‘AMRO’ คาดเศรษฐกิจเวียดนาม ปี 66 โต 4.5%

สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (AMRO) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2566 จะขยายตัว 4.7% และจะเร่งตัวขึ้นที่ 6% ในปี 2567 หลังจากชะลอตัวอย่างมากในไตรมาสแรกของปีนี้ เศรษฐกิจเวียดนามก็กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องมาจากได้รับสัญญาณจากคำสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นและความเชื่อมั่นทางธุรกิจฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนามในระยะสั้นยังคงมีความเปราะบาง เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มการเติบโตในระยะปานกลาง

ที่มา : https://vir.com.vn/vietnams-economic-growth-projected-at-47-per-cent-in-2023-105916.html

‘S&P Global’ ชี้เวียดนามเป็นหนึ่งในตลาดเกิดใหม่ที่เติบโตเร็วสุด อีก 5 ปีข้างหน้า

จากรายงานของ S&P Global Market Intelligence เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ระบุว่าการเติบโตระยะกลางของเศรษฐกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า มีปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจหลายประการที่จะช่วยให้เวียดนามเป็นหนึ่งในตลาดเกิดใหม่ที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชีย โดยเวียดนามยังคงได้รับประโยชน์จากต้นทุนค่าแรงงานที่ต่ำ และด้วยแรงงานที่มีจำนวนมาก มีการศึกษาที่ดีเมื่อเทียบกับคู่แข่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เวียดนามเป็นศูนย์กลางการผลิตที่น่าสนใจของบริษัทข้ามชาติ นอกจากนี้ แนวโน้มของรายจ่ายการลงทุนมีทิศทางที่เติบโตอย่างรวดเร็ว สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมีความแข็งแกร่ง รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnam-among-fastest-growing-emerging-asian-markets-in-next-five-years-sp-global-post130134.html

‘ธนาคารโลก’ หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามเหลือ 4.7% ปีนี้

จากรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจมหภาคและสถานการณ์ความยากจนในเวียดนามของธนาคารโลก เปิดเผยว่าได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปีนี้ ชะลอตัวลงเหลือเพียง 4.7% และกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นที่ 5.5% ในปี 2567 และ 6.0% ในปี 2568 โดยธนาคารโลกมองว่าเศรษฐกิจที่เติบโตช้าลง เป็นผลมาจากการบริโภคของภาคเอกชนที่ลดลง ตลาดอสังหาฯ ตกต่ำ และอุปสงค์ภายนอกที่ชะลอตัวลงอย่างมาก นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 3.5% เนื่องจากเงินเดือนข้าราชการเพิ่มขึ้น

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/wb-projects-vietnam-s-economic-growth-to-slow-to-4-7-this-year-2197044.html

สมาคมต่างๆ ในกัมพูชา พร้อมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับภาคแรงงาน

สมาคมต่างๆ ในภาคการผลิตสินค้ากลุ่มรองเท้าและสินค้าเพื่อการเดินทาง ต่างยินดีกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสำหรับภาคแรงงานในปี 2024 โดยเชื่อว่าจะช่วยให้มาตรฐานการครองชีพของภาคแรงงานปรับตัวดีขึ้น ด้านสมาคมผู้ผลิตรองเท้ากัมพูชา ได้กล่าวเสริมว่าการเจรจาเรื่องค่าแรงขั้นต่ำได้ดำเนินการทางเทคนิคแล้ว โดยอิงตามเกณฑ์ทางสังคมและเศรษฐกิจ ตามมาตรฐานสากลที่กำหนดโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งสนับสนุนในการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 204 ดอลลาร์ต่อเดือน เพิ่มขึ้นจาก 200 ดอลลาร์ต่อเดือน ภายในปีหน้า และมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลได้กำหนด เพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ให้กับภาคแรงงาน และเสริมสร้างการดึงดูดการลงทุนต่อไป ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน สำหรับอุตสาหกรรมการตัดเย็บเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างมากของกัมพูชา โดยปัจจุบันกัมพูชามีโรงงานกลุ่มดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 1,332 แห่ง มีการจ้างงานประมาณกว่า 840,000 คน ด้านตัวเลขการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 5.2 พันล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี คิดเป็นกว่าร้อยละ 52 ของการส่งออกทั้งหมด ที่มูลค่า 10.09 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501369455/associations-welcome-minimum-wage-hike/

‘ศก.เวียดนาม’ เติบโตเด่นสุดในอาเซียน ปี 2566

คณะกรรมการบริหารของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามในปี 2566 มีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากภาคการส่งออกที่กลับมาฟื้นตัวและการผ่อนคลายนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายการคลัง และมองว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงสามารถควบคุมได้ มีอัตราต่ำกว่าเป้าหมายที่ 4.5% ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ กล่าวชื่นชมหน่วยงานของรัฐบาลเวียดนามในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางความท้าทายจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงยังคงสูงขึ้นและจำเป็นที่จะต้องรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค รวมถึงการส่งเสริมการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการด้านกรอบการดำเนินการทางการคลังและงบประมาณของรัฐ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnamese-economy-likely-to-lead-asean-s-growth-this-year-2195780.html

