กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT ในช่วง 7 เดือน แตะ 6.27 พันล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง (GFT) มูลค่ารวม 6.27 พันล้านดอลลาร์ ลดลงอย่างมากจากมูลค่า 7.89 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการลดลงร้อยละ 20.44 ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ทำให้การส่งออกโดยรวมของกัมพูชาลดลงร้อยละ 1.8 ซึ่งได้รับผลกระทบจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ การไม่ต่ออายุระบบสิทธิพิเศษทางภาษีทั่วไป (GSP) ของสหรัฐฯ และการลดสิทธิประโยชน์ของ Everything But Arms (EBA) ของสหภาพยุโรป (EU) ส่งผลทำให้การส่งออกโดยภาพรวมชะลอตัวลง จากข้อมูลของ GDCE รายงานเสริมว่าการส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องแต่งกายแบบถักสร้างรายได้เข้าประเทศ 3.06 พันล้านดอลลาร์ ณ เดือน ก.ค. ลดลงร้อยละ 22.8 ขณะที่สินค้ากลุ่มเครื่องแต่งกายในรูปแบบไม่ถักสร้างรายได้เข้าประเทศ 1.40 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 14.7 สำหรับกลุ่มสินค้าเพื่อการท่องเที่ยวสร้างรายได้สุทธิเข้าประเทศ 1 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 18.3 และการส่งออกรองเท้ามูลค่าในช่วงเวลาเดียวกันอยู่ที่ 808.46 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 22.7

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501342930/cambodia-gft-exports-at-6-27-billion-in-7-months/

‘ครั้งแรก’ บริษัทอินโดนีเซียส่งออกชาอู่หลงไปยังเวียดนาม

บริษัท PT Perkebunan Nusantara (PTPN) ของอินโดนีเซีย และกลุ่มบริษัท PT Suntory Garuda Beverage เปิดเผยว่าธุรกิจทำการส่งออกชาอู่หลง (Oolong tea) ไปยังเวียดนาม นับเป็นครั้งแรกและเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่างสองบริษัทในการจัดหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง สำหรับเครื่องดื่มแบบพร้อมดื่ม (RTD) ทั่วตลาดเอเชีย โดยความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อเริ่มต้นการส่งออกในปี 2564 และผ่านขั้นตอนการเตรียมการต่างๆ รวมถึงการทดลอง การประเมินและการตรวจสอบชาอู่หลงที่ผลิตโดยกลุ่มบริษัท PTPN ที่ได้รับการรับรองจากระบบมาตรฐานแห่งชาติ (SNI) และผ่านการประเมินปริมาณสารกำจัดศัตรูพืชด้วยสารออกฤทธิ์ที่จำเป็น 268 รายการ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/indonesian-firms-export-first-batch-of-oolong-tea-to-vietnam-post1038334.vov

นักวิเคราะห์หวั่น ประเทศผู้ส่งออกข้าวส่อหยุดส่งออกตามรอยอินเดีย-ดันราคาพุ่ง

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การระงับส่งออกข้าวของอินเดียสร้างความหวาดหวั่นให้ตลาดโลก เนื่องจากทำให้ซัพพลายข้าวหายไปจากตลาดโลกถึง 10 ล้านตัน ส่งผลให้เกิดความวิตกว่าประเทศผู้ส่งออกข้าวต่าง ๆ อาจระงับการส่งออกข้าวตามรอยอินเดียไปด้วยเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาข้าวขาดแคลนภายในประเทศ นักวิเคราะห์ระบุว่า มาตรการจำกัดการส่งออกล่าสุดของอินเดียแทบจะเหมือนกับมาตรการก่อนหน้านี้ของอินเดียเมื่อปี 2550 และ 2551 ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ หลังประเทศอื่น ๆ ถูกบีบให้จำกัดการส่งออกในลักษณะเดียวเพื่อปกป้องผู้บริโภคในประเทศ ในเวลานี้ ผลกระทบต่อซัพพลายและราคาข้าวอาจยิ่งกระจายตัวกว้างขวางมากขึ้น เนื่องจากอินเดียในตอนนี้ครองสัดส่วนการค้าข้าวโลกมากกว่า 40% เพิ่มจากสัดส่วนประมาณ 22% เมื่อ 15 ปีก่อน สร้างแรงกดดันให้ประเทศผู้ส่งออกข้าว อาทิ ไทยและเวียดนามต้องระงับส่งออก ด้านนักวิเคราะห์และผู้ค้ากล่าวว่า ผลกระทบที่มีต่อราคาข้าวนั้นรวดเร็วอย่างมาก โดยราคาข้าวดีดตัวขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี หลังจากอินเดียได้สร้างความตกตะลึงให้กับประเทศผู้ซื้อโดยการประกาศระงับการส่งออกข้าวหลากหลายสายพันธุ์ที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อควบคุมราคาข้าวในประเทศที่พุ่งสูงขึ้น

