กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรโต 46% ในช่วง 9 เดือน

กัมพูชาส่งสินค้าเกษตรปริมาณกว่า 3,894,485 ตัน ในจำนวนนี้ไม่รวมข้าวสารและข้าวเปลือก ที่ได้ทำการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ แม้จะเกิดวิกฤตโควิด-19 ทั่วโลก คิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 46.47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2020 รายงานโดยกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ซึ่งสินค้าเกษตรสำคัญที่ทำการส่งออก ได้แก่ มันสำปะหลัง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ข้าวโพด กล้วย ส้มโอ มะม่วง พริกไทย พริก และอื่นๆ โดยสรุปรายงานดังกล่าว ระบุว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน กัมพูชาส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเกือบ 100 ชนิด ยกเว้นข้าวสารและข้าวเปลือก ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก สร้างรายได้ประมาณ 2,710 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50945748/agricultural-exports-up-46-percent-in-first-nine-months/

การค้าระหว่าง กัมพูชา-สหรัฐฯ เติบโตต่อเนื่อง

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและสหรัฐฯ ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าทั้งสองประเทศจะเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ระบุว่า มูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและสหรัฐฯ มีมูลค่ามากกว่า 4 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 7 เดือนแรก เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้รัฐมนตรีฯ ยังได้กล่าวถึงสถานการ์การกระจายวัคซีนภายในประเทศกัมพูชา ต่อนักการทูตสหรัฐฯ เพื่อทราบความคืบหน้า และกล่าวขอบคุณรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ได้บริจาควัคซีน จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันกว่า 1 ล้านโดสให้กัมพูชาผ่านโครงการ COVAX Facility โดยเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ได้ให้คำมั่นที่จะดำเนินการช่วยเหลือกัมพูชาในการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 ต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50946046/cambodia-u-s-bilateral-trade-grew-despite-covid-19-crisis-achieving-4billion-in-1st-seven-months/

กัมพูชาลงนาม MoU ร่วมกับออสเตรเลีย ลงทุนด้านอาหาร

กัมพูชาและออสเตรเลียได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เกี่ยวกับการจัดหาเงินทุนสำหรับ Agri-Food Investment Desk (AFID) ที่สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) มีเป้าหมายเพื่อสร้างงานและปรับปรุงมาตรฐานในภาคการเกษตรของกัมพูชา โดยพิธีการดังกล่าวจัดขึ้นผ่านระบบออนไลน์ ได้รับเกียรติจากเลขาธิการ CDC และรัฐมนตรี Sok Chenda Sophea พร้อมด้วยเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย ซึ่งงานดังกล่าวจัดขึ้นโดย CDC ร่วมกับกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมง (MAFF) และกระทรวงการต่างประเทศและการค้าของออสเตรเลีย (DFAT) โดย CDC กล่าวว่า พิธีดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ CDC, MAFF และ DFAT ในการส่งเสริมการลงทุนด้านการเกษตรภายใต้กรอบของโครงการห่วงโซ่คุณค่าทางการเกษตรของกัมพูชา-ออสเตรเลีย (CAVAC) ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นตัวช่วยในการปรับปรุงความปลอดภัยทางอาหารและลดความยากจน ผ่านการสร้างงาน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยเมื่อเดือนที่แล้ว CDC อนุมัติโครงการ 376 โครงการมูลค่าเกือบ 9.7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งลงทุนในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50944283/deal-on-food-investment-signed-with-australia/

IMF คาดการณ์เศรษฐกิจกัมพูชาโตร้อยละ 2.2

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของกัมพูชา (GDP) ว่าจะมีการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ในปีนี้ ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ร้อยละ 4.2 โดยได้รายงานเพิ่มเติมว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในอนาคตนั้นขึ้นอยู่กับว่ากัมพูชาจะควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีเพียงใด จนสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางกลับมาท่องเที่ยวในกัมพูชาอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาได้ทำการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชากรแล้วกว่าร้อยละ 83 ของประชากรทั้งหมดประมาณ 16 ล้านคน โดยตั้งเป้าการกระจายวัคซีนไว้อย่างน้อยร้อยละ 91 ของประชากร ซึ่ง IMF กล่าวเพิ่มเติมอีกว่าการขาดดุลทางการคลังของกัมพูชาคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบร้อยละ 6 ในปีนี้ เนื่องจากรายรับทางด้านภาษีที่ลดลงและความต้องการใช้จ่ายด้านสุขภาพและความช่วยเหลือทางสังคมที่สูงขึ้น โดยคากว่าหนี้สาธารณะจะปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 36 ของ GDP ซึ่งในปี 2019 ปริมาณหนี้สาธารณะคิดเป็นร้อยละ 29