EIU มองภายในปี 2024 เศรษฐกิจกัมพูชาเติบโตต่อเนื่อง

หน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจ: Economist Intelligence Unit (EIU) คาดการณ์ว่ากัมพูชาจะเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจมีการเติบโตเร็วที่สุดในโลก ภายในช่วงปี 2024 โดยคาดว่าบรูไน ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม จะมีการเติบโตในระดับสูงภายในช่วงเวลาเดียวกัน เช่นเดียวกับ เอธิโอเปีย ยูกันดา และแทนซาเนีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตลาดเกิดใหม่ กล่าวโดย Tom Rafferty หัวหน้าฝ่ายพยากรณ์และเศรษฐศาสตร์ระดับโลกของ EIU สำหรับการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 ในปีหน้า ซึ่งสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะประสบกับการชะลอตัวแต่ยังไม่ถึงขั้นถดถอย ในขณะเดียวกัน ภาวะเงินฝืดในญี่ปุ่นคาดว่าจะสิ้นสุดในปีหน้า และเศรษฐกิจของจีนถูกมองว่าอยู่ในสถานะอ่อนแอ แต่ยังคงมีเสถียรภาพ ด้านเศรษฐกิจอื่นๆ ในเอเชียคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของการส่งออก อัตราดอกเบี้ยที่ลดลง และการลงทุนในห่วงโซ่อุปทานที่ปรับตัวดีขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501368936/eiu-sees-cambodia-as-one-of-the-worlds-fastest-growing-economies-in-2024/

‘ล็องอาน’ กลับมาฟื้นตัวได้แข็งแกร่ง หลังวิกฤตโควิด-19

นาย Nguyen Van Ut ประธานคณะกรรมการประชาชนจังหวัดฯ กล่าวว่าจังหวัดล็องอาน (Long An) ที่ตั้งอยู่ในดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง กลับมาฟื้นตัวได้ดีหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในภูมิภาค (GRDP) ของจังหวัด ขยายตัว 0.95% และ 8.32% ในปี 2564 และปี 2565 ตามลำดับ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมของจังหวัดฟื้นตัว ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยราว 4% ต่อปี และกิจกรรมเชิงพาณิชย์เติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี ทั้งนี้ ดัชนีความสามารถในการแข่งขันระดับจังหวัด (PCI) ประจำปี 2565 ของจังหวัดล็องอาน ขยับดีขึ้น 6 อันดับเมื่อเทียบกับปีก่อน ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 10 จาก 63 จังหวัดทั่วประเทศ และในปัจจุบัน จังหวัดฯ มีธุรกิจทั้งสิ้น 16,100 แห่ง เพิ่มขึ้น 29.3% เมื่อเทียบกับปี 2563

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/long-an-makes-strong-recovery-following-covid19-pandemic/268639.vnp

‘สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด’ ประมาณการเติบโตเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาส 3 อยู่ในระดับทรงตัว

จากรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดการณ์ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสที่ 3 ขยายตัว 5.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากการเติบโต 4.1% ในไตรมาสที่ 2 ขณะที่ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่าจะมีทิศทางที่ฟื้นตัวดีขึ้น โดยได้รับสัญญาณมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ส่งผลให้ธนาคารปรับคาดการณ์เศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับทรงตัว คาดว่าจะขยายตัว 5.4% ในปีนี้

ที่มา : https://vir.com.vn/vietnams-q3-gdp-poised-for-growth-standard-chartered-reports-105431.html

ADB คาดการณ์ GDP สปป.ลาว ลดลงเหลือร้อยละ 3.7

ตามข้อมูลจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) การเติบโตทางเศรษฐกิจของ สปป.ลาว จะชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ในครั้งก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจของจีนยังซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายสำคัญยังคงอ่อนแอ รวมถึงสภาพอากาศที่ไม่เอื้อต่อการทำการเกษตรในประเทศ และความกดดันทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น ร่วมกับการอ่อนค่าของเงินกีบ โดยการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของ สปป.ลาว ในฉบับประจำเดือนกันยายน ได้ปรับลดลงการเติบโตทางเศรษฐกิจมาอยู่ที่ร้อยละ 3.7 จากการคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 4 สำหรับในปี 2024 สำหรับค่าใช้จ่ายในภาคครัวเรือนลดลงอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปี เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์พุ่งไปแตะกว่าร้อยละ 41.3 ร่วมกับการอ่อนค่าของสกุลเงินกีบ โดยเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์เกิดการอ่อนค่าถึงเกือบครึ่งหนึ่ง หรือคิดเป็นอ่อนค่ากว่าร้อยละ 44 รวมถึงภาคการส่งออกที่ชะลอตัวลงกว่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะกับประเทศคู่ค้าหลักที่มีการเติบโตด้านการส่งออกที่ลดลง เป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจของ สปป.ลาว เติบโตอย่างชะลอตัว

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/09/21/adb-lowers-economic-growth-rating-for-laos/

7 เดือนแรกของปี ทางการกัมพูชาอนุมัติโครงการก่อสร้างมูลค่ากว่า 3 พันล้านดอลลาร์

กระทรวงการจัดการที่ดิน การวางผังเมือง และการก่อสร้าง ได้ออกใบอนุญาตสำหรับโครงการก่อสร้างรวมกว่า 2,036 โครงการสำหรับในช่วงเดือนมกราคมถึงกรกฎาคมปีนี้ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 8 ล้านตารางเมตร ซึ่งรายงานของกระทรวงระบุว่า โครงการก่อสร้างที่จดทะเบียนดังกล่าวคาดว่าจะมีมูลค่ารวมถึงประมาณ 2.97 พันล้านดอลลาร์ โดยจากข้อมูลปัจจุบันกัมพูชามีโครงการก่อสร้างกว่า 63,903 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 181 ล้านตารางเมตร ด้วยเม็ดเงินลงทุน 72.37 พันล้านดอลลาร์ สำหรับภาคการก่อสร้างในกัมพูชากำลังอยู่ในระหว่างการฟื้นตัวหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในปัจจุบันภาคดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นหนึ่งในสี่เสาหลักที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา ด้านธนาคารกลางกัมพูชาได้กล่าวเสริมว่าการนำเข้าวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ในช่วงเดียวกันเริ่มเห็นการกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นว่าภาคดังกล่าวกำลังกลับมาขยายตัว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501364597/construction-projects-worth-3b-approved-in-7-months/