม และการเป็นผู้ประกอบการ

ที่มา : https://news-eleven.com/article/221426

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นแตะ 1.4 พันล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นมูลค่ารวม 1,487 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 10 เดือนของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการรายงานขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงตุลาคม กัมพูชานำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นมูลค่ารวม 447 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้กัมพูชาเกินดุลการค้าระหว่างญี่ปุ่นที่ 1,010 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาที่ทำการส่งออกไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง กระดาษ เครื่องใช้สำนักงาน และเครื่องหนัง ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญจากญี่ปุ่นของกัมพูชา ได้แก่ เครื่องจักร รถยนต์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ ผ้า และพลาสติก เป็นสำคัญ โดยกัมพูชามองว่าญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญ รวมถึงในระยะถัดไปกัมพูชาและญี่ปุ่นวางแผนที่จะเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี ตามการระบุของกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50983025/cambodias-exports-to-japan-net-1-4-billion/

AMRO คาดการณ์เศรษฐกิจกัมพูชาปีนี้โต 2.8%

สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียน+3 (AMRO) ระบุว่า เศรษฐกิจของกัมพูชาจะกลับมาฟื้นตัวจากการหดตัวที่ร้อยละ 3.1 ในปีที่แล้ว หลังจากการรณรงค์ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนภายในประเทศประสบความสำเร็จ ทำให้โรงงานต่างๆ สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้งและผ่อนคลายปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งเป็นส่วนช่วยเพิ่มปริมาณการส่งออกของกัมพูชา โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคาดว่าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งในปีนี้ AMRO คาดว่ากัมพูชาจะเติบโตร้อยละ 2.8 นำโดยภาคการผลิตที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยได้แรงหนุนจากความต้องการเสื้อผ้าที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปสงค์ทั่วโลกฟื้นตัว ซึ่งในปัจจุบันกัมพูชามีผู้ติดเชื้อจากโควิด-19 โดยเฉลี่ย 47 คนต่อวัน โดยประชากรกว่าร้อยละ 86 ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างครบถ้วนแล้ว รวมถึงรัฐบาลได้ขยายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้จาก 719 ล้านดอลลาร์เป็น 1.454 พันล้านดอลลาร์ เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายมากภายในประเทศให้มากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50975264/economy-to-grow-2-8-percent-this-year-amro-says/

เมียนมานำเข้าวัตถุดิบ CMP 179 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์เผย ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน 64 เมียนมานำเข้าวัตถุดิบเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอที่ผลิตด้วยการตัด การผลิต และบรรจุภัณฑ์ CMP (cut-make-pack) 179.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของงบประมาณย่อยปี 64-65 (ต.ค.63 ถึง มี.ค.64) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 24.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งภาคการผลิต CMP เป็นส่วนสำคัญของ GDP ประเทศ ขณะนี้อุตสาหกรรมกำลังกลับสู่สภาวะปกติหลังจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของเมียนมา โดยตลาดส่งออกหลักๆ จะเป็นญี่ปุ่น ยุโรป เกาหลีใต้ จีน และสหรัฐอเมริกา ระหว่าง 1 ต.ค.63 ถึง 30 ก.ย.64 ในปีงบประมาณ 63-64 เมียนมาส่งออกเสื้อผ้า CMP แตะระดับต่ำสุดที่ 3.6 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/raw-materials-import-by-cmp-businesses-stand-at-179-mln-as-of-5-november/

ภาคเอกชนกัมพูชามองหาโอกาสการส่งออกไปยังออสเตรเลีย

นักธุรกิจรวมถึงผู้ส่งออกในกัมพูชา มองหาโอกาสในการขยายการส่งออกสินค้าไปยังประเทศออสเตรเลีย โดยเฉพาะข้าวสาร ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศออสเตรเลียมาเยือนกัมพูชา เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยในปัจจุบันการส่งออกของกัมพูชาไปยังออสเตรเลียและตลาดต่างประเทศอื่นๆ ยังคงเป็นเรื่องยาก จากการคมนาคมขนส่งที่ยังคงเผชิญกับอุปสรรคอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งผู้ส่งออกข้าวของกัมพูชายังได้กล่าวเสริมว่า ขั้นตอนที่แตกต่างกันและการจัดการความปลอดภัยด้านอาหารของประเทศผู้นำเข้าต่างๆ ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกข้าวของกัมพูชาในปัจจุบัน โดยนอกจากความคาดหวังทางด้านการส่งออกแล้วกัมพูชายังคาดหวังด้านการลงทุนจากนักลงทุนออสเตรเลีย ในอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารและอุตสาหกรรมเกษตร เป็นสำคัญ ซึ่งในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรไปยังออสเตรเลียรวม 8,200 ตัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50967508/private-sector-optimistic-about-business-with-australia/

สรท.คาดส่งออกปี 65 ขยายตัว 5% จากปีนี้คาดโตได้ราว 12%

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก คาดการณ์ภาวะการส่งออกของไทยในปี 65 จะมีอัตราการขยายตัวที่ระดับ 5% ส่วนในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 12% เนื่องจากฐานที่ต่ำในปี 63 จากผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 “จากการประเมินแล้วมั่นใจว่าปีนี้อยู่ในกระเป๋าแล้วอย่างน้อย 12% ส่วนในปีหน้าได้นำข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ มาประเมินแล้วคาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 5%”

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2021/141392