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50944430/economy-will-grow-2-2-before-recovery-says-imf/

ภัยแล้งนำความเสียหายมาสู่ภาคการผลิตข้าวในกัมพูชา

รายงานของกระทรวงสิ่งแวดล้อมกัมพูชา ระบุว่า การสูญเสียผลผลิตข้าวที่เกิดจากภัยแล้งมีมูลค่าความเสียหายมากถึง 100 ล้านดอลลาร์ โดยกล่าวเสริมว่าภัยแล้งในช่วงระหว่างปี 2015 ถึง 2019 ภายในประเทศกัมพูชาได้รับผลกระทบบนพื้นที่การเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ล้านเฮกตาร์ ซึ่งพื้นที่จำนวน 201,490 เฮกตาร์ ได้รับความเสียหายทั้งหมด โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ภัยแล้งได้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตข้าวคิดเป็นจำนวนรวม 624,262 ตัน หรือมูลค่าประมาณ 100 ล้านดอลลาร์ ทางด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรกัมพูชา ทราบถึงปัญหา จึงได้ทำการศึกษาวิธีการแก้ไขปัญหาและสรุปผลการศึกษาเกี่ยวกับการจัดการน้ำและดินได้ว่า ควรใช้เทคนิคการทำการเกษตรให้สอดคล้องกับสภาพอากาศ ซึ่งสามารถช่วยให้เกษตรกรปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และถือเป็นการเพิ่มผลผลิตข้าวในเวลาเดียวกัน โดยกระทรวงได้ให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ ทักษะ การแบ่งปันประสบการณ์ และการเพิ่มการเผยแพร่เทคนิคใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและชุมชน ให้เกิดการนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ในการทำการเกษตร ควบคู่ไปกับภาครัฐให้การสนับสนุน

ที่มา : http://khmertimeskh.com/50943617/droughts-caused-about-100-million-in-rice-production-losses/

ADB อนุมัติเงินกู้เพื่อการปรับปรุงถนนแก่รัฐบาลกัมพูชา

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) อนุมัติเงินกู้จำนวน 82 ล้านดอลลาร์ ให้กับรัฐบาลกัมพูชา เพื่อใช้ในการปรับปรุงถนนในเขตพื้นที่จังหวัด ไพรแวง และกันดาล โดยคาดว่าโครงการนี้จะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจอนุภาคกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ซึ่ง ADB ได้ให้ความช่วยเหลือดังกล่าวเป็นระยะที่ 2 ของโครงการปรับปรุงเครือข่ายถนน โดยความพยายามนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชากับเวียดนาม และสนับสนุนการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกข้ามพรมแดนระหว่างจังหวัด ไพรแวง และกันดาล ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาได้กำหนดแผนในการพัฒนาระดับชาติเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพสูง และมีมันคง โดยสามารถรองรับภาคการขนส่งภายในประเทศที่กำลังเผชิญอยู่กับความท้าทายในปัจจุบัน อาทิเช่น ถนนในชนบทส่วนใหญ่เป็นถนนราดยาง และมีเส้นทางอยู่จำกัด ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดด้านการขนส่ง รวมถึงเพื่อรองรับปัจจัยด้านการเติบโตของประชากรและการจ้างงานของประเทศภายในปี 2030

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50944155/adb-approves-82-million-loan-to-government-towards-road-improvement-projects/

ในช่วง 8 เดือน เวียดนามส่งออกไปกัมพูชาเพิ่มขึ้น

เวียดนามส่งออกสินค้าไปยังกัมพูชามูลค่ารวม 3.15 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2021 คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่อย่างไรก็ตาม เวียดนามได้รายงานถึงการขาดดุลการค้ากับกัมพูชาอยู่ราว 354.4 ล้านดอลลาร์ ในช่วงดังกล่าว มีสาเหตุหลักจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์หลัก 6 รายการ จากกัมพูชาเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการนำเข้า เม็ดมะม่วงหิมพานต์และยางพาราเพิ่มขึ้นสูงสุด ซึ่งเวียดนามนำเข้าเม็ดมะม่วงหิมพานต์จากกัมพูชาในช่วง 8 เดือนแรก เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 เท่าเมื่อเทียบปีต่อปีคิดเป็นมูลค่า 1.83 พันล้านดอลลาร์ ในขณะเดียวกัน การนำเข้ายางของเวียดนามจากประเทศเพื่อนบ้านนั้นสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 5.3 เท่า ซึ่งอยู่ที่มูลค่า 821.8 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50942886/vietnams-exports-to-cambodia-up-16-7-percent-in-eight-months/