‘เวียดนาม’ เผยเขตเศรษฐกิจในภาคใต้ แม่เหล็กดึงดูดต่างชาติลงทุน FDI

ข้อได้เปรียบหลายอย่างทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมและทรัพยากรมนุษย์ของเวียดนาม หลังจากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้แล้ว เขตเศรษฐกิจในภาคใต้ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนชั้นนำของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยกิจการอย่างแพนดอร่า “Pandora” ผู้ผลิตเครื่องประดับสัญชาติเดนมาร์ก ประกาศว่าจะลงทุนก่อสร้างโรงงานใหม่ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม VSIP (Vietnam Singapore Industrial Park) จังหวัดบิน เยือง ภาคใต้ของประเทศ ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) สาเหตุสำคัญที่กิจการเข้ามาลงทุนในครั้งนี้เนื่องมาจากความพร้อมด้านทักษะของแรงงาน โครงสร้างพื้นฐานและสนามบิน ทั้งนี้ ตามรายงานของคณะกรรมการประชาชนประจำจังหวัด เปิดเผยว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ จังหวัดบิน เยือง (Binh Duong) ดึงดูดเม็ดเงินทุนกว่า 2.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีจำนวนโครงการใหม่ 16 โครงการ และโครงการปัจจุบัน 9 โครงการจากจำนวนกิจการรวมทั้งสิ้น 53 แห่ง ในขณะเดียวกัน ตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงวันที่ 20 เม.ย. นครโฮจิมินห์ได้ดึงดูดเม็ดเงินทุนได้แล้วกว่า 1.28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/key-southern-economic-region-a-magnet-for-fdi/229153.vnp

‘ศก.เวียดนาม’ เผิชญกับความท้าทายใหม่ ท่ามกลางความไม่แน่นอนโลก

The Economic Information Daily ซึ่งเป็นสื่อในเครือของสำนักข่าวซินหัวที่เป็นสื่อของรัฐบาลจีน ได้ตีพิมพ์บทความระบุว่าเศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ท่ามกลางสถานการณ์ทั่วโลกที่มีความผันผวน ตามรายละเอียดชี้ให้เห็นว่าเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจท้องถิ่นได้รับความสนใจจากประชาคมระหว่างประเทศ เศรษฐกิจของประเทศมีความยืดหยุ่น โดยเฉพาะเมื่อเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2563 เวียดนามก็เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีการเติบโตของ GDP เป็นบวก นอกจากนี้ เศรษฐกิจเวียดนามกำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการดำเนินใช้ชีวิตกำลังจะกลับสู่ภาวะปกติเหมือนก่อนเกิดโรคระบาด แต่ก็กำลังเผชิญกับอุปสรรคใหม่ อาทิ ปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นและความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกและปัจจัยดังกล่าวเริ่มที่จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามอีกด้วย

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-economy-facing-new-challenges-amid-global-uncertainties-post946020.vov

รองนายกฯ เวียดนาม ตั้งเป้า GDP โต 6.5%

การประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามสมัยที่ 15 จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 นาย เล วัน แถ่ง (Le Van Thanh) รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวว่าเศรษฐกิจเวียดนามปี 2565 ให้โตได้ตามเป้าหมาย 6-6.5% ถือเป็นเป็นความท้าทายครั้งใหญ่จากสถานการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ในปัจจุบันเวียดนามมุ่งรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระดับมหภาคและควบคุมอัตราเงินเฟ้อ แสดงได้จากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 2.1% นอกจากนี้ รัฐบาลจะดำเนินงานตามมติของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามและมุ่งป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ตลอดจนขอความร่วมมือกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามนโยบายการเงินและการคลัง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ควบคุมเงินเฟ้อและเพิ่มรายรับงบประมาณของภาครัฐ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/growth-target-of-65-remains-big-challenge-deputy-pm-post945860.vov

‘เวียดนาม’ ชี้ไตรมาส 3 เศรษฐกิจส่งสัญญาปัญหาเงินเฟ้อ

Trần Toàn Thắng หัวหน้าศูนย์ข้อมูลและวิเคราห์เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่าในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ เป็นสถานการณ์ความตึงเครียดมากที่สุดในการรับมือปัญหาเงินเฟ้อ ภายในงานเสวนาเศรษฐกิจเวียดนามแห่งปี 2022 ซึ่งจากรายงานได้เน้นย้ำถึงกระบวนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนาม แต่ต้องเผชิญกับแรงกดดันกับปัญหาต่างๆ ในปีนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้แล้ว ความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย ถือได้ว่าสร้างผลกระทบทางอ้อมต่อเศรษฐกิจเวียดนามอีกด้วย ตลอดจนการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างประเทศจีนที่คงเข็มงวดนโยบาย “Zero COVID” กลายเป็นแรงกดดันต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนามและส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1194073/q3-set-to-be-tough-period-for-inflation.html

‘ข้าวเวียดนาม’ เร่งสร้างการรับรู้แบรนด์สินค้า

Nguyễn Thị Thu Thủy รองผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการส่งออก กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม เปิดเผยว่าอาเซียนถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีขนาดตลาดที่ใหญ่สำหรับข้าวเวียดนามและกิจการควรมีกลยุทธ์ในการเข้าถึงตลาดขนาด 700 ล้านประชากร ซึ่งมีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่คล้ายคลึงกัน โดยในกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศฟิลิปปินส์เป็นตลาดส่งออกข้าวเวียดนามที่ใหญ่ที่สุด มีปริมาณกว่า 2.45 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 509.7 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปี 2564 ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของผู้ส่งออกโลก รองจากอินเดียและจีน แต่อินโดนีเซียก็ยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพแก่ข้าวเวียดนาม นอกจากนี้ Cao Xuân Thắng เจ้าหน้าที่ของสำนักงานการค้าเวียดนามประจำสิงคโปร์ กล่าวว่าเวียดนามเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 3 ของสิงคโปร์ รองจากไทยและอินเดีย และได้แนะนำให้ผู้ประกอบการปรับปรุงคุณภาพข้าวและส่งเสริมการรับรู้แบรนด์ผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันกับไทยและอินเดีย

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/business-beat/1194075/vietnamese-rice-must-increase-brand-recognition-in-asean.html

‘เวียดนาม’ ยัน! คุมหนี้สาธารณะได้

กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าเวียดนามสามารถควบคุมระดับหนี้สาธารณะให้อยู่ในกรอบที่บริหารจัดการได้ อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจยังคงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กระทรวงฯ มองว่าการปรับเพิ่มวงเงินกู้ของหนี้สาธารณะ เพื่อใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม และดำเนินการรักษาระดับหนี้สาธารณะที่ควบคุมได้ในระยะกลาง-ยาว ทั้งนี้ จากตัวเลขทางด้านสถิติของสำนักงานการบริหารหนี้ แสดงให้เห็นว่าหนี้สาธารณะของเวียดนามลดลงจาก 63.7% ของ GDP ในปี 2560 มาแตะอยู่ที่ 55.9% ในปี 2563

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1193544/vn-manages-to-control-public-debt.html