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/iq34/3444442

‘ทูน่าเวียดนาม’ ส่งออกไปยังอิตาลีพุ่ง เหตุแรงจูงใจด้านภาษี

กรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าการส่งออกปลาทูน่าของเวียดนามไปยังตลาดอิตาลีในเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้น 12 เท่า เนื่องจากได้รับอัตราภาษีพิเศษที่อยู่ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ทั้งนี้ สมาคมผู้ส่งออกและผู้ผลิตอาหารทะเลของเวียดนาม (VASEP) ประเมินว่าอิตาลีนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องจากเวียดนามมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของมูลค่าการส่งออกปลาทูน่าไปยังอิตาลี นอกจากนี้ยังมีการส่งออกเนื้อปลาทูน่าแช่แข็งหรือเนื้อปลาแบบฟินเล รหัสศุลกากร HS0304 ไปยังตลาดอิตาลี เพิ่มขึ้น 71% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-tuna-exports-to-italy-skyrocket-due-to-tax-incentives-post1038172.vov

กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรในช่วง 7 เดือน แตะ 2.6 พันล้านดอลลาร์

ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรไปยัง 68 ประเทศทั่วโลก รวมกว่า 2.6 พันล้านดอลลาร์ โดยคิดเป็นการส่งออกข้าวสารที่มูลค่า 504 ล้านดอลลาร์ ตามรายงานของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งหากนับเป็นปริมาณตันรวมทั้งสิ้น 4.5 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 19.20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งออกเป็นข้าวสาร 3.63 แสนตัน, ข้าวเปลือก 1.51 ล้านตัน และสินค้าการเกษตรอื่นๆ 2.64 ล้านตัน แม้ว่าการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังตลาดต่างประเทศจะลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ แต่ยังคงมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในอนาคต เนื่องจากการที่ประเทศอินเดียประกาศลดโควต้าการส่งออกข้าวเพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารในประเทศ ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ เป็นผลทำให้ปริมาณสินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าวในตลาดโลกอาจจะเกิดความต้องการเพิ่มสูงขึ้นจากปริมาณข้าวที่อาจน้อยลง ด้วยเหตุผลข้างต้นทำให้กัมพูชาต้องเร่งศึกษากลยุทธ์ในการตักตวงโอกาสดังกล่าวที่จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ โดยการเพิ่มขีดความสามารถของโรงสีในท้องถิ่นในการจัดเก็บสต๊อก และเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปเพื่อการส่งออก เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501339005/cambodias-agricultural-exports-reach-more-than-2-6-billion-in-seven-months/

ส่งออกเวียดนามยังไม่ฟื้น เหตุอุปสงค์ทั่วโลกอ่อนแอ

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า รายงานว่าภาคการส่งออกของเวียดนามเผชิญกับภาวะถดถอยในปี 2566 ทั้งการส่งออกและการนำเข้าที่หดตัวลงในอัตราตัวเลขสองหลัก ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค. และจากข้อมูลการส่งออกของเวียดนามในเดือน ก.ค. พบว่ามีมูลค่าอยู่ที่ 29.68 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ภาคเศรษฐกิจในประเทศ ลดลง 4.2% ในขณะที่ภาคการลงทุนจากต่างประเทศ ลดลง 3.2% อีกทั้ง การส่งออกรวมของเวียดนามในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าอยู่ที่ 194.73 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 10.6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สาเหตุสำคัญมาจากอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอ โดยเฉพาะตลาดส่งออกสำคัญของเวียดนาม อาทิเช่น สหรัฐ (-21.8%), ยุโรป (-9.9%), อาเซียน (-9.6%), เกาหลีใต้ (-8.8%) และญี่ปุ่น (-3.5%) เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-foreign-trade-sector-struggles-as-global-demand-weakens/

‘เมียนมา’ เผยส่งออกถั่วพัลส์ 4 เดือน พุ่ง 430 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่าเมียนมาส่งออกถั่วพัลส์ไปยังต่างประเทศมากกว่า 550,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าราว 430 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 4 เดือนของปีงบประมาณ 2566-2567 โดยการส่งออกของเมียนมาส่วนใหญ่ผ่านทางทะเล มูลค่า 362.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือปริมาณ 462,894 ตัน ในขณะที่ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านผ่านพรมแดน อยู่ที่ 77.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือปริมาณ 88,907 ตัน ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของเมียนมา ได้แก่ ถั่วเขียวผิวดำ ถั่วเขียวและถั่วแระ ส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะตลาดอินเดีย จีนและยุโรป นอกจากนี้ จากข้อมูลทางสถิติของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าการส่งออกถั่วพัลส์ของเมียนมาทะลุเกินกว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2565-2566

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-pulses-exports-surge-garnering-us430-mln-over-four-months/#article-title

ครึ่งแรกของปี กัมพูชาส่งออกอุปกรณ์ไฟฟ้าแตะ 1.4 พันล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกอุปกรณ์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มูลค่ารวมกว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ คิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 1.3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ต่างกันกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม รวมถึงเสื้อผ้าสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่มปรับตัวลดลงในปีนี้ เนื่องจากอุปสงค์ต่างประเทศลดลง ด้าน Heng Sokkung เลขาธิการแห่งรัฐของกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม กล่าวเสริมว่า การส่งออกสำหรับสินค้าที่ไม่อยู่ในกลุ่มเครื่องนุ่งห่มขยายตัวอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แซงหน้าการเติบโตของการส่งออกสินค้ากลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชา โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้าทั่วโลกเติบโตอย่างมากจนกลายเป็นภาคส่วนสำคัญที่สร้างรายได้จากการส่งออกและการจ้างงานจำนวนมาก รวมถึงเป็นองค์ประกอบสนับสนุนที่สำคัญในกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร การศึกษา และการเงิน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501335905/cambodias-electrical-exports-rise-to-1-4-billion-in-1h/

ครึ่งแรกของปี กัมพูชาส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าโตกว่า 109%

การส่งออกอุปกรณ์โคมไฟและของตกแต่งบ้านกัมพูชาขยายตัวต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันขยายตัวถึงร้อยละ 108.7 ในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน ซึ่งมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1.59 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามข้อมูลการค้าล่าสุดของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) โดยการเพิ่มขึ้นของการส่งออกในหมวดนี้ช่วยให้กัมพูชามีมูลค่าการส่งออกรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เป็นครั้งแรกในปีนี้ ช่วยชดเชยการส่งออกเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเดินทาง (GFT) ที่ลดลงร้อยละ 18.60 จากข้อมูลการค้าการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชามีมูลค่ารวมถึง 1.146 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2023 โดยนับเป็นมูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างประเทศทั้งหมดอยู่ที่ 2.369 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่งผลทำให้กัมพูชาขาดดุลการค้าในช่วงครึ่งแรกของปีที่ 764.70 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจีนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501330235/electrical-goods-exports-up-109-h1/

ส่งออก มิ.ย. ติดลบ 6.4% ยันไม่ต้องห่วง เหตุฐานสูง

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือน มิ.ย. 2566 มีมูลค่า 24,826.0 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 6.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน อย่างไรก็ตามส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานปีก่อนสูง แต่หากพิจารณาจากมูลค่าการส่งออก 6 เดือนแล้ว พบว่า มูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัว 2.9% เหตุจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังคงซบเซาจากแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ทำให้การผลิตและการบริโภคยังคงตึงตัว ขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของตลาดจีนค่อนข้างช้ากว่าที่คาด นอกจากนี้ คู่ค้าส่วนใหญ่ชะลอการสั่งซื้อสินค้าจากผลกระทบของการหดตัวทางด้านอุปสงค์ มีการเร่งระบายสินค้าคงคลังมากขึ้น ส่งผลให้คำสั่งซื้อและการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง แต่ยังคงมีปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทอ่อนค่า ช่วยเพิ่มความสามารถ ในการแข่งขันของผู้ส่งออกในระยะนี้ และกระแสความมั่นคงทางอาหารทำให้สินค้าบางรายการยังขยายตัวดี เช่น ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ผักกระป๋อง และผักแปรรูป ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ไข่ไก่ ซาร์ดีนกระป๋อง น้ำตาลทราย ทั้งนี้ ทำให้การส่งออกครึ่งแรกปี 2566 มีมูลค่า 141,170.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 5.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าเดือน มิ.ย. มีมูลค่า 24,826 ล้านเหรียญสหรัฐ หัดตัว 10.3%  ทำให้ดุลการค้าของไทยเกินดุล 57.7%

ที่มา : https://www.posttoday.com/business/697604